ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐

จาก วิกิซอร์ซ


พระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย
พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๔๐[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐”

มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙ เบญจ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๙ เบญจ ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของยอดเงินฝาก ยอดเงินกู้ยืมหรือยอดเงินที่รับจากประชาชน แล้วแต่กรณี ที่สถาบันการเงินแห่งนั้นมีอยู่ ณ วันสิ้นงวดการบัญชีรอบระยะเวลาหกเดือนก่อนหน้างวดที่จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด

ในกรณีที่กองทุนเข้ารับประกันเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน คณะกรรมการจัดการกองทุนจะกำหนดให้สถาบันการเงินต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนในอัตราไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของยอดหนี้สินที่กองทุนรับประกันที่สถาบันการเงินแห่งนั้นมีอยู่ ณ วันสิ้นงวดการบัญชีรอบระยะเวลาหกเดือนก่อนหน้างวดที่จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้ โดยให้นำส่งพร้อมกับการนำส่งเงินตามวรรคหนึ่ง

อัตราตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจะกำหนดให้แตกต่างกันตามประเภทของสถาบันการเงินก็ได้

การคำนวณเงินนำส่งเข้ากองทุน มิให้นำเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่สถาบันการเงินได้จากกองทุนมารวมคำนวณเข้าด้วย

ในกรณีที่กองทุนมีเงินและทรัพย์สินเพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว คณะกรรมการจัดการกองทุนจะประกาศงดการนำส่งเงินเข้ากองทุนก็ได้”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙ อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๙ อัฏฐ ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา ๒๙ ตรี และอำนาจเช่นว่านี้ ให้รวมถึง

(๑) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(๒) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีหรือไม่มีประกันตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

(๓) ค้ำประกันหรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน

(๔) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามสมควรแก่กรณีสำหรับผู้ฝากเงิน หรือเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ต้องเสียหาย เนื่องจากสถาบันการเงินดังกล่าวประสบวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างร้ายแรง

(๕) มีเงินฝากไว้ในสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนเห็นว่าจำเป็นและสมควร

(๖) ซื้อหรือเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน

(๗) ซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน

(๘) กู้หรือยืมเงิน ออกตั๋วเงินและพันธบัตร

(๙) ลงทุนเพื่อนำมาซึ่งรายได้ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดการกองทุน

(๑๐) ทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

เพื่อความประสงค์แห่งมาตรานี้

“ผู้ฝากเงิน” หมายความว่า ผู้ฝากเงินทุกประเภทรวมทั้งผู้ถือบัตรเงินฝากและผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกเพื่อการกู้ยืมหรือรับเงินจากประชาชน

“เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้อื่นที่มิใช่ผู้ฝากเงินและเป็นเจ้าหนี้ที่เกิดจากการที่สถาบันการเงินประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เช่น เป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน ผู้ซื้อตั๋วเงิน หรือผู้ทรงตราสารหนี้ประเภทอื่นซึ่งสถาบันการเงินเป็นผู้กู้ยืม ผู้สั่งจ่าย หรือผู้ออกตราสาร”

มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๒๙ อัฏฐารส แห่งแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘

“ในกรณีที่กองทุนได้ประกันหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ตามมาตรา ๒๙ อัฎฐ (๔) และได้รับความเสียหาย ให้รัฐบาลช่วยเหลือทางการเงินที่จำเป็นแก่กองทุน”

มาตรา ๖ ในกรณีของหลักประกันที่กองทุนได้เรียกไว้ในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ถ้าคณะกรรมการจัดการกองทุนเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นธรรมและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน คณะกรรมการจัดการองทุนจะสละหลักประกันดังกล่าว เพื่อให้เจ้าหนี้อื่นของสถาบันการเงินนั้นได้รับเฉลี่ยหนี้ตามความเป็นธรรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีก็ได้

มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ

[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่สุจริตในกรณีที่สถาบันการเงินประสบปัญหา โดยการให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ดังกล่าว และโดยที่ในการเรียกหลักประกันในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินบางกรณี ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบและมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ในการให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินโดยรวมอันจะทำให้วิกฤตการณ์ของสถาบันการเงินในประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สมควรแก้ไขให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีอำนาจเพิ่มฐานในการคำนวณเงินที่สถาบันการเงินต้องนำส่ง เพื่อให้กองทุนสามารถรับภาระการประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๔/ตอนที่ ๖๐ ก/หน้า ๒๒/๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐



งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"