พระราชกำหนดชั้นยศเสนอความชอบสำหรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎสยาม

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


พระราชกำหนดชั้นยศ
เสนอความชอบสำหรับพระราชทานเครื่อง
ราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎสยาม[1]


มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า การที่เจ้ากระทรวงฝ่ายพลเรือนกราบบังคมทูลเสนอความดีความชอบข้าราชการ ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นบำเหน็จอยู่เวลานี้นั้น ยังเป็นการลักลั่นไม่สม่ำเสมอกัน หาได้ระเบียบอย่างฝ่ายทหารซึ่งมีกำหนดนิยมอยู่อย่างเรียบร้อยแล้วไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดสำหรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎสยามไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ ชั้นรองอำมาตย์ตรี รองอำมาตย์โท เทียบยศนายร้อยตรี และนายร้อยโท หรือนายเรือตรี และนายเรือโท กำหนดพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่สูงกว่ามงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ ชั้นรองอำมาตย์เอก เทียบยศนายร้อยเอก หรือนายเรือเอก กำหนดพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตราภรณ์ และเลื่อนขึ้นไปอย่างสูงสุด ไม่เกินกว่ามงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์ ชั้นอำมาตย์ตรีและอำมาตย์โท เทียบยศนายพันตรี และนายพันโท หรือนายนาวาตรี และนายนาวาโท กำหนดพระราชทานตั้งแต่ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ทิพยาภรณ์ และเลื่อนขึ้นไปอย่างสูงสุดไม่เกินช้างเผือกชั้นที่ ๔ ภูษนาภรณ์ ชั้นอำมาตย์เอก เทียบยศนายพันเอก หรือนายนาวาเอก กำหนดพระราชทานตั้งแต่มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ ภัทราภรณ์ และเลื่อนขึ้นไปอย่างสูงสุดไม่เกินช้างเผือกชั้นที่ ๓ นิภาภรณ์ ชั้นมหาอำมาตย์ตรี เทียบยศนายพลตรี หรือนายพลเรือตรี กำหนดพระราชทานตั้งแต่มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์ และเลื่อนชั้นขึ้นไปถึงมงกุฎสยามชั้นที่ ๒ จุลสุราภรณ์ และช้างเผือกชั้นที่ ๒ จุลวราภรณ์ ถ้าสูงกว่านั้นตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

มาตรา ๒ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงกว่านี้ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่น จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผู้ใดชั้นใดตามแต่พระราชอัธยาศัย

มาตรา ๓ ข้าราชการกรมตำรวจพระนครบาล และกรมตำรวจภูธรเทียบยศอย่างทหาร

มาตรา ๔ ข้าราชการในพระราชสำนัก แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามพระราชอัธยาศัย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เสนอความชอบ ไม่ควรขอพระราชทานให้เกินกว่าชั้นยศที่เทียบกับข้าราชการฝ่ายอื่น

มาตรา ๕ ให้เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร เป็นเจ้าหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชกำหนดนี้จงทุกประการ

พระราชกำหนดตราไว้ แต่วันที่ ๓๐ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ เป็นวันที่ ๑๙๙๘ ในรัชกาลปัจจุบันนี้


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๓/-/หน้า ๓๘/๗ พฤษภาคม ๒๔๕๙



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"