พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐/ฉบับที่ ๑
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐”
มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้
“องค์การ” หมายความว่า องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า
(๑) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(๒) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย
“บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ” หมายความว่า บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
“ผู้ฝากเงิน” หมายความว่า ผู้ฝากเงินทุกประเภทของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ และหมายความรวมถึง ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกเพื่อการกู้ยืมหรือรับเงินจากประชาชน
“เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้อื่นของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการที่มิใช่ผู้ฝากเงินสำหรับหนี้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจเงินทุนของบริษัทนั้น
“คณะกรรมการองค์การ” หมายความว่า คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้
มาตรา ๕ ให้จัดตั้งองค์การของรัฐขึ้นเรียกว่า “องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” เรียกโดยย่อว่า “ปรส.” และให้เป็นนิติบุคคล
มาตรา ๖ ให้องค์การตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร
มาตรา ๗ ให้องค์การมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ดังต่อไปนี้
(๑) แก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
(๒) ช่วยเหลือผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริตของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
(๓) ชำระบัญชีบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการในกรณีที่บริษัทดังกล่าวไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้
มาตรา ๘ ให้องค์การมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ขององค์การตามมาตรา ๗ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
(๒) มีเงินฝากไว้ในสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการองค์การเห็นว่าจำเป็นและสมควร
(๓) ซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้อง
(๔) กู้หรือยืมเงิน ออกตั๋วเงิน หรือตราสารแห่งหนี้
(๕) ออกพันธบัตร
(๖) ให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลหรือองค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(๗) ทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การ
มาตรา ๙ ทุนขององค์การประกอบด้วย
(๑) ทุนประเดิมที่รัฐจ่ายให้เป็นการอุดหนุน
(๒) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
(๓) เงินและทรัพย์สินที่ตกเป็นขององค์การ
(๔) ดอกผลของทรัพย์สินขององค์การ
มาตรา ๑๐ ให้กำหนดทุนประเดิมขององค์การเป็นจำนวนห้าร้อยล้านบาท และองค์การจะได้รับเงินจำนวนนี้เป็นการอุดหนุนจากรัฐบาล
ในแต่ละงวดการบัญชีหากปรากฏว่าองค์การมีผลขาดทุน ให้รัฐบาลช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์การตามควรแก่กรณี
มาตรา ๑๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน” ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน เป็นกรรมการ และเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน
มิให้นำมาตรา ๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
มาตรา ๑๒ ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
(๑) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(๒) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๓) เป็นข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(๔) เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน
(๕) เป็นหรือเคยเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้
มาตรา ๑๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๑๔ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๓ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่อง หรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๑๕ การประชุมคณะกรรมการองค์การต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาและออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น
มาตรา ๑๖ คณะกรรมการองค์การมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(๑) กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอและการพิจารณาแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริตของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
(๓) กำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการที่ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้
(๔) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เงินตอบแทน และค่าใช้จ่าย
(๕) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การเงิน ทรัพย์สิน และการบัญชี รวมทั้งการตรวจสอบและสอบบัญชีภายใน
(๖) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานและการดำเนินกิจการ
(๗) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดนี้
ให้คณะกรรมการองค์การประกาศหลักเกณฑ์ตาม (๑) และ (๒) โดยเปิดเผย
มาตรา ๑๗ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
เลขาธิการต้องสามารถปฏิบัติงานเต็มเวลาให้แก่องค์การ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๒
มิให้นำมาตรา ๙ (๒) แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ
มาตรา ๑๘ เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการขององค์การให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ขององค์การ และตามนโยบายหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการองค์การกำหนด
ในกิจการขององค์การที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนขององค์การ และเพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการองค์การกำหนด
มาตรา ๑๙ ให้กรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๐ เงินขององค์การให้นำมาใช้จ่ายได้เฉพาะเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การ และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานขององค์การตามที่คณะกรรมการองค์การกำหนด รวมทั้งค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามหมวดนี้
มาตรา ๒๑ ให้องค์การมีหน้าที่ดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามบทบัญญัติในหมวดนี้
มาตรา ๒๒ ให้บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเสนอแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อขอความเห็นชอบ
มาตรา ๒๓ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ การอนุญาต หรือการผ่อนผัน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ในเรื่องดังต่อไปนี้ แล้วแต่กรณี ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการองค์การ
(๑) การถือหุ้นสถาบันการเงินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
(๒) จำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของสถาบันการเงิน และจำนวนกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด
(๓) การซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
(๔) การซื้อหรือมีหุ้นในสถาบันการเงินอื่น
(๕) การแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงาน หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือทำสัญญาให้บุคคลอื่นมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารงานของสถาบันการเงิน
มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการองค์การพิจารณาแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ และให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบโดยไม่ชักช้า
ในการพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ให้คณะกรรมการองค์การพิจารณาด้วยว่าบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการจะดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันเพียงพอที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการองค์การประกาศกำหนด และได้แสดงว่ามีความสามารถและความผูกพันที่จะดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนดังกล่าวภายในช่วงเวลาสามปี
ในการให้ความเห็นชอบแผนตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการองค์การจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขใด ๆ ให้บริษัทนั้นต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
มาตรา ๒๕ เพื่อประโยชน์แก่การแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ คณะกรรมการองค์การมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นลดทุน เพิ่มทุน จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน ปรับปรุงแก้ไขการบริหารงาน ถอดถอนและตั้งกรรมการผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท หรือสั่งให้ดำเนินการควบกิจการหรือโอนหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนกับสถาบันการเงินอื่น หรือสั่งให้โอนสิทธิตามสัญญาและหลักประกัน หรือโอนทรัพย์สิน หรือสั่งการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขฟื้นฟูฐานะ โดยจะกำหนดระยะเวลาดำเนินการและกำหนดเงื่อนไขใดด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้ถือว่าคำสั่งของคณะกรรมการองค์การดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
ในกรณีที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการต้องดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการองค์การตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทนั้นและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องได้รับยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติดังต่อไปนี้ในระหว่างเวลาตั้งแต่คณะกรรมการองค์การให้ความเห็นชอบแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทจนถึงวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีองค์การตามมาตรา ๔๓
(๑) บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ เกี่ยวกับการบังคับให้สถาบันการเงินเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้ว แล้วแต่กรณี
(๒) มาตรา ๒๓๗ มาตรา ๑๑๑๗ มาตรา ๑๒๒๐ มาตรา ๑๒๒๒ มาตรา ๑๒๒๔ มาตรา ๑๒๒๕ มาตรา ๑๒๒๖ และมาตรา ๑๒๔๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(๓) มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๒ มาตรา ๑๐๒ ประกอบกับมาตรา ๓๓ วรรคสอง มาตรา ๑๓๗ มาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๗ และมาตรา ๑๔๘ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕
(๔) มาตรา ๘๕ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ ทั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และการระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท
(๕) มาตรา ๙๔ (๒) มาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๑๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับการโอนทรัพย์สิน หรือการกระทำใดเกี่ยวกับทรัพย์สิน เนื่องในการควบกิจการหรือการโอนกิจการ
ในกรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลต่อบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการหรือสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องตามวรรคสอง ไม่ให้นับระยะเวลาที่บริษัทหรือสถาบันการเงินดังกล่าวได้รับยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติของกฎหมายตามวรรคสองเข้าในอายุความใช้สิทธิเรียกร้อง
มาตรา ๒๖ ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การ
มาตรา ๒๗ การโอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดหรือบางส่วนของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการไปยังสถาบันการเงินอื่น ให้กระทำได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา ๓๐๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา ๓๐๘ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๒๘ ให้คณะกรรมการองค์การมีอำนาจสั่งให้กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ผู้สอบบัญชีของบริษัทและผู้รวบรวมหรือประมวลผลของบริษัทดังกล่าวด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยเครื่องมืออื่นใด มาให้ถ้อยคำหรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของบริษัทนั้น
มาตรา ๒๙ ในกรณีที่คณะกรรมการองค์การเห็นว่า บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการซึ่งองค์การเข้าแก้ไขฟื้นฟูฐานะ ได้ดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะจนสามารถจะดำเนินกิจการของตนเองต่อไปได้ หรือควบกิจการ หรือโอนกิจการกับสถาบันการเงินอื่นตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะให้คณะกรรมการองค์การรายงานรัฐมนตรีทราบ
ในกรณีที่คณะกรรมการองค์การเห็นว่า บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการสามารถจะดำเนินกิจการของตนต่อไปได้ ถ้ารัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าควรอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทนั้นดำเนินกิจการได้
เมื่อบริษัทตามวรรคหนึ่งเปิดดำเนินกิจการตามปกติแล้ว หรือควบกิจการ หรือโอนกิจการกับสถาบันการเงินอื่นแล้ว อำนาจหน้าที่ขององค์การเป็นอันสิ้นสุดลง
มาตรา ๓๐ ในกรณีที่คณะกรรมการองค์การเห็นว่า บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการใดไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้ ให้รายงานรัฐมนตรีทราบและให้คณะกรรมการองค์การมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนมีอำนาจเข้าดำเนินการแทนบริษัทนั้นได้ทุกประการและทำการชำระบัญชีบริษัท กับให้ประธานกรรมการเป็นผู้แทนของบริษัทนั้นโดยให้ถือว่าเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เลขาธิการแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัทนั้นทราบและให้กรรมการของบริษัทนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยให้ถือว่าเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และให้ปิดประกาศการแต่งตั้งคณะกรรมการไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของบริษัทนั้น กับทั้งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ
ประธานกรรมการอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือบุคคลอื่นใดปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนบริษัทนั้นหรือคณะกรรมการได้
ในการดำเนินงานของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง การใดที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจำกัด หรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด กำหนดอำนาจและหน้าที่ให้เป็นของที่ประชุมใหญ่ ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐมนตรี
การขายทรัพย์สินเพื่อชำระบัญชีของบริษัทนั้นให้เปิดประมูลโดยเปิดเผย หรือแข่งขันราคาตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และให้องค์การได้รับค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละหนึ่งของราคาที่ขายได้
การชำระบัญชีของบริษัท ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และการใดที่เป็นอำนาจและหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐมนตรี
มาตรา ๓๑ เมื่อองค์การประสงค์จะขอทราบกิจการของสถาบันการเงิน เพื่อปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยกิจการของสถาบันการเงินดังกล่าวให้แก่องค์การได้ และมิให้นำมาตรา ๔๖ สัตต แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ
มาตรา ๓๒ ในการดำเนินการเพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการใด องค์การจะขอให้กองทุนเข้าถือหุ้นของบริษัทนั้นได้เฉพาะเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และบริษัทนั้นได้ตัดส่วนสูญเสียของกิจการออกจากบัญชีโดยการลดทุนแล้ว และไม่สามารถจำหน่ายหุ้นได้ภายในเวลาอันควร
เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฟื้นฟูฐานะ องค์การจะขอให้กองทุนเข้าถือหุ้นของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการได้เฉพาะในกรณีต่อไปนี้
(๑) บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการได้รับรู้ผลขาดทุนและได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการกันสำรองตามที่องค์การกำหนด
(๒) ส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ณ วันที่องค์การเข้าดำเนินการเพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะได้ลดลงจนถึงจุดต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ตามกฎหมาย
(๓) กรณีที่ผู้ถือหุ้นเข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการผู้ถือหุ้นไม่ว่าลำพังหรือร่วมกันจะถือหุ้นเกินกว่าจำนวนที่องค์การกำหนดว่าสามารถครอบงำการจัดการบริษัทไม่ได้
(๔) กองทุนจะเข้าถือหุ้นได้เพียงไม่เกินกว่าการเข้าถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายอื่น
มาตรา ๓๓ ในกรณีที่กองทุนจะต้องเข้าไปช่วยเหลือทางการเงินในบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามที่คณะกรรมการองค์การร้องขอและได้รับความเสียหาย ให้รัฐบาลช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทุนตามควรแก่กรณี
มาตรา ๓๔ ให้องค์การวางและรักษาไว้ซึ่งระบบบัญชีอันถูกต้องและจัดให้มีระบบการควบคุมและตรวจสอบภายใน
มาตรา ๓๕ ให้องค์การจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนทุกงวดหกเดือน
มาตรา ๓๖ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลอื่น ตามแต่จะเห็นสมควรเป็นผู้สอบบัญชีขององค์การ ทำการตรวจสอบบัญชี รวมทั้งการเงินทุกประเภททุกหกเดือน
มาตรา ๓๗ ให้องค์การรายงานกิจการ งบดุล บัญชีกำไรและขาดทุน ซึ่งผู้สอบบัญชีตามมาตรา ๓๖ ได้รับรองแล้วต่อรัฐมนตรีภายในสามเดือน นับแต่วันสิ้นงวดการบัญชีเพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ และให้รัฐมนตรีประกาศรายงานงบดุลและบัญชีดังกล่าวโดยเปิดเผย
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่องค์การขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ที่องค์การกู้ยืมเงินจากแหล่งให้กู้ยืมในหรือนอกราชอาณาจักร ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจค้ำประกันเงินกู้นั้นได้ แต่จำนวนเงินกู้ที่จะค้ำประกันเมื่อรวมกับต้นเงินกู้ที่การค้ำประกันของกระทรวงการคลังยังค้างอยู่ต้องไม่เกินสิบสองเท่าของเงินกองทุนขององค์การเมื่อคำนวนเป็นเงินตราไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้ำประกันตามอำนาจที่มีอยู่ในกฎหมายใด
การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเพื่อทราบยอดรวมของเงินกู้ตามวรรคหนึ่งให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ในวันทำสัญญา
มาตรา ๓๙ ผู้ใดล่วงรู้กิจการของสถาบันการเงินใดเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดในพระราชกำหนดนี้อันเป็นกิจการที่ตามปกติพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผยแล้วนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่ง มิให้นำมาใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) การเปิดเผยตามหน้าที่
(๒) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี
(๓) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่การแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
(๔) การเปิดเผยเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสถาบันการเงินนั้นเป็นลายลักษณ์อักษร
มาตรา ๔๐ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการองค์การตามมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง
มาตรา ๔๑ เมื่อองค์การได้ดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูฐานะของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามอำนาจหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการองค์การรายงานรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติยุบเลิกองค์การต่อไป
มาตรา ๔๒ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยุบเลิกองค์การแล้ว ให้ดำเนินการชำระบัญชีโดยให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีขององค์การ
การชำระบัญชีองค์การให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีบริษัทจำกัดมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๓ เมื่อคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีได้ดำเนินการชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้วให้คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีรายงานการชำระบัญชีต่อรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และให้ถือวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีและวันยุบเลิกองค์การ
บรรดาทรัพย์สินขององค์การที่ยังคงเหลืออยู่ให้จัดโอนให้แก่กระทรวงการคลังภายหลังวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
ให้คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีมอบสมุด บัญชี และเอกสารทั้งหมดขององค์การให้แก่กระทรวงการคลังภายในสิบสี่วันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี และให้กระทรวงการคลังรักษาไว้สิบปีนับแต่วันดังกล่าว สมุด บัญชี และเอกสารตามวรรคสามให้เปิดเผยแก่ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้โดยไม่ต้องเรียกค่าธรรมเนียม
มาตรา ๔๔ บรรดาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรี ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการกำกับการควบหรือโอนกิจการของสถาบันการเงินซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง กำหนดไว้สำหรับบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
บรรดาแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการยื่นต่อคณะกรรมการกำกับการควบหรือโอนกิจการของสถาบันการเงิน ให้ถือเป็นแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะตามมาตรา ๒๒
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
- นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ
[แก้ไข]เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินและฟื้นฟูสถานะการดำเนินการของสถาบันการเงินบางแห่งที่ประสบปัญหาไม่สามารถดำเนินกิจการไปได้ตามปกติ และคุ้มครองผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินกลับคืนมา สมควรกำหนดมาตรการในลักษณะของการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินอย่างเป็นระบบตามแนวทางสากล และจัดตั้งองค์การของรัฐขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินมาตรการดังกล่าว เพื่อแก้ไขฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงิน ตลอดจนช่วยเหลือผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่สุจริตของสถาบันการเงิน และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๖๐ ก/หน้า ๑/๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"