ข้ามไปเนื้อหา

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘

จาก วิกิซอร์ซ


พระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย
พุทธศักราช ๒๔๘๕
พ.ศ. ๒๕๒๘[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘
เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ พ.ศ. ๒๕๒๘”

มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๕ ทวิ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาตรา ๒๙ ทวิ มาตรา ๒๙ ตรี มาตรา ๒๙ จัตวา มาตรา ๒๙ เบญจ มาตรา ๒๙ ฉ มาตรา ๒๙ สัตต มาตรา ๒๙ อัฏฐ มาตรา ๒๙ นว มาตรา ๒๙ ทศ มาตรา ๒๙ เอกาทศ มาตรา ๒๙ ทวาทศ มาตรา ๒๙ เตรส มาตรา ๒๙ จตุทศ มาตรา ๒๙ ปัณรส มาตรา ๒๙ โสฬส มาตรา ๒๙ สัตตรส มาตรา ๒๙ อัฏฐารส มาตรา ๒๙ เอกูนวีสติ มาตรา ๒๙ วีสติ และมาตรา ๒๙ เอกวีสติ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕


“หมวด ๕ ทวิ
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน


มาตรา ๒๙ ทวิ ในหมวดนี้

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(๑) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์

(๒) บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และ

(๓) สถาบันอื่นที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุน

มาตรา ๒๙ ตรี ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกว่า “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยมี “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น ๆ

มาตรา ๒๙ จัตวา กองทุนประกอบด้วย

(๑) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๒๙ เบญจ และมาตรา ๒๙ สัตต

(๒) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้

(๓) เงินและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ตกเป็นของกองทุน

(๔) ดอกผลของกองทุน

มาตรา ๒๙ เบญจ ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อัตราดังกล่าวต้องไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของยอดเงินฝาก ยอดเงินกู้ยืมหรือยอดเงินที่รับจากประชาชนในแต่ละปี แล้วแต่กรณี ที่สถาบันการเงินแห่งนั้นมีอยู่ ณ วันสิ้นปีการเงินก่อนปีที่จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด

อัตราตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดให้แตกต่างกันตามประเภทของสถาบันการเงินก็ได้

การคำนวณเงินนำส่งเข้ากองทุน มิให้นำเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่สถาบันการเงินได้รับจากกองทุนมารวมคำนวณเข้าด้วย

ในกรณีที่กองทุนมีเงินและทรัพย์สินเพียงพอที่จะดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว คณะกรรมการจัดการกองทุนจะประกาศงดการนำส่งเงินเข้ากองทุนก็ได้

มาตรา ๒๙ ฉ สถาบันการเงินใดไม่นำส่งเงินเข้ากองทุนให้ถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา ๒๙ เบญจ ต้องเสียเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินอีกไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินนั้นนำส่งไม่ครบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด

มาตรา ๒๙ สัตต ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาจัดสรรเงินสำรองตามมาตรา ๙ ส่งสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนที่เห็นว่าเหมาะสมเป็นคราว ๆ ไป

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจออกเงินทดรองให้กองทุนไปก่อนได้ตามความจำเป็น แต่กองทุนต้องชำระคืนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และคณะกรรมการอาจกำหนดให้กองทุนจ่ายค่าตอบแทนสำหรับเงินที่จ่ายทดรองดังกล่าวได้

มาตรา ๒๙ อัฏฐ ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา ๒๙ ตรี และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(๒) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีประกันตามควร

(๓) ค้ำประกัน หรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน

(๔) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามควรแก่กรณีสำหรับผู้ฝากเงินหรือผู้ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินที่ต้องเสียหายเนื่องจากสถาบันการเงินดังกล่าวประสบวิกฤติการณ์ทางการเงินอย่างร้ายแรง

(๕) มีเงินฝากไว้ในสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนเห็นว่าจำเป็นและสมควร

(๖) ซื้อหรือเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน

(๗) ซื้อ ซื้อลดหรือรับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน

(๘) กู้หรือยืมเงิน ออกตั๋วเงินและพันธบัตร

(๙) ลงทุนเพื่อนำมาซึ่งรายได้ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดการกองทุน

(๑๐) ทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

มาตรา ๒๙ นว ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการจัดการกองทุน” ประกอบด้วยผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และกรรมการอื่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเก้าคน

ให้ผู้จัดการเป็นเลขานุการคณะกรรมการจัดการกองทุน

มาตรา ๒๙ ทศ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี

ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา ๒๙ เอกาทศ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๙ ทศ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) รัฐมนตรีให้ออก

(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

มาตรา ๒๙ ทวาทศ การประชุมของคณะกรรมการจัดการกองทุนต้องมีกรรมการประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๙ เตรส คณะกรรมการจัดการกองทุนมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของกองทุน อำนาจและหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) ออกข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๒๙ ตรี มาตรา ๒๙ เบญจ และมาตรา ๒๙ อัฏฐ

(๒) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการกองทุน

(๓) ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้จัดการ

(๔) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย

มาตรา ๒๙ จัตวารส ให้ประธานกรรมการและกรรมการจัดการกองทุนได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๙ ปัณรส ให้คณะกรรมการจัดการกองทุนเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนผู้จัดการ

ผู้จัดการนั้นให้แต่งตั้งจากพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรา ๒๙ โสฬส ผู้จัดการมีหน้าที่ดำเนินกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของกองทุน และตามนโยบายหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด

ในการดำเนินกิจการ ผู้จัดการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการจัดการกองทุน

มาตรา ๒๙ สัตตรส ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนของกองทุน และเพื่อการนี้ ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใดกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนด

มาตรา ๒๙ อัฏฐารส เงินของกองทุนให้นำมาใช้จ่ายได้เฉพาะเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของกองทุนตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนกำหนดรวมทั้งค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามหมวดนี้

มาตรา ๒๙ นวารส ให้กองทุนวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้องมีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำและมีสมุดบัญชีลงรายการ

(๑) การรับและจ่ายเงิน

(๒) สินทรัพย์และหนี้สินซึ่งแสดงการเงินที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรพร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น

มาตรา ๒๙ วีสติ ทุกปี ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีรวมทั้งการเงินของกองทุน

มาตรา ๒๙ เอกวีสติ ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลของการสอบบัญชีเสนอรัฐมนตรีภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชี และให้ส่งสำเนารายงานดังกล่าวต่อธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย”


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ

[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือในทางการเงินเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพโดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤติการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๗๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๔๒/๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๘



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"