พระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัตนโกสินทร์ศก 115

จาก วิกิซอร์ซ
สารบัญ
พระราชกำหนด
คำปรารภ
มาตรา
  1. นามกฎหมาย
  2. ผู้สำเร็จราชการ
  3. ที่ประชุมที่ปรึกษา
  4. กรณีซึ่งผู้สำเร็จราชการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
  5. กรณีซึ่งที่ปรึกษาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
  6. วิธีสำเร็จราชการ
  7. ราชเลขานุการ
  8. เวลาประชุมที่ปรึกษา
  9. ประธานที่ประชุมที่ปรึกษา
  10. การวินิจฉัยของที่ประชุมที่ปรึกษา
  11. ข้อบังคับการประชุมที่ปรึกษา
  12. การเสนอญัตติในที่ประชุมที่ปรึกษา
  13. บันทึกการประชุมที่ปรึกษา
  14. อำนาจในการแต่งตั้ง
  15. อำนาจในการถอดถอน
  16. การห้ามเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติราชการ
  17. การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรัฐมนตรี
  18. การประชุมเสนาบดี
  19. การรับเรื่องราวจากราษฎร
  20. การป่าวประกาศกฎหมายนี้

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชกำหนด
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
รัตนโกสินทร์ ๑๑๕

ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนากาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๙ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม จุลศักราช ๑๒๕๘ มักกะฏสังวัจฉร ผคุณมาศ กาฬปักษ์ จตุตถีดิถี สุริยคติวิธี ลุรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๕ มีนาคมมาศ เอกวีสติมมาสาหคุณพิเศษ รวิวาร ปัญจะมรัชกาล เอกูนะติงสติมะสังวัจฉระ อัฏฐปัญญาสุตตระติสตาธิกะทะสะ สะหัสสิมทิวศเขตร ปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ วรุตมพงษบริพัตร วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ เสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสวริยพิมาน โดยสถานอุตราภิมุข ภายใต้พระมหานพปดลเสวตรฉัตร เหนือรัตนบรรยงก์ พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษแลเสนาบดีรัฐมนตรีองคมนตรีข้าทูลลอองธุลีพระบาทกระวีชาติราชบริพารฝ่ายทหารพลเรือนเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทบงกชโดยกำหนดตำแหน่งเปนอันดับกัน

มีพระบรมราชโองการดำหรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

ด้วยทรงพระราชดำริห์ถึงการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปประพาศในทวีปยุโรป อันเปนสมัยที่จะไม่ได้ประทับอยู่ในพระราชอาณาจักรช้านานอยู่ ก็ปรากฎว่า เปนการจำเปนจะต้องจัดการให้มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ไว้ ทั้งให้มีอำนาจคราวหนึ่งเพื่อที่จะได้บัญญัติข้อบังคับบัญชาสำหรับการทั้งปวงทั่วไป แลเพื่อจะได้กระทำการทั้งหลายอันเปนพระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินจะพึงได้ทรงกระทำสำหรับการปกครองรักษาพระราชอาณาจักรให้อยู่เย็นเปนผาศุกสืบไปนั้น จึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า พระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัตนโกสินทรศก ๑๑๕

มาตรา  ในระหว่างเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในกรุงสยามนี้ ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ อันเปนพระราชชนนีแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฏราชกุมารนั้น เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ กับทั้งให้มีที่ประชุมอันหนึ่งเปนที่ปฤกษาด้วย

มาตรา  ที่ประชุมอันเปนที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น ให้มีจำนวนผู้เปนที่ปฤกษาดังมีนามต่อไปนี้ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดช ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ๑ แลเจ้าพระยาอภัยราชา สยามานุกูลกิจ ๑ รวม ๕ ด้วยกัน

มาตรา  ถ้าแม้ว่า จะมีเหตุอันใดอันหนึ่งซึ่งสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์จะทรงประกอบพระราชกิจไปไม่ได้แล้ว ก็ให้รีบกราบบังคมทูลพระกรุณาเหตุการอันนั้นไปให้ทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทโดยทางที่จะมีบอกไปได้อย่างเร็วที่สุด แล้วให้ผู้มียศยิ่งใหญ่ในผู้เปนที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้นกระทำการอันเปนน่าที่ของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไป จนกว่าจะได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปนอย่างอื่นไป

มาตรา  ถ้ามีเหตุชีวิตรภัย พยาธิภัย ฤๅเหตุอื่น ๆ อันใดที่กระทำให้ผู้เปนที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอันกล่าวมาแล้วนั้นมากระทำการตามน่าที่ไม่ได้แล้ว เมื่อเหตุนั้นไม่เปนการอันควรที่จะรีบร้อยไป ก็ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาไปตามเหตุที่เกิดขึ้นนั้นให้ทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แลคอยรับพระราชทานพระบรมราโชวาทสืบไป แต่ในระหว่างสมัยนี้ ก็ให้ผู้เปนที่ปฤกษาซึ่งยังเหลืออยู่อีกนั้นประชุมกันกระทำการของที่ประชุมต่อไป ถ้าเหตุนั้นเปนการอันควรที่จะรีบร้อยแล้ว ก็ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงแต่งตั้งผู้ซึ่งสมควรให้เปนที่ปฤกษาในตำแหน่งที่ว่างนั้นไว้ได้คราวหนึ่ง แลให้กราบบังคมทูลพระกรุณาไป เพื่อที่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในตำแหน่งนั้นเปนอันเด็จขาดสืบไป

มาตรา  ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงประกอบการทั้งปวงอันเปนพระราชกิจแลพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินนั้นพร้อมด้วยที่ประชุม จนกว่าจะได้เสด็จพระราชดำเนินกลับคืนมายังพระมหานคร ฤๅจนถึงเวลาขณะใด ๆ ที่จะได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเปนกำหนดอย่างอื่นจากที่ว่าไว้นี้ แต่การที่ทรงกระทำนั้นต้องให้อยู่ในข้อที่กำหนดไว้ท้ายมาตรานี้ด้วย

เพราะฉนั้น บรรดาพระราชบัญญัติพระราชกำหนดกฎหมายข้อบังคับทั้งหลายก็ดี การถอดถอนฤๅการแต่งตั้งยศตำแหน่งในราชการก็ดี คำสั่งที่จะให้จัดการไปตามคำตัดสินฤๅให้งดคำตัดสินของศาลก็ดี ของกระทรวงต่าง ๆ ก็ดี การยกโทษผู้กระทำผิดก็ดี แลเมื่อว่าทั่วไป สรรพการอันใด ๆ ที่เปนราชการแผ่นดินที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ได้ทรงลายพระราชหัดถเลขาแลประทับพระราชลัญจกรไว้ ก็ให้ใช้ได้เสมอเหมือนกับที่ได้มีพระราชหัดถเลขาแลประทับพระราชลัญจกรแล้วเหมือนกัน แต่การอันนั้นให้เปนไปตามข้อที่กำหนดต่อไปนี้ คือ

ข้อ  การที่กระทำนั้นต้องไม่เปนที่ขัดขวางฤๅผิดต่อการรักษาพระบรมเดชานุภาพแลพระราชธรรมประเพณีให้ดำรงคงอยู่ก็ดี การรักษาแผ่นดินให้ดำรงคงเปนอิศรภาพแลมั่นคงเปนอันหนึ่งอันเดียวอยู่ก็ดี กับทั้งการที่กระทำให้เต็มตามข้อความที่กรุงสยามได้มีสัญญาไว้แล้วนั้นด้วย

ข้อ  การที่กระทำนั้นอย่าให้เปนที่สำเร็จไปก่อนปฤกษาหาฤๅที่ประชุมของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แลไม่มีชื่อผู้เปนที่ปฤกษาเปนผู้รับสั่งแทนที่ประชุม ๑ กับชื่อเสนาบดีเปนผู้รับสั่ง ๑ รวม ๒

มาตรา  ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม เปนราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดิน แลเปนเลขานุการในที่ประชุมผู้เปนที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย

เมื่อมีเหตุแก่ราชเลขานุการโดยมรณภัย พยาธิภัย ฤๅภัยอื่น ๆ ซึ่งไม่ให้กระทำการตามน่าที่ได้แล้ว ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงตั้งแต่งผู้อื่นเปนราชเลขานุการของพระองค์แลของที่ประชุมที่ปฤกษานั้นด้วย

มาตรา  ให้ที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประชุมกันอย่างน้อยที่สุดอาทิตย์ละครั้ง ณวันเวลาแลที่อันได้กำหนดไว้ กับอีกทั้งให้ชุมนุมกันเนือง ๆ ตามการที่ปรากฎว่า จำเปนเพื่อจะได้ให้ราชการแผ่นดินสำเร็จไปโดยฉับพลันด้วย ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนินจากพระมหานครนั้น ให้มีการประชุมสโมสรสันนิบาต

เพื่อสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงกระทำสัจจาธิษฐาน กับทั้งผู้เปนที่ปฤกษาต้องกระทำสัตย์สาบาล ในการที่รับตำแหน่งนั้น ๆ ด้วย แลในการชุมนุมครั้งแรกของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น ให้ที่ประชุมปฤกษากันด้วยเรื่องอันใดเวลาใดแลที่แห่งใดอันจะควรเปนกำหนดสำหรับการชุมนุมอาทิตย์ละครั้งเปนธรรมเนียมนั้น แต่ต้องให้เปนกำหนดอันสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ พระราชทานพระราชานุญาตแล้ว ให้ชุมนุมกันตามกำหนดนั้นต่อไปจนกว่าจะได้รับพระราชานุญาตให้เปลี่ยนจึงเปลี่ยนได้

การนัดประชุมพิเศษสำหรับชุมนุมนอกอัตรานั้น ราชเลขานุการต้องมีหมายนัดไปยังผู้เปนที่ปฤกษารายตัวโดยที่มีพระราชเสาวนี ฤๅโดยที่มีคำขอของผู้เปนที่ปฤกษาตั้งแต่สองขึ้นไปเพื่อจะให้มีการชุมนุมนั้น

การชุมนุมในอัตราอาทิตย์ละครั้งนั้น อย่าให้ต้องมีหมายนัดไปเลย

มาตรา  ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงเปนประธานในที่ชุมนุมผู้เปนที่ปฤกษานั้นเนือง ๆ ตามที่จะทรงเห็นสมควรแลเปนการสดวกแก่พระองค์ แต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ในที่ชุมนุมแล้ว จะโปรดเกล้าฯ มีรายพระราชหัดถเลขาให้ที่ปฤกษาผู้ใดเปนประธานก็ได้ ฤๅถ้าไม่ได้มีพระราชเสาวนีให้ผู้ใดเปนประธานแล้ว ก็ให้ที่ปฤกษาผู้มียศอยู่ข้างน่าก่อนนั้นเปนประธาน

มาตรา ๑๐ บรรดาเรื่องการทั้งปวงที่ได้กล่าวขึ้นเพื่อปฤกษาหาฤๅโต้ตอบกันในที่ชุมนุมนั้น ให้เปนอันวินิจฉัยตกลงกันโดยความเห็นที่เห็นมากตัวกว่ากัน ถ้าเรื่องใดที่มีความเห็นเปนอันก้ำกึ่งกันอยู่สองฝ่ายแล้ว ให้สมเด็จพระนางเจ้าฤๅผู้ที่เปนประธานในการชุมนุมนั้นตัดสินอย่างใด ก็ให้เปนอันตกลงอย่างนั้น

มาตรา ๑๑ ที่ประชุมที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจะทำข้อบังคับบัญชาไว้สำหรับการชุมนุมนั้นเมื่อใด ๆ ก็ได้ แต่ข้อบังคับบัญชาเช่นว่านี้ต้องไม่ให้เปนที่ขัดขืนต่อพระราชบัญญัตินี้ ฤๅพระราชบัญญัติพระบรมราโชวาทอื่น ๆ ที่ได้มีพระราชหัดถเลขาแลประทับพระราชลัญจกรไว้แล้ว

มาตรา ๑๒ ผู้เปนที่ปฤกษานั้นจะขอหาฤๅโต้ตอบกันในที่ชุมนุมด้วยราชการเรื่องใด ๆ ก็ได้ แต่ถ้าเปนเรื่องที่มีประสงค์ฤๅมีผลเปนการอันจะต้องใช้จ่ายพระราชทรัพย์แต่ส่วนใด ๆ แล้ว ต้องเปนการที่มีพระราชเสาวนีให้ปฤกษาหรือโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดนำข้อความมากล่าวปฤกษา ผู้นั้นจึ่งจะขอปฤกษาหาฤๅในเรื่องนั้นได้

มาตรา ๑๓ ให้มีจดหมายเหตุการประชุมที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่ได้กระทำการทั้งปวงนั้นให้เสมอ แลเมื่อชุมนุมกันคราวใด ให้อ่านจดหมายเหตุที่ชุมนุมครั้งก่อนคราวนั้น แล้วให้ยืนยันข้อความเดิมไว้ ฤๅแก้ไขความเสียใหม่ตามที่เห็นสมควร แล้วจึ่งให้กระทำการอื่น ๆ ต่อไป สำเนาจดหมายเหตุของการชุมนุมที่ล่วงไปอันได้คงรูปอยู่ตามเดิมฤๅได้แก้ไขในที่ประชุมอันต่อเนื่องกันมาแล้ว ให้ราชเลขานุการส่งตามออกไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทุก ๆ ปักษ์ โดยทางที่จะส่งไปปราศจากอันตรายได้อย่างดีที่สุด ไม่จำเพาะว่า เปนเวลาจะเสด็จพระราชดำเนินประพาศอยู่ณแห่งใด ๆ ก็ให้ส่งไปเสมอ

มาตรา ๑๔ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงตั้งตำแหน่งสมณศักดิ แลเสนาบดี ข้าหลวงใหญ่ ผู้ว่าราชการในหัวเมืองทั้งปวง ผู้พิพากษาตระลาการ แลข้าราชการตำแหน่งอื่น ๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อที่จะให้มีตัวอยู่เต็มตำแหน่งในราชการ ตามข้อความที่กล่าวไว้ในมาตรา ๖ แล้ว

มาตรา ๑๕ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ เมื่อทรงเหนเหตุพอสมควรแก่การปรากฎขึ้นแล้ว แลตามข้อความที่กล่าวไว้ในมาตรา ๖ นั้นด้วยแล้ว จะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใด ๆ ออกเสียจากตำแหน่งราชการที่ผู้นั้น ๆ ได้กระทำการอยู่ในตำแหน่งใด ๆ ภายในพระราชอาณาจักรนี้ก็ได้ ผู้ซึ่งต้องออกจากตำแหน่งนั้น ๆ ก็ให้คงออกอยู่จนกว่าจะได้มีพระบรมราชกระแสต่อไป แลในระหว่างเวลาที่ยังไม่ได้มีพระบรมราชกระแสนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้รับตำแหน่งอันสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงตั้งแต่งไว้แล้ว ก็เสมอเหมือนกับผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งไว้เหมือนกัน

มาตรา ๑๖ ในสมัยที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ภายในพระราชอาณาจักรนี้ ยกเสียแต่การที่ได้จัดเปลี่ยนแปลงไว้ในพระราชบัญญัตินี้แล้ว อย่าให้เปลี่ยนแปลงทางประฏิบัติราชการอันย่อมมีอยู่ในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับกระทรวงทะบวงการต่าง ๆ ฝ่ายพแนกชำระกฎหมาย ฝ่ายพแนกธุระการ ทั้งฝ่ายตุลาการด้วย ถ้าจะมีหนังสืออย่างใด ๆ ที่เปนความเหนความคิดก็ดี ร่างข้อบังคับต่าง ๆ ก็ดี รายงานรายการต่าง ๆ ก็ดี เรื่องราวฎีกาแลหนังสืออื่น ๆ ก็ดี ที่จะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาในสมัยเหมือนหนึ่งว่า ได้เสด็จประทับอยู่ในพระมหานครฉนี้แล้ว ก็ให้นำหนังสืออย่างเช่นกล่าวมาเหล่านี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ในสมัยที่เสด็จพระราชดำเนินประพาศอยู่นอกพระราชอาณาจักรนี้เถิด

ข้อความใด ๆ ซึ่งจัดการให้เปนที่ตกลงเรียบร้อยกันไม่ได้ในรหว่างเสนาบดี ฤๅกระทรวงต่าง ๆ ก็ดี ศาลต่าง ๆ ก็ดี กรมต่าง ๆ กรมใดก็ดี ให้นำข้อความนั้น ๆ ขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงพระราชวินิจฉัยโดยมีพระราชเสาวนีในที่ประชุมเสนาบดี ฤๅในที่ประชุมที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฤๅในที่ประชุมทั้งสองนี้พร้อมกัน ตามแต่จะสมควรแก่การอันนั้น

มาตรา ๑๗ ให้เปลี่ยนแก้ข้อความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติรัฐมนตรี รัตนโกสินทร ๑๑๓ นั้นดังนี้ว่า ห้ามไม่ให้คำปฤกษาที่ตกลงในรัฐมนตรีสภาแล้ว แลยังไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น เปนอันใช้ได้ในเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในพระราชอาณาจักร เว้นแต่ที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ จะได้ทรงพระราชหัดถเลขาแลประทับพระราชลัญจกรเปนสำคัญไว้ กับทั้งมีนามผู้เปนที่ปฤกษา ๑ เสนาบดี ๑ รวม ๒ เปนผู้รับพระราชเสาวนีด้วย ดังกล่าวไว้ในมาตรา ๖ นั้นแล้ว จึงให้ใช้ได้

มาตรา ๑๘ ที่ประชุมเสนาบดีนั้น เมื่อชุมนุมกันเปนการพิเศษฤๅเปนการตามธรรมเนียมก็ดี สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ต้องทรงประทับเปนประธานในการที่จะปฤกษาวินิจฉัยเรื่องการอันเปนประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน แต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ในที่ชุมนุมแล้ว ให้เสนาบดีผู้หนึ่งซึ่งได้เลือกกันขึ้นในที่ชุมนุมคราวนั้นเปนประธานในการที่จะปฤกษาวินิจฉัยการที่ไม่สู้สำคัญ

ราชเลขานุการฤๅผู้แทนราชเลขานุการนั้น ให้กระทำการสำหรับที่ประชุมเสนาบดีด้วย แลข้อความในพระราชบัญญัตินี้ ที่ว่าด้วยการนัดหมาย แลการจดหมายเหตุของที่ประชุมผู้เปนที่ปฤกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น ให้ใช้ได้ในที่ประชุมเสนาบดีเหมือนกัน

มาตรา ๑๙ ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ ทรงรับเรื่องราวฎีกาจากราษฎรโดยเนือง ๆ ดังเช่นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับอยู่เสมอ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าจะเสด็จออกทรงรับเองไม่ได้ จะโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการ ฤๅเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม รับมาทูลเกล้าฯ ถวายก็ได้ แล้วจะได้มีพระราชเสาวนีให้ชำระฤๅไต่สวนข้อความในฎีกานั้นณศาลใด ๆ ฤๅณกรรมการกองใด ๆ ที่จะทรงตั้งขึ้นตามข้อความที่กล่าวไว้ในมาตรา ๖ แล้ว ก็ได้ตามสมควร

มาตรา ๒๐ ให้เจ้ากระทรวงทะบวงการมีหมายประกาศแก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือนในกรุงแลหัวเมืองปักษใต้ฝ่ายเหนือให้ป่าวร้องแก่อาณาประชาราษฎรผู้ที่ได้พึ่งพำนักพระราชสมภารให้ทราบทั่วกันตลอดพระราชอาณาเขตรให้ประพฤติแลกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ให้เชื่อฟังกระทำตามแลช่วยอุดหนุนการทั้งปวงที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ มีพระราชเสาวนีให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปกระทำการนั้น ตั้งแต่เวลาที่ได้เสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระนคร ตราบเท่าถึงเวลาเสด็จพระราชดำเนินกลับคืนยังพระนคร ฤๅจนเวลาที่จะได้ทรงพระราชวินิจฉัยให้กำหนดสืบไปภายน่านั้นทุกประการเทอญ

(พระบรมนามาภิธัย)
จุฬาลงกรณ์ ป,ร,

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"