พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมฯพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑

จาก วิกิซอร์ซ


พระราชกำหนด
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ
ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐
พ.ศ. ๒๕๔๑[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๑
เป็นปีที่ ๕๓ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ พ.ศ. ๒๕๔๑”

มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๖ ทวิ แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐

“มาตรา ๖ ทวิ ในกรณีที่กองทุนได้ประกันหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ไม่ว่าจะได้ดำเนินการก่อนหรือหลังคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ ให้ถือว่ากองทุนเป็นเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการนั้น

มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาใช้บังคับแก่การที่กองทุนขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่ง”


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง จึงได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจในขณะนี้หลายประการ ซึ่งมาตรการแก้ไขประการหนึ่งคือการให้ความช่วยเหลือและการจัดการทางการเงินแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสภาพความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่กองทุนและลดภาระทางการเงินที่รัฐจะต้องช่วยเหลือกองทุน และในขณะเดียวกันให้มีความโปร่งใสเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการลงทุนในประเทศต่อไป แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมากองทุนได้ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ในรูปการประกันและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเป็นจำนวนมากเพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเงินในขณะนั้น ฉะนั้น เพื่อมิให้กองทุนต้องได้รับความเสียหายจากการดำเนินการช่วยเหลือดังกล่าว ประกอบกับกองทุนจำเป็นต้องสละหลักประกันที่ได้มาจากสถาบันการเงินเหล่านั้นตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้อื่น ๆ จึงอาจเกิดปัญหาทำให้กองทุนไม่ได้รับชำระหนี้คืน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูฐานะของกองทุนตามมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองและให้มีหลักประกันที่กองทุนจะได้รับเงินที่ให้ความช่วยเหลือไปแล้วคืนมาในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินนั้นเสียตั้งแต่ในขณะนี้ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๒๓ ก/หน้า ๘/๗ พฤษภคม ๒๕๔๑



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"