พระราชดำรัสฯ แก้ไขการปกครองแผ่นดิน (2470)/พระราชดำรัส

จาก วิกิซอร์ซ
สารบารพ์
พระราชนิพนธ์คำนำ ต้นสมุด
พระราชปรารภที่จะแก้ไขการปกครอง หน้า
ว่าด้วยการปกครองแต่เดิมซึ่งจัดเปน ๖ กรม ,,
ว่าด้วยน่าที่กรมมหาดไทยแลกรมพระกระลาโหม ,,
ว่าด้วยเหตุที่กรมท่าได้บังคับการหัวเมือง ,,
ว่าด้วยศาลชำระความกรมมหาดไทยแลกระลาโหม ,,
ว่าด้วยกรมมหาดไทยแลกระลาโหมได้ว่าภาษีอากร ,,
เทียบตำแหน่งกรมมหาดไทยแลกระลาโหมกับเสนาบดีต่างประเทศ ,,
ว่าด้วยเสนาบดี ๔ ตำแหน่งที่เรียกว่าจตุสดมภ์ ,,
ว่าด้วยน่าที่พระคลัง กรมท่า ,,
ว่าด้วยน่าที่กรมเมือง ,,
ว่าด้วยน่าที่กรมวัง ,, ๑๐
ว่าด้วยน่าที่กรมนา ,, ๑๑
ว่าด้วยความบกพร่องของกรมทั้ง ๖ ,, ๑๒
ว่าด้วยกรมแยกใน ๖ กรมแบ่งได้เปน ๔ พวก ,, ๑๓
ว่าด้วยกรมแยกทั้ง ๔ พวก ,, ๑๓
ว่าด้วยราชการพลเรือนที่แบ่งไว้ผ่ายพลเรือน ,, ๑๓
ว่าด้วยน่าที่กรมพระสุรัศวดี ,, ๑๔
ว่าด้วยน่าที่กรมลูกขุน ,, ๑๖
ว่าด้วยศาลที่กำหนดมาในพระธรรมนูญ ,, ๒๑
ว่าด้วยศาลหลวง หน้า ๒๑
ว่าด้วยศาลอาญา (ศาลกรมพระกระลาโหม) ,, ๒๒
ว่าด้วยศาลกระทรวงอาญาจักร (ศาลกรมมหาดไทย) ,, ๒๒
ว่าด้วยศาลกระทรวงนครบาล ,, ๒๓
ว่าด้วยศาลกรมวัง ,, ๒๔
ว่าด้วยศาลแพ่งกลางแลศาลแพ่งเกษม ,, ๒๕
ว่าด้วยศาลกระทรวงมรฎก ,, ๒๕
ว่าด้วยศาลกระทรวงกรมท่ากลาง ,, ๒๕
ว่าด้วยศาลกระทรวงกรมนา ,, ๒๖
ว่าด้วยศาลพระคลังมหาสมบัติ ,, ๒๖
ว่าด้วยศาลกระทรวงธรรมการ ,, ๒๗
ว่าด้วยศาลกระทรวงสัศดี ,, ๒๗
ว่าด้วยศาลกระทรวงแพทยา ,, ๒๗
ว่าด้วยศาลแยกในกรมท่า ,, ๒๗
ว่าด้วยศาลรับสั่ง ,, ๒๘
ว่าด้วยศาลราชตระกูล ,, ๒๙
ว่าด้วยวิธีกระบวนพิจารณาความ ,, ๒๙
ว่าด้วยกรมธรรมการสังฆการี ,, ๓๓
ว่าด้วยกรมราชบัณฑิตย์ ,, ๓๔
ว่าด้วยกรมหมอ ,, ๓๕
ว่าด้วยกรมพระอาลักษณ ,, ๓๖
ว่าด้วยกรมพระคลังต่าง ๆ หน้า ๓๗
ว่าด้วยพระคลังสินค้า ,, ๓๘
ว่าด้วยคลังในซ้ายในขวา ,, ๓๙
ว่าด้วยคลังราชการ ,, ๔๑
ว่าด้วยคลังวิเสศ ,, ๔๑
ว่าด้วยกรมพระคลังสวน ,, ๔๑
ว่าด้วยประโยชน์แห่งการคลัง ,, ๔๒
ว่าด้วยกรมภูษามาลา ,, ๔๓
ว่าด้วยราชการทหารแต่แบ่งไว้ในฝ่ายพลเรือน ,, ๔๔
ว่าด้วยกรมล้อมพระราชวัง ,, ๔๔
ว่าด้วยราชการพลเรือนแต่แบ่งไว้ในฝ่ายทหาร ,, ๔๕
ว่าด้วยกรมแสงปืนโรงใหญ่ ,, ๔๕
ว่าด้วยกรมช้างกรมม้า ,, ๔๕
ว่าด้วยราชการทหารแบ่งไว้ฝ่ายทหาร ,, ๔๖
ว่าด้วยกรมอาษาแปดเหล่า ,, ๔๖
ว่าด้วยกรมอาษายี่ปุ่น กรมอาษาจาม กรมฝรั่งแม่นปืน กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง กรมแตรสังข์ กรมกลองชนะ ,, ๔๘
ว่าด้วยกรมกองมอญ ,, ๔๘
ว่าด้วยกรมพระตำรวจหน้าแปดกรม กรมพลพัน กรมทนายเลือก กรมคู่ชัก กรมทหารใน กรมรักษาพระองค์ ,, ๔๙
ว่าด้วยกรมทหารที่เกิดขึ้นภายหลัง ,, ๕๑
ว่าด้วยการฝึกทหารในปลายรัชกาลที่ ๓ แลรัชกาลที่ ๔ ,, ๕๒
ว่าด้วยการเกณฑ์ทหารในรัชกาลที่ ๔ ,, ๕๔
ว่าด้วยกรมช่างสิบหมู่ ,, ๕๖
ว่าด้วยความจำเปนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรูปการเดิม ,, ๕๖
ว่าด้วยแบ่งราชการเปนสิบสองส่วน ,, ๕๗
ว่าด้วยการประชุมตามแบบเดิม ,, ๖๐
ว่าด้วยการตั้งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินแลที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ,, ๖๐
ว่าด้วยเปลี่ยนกฎหมายโดยไม่ประกาศเลิกล้างของเก่า ,, ๖๑
ว่าด้วยไม่มีกฎหมายกำหนดพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ,, ๖๒
ว่าด้วยพระราชประสงค์ที่จะแก้ไขการปกครอง ,, ๖๔

พระราชดำรัส
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน

ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติ รับน่าที่อันใหญ่ยิ่ง ในพนักงานที่จะบำรุงรักษาแผ่นดิน ซึ่งเปนพนักงานอย่างสูง แลเปนการอันหนักยากที่จะทำการให้สดวกได้เต็มที่ตามความต้องการ มาจนถึงบัดนี้ก็กว่าสิบเก้าปีแล้ว ถึงแม้ว่าในเบื้องต้น ซึ่งมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ดูเหมือนหนึ่งจะเปนผู้รับผิดชอบในราชการทั้งปวงแทนตัวข้าพเจ้า เปนการแบ่งเบาจากบ่าข้าพเจ้าบ้างก็ดี แต่ความที่เปนเช่นนั้นจะมีจริงบ้างก็ไม่เกิน ๓ ปี ตั้งแต่แรกได้ราชสมบัติมา แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าเองรู้สึกว่าได้รับความหนักมาจำเดิมตั้งแต่ได้นั่งในเสวตรฉัตร จนถึงบัดนี้ แต่ความหนักนั้น เปลี่ยนไปต่าง ๆ ไม่เหมือนกันในสามสมัย คือแรก ๆ แลกลาง ๆ แลบัดนี้ เพราะได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญเช่นนี้มาช้านานได้รู้ทางราชการทั่วถึงทดลองมาแล้ว จึ่งเห็นว่าการปกครองในบ้านเมืองเรา ซึ่งเปนไปในประจุบันนี้ ยังไม่เปนวิธีปกครองที่จะให้การทั้งปวงเปนไปสดวกได้แต่เดิมมาแล้ว ครั้นเมื่อล่วงมาถึงประจุบันนี้ บ้านเมืองยิ่งเจริญขึ้นดว่าแต่ก่อนหลายเท่า การปกครองอย่างเก่านั้นก็ยิ่งไม่สมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกที จึ่งได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับเวลา ให้เปนทางที่จะเจริญแก่บ้านเมือง ให้คิดแลได้พูดมาช้านาน แต่การหาตลอดไปได้ไม่ ด้วยมีเหตุขัดขวางต่าง ๆ เปนอันมาก แลการที่จะจัดนั้นก็เปนการหนัก ต้องอาไศรยกำลังสติปัญญาแลความซื่อตรง ความจงรักภักดีของท่านทั้งปวงผู้ซึ่งจะรับตำแหน่งจัดการทั้งปวงนั้นเต็มความอุสาห วางเป็นแบบแผนลงไว้ได้แล้ว การทั้งปวงจึ่งจะเปนไปได้สดวกตามประสงค์

บัดนี้ท่านทั้งปวงได้ลงเห็นพร้อมกับข้าพเจ้า ในการซึ่งควรจะเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ให้สมกับกาลสมัยดังนี้แล้ว จึ่งจะขอชี้แจงความเห็นโดยย่อพอให้เข้าใจว่า เพราะเหตุอย่างใดข้าพเจ้าจึ่งเห็นควรจะเปลี่ยนแปลง แลการที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นจะเปลี่ยนเปนอย่างไรพอให้ทราบเปนเค้า ที่จะได้ช่วยกันคิดอ่านให้การอันนี้สำเร็จไปได้ดังความประสงค์

การปกครองบ้านเมืองของเราซึ่งได้จัดมาแต่ก่อนนั้น ได้แบ่งเสนาบดีเปน ๖ ตำแหน่ง ยกเปนอรรคมหาเสนา ๒ คือสมุหนายก ได้บังคับกรมฝ่ายพลเรือนทั่วไป สมุหพระกระลาโหม ได้บังคับกรมฝ่ายทหารทั่วไป เมื่อพิเคราะห์ดูตามตำแหน่งที่ตั้งขึ้นแต่เดิม ก็ดูเหมือนจะให้บังคับการได้สิทธิ์ขาดตลอดในการพลเรือนฝ่ายหนึ่ง การทหารฝ่ายหนึ่ง แต่เมื่อตรวจดูตามพระราชพงษาวดาร ก็ไม่เห็นได้ว่าอรรคมหาเสนาธิบดีทั้ง ๒ คนนี้ ได้บังคับการทั่วไปในฝ่ายพลเรือนแลฝ่ายทหารสิทธิ์ขาดดังที่ตั้งขึ้น เปนแต่เหมือนกับสมุหบาญชี ที่จะรวบรวมจำนวนคนฝ่ายพลเรือนคนหนึ่ง ฝ่ายทหารคนหนึ่งเท่านั้น อีกประการหนึ่ง การซึ่งแบ่งเปนฝ่ายพลเรือนฝ่ายทหารนั้น ถึงว่ากฎหมายจะรับยกไพร่หลวงฝ่ายทหารแลฝ่ายพลเรือนผิดกันบ้างในที่บางแห่ง แต่การที่ใช้ไปทัพจับศึกอันใด ก็ใช้ทั้งสองฝ่ายเหมือนกันเสมอกัน จนไม่เข้าใจได้ว่าซึ่งแบ่งเป็นฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือนนี้มีประสงค์แต่เดิมอย่างไร แต่คงต้องเข้าใจว่า การที่แบ่งไว้แต่เดิมเช่นนี้ คงมีตำแหน่งน่าที่ผิดกัน แต่หากเลือน ๆ กันมาด้วยเหตุต่าง ๆ จนคงเปนแต่สมุหบาญชีอย่างเช่นเปนกันอยู่ในประจุบันนี้

ส่วนตำแหน่งราชการของท่านอรรคมหาเสนาบดีทั้ง ๒ คน นอกจากที่เปนสมุหบาญชี ที่เปนการสำคัญ ก็บังคับการหัวเมืองอย่างหนึ่ง บังคับศาลชำระความซึ่งขึ้นอยู่ในกรมนั้นอย่างหนึ่ง ตำแหน่งซึ่งได้บังคับการหัวเมืองนี้ คงจะแบ่งบังคับอยู่ใน ๒ กรมนี้แต่เดิมมา ท่านอรรคมหาเสนา ๒ คนนี้ เปนผู้ถือตราพระราชสีห์พระคชสีห์ซึ่งนับว่าเปนตราหลวงฉเพาะแต่ดำเนินพระบรมราชโองการอย่างเดียวจึ่งจะมีไปได้ แต่เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลงไป คือเมื่อสมุหพระกระลาโหมมีความผิดก็ยกหัวเมืองขึ้นกระลาโหมไปขึ้นกรมท่า ใช้ตราบัวแก้วเปนตราดำเนินพระบรมราชโองการอีกดวงหนึ่ง กระลาโหมไม่มีหัวเมืองขึ้น ตลอดมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึ่งได้ยกหัวเมืองกรมท่ากลับมากระลาโหม แบ่งเมืองมหาดไทยมาบ้างคงไว้ให้กรมท่าบ้าง จึ่งได้เกิดเปนกรมที่บังคับหัวเมืองขึ้นเปน ๓ ทั้งกรมท่า การซึ่งแบ่งฝ่ายพลเรือนฝ่ายทหาร ซึ่งดูเหมือนว่าน่าที่ฝ่ายพลเรือนจะอยู่รักษาพระนคร ฝ่ายทหารจะเปนผู้ไปทัพ กลับกลายเปนไปทับเหมือนกันทั้งสองฝ่ายนี้ คงจะเปนด้วยหัวเมืองขึ้นสองฝ่ายนี้เป็นต้นเหตุ เมื่อมีราชการเกิดขึ้นในหัวเมืองขึ้นกรมมหาดไทย ก็เปนน่าที่กรมมหาดไทยไป เกิดขึ้นในกระลาโหมกับเปนน่าที่กระลาโหมไป โดยอาไศรยเหตุว่า ผู้ซึ่งได้เคยบังคับบัญชาการในหัวเมืองเหล่านั้นมา รู้เบาะแสในการที่จะกะเกณฑ์ผู้คนพาหนะสเบียงอาหาร ดีกว่าผู้ซึ่งไม่เคยบังคับกัน เพราะผู้คนที่จะใช้ฝ่ายทหารก็ดีพลเรือนก็ดี ไม่มีวิชาฝึกหัดอันใดวิเสศกว่ากัน ก็เปนอันใช้ได้เท่ากัน ครั้นเมื่อมีการทัพศึกต่างประเทศมาย่ำยีพระนคร ซึ่งไม่เปนหัวเมืองฝ่ายใด ฤาจะยกไปปราบปรามประเทศใด ซึ่งมิได้เปนพระราชอาณาเขตร ต้องการนายทัพนายกองแลไพร่พลมากก็ต้องใช้รวมกันทั้งฝ่ายทหารพลเรือน การที่แบ่งน่าที่ฝ่ายทหารพลเรือนก็เปนอันสูญไป คงอยู่แต่ชื่อ

ส่วนในเรื่องที่บังคับบัญชาศาลชำระความนั้นเล่า เมื่อพิเคราะห์ดูศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่แต่ในกรมมหาไทยนั้น ก็น่าสงไสยว่าฤาบางทีแต่ก่อนหัวเมืองจะมีขึ้นแต่กรมมหาดไทยกรมเดียว แต่จะหาเหตุอันใดเปนพยานอื่นอีกก็ไม่ได้ แต่ความจริงนั้น ศาลอุทธรณ์ความหัวเมือง ก็เปนมีทั้ง ๓ กรมที่มีเมืองขึ้น ในกรมทั้ง ๒ คือมหาดไทยกระลาโหมนี้ มีแต่ราชการบังคับหัวเมือง แลบังคับความในกรมเท่านั้น ก็มีการมากเต็มตำแหน่งจนเหลือที่จะจัดการให้ตลอดไปได้ เพราะเหตุว่าไม่ฉเพาะแต่ที่จะต้องรักษาราชการสำหรับเมืองขึ้นนั้นอย่างเดียว เมื่อมีเหตุการอันใด เหมือนหนึ่งมีราชการทัพศึกเกิดขึ้นในเขตรแดนเมืองขึ้นนั้น ยกกองทัพออกไป แม่ทัพจะเปนฝ่ายทหารก็ดีพลเรือนก็ดี ก็ต้องมีใบบอกเข้ามายังกรมที่บังคับเมืองนั้น เพราะฉนั้นราชการในกรมมหาดไทยกรมกระลาโหมจึ่งต้องมีทั้งการทัพศึกทั้งการที่จะรักษาทำนุบำรุงบ้านเมืองแลการเก็บส่วยเก็บบรรณาการ แลการที่จะรงับคดีความต่าง ๆ ปนกันอยู่ในน่าที่นั้น จึ่งเปนการมากเหลือล้น ทําการไปไม่ใคร่ตลอดทุกสิ่งทุกอย่างได้

ยังภายหลัง มาเกิดกรม ๒ กรมนี้ได้บังคับการภาษี ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ ๆ ที่มีเงินแผ่นดินมากกว่าภาษีซึ่งอยู่ในกรมพระคลังแต่เดิมขึ้นไปอีกก็มี ต้องทําน่าที่เหมือนเจ้าพนักงานคลังอีกส่วนหนึ่ง

ถ้าจะเทียบตำแหน่งสมุหพระกระลาโหมสมุหนายกในเวลานี้ กับตำแหน่งเสนาบดีที่ในประเทศทั้งปวงมีอยู่ ก็จะตัองนับว่าเปนเสนาบดีว่าการบ้านเมืองด้วย เสนาบดีว่าการยุติธรรมด้วย เสนาบดีว่าการทหารด้วย เสนาบดีว่าการคลังด้วย รวบรวมกันอยู่ในคนเดียว เปนเสนาบดีถึง ๔—๕ ตำแหน่งดังนี้ การจึ่งได้สับสนรุงรังไม่ใคร่จะตลอดไปได้

ส่วนเสนาบดีอีก ๔ ตําแหน่ง ซึ่งเรียกว่าจตุสดมภ์นั้น พระคลังกรมท่า ตำแหน่งเดิมซึ่งเรียกว่าพระคลังนี้ ก็คงจะเปนตําแหน่งที่สำหรับบังคับบัญชาในการเงินซึ่งจะเข้าในพระคลังแลที่จะจ่ายราชการบังคับจัดการภาษีอากรขนอนตลาดทั้งปวงทั่วไป แลบังคับศาลซึ่งชำระความเกี่ยวข้องด้วยพระราชทรัพย์หลวง แต่ในเวลานั้น เงินที่จะเปนพระราชทรัพย์เข้าในทัองพระคลังโดยภาษีอากรมีน้อย ส่วนที่จะจ่ายก็น์อยเหมือนกัน จะใช้การอันใดก็อาไศรยเกณฑ์คนมาใช้เปนพื้น ก็เปนน่าที่มหาดไทยกระลาโหมสัศดีเสียโดยมาก กรมพระคลังคงจะมีราชการน้อยไม่พอแก่ตำแหน่ง ครั้นเมื่อมีการค้าขายกับเมืองจีน แต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขาย เปนการเกี่ยวข้องในการที่จะจำหน่ายแลเก็บพระราชทรัพย์โดยตรง การแต่งสำเภานี้จึ่งคงจะต้องตกเปนน่าที่กรมพระคลัง เมื่อกรมพระคลังเปนผู้ค้าขายกับต่างประเทศเช่นนี้ ก็คงเปนผู้ที่กว้างขวางในหมู่คนต่างประเทศ เมื่อมีคนต่างประเทศเข้ามาในบ้านเมือง จึ่งต้องมอบให้เจ้าพระยาพระคลังเปนผู้รับรอง พนักงานเจ้าท่าสำหรับรับคนต่างประเทศจึงได้ตกอยู่ในกรมพระคลัง การที่จะเก็บเงินอากรขนอนตลาดแลจะรับจ่ายเงินพระคลัง กับทั้งแต่งสำเภาแลรับคนต่างประเทศนี้ ในเวลานั้นก็คงจะไม่เปนการหนักหนาอันใด เพราะมีตำแหน่งที่จะบังคับการอยู่แต่ ๒ อย่าง คือเปนเสนาบดีว่าการคลัง แลเปนเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ครั้นเมื่อยกหัวเมืองขึ้นกรมพระกระลาโหมไปขึ้นกรมท่า ต้องเติมตำแหน่งเช่นว่ามาแล้วนั้นขึ้นอีก คือเจ้าพระยาพระคลังต้องเปนเสนาบดีว่าการบ้านเมือง เสนาบดีว่าการยุติธรรม เสนาบดีว่าการทหาร เสนาบดีว่าการคลัง เสนาบดีว่าการกรมท่า มีการล้นตำแหน่งขึ้นไปมากกว่าตำแหน่งสมุหนายกสมุหกระลาโหมอีกดังนี้ จึงต้องละวางการคลังเสีย ส่วนการเก็บเงินจ่ายเงินตกอยู่แก่พระยาราชภักดี ส่วนการแต่งสำเภาตกอยู่แก่พระยาศรีพิพัฒ ซึ่งเปนที่ ๒ สำหรับน่าที่นั้น ๆ ยังคงอยู่แต่บาญชีเบี้ยหวัด เจ้าพระยาพระคลังยังต้องตรวจตรา จึงได้มีตำแหน่งที่ขุนธนรัตน์อยู่ในกรมท่า แต่ขันเมื่อจืดลงมาภายหลัง เจ้าพระยาพระคลังก็ไม่รู้บาญชีเบี้ยหวัด ขุนธนรัตน์ก็เหมือนขุนนางในกรมพระคลัง สักแต่ว่ารับเบี้ยหวัดในกรมท่าเท่านั้น การซึ่งเจ้าพระยาพระคลังละวางตําแหน่งคลังคราวหนึ่งแล้วนั้น ภายหลังก็กลับเปนตําแหน่งคลังเข้าอีก แต่ไม่เปนคลังอย่างแต่ก่อน เปนเจ้าพนักงานว่าภาษีอากรเหมือนอย่างมหาดไทยกระลาโหม คงบังคับคลังเดิมอยู่แต่คลังราชการ ส่วนพระยาราชภักดีที่เปนผู้ทําการแทนเจ้าพระยาพระคลังมีอำนาจน้อยบังคับได้แต่ในพระคลังมหาสมบัติ ภาษีอากรเกิดขึ้นในมหาดไทยกระลาโหมกรมท่ากรมเมืองคลังสินค้า เงินส่วยหัวเมืองทั้ง ๓ กรม เงินค่านาค่าราชการตัวเลข ซึ่งเปนเงินสำหรับใช้จ่ายราชการแผ่นดินแยกไปอยู่ในกรมต่าง ๆ พระยาราชภักดีก็ไม่ทราบว่ามีจํานวนมากน้อยเท่าใดไม่มีอำนาจที่จะเร่งรัดตักเตือน สุดแต่มาส่งเท่าไรก็รับไว้เท่านั้น ตำแหน่งพระคลังจึงต้องนับว่าเปนอันไม่มี เพราะไม่มีผู้ที่จะรู้จำนวนเงินแผ่นดิน แลคอยเรียกเร่งรับจ่ายได้ทั่วไป เปนแต่ตําแหน่งพระคลังเที่ยวกระจายไปหลายหมู่หลายกรม เงินแผ่นดินก็มีแต่จะสาบสูญไปไม่ได้ ใช้ราชการ ส่วนเจ้าพระยาพระคลังกลายไปเปนผู้ว่าการต่างประเทศ การต่างประเทศมากขึ้น น่าที่อื่น ๆ ยังมีรุงรังอยู่มากคงเช่นว่ามาแล้ว ก็ไม่อาจจะทําการทั้งปวงให้ตลอดไปได้ ทิ้งรกรุงรังอยู่ให้เปนที่เสื่อมเสียไปในทางราชการ เพราะการปะปนสับสนกันอยู่ดังนี้

ส่วนจตุสดมภ์อีกตำแหน่งหนึ่ง คือกรมเมืองฤๅกรมพระนครบาลนั้นเปนน่าที่ที่ได้บังคับกองตระเวนซ้ายขวา แลขุนแขวงอำเภอกํานันในเขตรกรุง บังคับศาลพิจารณาความฉกรรจ์มหันตโทษ ซึ่งแบ่งเปนแผนกว่าความนครบาล เปนศาลซึ่งไม่ระคนปนด้วยความแพ่งความอาญาความอุทธรณ์อย่างเช่นเสนาบดีกรมอื่น ๆ แลได้บังคับรักษาคุกไพร่หลวงมหันตโทษตพุ่นหญ้าช้าง ในตําแหน่งที่กรมเมืองนี้ ตั้งแต่เดิมมาจนถึงบัดนี้ ตําแหน่งไม่สู้เปลี่ยนแปลงไปมากเหมือน ๓ กรมที่ว่ามาแล้ว เปนแต่ถวายหลังมีเพิ่มเปนตําแหน่งพระคลังขึ้นด้วย คือได้ว่าภาษีเรือโรงร้าน ซึ่งภายหลังตกไปกรมมหาดไทย ภาษีนี้เปนภาษีตั้งขึ้นใหม่ซึ่งให้อยู่ในกรมเมืองนั้น เพราะเห็นว่าใกล้เคียงกับการของกรมเมืองอย่างหนึ่งแต่ไม่เปนอย่างนั้นตลอดไป เพราะเจือฉเพาะตัวคนผู้บังคับอยู่จึ่งได้ตกไปอยู่กรมมหาดไทย กรมเมืองก็เปนอันว่างไม่ได้เปนพระคลังด้วย คงตามตําแหน่งเดิม ถึงว่ามาเกิดภาษีคนหาเงินแลค่าตลาดขึ้นภายหลังก็เปนส่วนบุคคลแท้ จึงได้ตกอยู่แต่ในพนักงานกองตระเวนขวาไม่ได้เกี่ยวถึงส่วนตัวท่านเสนาบดีด้วยเลย เมื่อจะพิจารณาดูว่ากรมเมืองนี้คงตําแหน่งอยู่ตามเดิมแล้ว เหตุใดการจึ่งไม่เปนไปสดวกได้จะมิเปนการไม่เรียบมาเสียแต่แรกตั้งตำแหน่งฤา เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจี่งได้กล่าวว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในกรมพระนครบาลเลย การที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่ แต่เปนการเปลี่ยนแปลงมาจากที่อื่น เปนต้นว่าบ้านเมืองสมบูรณ์ขึ้นกว่าแต่ก่อน การค้าขายก็มีมากขึ้น การทํามาหากินโดยกําลังแรงก็มีมากขึ้น ทรัพย์สมบัติซึ่งจะพึงหวงแหน อันเปนต้นเหตุแห่งอันตรายแก่ชีวิตเปนต้นก็มีมากขึ้น ทางหนีทีไล่ของคนเหล่าร้ายก็มีกว้างขวางขึ้น พระราชกําหนดกฎหมายที่สําหรับจะใช้ระงับปราบปรามโจรผู้ร้าย ถึงว่าได้แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นตามกาลสมัยบ้างตลอดมา แต่พื้นกระบวนพิจารณายังเปนอย่างเดิม ซึ่งเปนการล่วงเวลามาช้านานไม่สมแก่กาลสมัยไปได้ทั่วทุกข้อ แต่ถึงดังนั่นก็ดี ถ้ากรมพระนครบสลยังจะรักษาราชการให้ยืนคงที่อยู่ตามแบบแผนเก่าใด้ การก็คงจะไม่รกเรี้ยวสระสมมากเหมือนเช่นเปนอยู่ในบัดนี้ แต่เพราะมีเหตุซึ่งจะทําให้เจ้าพนักงานไม่ทําการยืนอยู่ตามอย่างเก่าใด้ จึงได้ยิ่งเสียมากไป การซึ่งเปนข้อซึ่งสําหรับล่อให้เจ้าพนักงานเสียไปนั่น เมื่อว่าอย่างอ่อนๆว่าบ้านเมืองสมบูรณ์ขึ้น ทรัพย์สมบัติซึ่งจะจับจ่ายใช้สอยเปนประโยชน์เลี้ยงตัวของเจ้าพนักงาน ซึ่งจะใด้โดยที่กฎหมายอนุญาตเปนทางสุจริตไม่พอที่จะจ่ายใช่เพราะสิ่งของทั่งปวงมีราคาแพงขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อว่าดังนี้จะมีข้อเถียงว่า เมื่อบ้านเมืองสมบูรณ์ขึ้นถ้อยความก็มีมากขึ้น ถ้ารีบว่าความแล้วไปโดยเร็วค่าธรรมเนียมนั่นก็จะย่อมมากอยู่เองดังนี้ ก็จะมีข้อแก้ใด้ ว่าติดเพราะกฎหมายจะไม่ให้แล้วเร็วใด้ ความมากกว่าเวลาที่จะทําใด้บ้าง เพราะอธิบดีแลคนใช้อ่อนแอไปไม่สมกับตําแหน่งบ้าง แต่เมื่อจะว่าที่จริงแท้แล้ว เหตุที่ยกมาเปนข้อขัดข้องข้างต้นนั้นก็เปนใด้บ้างจริง แต่ที่เปนข้อสําคัญนั้นเพราะเสนาบดีแลข้าราชการในกรมมหาดไทยกระลาโหมกรมท่ากรมนามีผลประโยชน์บริบูรณ์กว่าแต่ก่อนหมายเท่าหลายส่วน ด้วยอาไศรยทําการนอกตําแหน่งเดิม เช่นได้บังคับการภาษีอากรเปนต้นบ้าง ได้โดยตําแหน่งเดิมแต่อาไศรยการที่บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น เช่นเก็บเงินค่านายย้าง ส่วนกรมเมืองนี้ใด้รับความเจริญของบ้านเมืองแต่ที่มีความมากขึ้น ก็เปนช่องอันเดียวของกรมเมืองที่จะตะเกียกตะกายหาผลประโยชน์แข่งกรมอื่นๆด้วยทางความนี้ ครั่นจะหาโดยตรงๆก็ไม่ใด้ทันอกทันใจ จึงต้องหาไปตามแต่จะได้ ต้องตกไปในทางทุจริต ถึงดังนั้นก็ยังเปนการหาผลประโยชน์ได้ยาก ได้โดยร้อนๆเย็นๆหวาดๆหวั่นๆไม่เหมือนกรมอื่น ผู้ซึ่งจะมาเปนเสนาบดีหรือขุนนางในตำแหน่งกรมเมืองนี้จึงต้องเปนผู้ที่ไม่สามารถจะตะเกียกตะกายเอาตำแหน่งใน๔กรมที่กล่าวมาแล้วนั้นได้ จึงต้องเต็มใจอยู่ในกรมเมืองเพราะเหตุดังนี้ ผู้ที่อยู่ในกรมเมืองจึงมักจะเปนผู้ที่ไม่เปนคนดีกว่าคนซึ่งอยู่ใน๔กรมซึ่งว่ามาแล้วนั้นบ้าง เมื่อรวบรวมความลงก็เห็นว่าราชการในกรมเมืองเสียไป ด้วยทางกฎหมายบ้าง ด้วยผลประโยชน์ไม่พอนั้นเปนข้อสำคัญ

ส่วนตำแหน่งกรมวังนั้น เปนเสนาบดีในพระราชวัง เปนพนักงานที่จะรักษาพระราชมณเฑียรและพระราชวังชั้นนอกชั้นใน เปนพนักงานที่จะจัดการพระราชพิธีทั้งปวงทั่วไป แลได้บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายหน้าบรรดาซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน แลข้าราชการฝ่ายในทั่วไป มีอำนาจที่จะตั้งศาลชำระความ ซึ่งเกี่ยวข้องด้วยสมในได้ทุกกระทรวง เจ้าพระยาธรรมามีกรมขึ้นที่ได้บังคับบัญชามากกว่าจตุสดมภ์เสนาบดีอื่นๆ ในกรมวังนี้ ก็ไม่มีธรรมเนียมอันใดที่จะเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อน แลไม่ต้องขาดประโยชน์อันใดยิ่งกว่าที่ได้เคยได้มาแต่ก่อน เว้นไว้แต่ที่ต้องขาดไปเหมือนๆกันกับกรมทั้งปวงอย่างเช่นตั้งกรมการหัวเมือง แลต้องรับผลแห่งอาหารแพง ด้วยบ้านเมืองมีความเจริญ แต่ทางที่จะตะเกียกตะกายหาผลประโยชน์นั้นน้อยไปกว่ากรมเมือง ด้วยได้ว่าความหลายศาลก็จริง แต่ฉเพาะแต่สมใน ถึงโดยว่าจะคิดหาโดยทางทุจริตก็ไม่ใคร่จะได้มากเหมือนกรมเมือง ส่วนราชการของกรมวังนั้น ลเอียดมากกว่าราชการในกรมเมือง เมื่อจะต้องมาเป็นตำแหน่งอันต้องใช้กำลังกายและกำลังความคิดมาก ก็ไม่มีผู้ใดที่จะเต็มใจรับตำแหน่งนั้น เสนาบดีกรมหวังก็มักจะตกอยู่ในผู้ซึ่งเปนขุนนางเก่าแก่ ซึ่งไม่สามารถจะทำการตามตำแหน่งของตัวได้ แต่ราชการในกรมวังจะละให้บกพร่องไปไม่ได้ จึงต้องมีเจ้านายบ้างขุนนางบ้าง เข้าแซกแซงบังคับบัญชาการ จนเสนาบดีกรมวังเกือบจะเปนแต่ผู้ที่ได้รับเบี้ยหวัดเป็นขุนนางสูงอายุเปล่าๆโดยมาก เมื่อตำแหน่งเป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีผู้ใดจะสมัคมาอยู่ในกรมวังจนหาตัวตั้งไม่ใคร่ได้ ราชการในกรมวังที่เป็นส่วนราชประเพณีฤาการในพระราชวัง ไม่สู้เปนการเสื่อมทรามอันใดไปได้ ด้วยเปนการติดเนื่องกันอยู่ในพระองค์เจ้าแผ่นดิน แต่ตำแหน่งเสนาบดีนั้นเปนตำแหน่งที่ตั้งไว้ป่วยการไปเท่านั้น

ส่วนตำแหน่งเสนาบดีกรมนานั้น เปนพนักงานที่จะดูแลรักษานาหลวง เก็บหางเข้าค่านาจากราษฎร เปนพนักงารจัดซื้อเข้าขึ้นฉางหลวงสำหรับจ่ายในพระราชวังแลการพระนคร เปนพนักงานที่จะทำตัวอย่างชัดเจนราชให้ลงมือทำนาด้วยตัวลงไถนาเองเปนคราวแรกเป็นผู้ทำนุบำรุงชาวนาทั้งปวงไม่ให้ป่วยการเวลาที่จะทำนา ด้วยมีอำนาจที่จะตั้งศาลพิจารณาความบันดาซึ่งเกี่ยวข้องด้วยที่นาแลโคกระบือให้แล้วไปโดยเร็ว กว่าที่จะไปว่าความณกระทรวงอื่นๆ การทํานุบํารุงนาเพียงเท่านี้ ท่านแต่ก่อนท่านเห็นว่าเปนการบำรุงชาวนาสมแก่ความปรารถนาอยู่แล้ว เมื่อพิเคราะห์ดูตามตำแหน่งของเสนาบดีว่าการกรมนาเช่นนี้ ถ้าทำได้เต็มตามตำแหน่ง คือหมั่นเอาใจใส่แนะนำชาวนาให้ทำการไร่นา แลระงับความวิวาทด้วยเรื่องที่นา แลเรื่องสัตว์ที่สำหรับจะใช้ทำนา ให้แล้วไปได้โดยเร็วอย่าให้ต้องติดค้างอยู่เนิ่นนาน ก็คงจะเป็นประโยชน์ได้จริงตามความมุ่งหมาย แต่การนั้นกลับกลายไปไม่รักษาตำแหน่งทั่วถึงได้ คือเหมือนอย่างเช่นเป็นพนักงานแนะนำให้ราษฎรทำนานั้น ก็คงเหลืออยู่แต่พระราชพิธีจรดพระนังคัล ส่วนความที่จะระงับเหตุการวิวาทของชาวนานั้น ก็ลงเป็นแต่ศาลสามัญ เสนาบดีว่าการกรมนาก็คงเป็นแต่เสนาบดีว่าการยุติธรรมส่วนหนึ่งเหมือนกรมทั้งปวง ยังคงเปนธุระอยู่อีก๒อย่างที่เต็มใจทำ คือจะซื้อข้าวขึ้นฉางจ่ายเข้าในราชการทั้งปวง อันเป็นช่องทางที่จะหาเลศหาเลยได้ แลตั้งข้าหลวงเสนาออกเก็บเงินค่านา การที่จะเก็บเงินค่านา จะได้ถ้วนฤาไม่ได้ถ้วนถี่ประการใด ไม่ได้ตรวจตราสอบสวนอันใดเปนแต่ผู้รับเงินส่งเงินคลังอย่างเดียวง่ายกว่าเปนเจ้าจำนวนภาษีอากร เพราะไม่ต้องรับผิดชอบในเงินที่จะได้มามากฤาน้อยเท่าใดเป็นกำหนดแน่นอน ด้วยข้าหลวงเสนาก็ไม่ได้มาว่าประมูลเหมือนเจ้าภาษีนายอากรอื่นๆกรมนาเกือบจะว่าไม่ต้องรับผิดชอบอันใดในกรมของตัวแลไม่ต้องทำการหนักอันใด เปนแต่ผู้ที่จะได้ผลประโยชน์ดีกว่ากรมอื่นๆทั้งสิ้น

เพราะฉนั้นเสนาบดีใน๖ตำแหน่งนี้ เมื่อตกลงมาถึงภายหลังตามการที่เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ บางกรมก็มีการเหลือล้นจนทำไม่ไหว บางกรมก็ไม่มีการอะไรจะทำ บางกรมก็มีผลประโยชน์มากเหลือล้นจนเกินไป บางกรมก็ไม่มีผลประโยชน์อันใดพอแก่การที่ต้องทำเพราะการที่ไม่สม่ำเสมอทั้งกระบวนราชการแลผลประโยชน์เช่นนี้ราชการจึงได้ค้างสระสม ด้วยการมากเหลือแรงที่จะทำ แลไม่มีผลประโยชน์พอที่จะมีน้ำใจทำ เหตุที่การล้นเหลือที่จะทำนั้น จึงได้ทำให้การที่แบ่งไว้แต่เดิมเปนฝ่ายทหารแลฝ่ายพลเรือน ที่ถ้าตั้งใจจัดการจะให้อรรคมหาเสนาฤาบดีบังคับบัญชาฝ่ายละคนนั้นเปนอันไม่ตลอดได้เสียแต่ต้นมือ ฤาถ้าจะแบ่งให้เสนาบดี๖ตำแหน่งบังคับบัญชาแยกเปน๖ส่วน ก็บังคับบัญชาไปไม่ไหวได้ จึงต้องแยกกรมลงไปอีกเปนชั้นๆจตุสดมภ์ทั้ง๔ก็มิได้อยู่ในบังคับอรรคมหาเสนาบดีทั้ง๒กรมต่างๆซึ่งแยกออกไปอีก ก็มิได้อยู่ในบังคับจตุสดมภ์ทั้ง๔ มีอีกเปนอันมาก แลกรมซึ่งแยกออกไปอีกนั้น ก็เป็นกรมใหญ่ๆมีหน้าที่เสมอกับเสนาบดีฤายิ่งกว่าเสนาบดี มีอีกหลายกรม ในกรมเหล่านั้นถ้าจะปันเปนหมู่ๆก็ดูเปนจะกันออกได้เปน๔พวก พวกหนึ่งเปนราชการฝ่ายทหาร พวกหนึ่งเปนราชการฝ่ายพลเรือนแบ่งไว้ในฝ่ายทหาร

กรมใหญ่ๆซึ่งเปนราชการพลเรือนแบ่งไว้ในฝ่ายพลเรือนนั้นคือ กรมพระสุรัศวดีกรมลูกขุน กรมธรรมการ กรมหมอ กรมพระอาลักษณ์ กรมพระคลังต่างๆมีพระคลังมหาสมบัติเปนต้น กรมภูษามาลา กรมที่มีราชการทหารแบ่งไว้ฝ่ายทหาร คือกรมอาษาแปดเหล่ากรมพระตำรวจ กรมกองมอญเปนต้น กรมที่เปนราชการทหารแต่แบ่งไว้ในฝ่ายพลเรือน คือกรมล้อมพระราชวัง กรมแสงปืนโรงใหญ่ กรมช้าง กรมม้าเปนต้น กรมที่เปนราชการพลเรือนแต่แบ่งไว้ฝ่ายทหารคือกรมช่างสิบหมู่ เปนต้น

ในพวกที่หนึ่ง ซึ่งเปนราชการพลเรือนอยู่ฝ่ายพลเรือนนั้น กรมสุรัศวดีเปนพนักงานที่จะรักษาทะเบียนหางว่าวบาญชีไพร่พล ทั้งฝ่ายทหารพลเรือนในกรุงแลหัวเมือง เปนบาญชีกลางที่สำหรับจะกำกับมหาดไทยกระลาโหมจ่ายเลข มีศาลสำหรับพิจารณาความในคดีที่แบ่งสังกัดหมู่หมวดไพร่พล เปนพนักงานที่สำหรับจะเก็บเงินแทนราชการซึ่งไพร่ไม่ได้มาทำ เปนพนักงานที่จะออกโฉนดบาดหมายในข้าราชการทั้งปวงที่จะให้รู้ทั่วไป ในราชการของกรมสัศดีนี้ ที่จะมีราชการใหม่เพิ่มขึ้นให้ผิดกับแบบอย่างแต่ก่อนก็ไม่ใคร่มีอันใด มีแต่มีทหารเกิดขึ้น เช่นกรมเรือกันเปนต้น ซึ่งมีในกลุ่มอื่น ๆ ทั่ว ๆ กัน กับการซึ่งไม่มีเจ้าของแต่ต้องมีไพร่หลวงสำหรับรักษาการนั้น ๆ เช่นกับข้าพระแลรักษาพระราชวังเดิมเปนต้น แต่การที่ร่วงโรยไปนั้นมีมาก เช่นกับจำนวนไพร่พลหัวเมือง สัศดีได้ทราบบ้างก็มีไม่ได้ทราบก็มี ด้วยอำนาจสัศดีที่จะได้บังคับสัศดีหัวเมืองดังแต่ก่อนนั้น เลิกไปพร้อมกับกรมอื่น ๆ แลภายหลังท่านเสนาบดีที่ได้บังคับหัวเมืองมีอำนาจมากขึ้น ก็ไม่ใคร่อยากจะให้สัศดีเกี่ยวข้องในไพร่พลหัวเมือง ไม่มีใครสั่งให้เลิกธรรมเนียมที่จะยื่นบาญชีแก่กรมสัศดีเสีย แลไม่มีใครสั่งห้ามไม่ให้สัศดีบังคับบัญชาตลอดจนเลขหัวเมือง แต่สัศดีมีอำนาจน้อย เมื่อท่านเสนาบดีผู้บังคับการในหัวเมืองเพิกเฉยเสียก็ไม่มีอำนาจจะไปตักเตือนเอาได้ เมื่อมีถ้อยคำอันใด เสนาบดีกระทรวงก็บังคับไปเสียไม่พูดด้วยสัศดี สัศดีจึงได้ไม่มีอำนาจที่จะบังคับบัญชาอันใดไปได้แลเงินส่วยหรือเงินข้าราชการในตัวเลขหัวเมืองนั้นเล่า สัศดีก็ไม่ได้รู้เห็นเปนผู้รับส่งด้วย ถึงโดยว่าจะได้บาญชีเลขหัวเมืองไว้ก็เปนแต่รู้บาญชีเท่านั้น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเมืองใดได้ส่งเงินแล้วฤายังไม่ส่งแลไม่มีอำนาจที่จะตักเตือนให้ส่งได้ด้วย เพราะฉนั้นการให้สัศดีรู้บัญชีเลขหัวเมืองนั้น จึงไม่เป็นประโยชน์พอที่จะตักเตือนมีให้แบบอย่างนี้เสื่อมทรามไป สัศดีคงมีการแต่ที่จะได้เกี่ยวข้องในหัวเมืองแต่เฉพาะคราวที่สักเลขคราวเดียว คงได้บังคับบัญชาอยู่แต่เลขซึ่งขึ้นอยู่ในกรมต่างๆซึ่งเจ้าหมู่อยู่ในกรุงเทพฯและหัวเมืองที่ใกล้ๆได้ชำระเลขจ่ายศาลา แลเรียกข้าราชการไพร่หลวงไพร่สม ในราชการซึ่งยังคงอยู่นี้ สัศดีก็ทำการโดยอ่อนแออย่างยิ่ง จนเงินข้าราชการซึ่งเก็บมาจากตัวเลขนั้นเกือบจะไม่ได้ใช้ราชการอันใด ถึงว่าเปนราชการที่เต็มใจทำอยู่บ้างแต่ก็เปนการยากลำบากได้ ไม่คุ้มเหนื่อย ไม่เต็มใจทำเหมือนชำระเลขนายตายเป็นไพร่หลวง

ส่วนความที่สำหรับศาลกรมพระสุรัศวดีนั้น เมื่ออธิบดีมีอำนาจรับเรื่องราวได้ ก็เปนความเรื่องราวเสียเกือบทั้งสิ้น ไม่ใคร่มีฟ้องประทับ ครั้นเมื่อจะตัดสิน อธิบดีกรมสัศดีก็ตัดสินเอง ด้วยอาไศรยพระราชบัญญัติหมายประกาศแลตัวอย่างคำตัดสินซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ตัดสินลงไว้แต่ก่อน ซึ่งเปนการเพิ่มเติมซับซ้อนกันทีละเล็กละน้อย จนลูกขุนไม่ทราบข้อบังคับเหล่านั้นบ้างก็มีโดยมาก ที่จะถึงลูกขุนชี้ขาดปฤกษาวางบทนั้นมีบ้างไม่สู้มากนัก มักจะเป็นความที่กราบทูลมากกว่า แต่เพราะสัศดีต้องหาผลประโยชน์ตามทางเก่าที่จะรับกับความเจริญของบ้านเมืองมีอาหารแพงเปนต้น กับท่านจะแข่งกรมอนๆ เช่นกรมเมืองการที่ยังทำอยู่นั้นก็ไม่เปนการเรียบร้อยพ้นจากการรุงรังได้ ทั้งเก็บเงินข้าราชการแลชำระหักโอนตัวเลข แลชำระคดีอันเกิดขึ้นด้วยความเรื่องตัวเลข แต่กรมสัศดีมีราชการมากกว่าแลสำคัญกว่ากรมนา คล้ายคลึงกันกับกรมเมือง แต่มีผลประโยชน์ชุ่มเย็นกว่า นับว่ากรมสัศดีนี้เปนกรมที่ควรจะเป็นเสนาบดีได้กรมหนึ่ง แต่ควรจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมราชการให้เต็มน่าที่ อันจะกล่าวต่อไปในภายน่า

กรมลูกขุนนั้นเปนกรมใหญ่ ได้บังคับความทั้งแผ่นดิน แต่จะค้นหาข้อความเบื้องต้นที่แรกตั้งขึ้นโดยประสงค์อย่างไรให้ชัดเจนก็ไม่ได้ความชัด คำซึ่งเรียกว่าลูกขุนณศาลหลวงซึ่งปรากฏใช้อยู่ในบัดนี้ก็ไม่ใคร่จะได้พบเห็นในกฎหมายเก่าๆ ซึ่งร้อยกรองเปนมาตราหมวดใหญ่ๆมาปรากฏชื่อนี้ต่อในกฎหมายชั้นกลางๆลงมา แต่เมื่อพิเคราะห์ดูในเหตุการทั้งปวง ตั้งต้นแต่กฎหมายมนูสารสาตรเปนต้นเค้าของกฎหมายที่ใช้อยู่ในกรุงสยามนี้ เปนกฎหมายมาแต่เมืองอินเดียเอามาใช้เป็นแม่ข้อที่พระเจ้าแผ่นดินจะได้ตั้งพระราชบัญญัตกฎหมายเปลี่ยนแปลงให้สมกับภูมิประเทศบ้านเมือง เมื่อได้ความชัดว่ามนูสารสาตรนี้มาแต่ประเทศอินเดีย กับทั้งประเพณีอื่นๆมีการบรมราชาภิเษกเป็นต้น ก็เป็นแบบอย่างข้างประเทศอินเดีย มีพระราชพิธีเนื่องด้วยพรามหณ์เจือปนไปทั้งสิ้น จึงเห็นได้ว่าเมื่อกฎหมายนี้ได้เข้ามาถึงกรุงสยาม คงจะพราหมณ์ผู้ที่ชำนาญในการที่จะปกครองบ้านเมือง แลที่จะจัดการวางแบบแผนราชประเพณีของพระเจ้าแผ่นดินคนหนึ่งฤาหลายคนได้เข้ามาเปนผู้ช่วยจัดการวางแบบแผนทั้งปวงแต่เดิมมา ถ้าจะพูดอย่างเช่นพม่าชักเชื้อแถวราชตระกูลให้ติดต่อกับวงษสักยราช ก็จะกล่าวได้ว่าคงจะมีพระเจ้าแผ่นดินในวงษสักยราช ก็จะกล่าวได้ว่าคงจะมีพระเจ้าแผ่นดินในวงษสักยราชพระองค์ใดพระองค์หนึ่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งต้องออกจากประเทศอินเดีย มาพร้อมด้วยปุโรหิตผู้ใหญ่แลขุนนางไพร่พลทั้งปวง แล้วมาอยู่ในประเทศสยามพระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้ปุโรหิตผู้นั้นจัดการวางแบบอย่าง การที่จะปกครองรักษาพระนครใหม่ให้เรียบร้อยสมควนแก่ที่จะเปนพระนครใหญ่สืบไป ปุโรหิตนั้นจึงได้ยกมนูสารสาตรนี้มาตั้งเปนหลัก ที่จะได้บัญญัติพระราชกำหนดกฎหมายสืบไป แลจัดธรรมเนียมอื่นๆตามแบบอย่างพระนครข้างฝ่ายอินเดียแต่โบราณนั้นทั่วไป ปุโรหิตผู้นั้นคงจะเปนผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในมนูสารสาตรของเดิม แลพระราชกำหนดกฎหมายซึ่งได้บัญญัติขึ้นใหม่ เพราะเปนผู้ต้นตำราแลเปนผู้ได้เรียบเรียงตั้งแต่งขึ้น ทั้งเปนพราหมณ์ประพฤติตั้งอยู่ในความสุจริต จึงเปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินแลเปนที่นับถือของข้าราชการแลราษฎรทั้งปวง พระเจ้าแผ่นดินจึงมอบการที่จะบังคับบัญชาความสิทธิ์ขาดนี้แก่ปุโรหิตผู้นั้น เปนผู้บังคับตัดสินใจถ้อยความทั้งปวงเด็ดขาดทั่วไปทั้งพระนคร แลปุโรหิตเช่นนี้จะมีมาแต่ผู้เดียวฤาหลายคนก็ดีด็คงจะต้องมีผู้ช่วบเปนที่ปฤกษาหาฤาหลายๆคน ชึงจะพอที่จะทำการในตำแหน่งของตัวตลอดไปได้ จึงได้มีตำแหน่งพระมหาราชครูพระราชครูแลปลัด แต่ถึงดังนั้นก็คงยังไม่พอ จึงได้ต้องตั้งเพิ่มขึ้นอีกสำรับหนึ่งเพราะฉนั้นลูกขุนจึงได้เปนสองสำรับอยู่จนบัดนี้ ชื่อของลูกขุนก็ยังปรากฏเปนชื่อพราหมณ์อยู่โดยมาก แลพราหมณ์ซึ่งมีตระกูลอยู่ในกรุงบัดนี้ก็ยังได้รับเปนตำแหน่งในลูกขุน ฤาอยู่ในตำแหน่งพราหมณ์ แต่ไปเข้าที่ปฤกษาเปนลูกขุนทั้งพราหมณ์โหรดาจารย แลพราหมณ์พฤฒิบาศตลอดมาจนกระทั่งถึงพระมหาราชครูพิธีและพระสิทธิไชยเดี๋ยวนี้ก็ได้เคยเป็นลูกขุนทั้งสองคน ตัวลูกขุนทั้งปวงเปนแต่ผู้พิพากษาความชี้ผิดชี้ชอบอย่างเดียว หาได้เป็นผู้พิจารณาความอันใดไม่ ต้องมีตระลาการที่จะพิจารณาความนั้นตลอดแล้วไปขอคำตัดสินอีกชั้นหนึ่ง แต่ตระลาการทั้งปวงเหล่านั้น แต่เดิมจะอยู่ในบังคับลูกขุนทั้งสิ้นฤา ฤาจะจ่ายไปไว้ตามกรมต่างๆดังเช่นเปนอยู่ในทุกวันนี้ ก็ไม่มีอันใดจะยืนยันเปนแน่ได้ ถ้าจะคิดประมาณดูว่า กรมแพ่งกลางกรมหนึ่ง แพ่งเกษมกรมหนึ่ง สองกรมนี้ยังคงอยู่ในกรมลูกขุน ถึงว่าในบัดนี้จะไม่ได้อยู่ในบังคับพระมหาราชครูผู้เปนใหญ่ในกรมลูกขุนอย่างหนึ่งอย่างใด สังกัดหมายหมู่ตัวเลขในกรมเหล่านั้น ก็ยังขึ้นอยู่ในกรมลูกขุน เจ้ากรมแลขุนศาลตระลาการก็รับเบี้ยหวัดอยู่ในกรมลูกขุน น่าที่ของแพ่งกลางแพ่งเกษมทั้งสองกรมนี้ ก็มีศาลที่จะพิจารณาความเปนกระทรวงอันหนึ่งซึ่งเป็นตำแหน่งเดิม แต่ไปมีการอีกแนผกหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นผู้วางบทในคำลูกขุนปฤกษา น่าที่ทั้ง๒คือเป็นผู้พิจารณาความอย่างหนึ่งเป็นผู้วางบทอย่างหนึ่งนี้ ถ้าคิดตามความเห็นในเชิงกฎหมายอย่างไทยแล้ว ก็เปนน่าที่อันไม่ควรจะรวมกัน แต่การที่เจ้ากรมแพ่งกลางแพ่งเกษม๒คนนี้ ไม่มีน่าที่วางบทลงโทษขึ้นด้วยนั้น ควรจะเห็นได้ว่า แต่เดิมมาลูกขุนคงจะปฤกษาชี้ขาดแลวางบทลงโทษตลอดไปในชั้นเดียว แต่ล่วงมาจะเปนด้วยผู้ซึ่งเปนปุโรหิตใหญ่ ซึ่งมีความรู้แลสติปัญญาความจำทรงมากนั้นล้มตายไป ผู้ซึ่งรับแทนใหม่ ไม่แคล่วคล่องในกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นไว้ ฤาไม่มีสติปัญญาความจำทรงมากนั้นล้มตายไป ผู้รับที่แทนใหม่ ไม่แคล่วคล่องในกฏหมายซึ่งตั้งขึ้นไว้ ฤาไม่มีสติปัญญาสามารถพอที่จะทำการให้ตลอดไปได้แต่ในชั้นเดียวนั้นอย่างหนึ่ง แลเพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินจึงได้โปรดให้เจ้ากรมแพ่งกลางแพ่งเกษม๒คนนี้ เปนพนักงานที่จะพลิกกฏหมาย เพราะฉนั้นลูกขุนจึงเปนแต่ผู้พิพากษาชี้ผิดชี้ชอบ แต่การที่จะตัดสินโทษอย่างไรนั้น ตกเปนพนักงานของเจ้ากรมศาลแพ่งทั้ง๒ จึงได้ปรากฏชื่อว่าเปนผู้ปรับ เพราะเปรผู้พลิกผู้เบ็ดสมุดกฏหมายดังนี้ ถ้าจะคิดเอาศาลแพ่งกลางแพ่งเกษมทั้ง๒ศาลนี้เปนตัวอย่างว่า ฤาแต่ในชั้นต้นแรกตั้งพระนครที่กล่าวมานั้นตระลาการซึ่งมีอยู่ในศาลอื่นๆทุกวันนี้ จะรวมอยู่ในลูกขุน กรมลูกขุนเปมกรมยุติธรรมสำหรับพระนคร ก็ดูเหมือนจะพอว่าได้ แต่ภายหลังมา อำนาจลูกขุนไม่พอที่จะบังคับรักษาให้ศาลทั้งปวงอันอยู่ในใต้บังคับ พิจารณาความให้ตลอดทั่วถึงไปได้ ด้วยเหตุขัดข้องต่างๆครั้นเมื่อจัดการในตำแหน่งขุนนาง เอาฝ่ายพลเรือนเปนสมุหนายกฝ่ายทหารเปนสมุหพระกระลาโหม แลตั้งตำแหน่งจคุสดมภ์ แก้ใขเพิ่มเติมใหม่ในแผ่นดินสมเดจพระบรมไตรโลกนารถ จึงได้แยกศาลจากกรมลูกขุนออกไปแจกให้กรมต่างๆ คงไว้แต่ศาลแพ่งกลางแพ่งเกษมให้อยู่ในกรมลูกขุน๒ศาล เพราะ๒ศาลนี้ เปนแต่ความแพ่งซึ่งเปนความอ่อนๆอันลูกขุนจะพอมีอำนาจบังคับบัญชาตลอดได้ ความอนๆที่เปนความสำคัญแขงแรง แลเปนความที่ประสงค์จะอุดหนุนราษฎรให้ความแล้วโดยเร็วขึ้นกว่าความสามัญ จึงได้ยกไปแจกไว้ในกรมต่างๆเพื่อจะให้เสนาบดีแลอธิบดีกระทรวงนั้นๆ ช่วยบังตับบัญชาว่ากล่าวเร่งรัดโดยอำนาจไม่ให้มีที่ติดขัดข้อง แลไม่ให้ขุนศาลตระลาการทอดทิ้งความไว้ให้เนิ่นช้า แต่ความทั้งปวงนั้น ตั้งต้นแต่ฟ้องไปก็ยังคงให้ลูกขุนเปน(ู้สั่งฟ้อง ถ้าขัดข้องด้วยคู่ความจะมีถ้อยมีคำประการใด ก็ยังต้องมาหาฤาลูกขุน ที่สุดขนถึงพิพากษาชี้ขาดก็ยังต้องให้ลูกขุนเปนผู้พิพากษาชี้ขาด ท่านเสนาบดีแลอธิบดีที่ได้เปนเจ้าของศาลนั้นๆ ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินความในศาลใต้บังคับของตัวเด็ดขาดอันใดได้ เปนแต่ผู้ที่จะช่วยให้ความนั้นได้ว่ากล่าวแก่กัน อย่าให้มีที่ขัดข้องที่จะเกิดขึ้นด้วยคู่ความแลตระลาการ จะไม่ทำการให้เดินไปเสมอๆนั้นอย่างเดียว ก็ถ้าหากว่าความคิดที่คิดเห็นว่าศาลทั้งปวงแต่เดิมจะรวมอยู่ในกรมลูกขุนนั้นจะเปนการผิดไป ก็แต่เพียงได้แจกศาลต่างๆไว้ในกรมทั้งปวง เหมือนเช่นว่าในชั้นหลังนี้แต่เดิมมาเท่านั้น ตัวเสนาบดีแลอธิบดีกับลูกขุนก็คงมีอำนาจเปนคนละแผนกกันดังเช่นว่ามาแล้วนี้ ถ้าจะคิดเทียบดูกับอย่างเสนาบดีว่าการยุติธรรมในประเทศอื่น ก็เปนการกลับกันตรงมาแต่เดิมลูกขุนซึ่งดูเหมือนจะเปนเสนาบดีกรมยุติธรรมนั้น กลับเปนน่าที่ผู้พิพากษา ส่วนกรมต่างๆที่รับศาลบังคับบัญชาความไปไว้ในกรมนั้น กลับเปนตัวเสนาบดีกรมยุติธรรม ที่สำหรับจะให้เครื่องจักรในการพิจารณาความเปนไปให้สดวกอย่าให้หยุดอย่าให้ขัดได้ การที่ว่ามานี้เปนพิจารณาแบบแผนเก่า ซึ่งจะให้คิดเห็นว่า ที่ท่านจัดลงเปนแบบแผนแต่เดิมนั้น ประสงค์จะจัดการอย่างไร แต่การภายหลังมานี้ เปลี่ยนแปลงต่อไปอีกเปนอันมาก

ศาลทั้งปวงซึ่งปรากฏในพระธรรมนูญซึ่งเปนกฎหมายเก่า แต่น่าสงไสยว่าจะแก้ไขใหม่หลายคราวตามเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป แต่มิได้มีฉบับที่ยืนยันว่าฉบับนั้นเปนเก่าฉบับนั้นเปนใหม่ ดูเปนปนๆกัน ฉบับไหนที่แก้ไขเสร็จแล้วก็ใช้ฉบับนั้นฉบับเดียว แบ่งกระทรวงดังนี้

๑ความอุทธรณ์ยกว่าเปนศาลหลวงได้พิจารณา แต่คำว่าศาลหลวงนี้ ถ้าจะคิดเอาว่าเปนพยานว่าศาลหลวงนี้เปนศาลลูกขุน ตามเช่นสงไสยว่าความจะรวมอยู่ในลูกขุน เช่นว่ามาแล้วแต่ก่อนก็ชอบกลอยู่ แต่เหตุใดจึ่งมาแบ่งกระทรวงพร้อมกับศาลอื่นๆ จะเปนด้วยแก้ไขกันต่อๆมาประการใดไม่ได้ความชัด แต่กระทรวงนี้ตกอยู่ในกรมมหาดไทย ศาลนี้เปนศาลที่ว่าความอุทธรณ์ทั้งในกรุงแลหัวเมืองศาลเดียว ถ้าเปนความหัวเมืองคู่ความจะอุทธรณ์ตระลาการ เจ้าเมืองกรมการเปนผู้ชำระอุทธรณ์ตระลาการ ถ้าอุทธรณ์ผู้พิพากษา เจ้าเมืองกรมการที่ไม่ได้ลงชื่อในคำพิพากษาเปนผู้พิจารณาอุทธรณ์ ถ้าจะอุทธรณ์เจ้าเมืองต้องบอกอุทธรณ์ที่ศาลหัวเมืองนั้นก่อน หัวเมืองนั้นชำระไม่ได้จึ่งเข้ามาฟ้องศาลหลวงประทับฟ้องไปศาลอุทธรณ์ ส่วนในกรุงถ้าจะฟ้องอุทธรณ์ก็ฟ้องศาลหลวงแล้วประทับไปศาลอุทธรณ์ แต่ครั้นภายหลังมา เพราะเหตุที่ถ้อยความคั่งค้างกันมาก ลูกขุนไม่สามารถที่จะทำการให้ตลอดไปได้พระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดิน จะให้เสนาบดีช่วยรงับทุกข์ร้อนของราษฎรให้แล้วไปโดยเร็ว จึ่งได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อธิบดีเจ้ากระทรวง รับเรื่องราวราษฎรอุทธรณ์กล่าวโทษเจ้าเมืองกรมการแลตระลาการในกรมนั้นๆได้ ความอุทธรณ์ก็ไปเปนเรื่องราวเสียโดยมาก เมื่อท่านอธิบดีในกรมนั้นได้รับเรื่องราวแล้ว ก็ให้เบิกคู่ความเข้ามาตั้งตระลาการชำระในกรมนั้นเอง แล้วบังคับบัญชาตลอดไปจนถึงให้ลูกขุนปฤกษาวางบท ความอุทธรณ์ก็แยกออกไปหลายศาลไม่ฉเพาะแต่ศาลอุทธรณ์อย่างเดิม

๒ ศาลอาญาไปไว้กรมพระกระลาโหม ซึ่งเอาศาลนี้ไปไว้ในกรมพระกระลาโหมนั้น สมุหพระกระลาโหมก็ไม่มีอำนาจอันใดที่จะบังคับตัดสิน คงต้องมาให้ลูกขุนตัดสินทั้งสิ้น เว้นไว้แต่เกิดรับเรื่องราวอุทธรณ์ขึ้นใหม่ สมุหพระกระลาโหมมีอำนาจรับเรื่องราวอุทธรณ์ตระลาการว่ากล่าวได้ ซึ่งเอาไปไว้ในกรมพระกระลาโหมนั้นก็จะมีความประสงค์ ที่จะให้มีอำนาจในการเกาะครองผู้คนให้แขงแรงขึ้น เพราะความอาญาจำเลยย่อมจะเปนผู้มีอำนาจฤาเกะกะโดยมาก

๓ กระทรวงอาญาจักร ซึ่งกำหนดไว้ว่าเปนความหากันด้วยมิใช่ญาติ แก้ความต่างแต่งคารมให้คู่ความ ศาลนี้อยู่ในกรมมหาดไทยแต่ก็เปนกระทรวงร้างไม่มีความตามกำหนดที่จะให้ศาลชำระ ภายหลังก็กลายเปนศาลอีกศาลหนึ่งอยู่ในกรมมหาดไทย ให้ชำระความอะไรๆทั่วไปไม่มีกำหนด

๔ กระทรวงนครบาล ศาลนี้ถ้าเปนความฟ้องศาลหลวงประทับฟ้อวก็คงตามแบบเดิม แต่เพราะเหตุที่กว่าจะฟ้องประทับมาได้เปนการเนิ่นช้าจึ่งได้ต้องเพิ่มเติมอำนาจเปนชั้นๆ คือว่าถ้าโจรผู้ร้ายปล้นสดมเกิดขึ้นอำเภอท้องที่มาแจ้งความฤาเจ้าทรัพย์มาทำคำชัณสูตรบาดแผลคำตราสินเสนาบดีกรมพระนครบาลมีอำนาจที่จะบังคับให้ติดตามตัวผู้ร้ายมาพิจารณาแลเจ้าทรัพย์ผู้ถูกบาดเจ็บยื่นเรื่องราวต่อเสนาบดีกรมพระรครบาล รับเรื่องราวมาพิจารณาแล้วส่งขึ้นให้ลูกขุนปฤกษาได้ ความในกรมพระนครบาลนี้ภายหลังมาเจือปนเป็นความรับสั่งโดยมาก ด้วยเหตุว่าเมื่อมีผู้ร้ายปล้นสะดมฆ่ากันตายแห่งใด กรมพระนครบาลต้องนำความกราบบังคมทูล รับสั่งให้รีบเร่งชำระ เมื่อได้ความประการใดมักจะต้องคัดขึ้นกราบบังคมทูลก่อน แล้วสั่งให้ส่งลูกขุนปฤกษา เมื่อได้คำปฤกษามาแล้วต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลก่อนที่จะลงโทษอันหนัก เพราะฉนั้นความจึ่งเจือเปนความรับสั่งโดยมาก การที่เปน ดังนี้ก็ด้วยพระเจ้าแผ่นดินจะทรงรงับปราบปรามผู้ร้ายให้สงบได้โดยเร็ว จึ่งต้องเปนพระราชธุระมาก แต่ถ้าเปนความหัวเมือง ถึงจะเปนความนครบาลแท้ ถ้ามีอุทธรณ์บ้างเล็กน้อย กระทรวงที่ได้บังคับการหัวเมืองนั้นเรียกความเข้ามาณกรุงเทพฯแล้ว ถึงว่าโจทจำเลยจะยอมความชั้นอุทธรณ์ไม่ว่ากล่าวกัน คงแต่ความเดิมชั้นนครบาลก็มักจะว่ากล่าวไปเสียแต่ในกรมนั้นต่อไปอีก ต่อเมื่อใดขัดข้องไม่สดวกจึ่งได้สั่งไปกรมพระนครบาล ฤาที่เปนความที่ข้าหลวงในกรมนั้นออกไปชำระ ก็มักจะถือเอาเปนเหมือนหนึ่งความรับสั่งไม่ส่งกรมพระนครบาลเอาไว้ชำระในกรม แลความเหล่านี้ ก็ปฤกษาลูกขุนได้เหมือนศาลนครบาลนั้นเองด้วย

๕ ศาลกรมวัง ชำระได้ทั้งความแพ่งอาญาแลนครบาล ยกเสียแต่ความที่ถึงตาย จำเลยเปนสมในแล้วเปนกระทรวงกรมวังทั้งสิ้น สมในซึ่งกำหนดไว้ตามกฎหมายก็จะเปนด้วยความประสงค์ยกเอาคนที่ใช้ชิดอยู่ในพระราชวังเปนสมใน ฤาที่กรมอันโปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินแต่กรมซึ่งได้กำหนดไว้เดิมซึ่งเปนเวลาอย่างหนึ่งมาในเวลาบัดนี้อย่างหนึ่งมาในเวลาบัดนี้อย่างหนึ่งไม่เห็นว่าควรจะเปนสมในด้วยเหตุใด เช่นกรมสรรพากร กรมมรฎกข้าพระสิบสองพระอารามนั้นก็มี ก็ไม่ยกถอนเสียคงเปนสมในอยู่ตามเดิม ส่วนกรมที่เกิดขึ้นใหม่ๆที่ควรจะเปนสมในจริงๆบ้างที่อนุโลมตามกฎหมายเก่าเทียบเคียงคล้ายคลีงกัน ยกเข้ามาเปนสมในก็มีโดยมาก เช่นในกฎหมายกำหนดข้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอไม่มีกรม ไม่ได้ว่าถึงพระองค์เจ้าก็เอาข้าพระองค์เจ้าซึ่งไม่มีกรมเข้าเปนสมในตามไปด้วย คลังวิเสศเปนเครื่องดูดให้คลังทั้งหลายเข้าเปนสมในทั้งสิ้น กรมแสงแลช่างสนะเปนเครื่องดูดให้กรมภูษามาลาเข้ามาเปนสมใน บันดากรมขึ้นกรมวังก็มาเปนสมใน แต่สังฆการี ธรรมการ ราชบัณฑิตย อาลักษณ์ นี้มาเปนสมในด้วยอะไรก็ไม่ทราบ ข้าพระสิบสองพระอารามนั้นเปนตัวอย่าง พาข้าพระในพระอารามต่างๆทั่วไปเข้าเปนสมในด้วยทั้งสิ้น เพราะฉนั้นสมในจึ่งได้มากขึ้นจนเกินต้องการแต่ไม่มีผู้ใดจะคิดเปลี่ยนแปลงด้วยเปนสเบียงของกรมวัง ซึ่งมีผลประโยชน์น้อยกว่ากรมอื่นๆทั้งสิ้น

๖ ศาลแพ่ง ๗ ศาลแพ่งเกษม สองศาลนี้อยู่ในกรมลูกขุนดังเช่นว่ามาแล้ว แต่กรมลูกขุนก็ไม่มีอำนาจจะบังคับบัญชาอันใดในศาลสองศาลนี้ ภายหลังจึงต้องมีเจ้านายบ้างขุนนางบ้างไปเปนอธิบดีๆนั้นรับเรื่องราวอุทธรณ์ตระลาการได้ แต่ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับน่าที่ของเจ้ากรมที่เปนผู้ปรับ เมื่อเจ้ากรมทั้งสองจะปรับผิดอย่างหนึ่งอย่างใดในความทั้งปวงกล่าวโทษที่อื่น

๘ กระทรวงมรฎก แบ่งไปไว้ในกรมล้อมพระราชวัง แต่ความมรฎกเปนความที่แล้วยาก แลเปนความเงินทองมากจึงได้ตั้งธรรมเนียมว่าฟ้องหาเปนความมรฎกกันในกรุง ให้พระยาประสิทธฺศุภการซึ่งอยู่ในตำแหน่งมหาดเล็ก แต่เปนผู้กำกับศาลมรฎกคัดห้องขึ้นถวายก่อน ถ้ามีทุนทรัพย์มากๆมักจะถอนมาให้ตำรวจบ้างกรมวังบ้างชำระเปนความรับสั่งไม่ได้เกี่ยวในศาลมรฎกเดิม ถ้าเปนหัวเมืองก็ต้องมีใบบอกเข้ามา ต่อมีตราออกไปให้ชำระจึ่งชำระได้ หาไม่ต้องส่งมาชำระที่กรุงเทพฯ

๙ กระทรวงกรมท่ากลางสำหรับชำระความต่างประเทศกับคนไทยศาลนี้เปลี่ยนแปลงไปมากเหมือนอย่างกับกรมว่าการต่างประเทศนั้นเองคือแต่เดิมมาก็คงจะว่าแต่กระทรวงการคลัง ครั้นเมื่อเจ้าพระยาพระคลังว่าการต่างประเทศ จึ่งได้ตั้งกระทรวงว่าความต่างประเทศอีกกระทรวงหนึ่งในกรมนั้น ครั้นเมื่อภายหลังความต่างประเทศมาก กระทรวงคลังนั้นก็ขาดไป เพิ่มเติมกระทรวงต่างประเทศขึ้นอีกดังจะว่าต่อไปภายน่า แลกรมท่านี้มีเมื่อมีเมืองขึ้นก็ได้ว่าความอุทธรณ์อย่างใหม่อีกกระทรวงหนึ่งด้วย

๑๐ กระทรวงกรมนา ว่าความนาแลเครื่องทำนาแลเข้าในนาไม่ว่าความแพ่งอาญานครบาลอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งยกมารวมอยู่ในกรมนาทั้งสิ้นนี้ ก็เพื่อจะให้กรมนามีอำนาจที่จะดับความทุกข์ร้อนของชาวนาไม่ให้ป่วยการทำนา เปนการบำรุงไร่นาเหมือนกับที่ให้กรมวังชำระความสมใน เพื่อจะให้เปนการเร็วการสดวกแก่ผู้ที่รับราชการอยู่ใกล้ชิดพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่เปนผลอันใดดีขึ้นได้จริงดังความประสงค์ ก็คงเปนความสามัญอยู่อย่างนั้นเอง แลยังมีข้อที่เถียงกระทรวงกันอยู่กับศาลรับสั่งชำระความผู้ร้ายลักโคกระบือ ซึ่งจะได้ออกชื่อไปภายน่านั้นด้วย

๑๑ ศาลคลังมหาสมบัติ ว่าความบันดาที่เกี่ยวข้องด้วยพระราชทรัพย์ทั่วไป แต่ศาลนี้ภายหลังมา ก็คงได้ความว่าฉเพาะแต่ภาษีอากรซึ่งขึ้นอยู่ในกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพระยาราชภักดีมิได้ทั่วไปในภาษีอากรซึ่งขึ้นในกรมอื่นๆส่วนกรมอื่นๆซึ่งได้เปนเจ้าพนักงานคลังบังคับภาษีอากรก็มีศาลกระทรวงคลังขึ้นในกรมนั้นอีกกรมละศาลๆทุกกรม มีวิเสศหน่อยหนึ่งถ้ามีความเรื่องรับเรื่องจ่ายเงินหลวง ศาลกระทรวงคลังมีอำนาจที่จะชำระได้ แต่คงได้ชำระแต่ความเล็กน้อย ถ้าเปนความใหญ่ก็มักจะมีตระลาการเปนศาลรับสั่งแยกออกไปต่างหาก เปนแต่ชาวคลังกำกับด้วย เพราะฉนั้นความศาลพระคลังสมบัตินี้ เปนความเรื่องราวโดยมากไม่ใคร่จะมีฟ้องประทับ

๑๒ ศาลกระทรวงธรรมการยังคงอยู่ตามเดิม แต่อธิบดีในศาลนั้นไม่ใคร่จะเปนคนมีอำนาจ จึ่งได้มีเจ้านายไปกำกับเสมอมามิได้ขาดถ้าเปนความสำคัญ เช่นความปาราชิกก็มักจะเปนความรับสั่ง แลเมื่อถึงตัดสินพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตัดสินเอง ไม่ได้ให้ลูกขุนปฤกษาวางบทโดยมาก

๑๓ กระทรวงสัศดีคงอยู่ตามตำแหน่งเดิม แต่ความเลขหัวเมืองไม่ใคร่จะได้ตัดสิน ดังเหตุที่ว่ามาแต่หลังนั้นแล้ว ศาลนี้เปนความเรื่องราวมากกว่าฟ้องประทับเหมือนกัน

๑๔ ศาลกระทรวงแพทยานี้เปนอันเลิกขาดไม่มี ด้วยข้อความที่จะหากันให้ถูกต้องในพระธรรมนูญนั้น ก็ไม่ใคร่จะมีใครฟ้องหา มีบ้างก็มักไปอยู่ในกรมเมืองแลกรมอื่นๆตามแต่ที่ข้อความจะดูดไป

ศาลซึ่งได้กำหนดมาในพระธรรมนูญมีอยู่ ๑๔ กระทรวงเท่านี้ แต่มีศาลเพิ่มเติมขึ้นอีกตามเวลาที่ต้องการ ไม่พอที่จะว่าความทั้งปวงทั่วไป

คือศาลในกรมท่านั้น แยกออกไปอีกสามกระทรวง คือความจีนต่อจีนเปนกระทรวงกรมท่าซ้าย ความแขกต่อแขกฤาเปนจำเลยเปนกระทรวงกรมท่าขวา ยกเสียแต่ความนครบาล ศาลกรมท่าซ้ายกรมท่าขวานี้ พระยาโชฎึกราชเสรฐี พระยาจุฬาราชมนตรี เคยรับเรื่องราวอุทธรณ์ในศาลอยู่บ้าง แต่เมื่อไม่ว่ากล่าวให้ตลอดได้ ก็ไปร้องต่อเสนาบดีกรมท่ากลาง ว่ากล่าวบังคับบัญชาได้อีกชั้นหนึ่ง ถ้าเปนฟ้องประทับแล้ว ก็หาฤาลูกขุนได้ตรงทีเดียวเหมือนกระทรวงเดิม ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับเสนาบดีกรมท่า แต่ศาลต่างประเทศซึ่งเปนศาลอยู่ในกรมท่าอีกศาลหนึ่งนั้นเปนศาลตั้งขึ้นใหม่ เมื่อทำสัญญาด้วยนานาประเทศ ยกเปนศาลรับสั่ง มีอำนาจที่จะพิจารณาความที่โจทเปนคนต่างประเทศ ไม่ว่าความแพ่งอาญานครบาลอย่างใด ลูกขุนไม่ได้สั่งฟ้อง ไม่ได้ปฤกษาชี้ขาด เหมือนศาลอื่นๆกงซุลส่งฟ้องขึ้นมาแล้วก็รับพิจารณา การที่จะปฤกษาตัดสินลงโทษเปนสิทธิ์ขาดอยู่ในลูกขุนผู้เดียว ซึ่งยกตำแหน่งขึ้นใหม่ เปนพระพิพากษานานาประเทศกิจ เมื่อความนั้นจะต้องอุทธรณ์ๆมาที่เสนาบดีว่าการต่างประเทศๆมีอำนาจที่จะตัดสินยกถอนคำตัดสินเดิมนั้นได้ เปนศาลเดียวซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับลูกขุนณศาลหลวงเลย

ศาลรับสั่งชำระความลักช้างม้าโคกระบือ เปนศาลแยกมาแต่กรมพระนครบาล ให้กรมพระตำรวจช่วยชำระแต่ไม่ได้ขึ้นกรมพระนครบาลเหมือนอย่างแยกศาลในกรมท่า เพื่อจะปราบปรามผู้ร้ายลักช้างม้าโคกระบือซึ่งมีชุกชุมขึ้นคราวหนึ่ง แต่เลยตั้งติดต่อมา ศาลนี้มักจะเปนการแก่งแย่งกันอยู่กับกรมนาบ้าง ด้วยกรมนาเข้าใจว่าความโคกระบืออยู่ในศาลนี้ทั้งสิ้น แต่ที่จริงนั้น แยกจากนครบาลเท่านั้นศาลนี้มีอำนาจเปนศาลรับสั่ง ขัดข้องอันใดกราบทูลได้ แต่ลูกขุนก็ยังเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ไม่ขาดไปทีเดียว เหมือนศาลต่างประเทศ

ยังมีอีกศาลหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นใหม่ เพราะเจ้านายแลเชื้อสายในราชตระกูลมีมากขึ้น จึ่งได้ตั้งขึ้นอีกกระทรวงหนึ่ง สำหรับชำระความในราชตระกูล ไม่ว่าเปนโจทเปนจำเลยไม่ว่าความอย่างใดยกเสียแต่ความที่ถึงตาย ศาลซึ่งได้ออกชื่อมาแล้วเหล่านี้ เปนศาลซึ่งมีน่าที่แต่จะชำระความนั้น แล้วฟังคำตัดสินของลูกขุนทั้งสิน เว้นแต่ศาลต่างประเทศที่ว่ามาแล้ว กับที่เปนความเรื่องราวซึ่งอธิบดีมีอำนาจจะรับขึ้นใหม่ อธิบดีตัดสินเอาเองบ้าง ให้ลูกขุนตัดสินบ้าง

การซึ่งจัดศาลแยกกระทรวงไปตามกรมต่างๆแต่คงให้ลูกขุนเปนผู้พิพากษาตัดสินเช่นนี้ ก็เปนความประสงค์ชั้นต้นที่จะแก้ไขการขัดข้อง ที่ศาลจะไม่มีอำนาจเรียกหาคู่ความมาว่าฤาจะให้คู่ความกลัวเกรงอำนาจศาลด้วยมีอธิบดีเปนใหญ่ได้บังคับบัญชา แลมิให้ขุนศาลตระลาการบิดพลิ้วเชือนแชเสียไม่ว่าความ การที่แก้ไขนั้นก็จะดีไปได้คราวหนึ่ง แต่ครั้นภายหลังมาท่านอธิบดีที่เจ้ากระทรวงได้บังคับศาลนั้นๆถือเสียว่าแล้วแต่ตระลาการแลลูกขุนจะว่ากล่าวไป ไม่เอาธุระรักษาการตามน่าที่ซึ่งปันออกไปใหม่ แลประกอบด้วยการที่ลูกขุนจะพิพากษาตัดสินความให้แล้วไปโดยเร็วไม่ได้ด้วย ถ้อยความก็เกิดรุงรังมากขึ้น จึ่งต้องมีอุบายแก้ไขยอมให้อธิบดีนั้นๆรับเรื่องราวกล่าวโทษอุทธรณ์ตระลาการในศาลนั้นๆ ฝ่ายที่ลูกขุนบังคับบัญชาไปไม่ถูกประการใดซึ่งเคยมาร้องฎีกาทีเดียวนั้น ก็ให้มีแม่กองสำหรับรับเรื่องราวตรวจคำปฤกษาลูกขุนอีกชั้นหนึ่ง เมื่อจัดการดังนี้ ข้อความอุทธรณ์หัวเมือง ซึ่งแต่ก่อนต้องฟ้องณศาลหลวงแห่งเดียวก็กลายไปเปนเรื่องราวร้องต่อเจ้ากระทรวงทั้งสิ้น ต่อเจ้ากระทรวงไม่รับเรื่องราวนั้นจึ่งได้มาฟ้องต่อศาลหลวงๆก็ต้องประทับกลังลงไปกระทรวงนั้นเองไม่ได้ประทับไปศาลอุทธรณ์ดังเช่นแต่ก่อน แลวิธีที่อุทธรณ์ด้วยเรื่องราวนั้น จะเปนอุทธรณ์มิเปนอุทธรณ์ก็แล้วแต่ท่านอธิบดีในกรมนั้นตัวท่านอธิบดีบ้างข้างเคียงบ้าง เพราะเรื่องราวกล่าวหาเกินความจริงให้เข้าลักษณอุทธรณ์ ฤาเพราะความเผลอๆไปบ้าาง ก็มีตราไปให้ส่งจำเลยผู้ต้องอุทธรณ์แลความเดิมลงมาพิจารณาณกรุงเทพฯได้พิจารณาตามชั้นอุทธรณ์บ้าง ฝ่ายจำเลยขี้คร้านแก้ความอุทธรณ์ยอมกันแก่โจทเสียบ้าง ความเดิมนั้นก็ตกอยู่ในศาลกระทรวงนั้นที่กรุงเทพฯเมื่อเปนช่องดังนี้ความหัวเมืองชำระไปได้เพียงเล็กน้อยเท่าใด ถ้าคู่ความเห็นจะเสียท่วงทีก็ลงมาอุทธรณ์เสียที่กรุงเทพฯได้เบิกคู่ความเดิมเข้ามา ถ้าความอุทธรณ์รายใดที่ได้สู่กัน ความรายนั้นก็ไม่มีเวลาที่จะพิจารณาแล้ว ด้วยความบิดพลิ้วแลเฉื่อยแฉะของตระลาการบ้างด้วยอำนาจของคู่ความตามกฎหมายมีทางที่จะชักเชือนแชให้ช้าไปบ้างความนั้นก็ไม่แล้วลงได้ เปนช่องที่คู่ความผู้ทำความทุจริตจะถือเสียว่าอย่างไรๆก็ลงมาอุทธรณ์เสียให้ความเนิ่นช้าไป ข้องฝ่ายเจ้าเมืองกรมการที่เปนผู้ทุจริตก็ถือเสียว่าถึงว่าถึงอย่างไรๆความก็คงชำระไม่แล้วไม่มีเวลาแพ้อุทธรณ์ ต่างคนก็ต่างประพฤติความทุจริตคงอยู่ตามเดิมฤายิ่งขึ้นไปกว่า ฝ่ายแม่กองที่ตั้งขึ้นไว้สำหรับกันลูกขุนผิดนั้นเล่าเมื่อได้รับเรื่องราวกล่าวโทษคำปฤกษาแล้วเรียกสำนวนแลคำลูกขุนปฤกษามาตรวจ กว่าจะได้มาตรวจและตรวจแล้วแต่ละเรื่องก็ช้านานถ้าจะตรวจเห็นว่าลูกขุนว่าชอบลงเนื้อเห็นไปดวย ก็มีอำนาจเท่ากันกับเปนลูกขุนอีกชั้นหนึ่ง ไม่มีอำนาจที่จะบังคับคู่ความซึ่งไม่ยอมมาเสีย แต่คำลูกขุนนั้นให้ยอมอย่างไรได้ เพราะถ้าจะมาร้องฎีกาตัดสินผิดชอบก็คงมีโทษชั้นเดียวเท่ากับที่ไม่ฟังคำพิพากษาชอบของลูกขุน ถ้าแม่กองเห็นความไปอย่างอื่น ก็เปนช่องที่ลูกความจะสงไสยว่าแม่กองว่าอย่างหนึ่งลูกขุนว่าอย่างหนึ่งมาร้องฎีกา เมื่อร้องผิดก็มีโทษเพียงไม่ฟังคำปฤกษาที่ชอบเหมือนกัน แม่กองลูกขุนก็ไม่เปนการมีประโยชน์อันใดสักอย่างเดียว ความจะแล้วด้วยแม่กองสักเรื่องหนึ่งก็เกือบจะไม่มี เปนแต่คั่นสำหรับจะให้คู่ความชักถ่วงความให้ช้าอีกคั่นหนึ่งเท่านั้น ส่วนความที่จะแล้วได้จริงนั้นต้องมาแล้วอยู่ชั้นถวายฎีกาโดยมาก เมื่อเปนดังนี้ฎีกาเดือนหนึ่งก็ถึง ๑๒๐๑๓๐ ฉบับ พระเจ้าแผ่นดินแจกพระราชทานให้ตำรวจชำระเปนศาลรับสั่ง ก็ชำระเรื่อยไปทั้งความอุทธรณ์แลความเดิมบ้าง ชำระแต่ชั้นอุทธรณ์บ้าง แจกไห้เสนาบดีตามกรมไปว่ากล่าวชำระบ้าง เมื่อมีราชการน้อยก็ได้ทรงตัดสินข้อความเหล่านั้นไปได้ เมื่อราชการอื่น ๆ มากขึ้นก็ไม่มีเวลาทรงตัดสินความซึ่งมีปีละพันเสศสองพันได้ ต้องตั้งศาลฎีกาเลือกเอาพระบรมวงษานุวงษข้าราชการเปนที่ไว้วางพระราชหฤไทยขึ้นเปนแม่กองตรวจตัดสิน แม่กองนั้นก็ต้องเรียกสำนวนแลคำปฤกษานั้นมาตรวจเหมือนกับแม่กองชั้นลูกขุนอีกเที่ยวหนึ่ง ครั้นตัดสินไปบางเรื่องคู่ความก็ไม่ยอมตามคำตัดสินนั้น กลับเข้ามาถวายฎีกากล่าวโทษตระลาการศาลฎีกา จนต้องทรงตรวจตัดสินเอง จึ่งจะเป็นอันสำเร็จเด็จขาดได้ก็มี แต่ที่แล้วสำเร็จไปได้ในศาลชั้นฎีกานั้นก็มีโดยมาก เมื่อจะว่าตามความจริงแล้วก็เกือบจะเหมือนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวที่จะพิพากษาเด็ดขาดทั่วไปทั้งสิ้น ที่สุดจนการที่ให้อธิบดีในกรมต่างๆกำกับศาลแลรับเรื่องได้แล้ว ตระลาการจะบาดหมายเอาคู่ความมาว่าความบางทีก็ไม่ได้ตัวมาว่าความ ด้วยขัดขวางแอบอิงอย่ในท่านผู้มีอำนาจมีบันดาศักดิ แลดื้อเสียเองๆบ้าง อธิบดีที่เปนผู้บังคับศาลนั้นๆก็ไม่บังคับบัญชาตลอดไปได้ พระเจ้าแผ่นดินต้องให้ตำรวจเปนผู้รับขัดข้อง ซึ่งตระลาการเอาขึ้นปฤกษาลูกขุนๆเห็นว่าเปนขัดข้องแล้วจึ่งได้ส่งมาให้ผู้รับขัดข้อง ตำรวจผู้รับขัดข้องนั้นไปเกาะจำเลยส่งศาลตามคำลูกขุนปฤกษา ถ้ายังไปทำการไม่ตลอดได้ก็ต้องกราบบังคมทูล ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงเอะอะเองจึ่งได้ตัวจำเลยมาว่าความ เมื่อการเปนอยู่ดังนี้ก็เปนการเหลือกำลังที่พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวจะพิพากษาความทั้งแผ่นดิน แลตริตรองราชการอื่นๆบังคับให้ตลอดไปได้

การซึ่งเปนเหตุดังนี้ ก็เปนด้วยวิธีกระบวนพิจารณาความอย่างเก่าเปนทางยืดยาวอย่างหนึ่ง เพราะลูกขุนตระลาการผู้พิจารณาพิพากษาทั้งปวงต้องหาผลประโยชน์เลี้ยงชีวิตในทางความนั้นเอง ผลประโยชน์ที่จะได้นั้นก็โดยร้อนๆเย็นๆหวาดๆหวั่นๆเหมือนกรมพระนครบาลที่กล่าวมาแล้ว ข้าราชการซึ่งเปนคนดีๆก็ไม่ใคร่มีความปราถนาในตำแหน่งในกรมเหล่านี้ ด้วยมีกรมอื่นที่จะได้ผลประโยชน์มากแลสดวกดีกว่ากรมเหล่านั้น คนดีๆจึ่งไม่ใคร่จะมี มีแต่คนที่หาผลประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้แล้ว จึ่งหันมาหาประโยชน์ในทางนี้อย่างหนึ่ง เพราะคงซึ่งเปนลูกขุนตระลาการเปนคนเช่นว่ามาแล้ว จึ่งต้องมีข้อบังคับบีบคั้นป้องกันมากจนเหมือนหนึ่งตระลาการอยู่ในบังคับลูกความ จะยอมให้แล้วก็ได้ไม่ยอมให้แล้วก็ได้ มีอุบายที่จะชักถ่วงร้อยอย่างนั้นอย่างหนึ่ง อธิบดีผู้ซึ่งบังคับการในกระทรวงนั้นๆเล่าก็ไม่ใคร่มีใครเปนธุระใส่ใจที่จะให้ถ้อยความในกรมเบาบางไป ด้วยไม่เปนประโยชน์อันใดคุ้มค่าเหนื่อย สู้นั่งว่าภาษีอากรไม่ได้ การในกรมลูกขุนฤาจะว่ารวบยอดว่าการในกรมยุติธรรมทั้งปวง ซึ่งแยกเปนหลายกรมนั้นจึ่งได้ซุดโซมเสื่อมซามมาช้านานพ้นกำลังที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นในแบบเดิมนี้ได้ จึ่งเปนการจำเปนที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนรูปของกระทรวงยุติธรรมนี้ใหม่ ให้เปนทางอันคิดคราวเดียวตลอดเรื่องไม่เปนแต่คิดปุยาแก้ไขครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง การตำแหน่งยุติธรรมในเมืองไทยนี้ เปรียบเหมือนเรือกำปั่นที่ถูกเพรียงแลปลวกกินผุโทรมทั้งลำ แต่ก่อนทำมานั้นเหมือนรั่วแห่งใดก็เข้าไม้ดามอุดยาแต่ฉเพาะที่ตรงรั่วนั้น ที่อื่นก็โทรมลงไปอีก ครั้นช้านานเข้าก็ยิ่งชำรุดหนักลงทั้งลำ เปนเวลาสมควรที่ต้องตั้งกงขึ้นกระดานใหม่ให้เปนของมั่นคงถาวรสืบไป แลเปนการสำคัญยิ่งใหญ่ที่จะต้องตั้งกงขึ้นกระดานใหม่ให้เปนของมั่นคงถาวรสืบไป แลเปนการสำคัญยิ่งใหญ่ที่จะต้องรีบจัดการโดยหาไม่ก็จะต้องจมลง ด้วยผุยับไปเหมือนเรือกำปั่นที่ชำรุดเหลือที่จะเยียวยา จนต้องจมลงฉนั้น

กรมธรรมการสังฆการีนี้ ตามตำแหน่งเดิมเปนกรมใหญ่ ได้ตั้งธรรมการหัวเมืองว่าความพระสงฆ์ต่อพระสงฆ์ฤาพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับคฤหัฐไม่ความอย่างใด อำนาจของกรมธรรมการที่เปนอยู่บัดนี้ ก็ไม่สู้ผิดกันกับแต่ก่อนมากนัก เปนแต่ไม่มีอำนาจที่จะตั้งธรรมการ หัวเมืองขาดไปพร้อมกับกรมอื่นๆ แต่ธรรมการหัวเมืองก็ยังมีหนังสือบอกข่าวคราวเหตุการซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างพระสงฆ์หัวเมืองบ้างน้อยๆรายแต่กรมธรรมการมักจะได้พูดจากับพระสงฆ์เจ้าคณะตามหัวเมืองนั้นเองเสียโดยมาก ถ้าเจ้าเมืองกรมการเมืองใดจะขอตั้งเจ้าคณะหัวเมือง ก็ยังมีใบบอกมาที่กรมธรรมการนั้นด้วย คงอยู่อย่างแต่ก่อน แต่ตำแหน่งใหญ่คือที่พระยาพระเสด็จนั้นไม่ได้ตั้งมาเสียช้านาน ด้วยผู้ซึ่งจะเปนขุนนางในตำแหน่งธรรมการนี้ ดูเหมือนจะต้องใช้คนที่เปนคนบวชอยู่นานเร่อร่างุ่มง่ามไปไม่สมควรเปนขุนนางผู้ใหญ่ จึ่งได้ลดตำแหน่งมีศักดินาน้อยลง คงใช้เจ้านายไปกำกับอยู่เสมอมา

ส่วนกรมราชบัณฑิตยซึ่งดูเหมือนน่าที่จะรวมอยู่ในกรมธรรมการก็แยกไปเปนกรมหนึ่งต่างหากไม่เกี่ยวข้องกัน กรมธรรมการมีแต่ที่จะความพระสงฆ์อย่างเดียว กรมราชบัณฑิตยเปนน่าที่ที่จะบอกหนังสือพระสงฆ์แยกไปส่วนหนึ่ง มีน่าที่รวมกันแต่ในเวลาพระสงฆมาแปลพระปริยัติธรรม ต้องเปนผู้มากำกับตรวจตราด้วยกันทั้งสองกรม ถ้าจะว่าตามความคิดที่แบ่งตำแหน่งอย่างต่างประเทศ กรมสังฆการีเปนกรมธรรมการฤากรทสาศนน กรมราชบัณฑิตยเปนกรมศึกษาธิการควรที่จะรวมอยู่ด้วยกันแผนกหนึ่งได้ แลการสั่งสอนวิชาหนังสือไทยนั้นธรรมเนียมในเมืองไทยนี้ก็อาไศรยเรียนในวัดเปนที่ตั้ง แต่โบราณมาแต่ผู้ปกครองแผ่นดินหาได้จัดการอุดหนุนอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ จนตกมาภายหลังจึ่งได้เกิดบอกหนังสือโรงทานขึ้น แต่การที่บอกหนังสือโรงทานนั้นเปนแต่ส่วนพระราชกุศล ซึ่งจะให้พร้อมบริบูรณในทานฉเพาะพระราชกุศลนั้นอย่างเดียว ไม่ได้เปนการมุ่งหมายที่จะสั่งสอนชนทั้งปวงทั่วไปตลอดมาจนถึงแผ่นดินประจุบันนี้ จึ่งได้เกิดตั้งโรงเรียนในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โรงเรียนนั้นก็ขึ้นอยู่ในกรมทหาร ครั้นภายหลังเกิดโรงเรียนนันทอุทยาน ก็เปนการจรเกิดขึ้นใหม่ ตั้งกอมมิตตีเปนผู้จัดการแยกออกไปอีกแผนกหนึ่งไม่เกี่ยวกับโรงเรียนทหาร การนั้นก็ไม่เรียบร้อยได้ ภายหลังจัดการโรงเรียนสวนกุหลาบ ยกโรงเรียนทหารไปสมทบ แลคิดจัดตั้งโรงเรียนตามพระอารามต่างๆ จึ่งได้ตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นใหม่อีกกรมหนึ่ง แยกการเบิกจ่ายทั้งปวงออกเปนส่วนหนึ่งจากกรมทหารมหาดเล็ก การของกรมศึกษาธิการมีมากขึ้นแลยังจะต้องมีมากต่อไปภายน่า เพราะความคิดที่จะฝึกหัดวิชาคนทั้งปวงทั่วไป กรมนี้ก็จำจะต้องเปนกรมใหญ่อีกกรมหนึ่ง มีการคล้ายคลึงฤาเจือถึงกันกับกรมราชบัณฑิตย ถ้าจัดการรวบรวมกันให้ตลอดได้ก็จะเปนการมีประโยชน์มากขึ้น

อนึ่งกรมหมอนั้น แต่เดิมเปนหมอสำหรับว่าความพวกหนึ่ง มีเจ้ากรมซ้ายขวาปลัดทูลฉลองซ้ายขวา อีกพวกหนึ่งเปนหมอโรงพระโอสถ แต่พวกแรกนั้นเลิกเสีย ไม่ได้ว่าความตามที่ว่ามาแล้ว แต่ยังคงเปนสองพวกอยู่ พวกหนึ่งเรียกว่าหมอศาลาพวกหนึ่งเรียกว่าหมอโรงใน คำซึ่งเรียกว่าหมอศาลานั้น จะใช้สำหรับหมอพวกที่ว่าความมาแต่เดิมเปนพวกหมอนั่งศาลฤาจะเปนหมอนอกสำหรับจ่ายรกษาพระบรมวงษานุวงษข้าราชการตามที่เข้าใจกันอยู่โดยมากก็ไม่ได้ความแน่ แต่หมอโรงในคือโรงพระโอสถนั้นคงเปนหมอสำหรับเจ้าแผ่นดินแ แต่ถึงจะอย่างไรๆในการที่ใช้อยู่ประจุบันนี้ ไม่ได้เลือกว่าหมอศาลาแลโรงพระโอสถใช้ปนกันไปหมดตามแต่ที่ต้องการ ถ้าจะคิดอีกอย่างหนึ่งว่า จะมีโรงหมอสำหรับรักษาราษฎรทั้งปวง จะใช้หมอศาลา ก็ไม่ปรากฎว่ามีโรงหมอเช่นนั้นแต่ก่อนมาเลย พึ่งมามีขึ้นแต่โรงหมอที่ท่าพระ สำหรับรับคนในพระบรมมหาราชวังป่วยเจ็บ แต่ภายหลังก็กลายเปนเรือนหมออยู่ไม่ได้คงตามที่ตั้งเดิม แลมีโรงรักษาคนเจ็บขึ้นที่โรงธรรมวัดสุทัศน์ก็เปนการย่อๆเล็กน้อยแล้วเลิกไป พึ่งจะเกิดโรงพยาบาลซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในเร็วๆนี้ การโรงพยาบาลนี้คิดจะให้แพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาเขตร์ ก็คงจะเปนการใหญ่ จะต้องใช้หมอประจำโรงพยาบาลนั้นมาก กรมหมอคงจะต้องแยกเปนสองส่วนอย่างเดิม แต่จะต้องมีจำนวนมากขึ้น

กรมพระอาลักษณ์นี้ ในตำแหน่งศักดินาก็นับเปนกรมใหญ่ มีปลัดทูลฉลองปลัดนั่งศาล แต่ในพระธรรมนูญหาได้แบ่งกระทรวงไว้ว่าเปนพนักงานว่าความอย่างใดไม่ เหมือนกันกับกรมสรรพากร ยังมีที่อาลักษณได้เกี่ยวข้องในความก็แต่เพียงชัณสูตรหนังสือสำคัญซึ่งหมายเรียกไปเปนฉเพาะตัวต้องสาบาลเหมือนกับเปนพยานผู้หนึ่งเท่านั้น แต่ตำแหน่งราชการอื่นๆนอกจากเรื่องความดูก็อยู่ข้างจะหลวมมากไม่สมกับที่เปนตำแหน่งใหญ่ ในตำแหน่งดวงตราซึ่งมีในพระธรรมนูญ ว่าพระราชทานให้ไว้ตำราข้าพระโยมสงฆ์ไร่นาอากรแก่ผู้ใดๆไซร์ ให้ปิดตราในต้นพระตำรานั้น ปิดลบครั่งประจำนอกลุ้งพระราชสาสน ตั้งอักษรเลขหัวเมือง ในการซึ่งว่าไว้ในราชธรรมนูญนี้ พระอาลักษณ์ก็ไม่ได้ทำอันใด จนตั้งอักษรเลขหัวเมืองก็พลอยเลิกไปดวยกับกรมทั้งปวงคราวเดียวกัน ราชการซึ่งกรมพระอาลักษณ์ได้ทำอยู่นั้นเมื่อเวลายังไม่ได้ใช้หนังสือชุกชุมเช่นทุกวันนี้ ก็จะมีแต่รักษากฎหมายจบ๑แลเปนผู้จาฤกสุพรรณบัตร หมายตั้งขุนนาง เขียนพระราชสาสนกับคัดเขียนหนังสือต่างๆมีบทกลอนเปนต้น จนตำแหน่งราชการของกรมอาลักษณ์ไม่เปนสำคัญอันใด เจ้ากรมก็มีศักดินาลดหย่อยมาเหมือนกรมธรรมการ เมื่อมีการใช้หนังสือขึ้นก็มีราชการมากขึ้นตามส่วนเดิมแต่ส่วนการซึ่งมีหนังสือตอบไปมาในออฟฟิศเจ้าแผ่นดิน ก็ไม่ได้อยู่ในกรมอาลักษณ์ เกิดออฟฟิศหลวงขึ้นต่างหาก แต่เจือเนื่องกันเพราะต้องใช้คนผู้น้อยในกรมนั้น พระราชลัญจกรซึ่งเปนพนักงานที่จะประทับออฟฟิศหลวงจึ่งเปนตำแหน่งสำคัญใหญ่กรมสำคัญซึ่งจะไม่มีไม่ได้ ในราชการซึ่งเปนอย่างทุกวันนี้

กรมพระคลังต่างๆมีกรมพระคลังมหาสมบัติเปนต้น ในกรมพระคลังมหาสมบัติซึ่งมีน่าที่ประการใดในการซึ่งจะเรียกเร่งพระราชทรัพย์ของหลวงแลที่จะว่าความอันเกี่ยวข้องด้วยพระราชทรัพย์ ได้กล่าวมาข้างต้นๆนั้นแล้ว บัดนี้จะว่าด้วยการซึ่งเปลี่ยนแปลงไปใหม่ในชั้นหลังๆจนถึงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ รวมพระคลังสินค้าในซ้ายคลังในขวาต่อไป จะต้องว่าด้วยคลังสินค้าก่อน กรมพระคลังสินค้านี้เกิดขึ้นด้วยการแต่งสำเภาเปนพนักงานอันหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นใหม่พร้อมๆกับกรมท่าซ้ายกรมท่าขวา เพราะว่าแต่ก่อนเจ้าพระยาพระคลังเปนผู้แต่งสำเภาไปค้าขายต่างประเทศ กรมพระคลังสินค้าจึงได้เนื่องอยู่ในกรมพระคลังเปนพนักงานสำหรับที่จะรับของส่วยซึ่งเกณฑ์ไปสำหรับมาเปนสินค้าส่งลงสำเภา แลเปนผู้จัดซื้อสินค้าซึ่งไม่มีในส่วย แต่จะบันทุกสำเภาไปขายได้กำไรคลังสินค้าเปนพนักงานที่จะจัดซื้อของเหล่านั้นในเวลาที่ของราคานั้นราคาถูกจะได้ไปขายมีกำไร คือเปนผู้คิดการค้าขายของเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อเจ้าพระยาพระคลังเหลวไหลไปบ้าง พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะพระราชทานผลประโยชน์เสศเลยในการแต่งสำเภาแก่ผู้อื่น แต่งคลังสินค้าก็เปนผู้จ่ายสินค้าทั้งปวงนั้นให้แก่ผู้แต่งสำเภา เมื่อเจ้าพระยาพระคลังไม่ได้จัดการแต่งสำเภาช้านานไปก็ไม่มีการอันใดที่จะเกี่ยวข้องกับพระคลังสินค้าๆก็กลายเปนไม่ได้ขึ้นเจ้าพระยาพระคลัง เปนกรมหนึ่งลอยตัวอยู่ต่างหาก ครั้นเมื่อภายหลังบ้านเมืองบริบูรณ์ขึ้น การแต่งสำเภาไปค้าซึ่งเปนเสี่ยงทายเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายอยู่หน่อยๆลดถอยไปด้วยเกิดอากรขึ้นใหม่ๆได้เงินมาใช้ในราชการแผ่นดินแน่นอนดีกว่ากำไรค้าสำเภา อากรเหล่านั้นให้เรียกว่าภาษี เพราะเปนอากรที่เกินที่เรียกมาแต่ก่อน เปนของเกิดขึ้นใหม่เหมือนหนึ่งเปนกำไร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้เห็นว่าเงินเก่าเท่าใดเกิดขึ้นในรัชกาลของท่านเท่าใด จึงโปรดให้คลังสินค้าเปนเจ้าจำนวนเสียต่างหากแลกกันกับการจัดซื้อสินค้าลงสำเภาตามที่เคยเปนพนักงานมาแต่ก่อน การที่บังคังบัญชาอากรเก่าใหม่เหล่านี้จึงได้แยกเปนสองแผนก อากรเก่าอยู่ในพระคลังมหาสมบัติ อากรใหม่ซึ่งเรียกว่าภาษีอยู่ในกรมพระคลังสินค้า คงเรียกชื่อว่าอากรอยู่ แต่หวยจีนหวยก.ข.ซึ่งเปนของเกิดขึ้นใหม่ แต่คล้ายกันกับอากรบ่อนเบี้ยของเดิมจึงคงเรียกว่าอากร แต่ก็ยกมาไว้ในพวกภาษีเหมือนกัน เมื่อกรมพระคลังสินค้าได้บังคับบัญชาภาษีอากรมีผลประโยชน์มากก็มีแต้มคูดีขึ้น ครั้นเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเปนผู้ต้องเลือกเปนเสนาบดีกรมพระนครบาลไม่สมัคไป แลเทียบที่พระคลังก็ไม่ได้เปน เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ไม่ยอมเปนสมุหพระกระลาโหม ก็ยิ่งทำให้ตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์ดีขึ้น ตามความเข้าใจว่าเสมอพระยาที่มีศักดินาห้าพัน ฤาอยู่ที่ปฤกษาราชการคล้ายเสนาบดีเพราะกรมพระคลังสินค้าขึ้นอยู่ในกรมพระคลังฤากรมว่าการต่างประเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงมาแต่เดิม จึงได้เปนพนักงานผูกผี้จีน ภายหลังเมื่อเลิกการค้าสำเภาขาดแล้ว กรมพระคลังสินค้าจึงได้มีราชการแต่เพียงรับของส่วยบรรณการซึ่งเกณฑ์ให้ส่งสำหรับลงสำเภาแต่ก่อนแลจ่ายของเหล่านั้นแก่นายด้านนายงานบ้างเล็กน้อย เปนเจ้าจำนวนภาษีเปนเจ้าพนักงานผูกปี้ ไม่มีราชการอันใดอย่างอื่น ส่วนคลังในซ้ายคลังในขวาอีกสองคลังนี้ ได้ว่าอากรของเก่าบ้างเล็กน้อย แต่ที่ตั้งคลังสองคลังนี้ขึ้นโดยความมุ่งหมายที่จะให้เปนผู้จัดซื้อของสำหรับจ่ายนายด้านทำการโยธาแลจ่ายราชการเบ็จเสร็จได้โดยเร็วไม่ต้องวิ่งซื้ออยู่ให้เสียเวลา คล้ายกันกับกงสีสำหรับราชการทั่วไป ด้วยการที่ทำงานด้านอย่างเก่าใช้เกณฑ์คนมาทำไม่ต้องออกเงินค่าแรงคงจ่ายแต่สิ่งของให้ทำ ผู้ซึ่งเปนนายด้านทำงานนั้นไม่ต้องเลือกว่าเปนช่างฤาไม่เปน หาเอาแต่ผู้ใดซึ่งเปนคนบังคับบัญชาไพร่ให้ทำงานได้แขงแรงแลหมั่นตรวจตราไม่ให้คนหลีกเลี่ยงจากงานได้แล้วก็เปนนายด้านได้ เพราะนายด้านไม่เปนคนเข้าใจในการช่างจึงต้องมีนายช่างคนหนึ่ง มีพระยาชสงครามเปนต้น สำหรับให้ตัวอย่างกะส่วนที่จะทำ เพราะนายด้านไม่ชำนาญในการค้าขายไม่รู้เบาะแสที่จะไปซื้อของอันต้องการใช้ทำงาน ฤาไปซื้อได้ก็ไม่รู้ราคาว่าถูกแพงเพียงเท่าใด จึงได้ให้มีพนักงานที่เข้าใจราคาของสำหรับจัดซื้อของสะสมไม่ต้องให้เที่ยวหาซื้อลำบากแลซื้อในเวลาที่ของนั้นถูก เพราะไม่ต้องเปนการรีบร้อนที่จะจัดซื้อด้วยเปนการของรองราชการ จึงได้ปันพนักงานที่จัดซื้อของนี้ออกเปนสองแผนก เครื่องเหล็กต่างๆไว้เปนพนักงานคลังในขวา สิ่งของต่างๆน้ำยาทาสีเปนต้นไว้ในคลังซ้ายความคิดเดิมนั้นจัดการเช่นนี้ แต่ครั้นรู้ภายหลังผู้ซึ่งอยากจะขายของล่อเจ้าพรักงานด้วยผลประโยชน์ต่างๆเพื่อจะให้ได้ขายของได้ราคา เจ้าพนักงานก็รับผลประโยชน์เหล่านั้น แล้วจัดซื้อของราคาแพงแลของไม่ดีจนไม่ต้องการจะใช้สะสมขึ้นไว้แลจ่ายไปในการต่างๆคลังหนี่งๆปีหนึ่งตั้งพันชั่ง ส่วนการที่นายด้านไปทำนั้นจะประมาณว่าที่แห่งใดสิ้นเงินเท่าใดก็ไม่ได้ ด้วยต่างคนต่างซื้อต่างทำแต่คงมีราคาแพงกว่าที่ราษฎรทำสองเท่าสามเท่าเปนอย่างน้อย ส่วนพระคลังราชการนั้นเปนพนักงานที่จะรับของส่วยซึ่งมาแต่หัวเมืองขึ้นกรมท่า คืออาสนาเปนต้น แต่สิ่งของที่ส่วยเหล่านั้นก็ไม่พอที่จะใช้ราชการอย่างหนึ่งอย่างใด ตกลงเปนกรมที่สำหรับจัดซื้อสิ่งของเหล่านั้น เบิกเงินหลวงไปใช้เหมือนคลังในซ้ายในขวา แต่กรมนี้เปนเคราห์ดีที่ได้ว่าภาษีฟืน ซึ่งเปนภาษีมีผลประโยชน์มาก เจ้าพระยาพระคลังซึ่งกลายไปเปนผู้ว่าการต่างประเทศจึงยังหวงแหนเปนเจ้าของอยู่ แต่เมื่อภาษีฟืนเปนภาษีพระราชทานขาดไปฉเพาะตัว เจ้าพระยาพระคลังก็ไม่เปนธุระอันใดในราชการนักต่อเมื่อถอนภาษีฟืนจากผู้ที่ทำประจำตัวได้ เจ้าพระยาพระคลังจึงได้เปนธุระในการคลังราชการมากขึ้น ความเสียอันใดจองคลังราชการก็เหมือนกับสองคลังที่ว่ามาแล้ว คลังวิเสศอีกคลังหนึ่ง เปนคลังผ้าทั้งปวงยกเสียแต่ผ้าเหลืองซึ่งเปนจองคลังศุภรัต แลเปนผู้เบิกเงินใช้ในการเบ็ตเตล็ด คือเงินท้ายที่นั่งแลนิตยภัตรพระสงฆ์ แต่เดิมก็คงจะมีการมากคล้ายๆกับคลังในซ้ายในขวา แต่ครั้นภายหลังมาจะเปนด้วยแพรผ้าต่างๆเปนของเก็บรักษายาก แลพระเจ้าแผ่นดินเปนธุระมากในการที่จะบำเพ็ญพระราชกุศลเปนต้น จึงได้ส่งผ้านั้นเข้ามาเก็บไว้เสียพระคลังใน คลังวิเสศก็กลายเปนแต่ผู้สำหรับรับออกไปพระราชทานแต่ผู้หนึ่งผู้ใดฤาถวายในเวลาจะบำเพ็ญพระราชกุศล ทางที่จะหาผลประโยชน์นั้นก็คับแคบจนกลายเปนคลังร้าง ไม่ใคร่จะมีใครมาสมัคอยู่ในตำแหน่งนั้น ยังกรมพระคลังสวนอีกคลังหนึ่งขึ้นอยู่ในกรมพระคลังมหาสมบัติ เปนพนักงานที่จะเก็บเงินอากรสวนตามน่าโฉนด แต่ไปเกิดผลประโยชน์ตั้งนายระวางคล้ายตั้งข้าหลวงเสนาในกรมนา เงินอากรสวนก็ค้างอยู่กัยนายระวางสูญไปโดยมาก แต่สวนจากนั้นแยกไปไว้คลังราชการตามน่าที่ที่เปนพนักงานจ่าย แลยังมีคลังอื่นๆอีกหลายคลังซึ่งเปนพนักงานซึ่งจะจัดซื้อสิ่งของจ่าย แลเปนผู้ที่จะรับของส่วยทั้งปวงเหล่านี้บางทีพระเจ้าแผ่นดินก็มอบให้ผู้ใดผู้หนึ่งมีอำนาจตรวจตราประทับตราในฎีกาเบิกด้วยรวมหลายๆคลัง เพื่อจะมิให้เจ้าพนักงานในคลังนั้นๆตั้งเบิกสิ่งของเกินราคาแลซื้อของไว้เกินที่ต้องการ แต่ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อันใดเพราะการฟั่นเฝือมาเสียมากแล้ว

ครั้นภายหลังเมื่อการพระคลังมหาสมบัติแลคลังสินค้าร่วงโรยลงด้วยมิได้มีผู้มีอำนาจบังคับบัญชาพอที่จะป้องกันมิให้แบบอย่างร่วงโรยไปได้ จำเดิมแต่แผ่นดินประจุบันนี้มา เงินที่เปนจำนวนขึ้นในพระคลังทั้งสองกรมนั้นต้องลดหย่อนลงไปเกือบครึ่งหนึ่งทุกภาษีอากร ด้วยความคิดของท่านผู้เปนประธานแผ่นดินแวดงให้เห็นปรากฎว่า เพราะพวกจีนประมูลเงินเกินกว่าที่จะเก็บได้ เพื่อจะได้เอาเงินไปใช้ทำทุน เพราะถือว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแลไม่ต้องส่งเงินเต็มตามที่ว่าจึงได้ลดเงินลงแต่พอเต็มภูมภาษี แต่การที่จะให้ได้เงินซึ่งลดลงพอควรแก่ภูมภาษีแล้วนั้นเข้ามาในคลังหาได้จัดการฤาอุดหนุนอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เงินค้างก็คงค้างไปอย่างเดิม แต่จำนวนเงินนั้นลดลง เมื่อเปนดังนี้เงินที่ได้มาใช้ในราชการก็ลดลงทุกปีๆ จนเงินแผ่นดินที่ได้เกือบจะไม่พอใช้การประจำเดือน ส่วนการจรมีมาก็ทำไป คลังต้องเปนหนี้ปีหนึ่งนับด้วยหมื่นชั่ง จนไม่สามารถจะปล่อยให้เปนการเปนไปเช่นนั้นได้ จึงได้จัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เปนออฟฟิศเจ้าพนักงานคลัง ยกคลังสินค้ามารวมว่าการพร้อมกับคลังมหาสมบัติ ยกกรมคลังมหาสมบัติขึ้นเปนเสนาบดีว่าการคลัง ภายหลังรวมอากรคลังในซ้ายในขวาเข้าไว้ในกรมนี้ด้วยแต่กรมอื่นๆก็ยังรวบรวมเข้าไม่ได้ด้วยการขัดข้องต่างๆ เพราะฉนั้นเสนาบดีว่าการคลังที่เทียบขี้นไว้ ก็เปนแต่สักว่าส่วนหนึ่งไม่มีอำนาจเต็มตามตำแหน่งเสนาบดีว่าการคลังซึ่งควรจะมีการรับจ่ายเงินแผ่นดินซึ่งเปนการสำคัญก็ยังไม่เปนรูปร่างอันใดขึ้นได้ คงเปนความลำบากอยู่หลายอย่างพ้นที่จะพรรณา

ในกรมภูษามาลานั้น จางวางเปนขุนนางผู้ใหญ่ตำแหน่งศักดินาห้าพัน เพราะแต่ก่อนได้บังคับบัญชากรมที่ใกล้เคียงกันหรือที่เกี่ยวข้องด้วยเครื่องต้นอันพระเจ้าแผ่นดินจะทรงทั่วไป เช่นกรมแสงหอกดาบกรมแสงปืนต้นตลอดจนพระคลังทอง ภายหลังมากในกรมแสงมีเจ้านายไปเปนจางวางผู้บังคับบัญชาก็มีอำนาจครอบงำว่าตลอดไป ส่วนกรมพระคลังทองนั้นมีเจ้านายไปกำกับการโรงทองก็บังคับการปกแผ่ไปถึงคลังทองด้วยกรมภูษามาลาจึงได้คงอยู่แต่ชั่วกรมภูษามาลากับกรมขึ้นซึ่งเปนกรมเล็กๆมีช่างสนะเปนต้น จนถึงที่ตำแหน่งจางวางกรมภูษามาลาไม่เปนตำแหน่งที่จะมี ผู้ใดก็ไม่มีใจยินดีอยากจะเปน กรมภูษามาลาจึงได้เปนกรมโตร้างๆสืบมา ไม่เปนการสำคัญที่จะจัดการอันใดเปลี่ยนแปลงได้นัก ว่าไว้เพราะเหตุแต่ก่อนเปนกรมใหญ่เท่านั้น

กรมที่เปนราชการแต่แบ่งไว้ในฝ่ายพลเรือน คือกรมล้อมพระราชวัง ตำแหน่งอธิบดีในกรมล้อมพระราชวังนี้ยกขึ้นไว้เปนตำแหน่งใหญ่ ก็จะเปนด้วยไพร่หลวงล้อมวังนั้น เปนคนที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน คล้ายๆกันเปนไพร่สมสังกัดพันส่วนในพระองค์ไพร่หลวงล้อมวังสักรักแร้แปลกกว่าไพร่หลวงกรมอื่นๆ แลห้ามมิให้ผู้อื่นนอกจากคนในกรมรู้จำนวน ซึ่งมิใด้แบ่งไว้ในฝ่ายทหารนั้น ด้วยคนพวกนี้ไม่ได้ต้องไปราชการทัพ เปนพนักงานแต่จะรักษาพระราชวังอย่างเดียว คล้ายกับเปนกรมวังชั้นนอก แต่บันดาการงานของกรมล้อมพระราชวังนั้น เปนการทหารทั้งสิ้น คือรักษาป้อมกำแพงพระราชวัง เปนพนักงานยิงปืนรุ่นยิงปืนไฟไหม้ แลยิงปืนอาฏานาซึ่งยกศาลมรฎกมาให้อยู่ในกรมล้อมพระราชวังนั้น ดูก็เปนจะให้มีทางได้ประโยชน์แลจะให้มีราชการทำอยู่บ้างเท่านั้น ด้วยความมรฎกได้ผลประโยชน์โดยตรงๆมากกว่าความอย่างอื่น แลผู้ซึ่งมาเปนอธิบดีในกรมล้อมพระราชวังมักจะเปนคนเข้าใจในการช่าง ด้วยมาจากดรมทหารในโดยมาก เพราะฉนั้นกรมล้อมพระราชวังจึงมักจะต้องเปนด้านทำงานคล้ายกรมพระตำรวจแลมีนายงานที่แขงแรงอยู่ไม่ขาดในการซึ่งทำการช่างแลการด้านนี้ ก็นับว่าเปนการทหารตามที่ท่านได้ปันไว้แต่ก่อนๆคนกรมล้อมพระราชวังมีมาก ด้วยเหตุที่มีบาญชีปิดบังฤาจะตั้งเกลี้ยกล่อมไว้เปนกำลังของพระเจ้าแผ่นดิน จนเกินที่จะใช้เข้าเวรประจำการ ต้องยกไว้เปนส่วยเสียโดยมาก ภายหลังมาได้ยกคนส่วยล้อมพระราชวังนี้มาเปนทหาร การบังคับบัญชาแยกเปนแผนกหนึ่งต่างหากจากกรมล้อมพระราชวังอย่างเก่า แต่คงใช้รักษาพระราชวัง มิได้ย้ายไปใช้การอย่างอื่น

กรมแสงปืนโรงใหญ่เปนพนักงานที่เก็บรักษาอาวุธกระสุนปืนศิลาปากนกบันดาที่มีทั้งสิ้น ซึ่งแยกกรมแสงปืนโรงใหญ่มาไว้ในฝ่ายพลเรือนนี้ ไม่เห็นมีเหตุอันใดซึ่งพอจะสันนิษฐานว่าเปนฝ่ายด้วยอันใด ทราบแต่ตามที่ว่ามา แยกไว้ให้เปนการถ่วงอำนาจกันในสมุหนายกสมุหพระกลาโหม คือแบ่งปืนใหญ่กรมกองแก้วจินดาแลกรมรักษาตึกดินไปไว้ในกรมพระกระลาโหม แยกกรมนี้มาไว้ในกรมมหาดไทย ราชการของกรมแสงปืนใหญ่ เปนพนักงานที่จะชำระรักษาปืนแลอาวุธอันมีอยู่ในโรงแลเปนผู้จ่ายปืนกระสุนศิลาปากนกให้แก่กรมอื่นๆมีช่างเหล็กช่างไม้ที่สำหรับทำการปืนเล็กอยู่ในกรมทำการอยู่เสมอมิได้ขาด ภายหลังมาเมื่อปืนซื้อง่ายกว่าทำก็ยักไปใช้การต่างๆตลอดจนแต่งเครื่องทองเหลืองเครื่องเหล็กทั้งปวงไม่เลือกว่าอันใด กรมมหาดไทยก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับบัญชา ตกมาอยู่ในอำนาจผู้บังคับกรมพระแสงหอกดาบแลพระแสงปืนต้นตามเช่นว่ามาแล้วนั้น

กรมช้างกรมม้าสองกรมนี้ นับว่าเปนตัวทหารแท้ มีตัวขุนนางในกรมมากๆทั้งสองกรม ด้วยต้องการใช้ในราชการทัพศึกเสมอมิได้ขาด ซึ่งยกมาไว้ในฝ่ายพลเรือนนี้ไม่มีเหตุอันใดที่จะคิดได้นอกจากที่จะถ่วงอำนาจกัน ดังเช่นว่ามาแล้วนั้นอย่างหนึ่ง ฤาอีกอย่างหนึ่งจะว่าคนเหล่านี้แลช้างม้าที่เปนพาหนะนั้น มีอยู่เลี้ยงอยู่ในหัวเมืองมหาดไทยทั้งสิ้น เมื่ออยู่ในฝ่ายพลเรือนกรมมหาดไทยจะได้เปนธุระทนุบำรุงได้ง่าย หรือถ้าจะกะเกณฑ์ตามหัวเมืองก็คงต้องเกณฑ์หัวเมืองขึ้นกรมมหาดไทย ยกมาไว้เพื่อจะให้เปนน่าที่อันเดียวตลอดไป เมื่อมีราชการทัพศึกจะได้ประมาณกะเกณฑ์ช้างหลวงช้างราษฏรได้สดวกดังนี้อีกอย่างหนึ่ง แต่กรมสองกรมนี้ก็ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชากรมมหาดไทยมีเจ้านายไปเปนแม่กองฤาจางวางกรมละองค์แต่เดิมมา เมื่อการทัพศึกขาดไป กรมทั้งสองนี้ก็ซุดโซมเสื่อมซามลงเปนอันมาก

กรมใหญ่ๆที่มีราชการเปนทหารแบ่งไว้ฝ่ายทหาร คือกรมอาษาแปดเหล่า อาษาใหญ่ซ้ายขวา อาษารองซ้ายขวา เขนทองซ้ายขวา ทวนทองซ้ายขวา ทั้งแปดกรมนี้เปนทหารหน้า สำหรับรักษาพระนครแลพระราชอาณาเขตร์ กรมอาษาใหญ่สองกรมเจ้ากรมถือศักดินาหมื่นเปนแม่ทัพใหญ่ชั้นที่หนึ่ง กรมอาษารองแลกรมเขนทองสี่กรมเจ้ากรมถือศักดินาห้าพันเปนแม่ทัพชั้นที่สอง กรมทวนทองสองกรมเจ้ากรมถือศักดินาพันหกร้อยเปนนายพล ในกรมอาษาแปดเหล่านี้เปนกองทัพซึ่งสำหรับจะออกไปปราบปรามข้าศึกสัตรูทุกทิศ เมื่ออยู่ประจำในพระนคร เจ้ากรมอาษาใหญ่ทั้งสองนี้ได้มีตำแหน่งตั้งพระหลวงขุนหมื่นด่านในหัวเมืองทั้งปวงตามซ้ายตามขวา ซึ่งให้กรมทหารมีอำนาจตั้งนายด่านได้นี้ ด้วยกรมทหารเปนผู้ไปจัดปราบปรามข้าศึกสัตรูได้พระราชอาณาเขตร์มาแล้ว ตั้งวางด่านทางไว้เปนการป้องกันเมื่อมีเหตุการอันใดมานายด่านนั้นจะได้แจ้งความมาถึงแม่ทัพ ได้รีบจัดการออกไปป้องกันพระราชอาณาเขตร์ได้โดยเร็ว แต่ครั้นเมื่อเลิกธรรมเนียมที่ให้กรมต่างๆตั้งตำแหน่งกรมการหัวเมืองเสีย อำนาจก็ขาดไป คงได้ตั้งอยู่แต่ด่านกรุงเทพฯ สำหรับตรวจตราคนเข้าออกในพระนครอย่างเดียว ทหารทั้งแปดหมู่นี้มีราชการแต่ในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกนอกพระราชวัง ต้องจุกช่องล้อมวงรายทาง ไม่ต้องแห่เสด็จในกระบวน เว้นไว้แต่เมื่อเสด็จกระบวนเรือจึงต้องมีแม่ทัพลงเรือกลองนำเสด็จลำหนึ่งฤาสองลำ ตามกระบวนใหญ่กระบวนน้อยกับเมื่อเสด็จพยุหยาตราทางบก คล้ายเสด็จพระราชดำเนิรการพระราชสงคราม จึงได้ใช้ทหารที่รักษาพระนคร เข้าในกระบวนแห่ทุกหมู่เหล่านอกนั้นก็ไม่มีราชการอันใด มีแต่การจรเช่นกับจะสักเลขแผ่นดินใหม่ใช้ทหารอาษาพวกนี้ออกเปนกองจับ บางคนก็ได้ว่าความบ้างเปนนายด้านทำงานบ้างตามคุณวิชาของตัวคนไม่เปนการคงตำแหน่ง ครั้นเมื่อตกมาถึงเวลาที่ไม่มีการทัพศึก เจ้ากรมปลัดกรมอาษาเหล่านี้ไม่เปนคนที่มีความชอบความดีในการศึกสงครามมาแต่ก่อน ซึ่งเปนเหตุจะให้มีแต้มคูดีขึ้น ก็เปนแต่ตั้งคงตำแหน่งไว้ ถ้ามีราชการทัพศึกเล็กน้อยก็ต้องเกณฑ์ไปเสมอเพียงขัดทัพ การที่ไปขัดทัพเปนที่เดือดร้อนของผู้ที่ต้องไปมากยิ่งกว่าให้ไปรบตีเมืองใด เพราะถ้าไปเช่นนั้นจะได้ผลประโยชน์มีได้เชลยเปนต้น การที่ไปขัดทัพเปนไปเปล่ามาเปล่า ผลประโยชน์อันใดก็ไม่ได้ทวีขึ้น เปนแต่ต้องจากบ้านไปช้านาน ครั้นเมื่อกลับมาก็ไม่มีอันใดทำ เมื่อเห็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนชั้นใหม่ที่อยู่กับบ้านสบายแลได้ผลประโยชน์มาก ก็ไม่มีผู้ใดจะสมัคเปนขุนนางฝ่ายทหาร ด้วยได้ผลประโยชน์ผิดกันหลายเท่าหลายส่วน จนชั้นแต่เบี้ยหวัดก็ไม่ใคร่จะเทียมหน้า เพราะฉนั้นขุนนางในกรมเหล่านี้จึงเปนแต่คนเดนเลือก จนภายหลังจะหาตัวผู้ใดเปนเดโชท้ายน้ำ ก็ไม่มีใครยอม ในกรมอาษาทั้งแปดกรมนี้ก็ยังเปนกรมขึ้นกรมพระกระลาโหมอยู่ห่างๆเมื่อมีราชการอันใดในกรมพระกระลาโหมที่เปนการจรแลการแห้งๆก็มักจะขอขุนนางในกรมเหล่านี้ไปใช้อยู่บ้างแต่ต้องนับว่าเปนกรมร้างแลซุดโซมสิ้นทั้งแปดกรม

ยังกรมทหารซึ่งเปนระหว่างกลางไม่ใช่ทหารหน้า ซึ่งสำหรับจะเกณฑ์ไปราชการทัพเสมอๆแลไม่ใช่ทหารรักษาองค์ เปนทหารที่สำหรับเข้ากระบวนตามเสด็จพระราชดำเนินการพระราชสงครามคือ กรมอาษายึ่ปุ่น กรมอาษาจาม กรมอาษาฝรั่งแม่นปืน กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง กรมแตรสังข์ กรมกลองชนะ เปนต้น เปนกรมที่มีมาแต่โบราณ ยกเสียแต่กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งกรมฝรั่งแม่นปืนแล้ว กรมเหล่านั้นก็มีการฝ่ายพลเรือนหรือการพลเรือนที่สำหรับทหารทำ คือกรมอาษายี่ปุ่นเปนพนักงานในเครื่องศพ กรมแตรสังข์เปนพนักงานที่จะนำพิณพาทย์แลกลองชนะ กรมกลองชนะเปนพนักงานที่จะจ่ายใช้ในเรือรบเรือไล่ทั้งปวงทางทะเล คงทำการเปนฝ่ายทหาร กรมฝรั่งแม่นปืนเปนกรมทหารปืนใหญ่ มีราชการสำหรับจุกช่องช้อมวงแลแห่นำตามเสด็จอยู่ด้วยทั้งบกทั้งเรือ แต่อยู่ในบังคับกรมพระกระลาโหมชัดเจนทั้งกรมอาษาจามแลกรมฝรั่งแม่นปืน

กองมอญทั้งปวง แบ่งออกเปนกรมใหญ่ห้ากรม คือ กรมดั้งทองซ้ายดั้งทองขวา กรมดาบสองมือ กรมอาทมาตซ้ายอาทมาตขวาราชการของกรมเหล่านี้ก็คล้ายกับกรมอาษาแปดเหล่า แต่อยู่ในบังคับกรมพระกระลาโหมแน่นเข้าไปกว่ากรมอาษาแปดเหล่า เพราะไม่ได้ตั้งเจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งเปนใหญ่ในกองมอญทั้งปวงมาเสียช้านานกรมพระลาโหมจึ่งได้บังคับบัญชาเหมือนเจ้าพระยามหาโยธา คล้ายกันกับกรมอาษาจามแลกรมฝรั่งแม่นปืน

ส่วนที่เปนทหารรักษาพระองค์ทั้งปวงนั้น คือ กรมพระตำรวจน่าแปดกรม กรมพลพัน กรมทนายเลือก กรมคู่ชัก กรมทหารใน กรมรักษาพระองค์ เหล่านี้เปนทหารรักษาพระองค์ ต้องนอนประจำเวรในพระบรมมหาราชวัง เมื่อมีที่เสด็จพระราชดำเนินทางบกทางเรือ ในการสงครามหรือในการประพาศก็เปนพนักงานที่จะแห่ห้อมประจำการในที่ใกล้เคียงพระองค์ จนที่สุดเวลาเสด็จออกท้องพระโรง กรมเหล่านี้ต้องเข้าเฝ้าก่อนขุนนางกรมอื่นๆเปนผู้ซึ่งจะมีอาวุธเข้ามาในท้องพระโรงได้พวกเดียว ตำรวจหน้านั้นเปนศาลรับสั่งชำจะความซึ่งเหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินทรงเปนผู้พิพากษาเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ลูกขุน เปนพนักงานซึ่งจะทำที่ประทับพลับพลา หรือทำการที่เปนการใหญ่จะให้แล้วโดยเร็วเช่นทำพระที่นั่งทำพระเมรุเปนต้น กรมพระตำรวจใหญ่ขวาได้บังคับบัญชากรมฝีพายมาแต่เดิมด้วย เมื่อมีราชการอันใดซึ่งเปนทางใกล้ก็ดีหรือไปในหัวเมืองไกลก็ดี เมื่อจะต้องมีข้าหลวงออกไปด้วยข้อราชการนั้นๆก็ใช้กรมพระตำรวจโดยมาก เพราะฉนั้นถึงว่ากรมพระตำรวจแบ่งอยู่ในฝ่ายทหาร ก็มิได้เกี่ยวข้องกับกรมพระกระลาโหมเลยแต่เดิมมา มีข้อห้ามมิให้เสนาบดีผู้ใดผู้หนึ่งขอให้ตั้งผู้ใดเปนเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจ ต้องแล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งได้พระองค์เดียว บันดาพระราชอาญาทั้งปวงซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะลงโทษแก่ผู้หนึ่งผู้ใดย่อมใช้กรมพระตำรวจทั้งสิ้น จึ่งมิได้ให้กรมพระตำรวจอยู่ในบังคับผู้ใด ฟังคำสั่งจากพระเจ้าแผ่นดินตรงแห่งเดียว แต่กรมรักษาพระองค์นั้นประจำรักษาพระเจ้าแผ่นดินในเวลาเมื่อมีที่เสด็จไปแห่งใดคล้ายกันกับตำรวจ แต่เมื่อถึงที่ประทับหรือเมื่อประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เปนผู้รักษาชั้นในใกล้เคียงชิดพระเจ้าแผ่นดินกว่ากรมพระตำรวจอีก เปนผู้ซึ่งใช้ราชการได้ตลอดถึงพระบรมมหาราชวังชั้นในในการบางสิ่ง นับว่าเปนผู้ใกล้ชิดชั้นที่สองรองชาวที่ซึ่งอยู่ในฝ่ายพลเรือนลงมา แต่ไม่ได้เปนผู้พิจารณาความศาลรับสั่ง เปนพนักงานการซึ่งจะเปนที่สำราญพระราชหฤไทยต่างๆมีพนักงานรักษาต้นไมเลี้ยงสัตว์เปนต้น เปนนายด้านทำการในพระบรมมหาราชวังปนกันไปกับกรมวัง กรมทหารในก็ไม่ได้เปนกรมชำระความศาลรับสั่ง เปนกรมช่างไม้ทำการอยู่ในพระบรมมหาราชวังแลเปนนายช่างที่สำหรับจะตรวจการงานที่มีนายด้านไปทำ กรมทหารในเปนพนักงานลงรักษาการในเรือบัลลังก์เวลาเสด็จลงลอยพระประทีปเปนต้นกรมเรือคู่ชักนั้นเปนหมู่คนซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยสนิทของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทางบกเจ้ากรมปลัดกรมสมทบแห่กับกรมพระตำรวจ เแต่เมื่อเสด็จโดยทางเรือ กรมเรือคู่ชักลงเรือสองลำซึ่งไปน่าเรือพระที่นั่งป้องกันอันตรายทั้งปวง ตั้งแต่เรือพระที่นั่งจะล่มเปนต้นไป แต่ไม่ได้ว่าความศาลรับสั่งเหมือนกันแลไม่ต้องประจำเวรอยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย กรมพลพันก็เปนตำรวจที่สนิทภายในคล้ายรักษาพระองค์ แต่ต้องประจำเวรอยู่ชั้นนอกออกไปเสมอกับกรมพระตำรวจหน้า กรมทนายเลือกเปนกรมที่เลือกคัดเอาแต่คนที่ล่ำสันมั่นคง มีฝีมือชกมวยดี ให้เดินแห่ตามเสด็จไปในที่ใกล้ๆได้ป้องกันอันตรายอันไม่พอที่จะต้องถึงใช้อาวุธเช่นกันจับบ้าเปนต้น ซึ่งเกิดกรมทนายเลือกขึ้นนี้ด้วยพระเจ้าแผ่นดินโปรดทรงมวย เลือกหาคนที่มีฝีมือดีไว้เปนเพื่อนพระองค์ สำหรับจะเสด็จปลอมแปลงไปในที่แห่งใดที่ไม่ควรจะใช้ป้องกันด้วยอาวุธ แต่เมื่อแห่เสด็จโดยปรกติก็ให้ถือหอกเหมือนกรมพระตำรวจ มีเวรประจำการเหมือนกรมพลพันแลไม่มีน่าที่ชำระความศาลรับสั่งทั้งสองกรม เพราะฉนั้นกรมเหล่านี้เปนกรมที่ใกล้เคียง เปนกำลังของพระเจ้าแผ่นดินจึงมิให้มีผู้ใดบังคับบัญชาได้

กรมทหารซึ่งมีมาแต่โบราณก็มีกำหนดอยู่เพียงเท่านี้ แต่ครั้นภายหลังมาเมื่อได้ชเลยญวนบ้างลาวบ้าง หรือข้าเจ้าซึ่งเปนกรมใหญ่เมื่อเจ้าสิ้นพระชนม์ลงยกเลขไพร่สมในกรมนั้นมาเปนไพร่หลวง เอาเจ้ากรมปลัดกรมเดิมมาตั้งให้เปนเจ้ากรมปลัดกรมต่อไป ชื่อกรมเหล่านั้นก็เรียกญวนอาษาลาวอาษาตามเพศภาษา ที่เปนคนไทยก็เรียกอาษาใหม่ บางทีก็ตั้งเปนกองเรียกตามชื่อเจ้ากรม แจกไปให้ขึ้นกรมพระกระลาโหมบ้าง กรมมหาดไทยบ้าง กรมต่างๆบ้าง กรมใหญ่ๆมีกรมอาษาใหม่มีกองต่างๆเกือบจะทั่วกรม ไม่ได้ปันไว้ในฝ่ายทหารฝ่ายเดียวเพื่อจะให้เปนกำลังของท่านอธิบดีในกรมนั้นๆได้บังคับบัญชาทหารหมู่หนึ่งๆทุกคน เพราะมีการทัพศึกไม่ได้เกณฑ์แต่ข้าราชการฝ่ายทหาร เมื่อผู้ใดต้องไปราชการทัพก็จะได้ใช้ทหารในหมู่ของตัวเปนกำลัง ที่ว่ามานี้เปนทหารอย่างเก่าไม่ได้ฝึกหัด ไม่มีเงินเดือนทั้งสิ้น

ส่วนทหารที่ฝึกหัดอย่างฝรั่งเกิดขึ้นใหม่ในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังเปนการเล่นๆ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ให้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์เก็บลูกหมู่กองมอญมาฝึกหัดเปนรากเง่าของทหารหน้า มีเจ้าหมู่สมุหบาญชีสารวัดขุนหมื่นรับเบี้ยหวัดขึ้นอยู่ในกรมพระกระลาโหมการบังคับบัญชาก็สิทธิ์ขาดอยู่ในกรมพระกระลาโหม เมื่อทหารพวกนี้ฝึกหัดขึ้นได้พอที่จะแห่เสด็จได้ จึงได้แบ่งมาไว้ประจำการสำหรับแห่นำเสด็จพระราชดำเนิน มีจำนวนคนเข้าเวรประจำการสำหรับแห่นำเสด็จพระราชดำเนิน มีจำนวนคนเข้าเวรประจำการอยู่ในสองร้อยภายหลังจึงได้โปรดให้กรมหลวงมหิศวรินทร์เก็บคนชักเอาในกรมต่างๆสิบเอาหนึ่งทุกหมู่ทุกกรมมาเปนทหารอีกพวกหนึ่งเรียกว่าทหารเกณฑ์หัดทหารสองพวกนี้เปนทหารชั้นนอกทั้งสิ้น ส่วนทหารรักษาพระองค์นั้นยกเอากรมปืนทองปราย คือเลขข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งให้นุ่งเขียวคาดพุงลายสพายปืนทองปรายแห่เสด็จกระบวนหลังมาแต่ก่อนนั้น ยกขึ้นเปนทหารปืนทองปรายพวกหนึ่งเลขข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าซึ่งยกมาเปนรักษาองค์ใหม่ ถือพลองสวมหอกปลายปืนตามเสด็จกระบวรหลัง ยกขึ้นเปนทหารปืนปลายหอก ทหารสองกรมนี้กำหนดให้เข้าเวรเดือนหนึ่งกรมละสองร้อยคน คงเปนทหารหน้ามีประจำราชการเดือนหนึ่งอยู่ในสี่ห้าร้อยคนทหารรักษาองค์สี่ร้อยคน ทหารเกณฑ์หัดนั้นเจือเปนขึ้นอยู่ในกรมพระกระลาโหม เพราะเจ้าพระยาสุรวงษ์แต่เมื่อยังเปนเจ้าหมื่นไวยวรนารถอยู่ได้บังคับบัญชาตลอดมาถึงกรมเกณฑ์หัด แต่ทหารรักษาองค์นั้นเจ้ากรมปลัดกรมบังคับกันเอง สักแต่ว่าอยู่ในเกณฑ์ทหารขึ้นกรมพระกระลาโหมแต่ชื่อเท่านั้น แต่เจ้าพระยาสุรวงษ์เปนธุระในการเรือมากกว่าการบก เพราะเหตุที่คนกองมอญซึ่งเก็บมาเปนทหารหน้าตั้งแต่แบ่งส่งมารับราชการแล้วก็ไม่ได้ชำระลูกหมู่เพิ่มเติมอะไร พวกเก่าที่เหลืออยู่ก็สูญไป คนที่เหลือเข้าเวรประจำอยู่ก็ไม่มากกว่าร้อยหนึ่งทหารเกณฑ์หัดเหล่านั้น เมื่อกรมหลวงมหิศวรินทร์ชำระ คนกลัวเปนทหารมาก เสียเงินหลุดถอนไปเสียก็มากช่วยคนแทนตัวบ้าง คนที่ช่วยมาแทนตัวนั้นเกือบจะเปนคนที่ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น คงเหลือทหารที่เข้าเวรประจำการอยู่ไม่เกินสองร้อยคน ส่วนทหารรักษาองค์นั้นไม่ได้เปนคนเกณฑ์ขาดมาเปนทหาร เปนคนเข้าเวรตามธรรมเนียมแบ่งจ่ายมาเปนทหาร แล้วแต่เจ้าหมู่จะจ่ายมาเท่าใด หรือยักเยื้องหลีกเลี่ยงกันไปได้เท่าใด คงมีคนรับราชการกรมหนึ่งไม่เกินร้อยคน คงมีคนที่ประจำการอยู่ทั้งสี่กรมไม่เกินสี่ร้อยคน คนซึ่งจะชำระเพิ่มเติมต่อไปใหม่นั้นไม่เปนประโยชน์อันใด ด้วยกองมอญก็อยู่ในกรมพระกระลาโหมสิทธิ์ขาดแล้ว จึงได้ตัดทหารบกนี้มาเสียขาด เจ้าพระยามหินธรศักดิธำรงแต่ยังเปนมหาดเล็กอยู่ได้บังคับบัญชา แต่บังคับบัญชาสิทธิ์ขาดอย่ในกรมเกณฑ์หัดแลรักษาองค์ ทหารหน้านั้นก็เปนการอะลุ่มอล่วยกันอยู่ครั้นล่วงมาถึงแผ่นดินประจุบันนี้ทหารยิ่งซุดโซมมากลง จึงได้ชำระหมู่ทหารหน้าทหารเกณฑ์หัดก็ไม่ใคร่จะได้คนกี่มากน้อย เสนาบดีจึงได้ปรึกษาพร้อมกัน ให้ขอคนมหาดไทยส่วนหนึ่ง กระลาโหมส่วนหนึ่งกรมละพันคน แต่ไม่ให้ยกขาดหมู่มาเหมือนทหารหน้าทหารเกณฑ์หัดอย่างแต่ก่อน ให้จ่ายเข้าเดือนเหมือนรักษาองค์ ได้คนมหาดไทยครบจำนวนหรือหย่อนกว่าบ้าง ได้มาเข้าเวรประจำการเดือนหนึ่งสองร้อยคนเสศ แต่กระลาโหมนั้นเจ้าของกรมจะฝึกหัดเองบ้าง เฉยๆไปบ้างก็ไม่ได้คนมาเลยแต่สักคนเดียว แล้วให้เก็บลูกหมู่มอณขึ้นอีก ก็ยกเปนทหารมรีน มีอยู่ร้อยคนไม่ได้รับราชการอันใดนอกจากรับเสด็จฟากข้างโน้นมีทหารมหาดเล็กขึ้นอีกหมู่หนึ่งเปนทหารที่ได้จัดการตามแบบวิธีอย่างฝรั่งตัวนายได้เงิงเดือนเปนครั้งแรก แล้วจึงได้จัดการกรมอื่นๆตามแบบนั้นต่อไป แต่ตัวคนทหารมีน้อยจึงได้มีประกาศรับทหารสมัคเข้ารับราชการ แต่การนั้นก็เปนไปได้คราวเดียว ความกลัวของคนจะต้องเปนทหารนั้นไม่สิ้นไป การควบคุมยังไม่เรียบร้อย ทหารซึ่งจัดขึ้นใหม่ก็ซุดโซมไปได้โดยเร็ว แลกรมทหารที่เข้าเวรประจำการแยกย้ายกันเปนหลายพวกหลายอย่าง แลกรมทหารที่เข้าเวรประจำการแยกย้ายกันเปนหลายพวกหลายอย่าง ตลอดมาจนทหารล้อมวังทหารกรมช้างทหารฝีพายซึ่งเกิดขึ้นใหม่ ก็มีวิธีต่างๆกันไปไม่ลงเปนแบบเดียวกันได้ส่วนทหารปืนใหญ่นั้นแต่เดิมมีทหารฝรั่งแม่นปืน ภายหลังมีทหารญวณปืนใหญ่แต่ไม่ได้ฝึกหัดอันใดอยู่ในกรมพระกระลาโหมสิทธิ์ขาดต่อภายหลังมาจึงได้ฝึกหัดทหารญวณปืนใหญ่ขึ้นตามแบบอย่างฝรั่งทหารปืนใหญ่นั้น ก็อยู่ในบังคับบัญชาของกระลาโหมตามเดิม แต่มาอยู่ประจําโรงฟากข้างนี้ ภายหลังเก็บคนในกรมแสงขึ้นเปนทหารปืนแคตลิงคันอีกหมู่หนึ่ง ทหารพวกนี้ไม่ได้ขึ้นกรมกระลาโหมแต่เดิมมา แลมีวิธีแบบอย่างแปลกออกไปอีกพวกหนึ่งเหมือนล้อมวัง ทหารกรมช้างแลทหารฝีพาย ส่วนเรือรบแลเรือกลไฟพระที่นั่งนั้นอยู่ในบังคับเจ้าพระยาสุรวงษ์ขึ้นกรมพระกระลาโหมสิทธิ์ขาด ใช้คนอาษาจามแลมอญจ่ายลงประจําลําเรือ แลมีแยกไปอยู่กับผู้อื่นบ้างบางลํา แต่ก็สาปสูญโดยเร็ว ภายหลังมีเรือเวสาตรีจึงได้ชักทหารปืนแคตลังคันลงไปเปนทหารเรือ เมื่อกรมเรือไฟเก่าร่วงโรยซุดโซมไปมาก ก็เกิดเรือเล็กน้อยแยกมาอยู่ในกรมทหารกรมแสงมากขึ้นจนการเรือเปนสองแผนก การที่จะรักษาแลใช้การต่าง ๆ ก็แปลกกัน

ด้วยเหตุที่ทหารบกทหารเรือมีวิธีฝึกหัดแลใช้จ่ายแปลก ๆ กันก็เปนที่ให้เปลืองเงินแลไม่เปนการเรียบร้อยตลอดไปได้ จึงใดตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เพื่อจะได้รวบรวมบังคับบัญชาการทั้งทหารบกทหารเรือให้เปนแบบเดียวกัน ซึ่งเปนทางที่จะได้จัดการให้เรียบร้อยไปภายหน้า

ส่วนซึ่งแบ่งปันฝ่ายทหารแต่ทําการฝ่ายพลเรือนนั้น คือกรมช่างสิบหมู่ ซึ่งแบ่งไว้ในฝ่ายทหารนั้น ก็คงเปนด้วยช่างเกิดขึ้นในหมู่ทหารเหมือนทหารอินเยอเนีย แต่ภายหลังมาเมื่อทําการต่าง ๆ มากขึ้นจนถึงเปนการลเอียด เช่นเขียนปั้นแกะสลักก็เลยติดอยู่ในฝ่ายทหาร แต่ไม่ใด้เกี่ยวข้องอันใดในราชการทหาร ไม่ได้ขึ้นกรมกระลาโหมมีแต่กองต่างหาก แม่กองนั้นมักจะเปนเจ๋านายโดยมาก เมื่อเกิดช่างอื่น ๆ ขึ้นอีกก็คงอยู่ในกรมเคิม ฝ่ายพลเรือนบ้างทหารบ้าง ไม่ฉเพาะว่ากรมช่างจะต้องเปนฝ่ายทหาร เช่นซ่างประดับกระจกขึ้นกรมวัง ช่างมหาดเล็กคงอยู่ในมหาตเล็กเปนต้น

ในตำแหน่งราชการซึ่งได้พรรณามาโดยย่อนี้ เพื่อจะให้เห็นว่าการต้นเดิมที่คิดวางตําแหน่งลง แล้วแลเคลื่อนคลายมาโดยลําดับ จนคงรูปอยู่ในประจุบันนี้เปนอย่างไร เมื่อพิเคราะห์ดูการให้ตลอดไปแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าวิธีซึ่งแบ่งไว้แต่ก่อนกับความต้องการในเวลาประจุบันนี้ไม่ต้องการเลย การจึงตัองผันแปรไปตามลําดับ ๆ จนไม่คงรูปเดิมอยู่ได้ แต่การที่ผันแปรไปนั้นเปนไปตามเวลาที่ต้องการมื้อหนึ่งคราวหนึ่ง ไม่ได้เปนการที่คิดแบ่งสรรปันส่วนเพื่อจะให้เปนการเรียบร้อยในราชการทุกกระทรวง เปนแต่กระทรวงใดอธิบดีมีอำนาจมากก็รวบรวมราชการแลผลประโยชน์ไว้ได้มาก กระทรวงใดอธิบดีมีอำนาจน้อยก็เกือบจะไม่ได้ทำการอันใดแลไม่มีผลประโยชน์อันใด บางกระทรวงก็มีการมากเหลือล้นจนทําไม่ไหว บางกระทรวงก็ไม่ได้ผลประโยชน์พอแก่การที่ทำ ถึงว่าจะไม่มีข์อขัดขวางอันใดแล้วในเวลานี้ จะจัดการให้เปนการเรียบร้อยในราชการไม่ให้เปลืองเงินแผ่นดิน แลให้เปนความศุขแก่ราษฎรก็ยังจัดไปไม่ได้ ด้วยผู้ซึ่งทําการมากเหลือตัวก็ไม่สามารถจะรักษาในตําแหน่งให้เรียบร้อยใปใด้ ผู้ที่ทำการน้อยไม่สมกับตำแหน่งก็เปลืองเบี้ยหวัดเงินเดือน ผู้ซึ่งได่ผลประโยชน์มากโดยง่าย ๆก็ไม่ตั้งใจจะทําการไนตำแหน่งของตัวซึ่งไม่มีผลประโยชน์ ฝ่ายผู้ที่ต้องทำการไม่มีผลประโยชน์มากก็คิดท้อถอย หรือแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรมต่อไป

อนึ่งกรมต่าง ๆ แยกกันอยู่ ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาใครเปนลำดับ แลไม่มีการสโมสรพร้อมเพรียงกัน เมื่อมีราชการอันใคขึ้นก็ซัดทอตกัน โยเยไปกว่าจะเดินได้ตลอดทุกกรมบรรตาที่เกี่ยวข้องก็เปนการเนิ่นช้าเสียเวลา เมื่อจะพรรณาถึงโทษที่เปนอยู่เช่นนี้ก็จะไม่มีที่สุดลงได้ จึงต้องขอรวบความลงว่าในการซึ่งจะให้ราชการทั้งปวงเรียบร้อยเปนแบบอย่างคล่องสดวกได้ตามสมควรที่จะปกครองบ้านเมืองในเวลานี้จำจะต้องแบ่งราชการให้มีผู้เปนน่าที่รับผิดชอบเปนส่วน ๆ ไปพอแก่กำลังที่รักษาการได้นั้นอย่างหนึ่ง จะต้องเลิกการที่กรมทั้งปวงแสวงหาผลประโยชน์ได้ โดยลําพังตัวไม่มีกำหนดเงินกำหนดการให้กลับเปนเงินจ่ายให้ตามสมควรแก่การที่ได้ทํานั้นอย่างหนึ่ง การจึงจะเปนไปสดวกได้ตลอด

เพราะฉนั้นจึงได้คิดตรวจดูตำแหน่งราชการซึ่งมีอยู่ในบัดนี้ เห็นได้ว่ามีการเกินกว่าเสนาบดีหกตำแหน่งซึ่งได้ปันไว้แต่เดิม ถ้าจะปันลงอย่างเก่าการก็จะไม่สดวกไปได้ จำจะต้องเพิ่มเติมตำแหน่งเสนาบดีลงใหม่ ให้พอสมควรแก่ตําแหน่งราชการในเวลานี้ เมื่อจะคิดแบ่งราชการเปนส่วน ๆ ก็เห็นสมควรว่าจะปันออกในเวลานี้ได้เปนสิบสองส่วนคือ

กรมมหาดไทย สำหรับบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือแลเมืองลาวประเทศราช

กรมพระกระลาโหม สำหรับบังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตกตวันออกแลเมืองมลายประเทศราช

กรมท่าเปนกรมว่าการต่างประเทศอย่างเดียวไม่ต้องว่าหัวเมือง

กรมวังว่าการในพระราชวัง แลกรมซึ่งใกล้เคียงรับราชการในพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน

กรมเมืองว่าการโปลิศแลการบาญซีคน คือกรมสุรัศวดีแลรักษาคนโทษ

กรมนาว่าการเพาะปลูกแลการค้าขาย ป่าไม้ บ่อแร่

กรมทั้งหกนี้ตั้งตามตําแหน่งเดิม เปนแต่เปลี่ยนน่าที่ไปบ้าง ต้องตั้งเสนาบดีขึ้นใหม่อีกหกกรมคือ

กรมพระคลังว่าการบันดาภาษีอากรแลเงินที่จะรับจะจ่ายในแผ่นดินทั้งสิ้น

กรมยุติธรรมได้บังคับศาลที่จะชำระความรวมกันทั้งแพ่งอาญานครบาลอุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน

กรมยุทธนาธิการ เปนพนักงานสำหรับที่จะได้ตรวจตราจัดการในกรมทหารบกทหารเรือ ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบกทหารเรือต่างหากอีกตําแหน่งหนึ่ง

กรมธรรมการ เปนพนักงานที่จะบังคับบัญชาการเกี่ยวข้องในพระสงฆ์ตําแหน่งที่พระยาพระเสด็จ แลเปนผู้บังคับการโรงเรียนแลโรงพยาบาลทั่วทั้งพระราชอาณาเขตร์

กรมโยธาธิการ เปนพนักงานที่จะตรวจการก่อสร้างทําถนนขุดคลอง. แลการช่างทั่วไปทั้งการไปรสณีย์แลโทรเลขหรือรถไฟซึ่งจะมีสืบไปภายน่า

กรมมุรธาธิการ เปนพนักงานที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกําหนดกฎหมายแลหนังสือราชการทั้งปวง

ในตำแหน่งเสนาบดีทั้งสิบสองตําแหน่ง ซึ่งควรจะจัดขึ้นใหม่นี้ จะต้องยกถอนตําแหน่งเก่า ๆ ซึ่งมีน่าที่คละปะปนกันอยู่ แจกไปตามสมควรแก่ตำแหน่ง เปนต้นว่าบันดากรมทั้งปวงซึ่งได้บังคับบัญชาภาษีอากร เปนพนักงานคลังส่วนหนึ่ง ๆ อยู่แก่ก่อนนั้น ต้องยกมาให้แก่กรมพระคลังบังคับบัญชากรมเดียว บันดากรมต่าง ๆ ซึ่งได้มีศาลพิจารณาความต้องยกมารวมในกรมยุติธรรมกรมเดียว การอน ๆ นอกนั้นก็ต้องปันออกไปเปนสิบสองแผนกตามการที่ใกล้เคียงในน่าที่กรมนั้น ๆ แต่การที่จะจัดเช่นนี้ก็จะเปนที่ขัดกับการเก่าอยู่ได้อย่างหนึ่ง ด้วยการแต่ก่อนนั้นท่านแยกกรมไพร่หลวงต่าง ๆ ซึ่งเปนกองทหารกองหนึ่งกองหนึ่งไปไว้ให้กรมต่าง ๆ ได้เปนกำลัง เมื่อมีราชการศึกสงคราม หรือราชการในบ้านเมือง อธิบดีกรมนั้น ๆ ก็ได้อาไศรยกําลังคนเหล่านี้ ถ้าจะยกไปรวมตามตำแหน่งที่จัดการใหม่ ก็จะตกไปอยู่กรมยุทธนาธิการกรมเดียวทั้งสิ้น กรมอื่น ๆ จะมีแต่เสมืยนคนใช้เล็กน้อย ก็เหมือนหนึ่งตัดกําลังเสนาบดีอื่น ๆ เสียหมด จะต้องให้เสนาบดีแลข้าราชการทั้งปวงมีกำลังพอสมควรแก่ตําแหน่ง แต่ต้องขึ้นกรมยุทธนาธิการฉเพาะในการซึ่งจะจัดให้ลงแบบแผนเปนอย่างเดียวกัน การซึ่งจะควรจัดประการใดจะกล่าวในที่นี้ก็ป่วยการ เมื่อปฤกษากันจัดการรายละเอียดซึ่งจะได้ใช้แบบอย่างใหม่ต่อไปนั้นจึงควรพิจารณาให้ตลอด

อนึ่งการประชุมข้าราชการปฤกษาตั้งพระราชกําหนดกฎหมายเปนต้น ซึ่งมีเปนแบบอย่างมาแต่เดิมนั้น มีอยู่สองพวก คือลูกขุนณศาลาพวกหนึ่ง ลูกขุนณศาลหลวงพวกหนึ่ง ลูกขุนณศาลานั้นคือข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งต่าง ๆ มีเสนาบดีเปนต้น ลูกขุนณศาลหลวงนั้นคือลูกขุนที่เปนผู้สําหรับพิพากษาคดีของราษฎร ทั้งสองพวกประชุมกันปฤกษาเรียบเรียงพระราชกำหนดกฎหมาย เมือพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นชอบอนุญาตแล้ว กฎหมายนั้นก็เปนอันใช้ได้ เว้นไว้แต่บางครั้งโปรดให้มีพระบรมวงษานุวงษ์ ซึ่งได้บังคับบัญชาราชการไปเปนประธานในการปฤกษานั้นบ้าง พระบรมวงษานุวงษนั้นก็ลงพระนามอยู่ในบาญแพนกหน้าลูกขุนทั้งสองพวก ถ้าจะนับเปนสามพวกก็เพียงพระบรมวงษานุวงษอีกพวกหนึ่ง แต่ไม่เปนการลงแบบแผนเสมอไป

ภายหลังมาได้ตั้งที่ปฤกษาราชการแผ่นดินขึ้นอีกพวกหนึ่ง ที่ปฤกษาราชการในพระองค์พวกหนึ่ง น่าที่แลอำนาจของที่ปฤกษาราชการทั้งสองนั้นแจ้งอยู่ในพระราชบัญญัติซึ่งได้ออกแต่ณวัน ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ ที่ปรึกษาราชการนั้นก็ได้ทําการให้เปนประโยชน์ดีขึ้นได้หลายอย่าง ตามเวลาซึ่งต้องการนั้น แต่ในเวลานี้ราชการทั้งปวงเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อน ทั้งการที่จะจัดตําแหน่งเสนายบดีเปนอย่างใหม่นี้ด้วย จึงควรที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติที่ปฤกษาราชการเหล่านี้ให้ลงแบบอย่างสมควรกันกับการที่ได้เปลี่ยนแปลงไปใหม่นั้นบ้าง

อนึ่งราชประเพณี ซึ่งมีแบบอย่างมาแต่ก่อน แล้วเปลี่ยนแปลงลงมาโดยลําดับลําดับ แต่ไม่ได้มีพระราชบัญญัติฤาพระราชกำหนดกฎหมายอันใด ซึ่งจะเปนของไหม่ล้างของเก่า ให้คงชี้แบบแผนได้ว่ามาแต่พระราชกำหนดกฎหมายบทนั้นแห่งนั้น ทําให้เปนสิ่งที่สงไสยคิดไปได้ต่าง ๆ เปนทางที่จะให้เกิดการไม่เรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง ควรจะจัดลงให้เปนแบบอย่างเสียให้ชัดเจน ดังเช่นตำแหน่งผู้ซึ่งจะสืบบรมราชสันตติวงษ์ ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งเปนกฎหมายเก่า ได้ออกชื่อปรากฎว่าเปนสมเด็จหน่อพุทธเจ้า ครั้นภายหลังมาชื่อและตำแหน่งนั้นก็หายไป กลายเปนพระมหาอุปราชซึ่งมีมาในกฎหมายตําแหน่งนาพลเรือน กฎหมายเก่านั้นก็ไม่เลิกถอนอันใด จะว่าพระมหาอุปราชเปนผู้รับราชสมบัติก็ไม่มีปรากฎในกฎหมายแห่งหนึ่งแห่งใด แต่สังเกตได้ตามตัวผู้ซึ่งได้เปนพระมหาอุปราชนั้น ย่อมเปนผู้เปนพระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งควรจะได้รับราชสมบัตินั้นโดยมาก จึงเข้าใจกันว่าเปนผู้ที่จะได้รับราชสมบัติ แต่เพราะไม่มีกฎหมายอันใดซึ่งชัดเจนว่าตำแหน่งนั้นเปนอย่างไร ภายหลังมาก็ตั้งกันเลอะเทอะไป จนผู้ซึ่งไม่ควรจะได้รับราชสมบัติได้ตั้งอยู่ในตําแหน่งนั้น ก็เปนเหตุให้เกิดความร้าวราน ต่างคนต่างถือต่างคิดไปต่าง ๆ กัน เหมือนหนึ่งเปิดช่องไว้ว่าผู้ใดมีอำนาจก็ให้แย่งชิงเอาเถิด แต่กรุงรัตนโกสินทร์นี้เปนยามเคราะห์ดี จึงยังไม่มีเหตุการจลาจลในบ้านเมือง ด้วยการอันนี้เกิดขึ้นเหมือนอย่างเช่นครั้งกรุงเก่า แลตําแหน่งอันนี้ได้กําหนดลงเปนชัดเจนชั้นหนึ่ง ในเมื่อตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อวัน ค่ำปีจออัฐ จุลศักราช ๑๒๔๘ ควรที่จะให้มีพระราชกฤษฎีกา เปนกําหนดลําดับราชสันตติวงษ์ให้มั่นคงเปนแบบอย่างต่อไป จะได้ป้องกันเหตุการอันสําคัญยิ่งใหญ่อย่าให้มีขึ้นในภายหน้าได้

อนึ่งพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ ไม่ได้มีปรากฎในกฎหมายอันหนึ่งอันใด ด้วยเหตุถือว่าเปนที่ล้นที่พ้น ไม่มีข้อใดสิ่งอันใดหรือผู้ใดจะเปนผู้บังคับขัดขวางได้ แต่เมื่อว่าตามความที่เปนจริงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติการอันใด ก็ต้องเปนไปตามทางที่สมควรแลที่เปนยุติธรรม เพราะเหตุฉนั้นข้าพเจ้าไม่มีความรังเกียจอันใด ซึ่งจะมีกฎหมายกำหนดพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินเช่นประเทศทั้งปวงมีกําหนดต่าง ๆ กันนั้น เมื่อจะทํากฎหมายสำหรับแผ่นดินให้เปนหลักฐานทั่วถึง ก็ควรจะต้องว่าด้วยพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินให้เปนหลักฐานไว้ แต่การซึ่งควรจะกำหนดอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าต้องขอชี้แจงความเห็นอันมิใช่ความเห็นที่เข้ากับตัวไว้ โดยย่อว่า พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศหมายเอาประเทศยุโรป ซึ่งปกครองบ้านเมืองมีกําหนดพระราชานุภาพต่าง ๆ กัน ด้วยอาไศรยเหตุการซึ่งเกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยความไม่พอใจของราษฎร จึงได้มีขัอบังคับสกัดกั้นเปนชั้น ๆ ตามลําดับเหตุการณ์ซึ่งมีขึ้นในบ้านเมืองนั้น ๆ เหตุการทั้งปวงนั้นก็ยังไม่มีไม่เปนได้ทั่วถึงกัน เพราะฉนั้นแบบอย่างจึงยังไม่ลงเปนแบบเดียวกันทั่วไปได้ทุกประเทศ ส่วนที่กรุงสยามนี้ยังไม่มีเหตุการอันใดซึ่งเปนการจําเปนแล้ว จึ่งเปนขึ้นเหมือนประเทศอื่น ๆ ประเทศอื่น ๆ ราษฎรเปนผู้ขอให้ทำ เจ้าแผ่นดินจําใจทํา ในเมืองเรานี้เปนแต่พระเจ้าแผ่นดินคิดเห็นว่าควรจะทํา เพราะจะเปนการเจริญแก่บ้านเมืองแลเปนความศุขแก่ราษฎรทั่วไปจึงได้คิดทํา เปนการผิดกันตรงกันข้าม แลการที่จะปกครองบ้านเมืองเช่นประเทศสยามนี้ ตามอำนาจอย่างเช่นเจ้าแผ่นดินประเทศอื่น ๆ คือประเทศยุโรปก็จะไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ แลจะไม่เปนที่ชอบใจของราษฎรทั่วหน้าด้วย เหมือนอย่างถ้าจะมีปาลิเมนต์จะไม่มีผู้ใดซึ่งสามารถเปนเมมเบอได้สักกี่คน แลโดยว่าจะมีเมมเบอเหล่านั้นเจรจาการได้ก็ไม่เข้าใจในราชการทั้งปวงทั่วถึง เพราะไม่มีความรู้แลการฝีกหัดอันใดแต่เดิมมาเลย ก็คงจะทําให้การทั้งปวงไม่มีอันใดสำเร็จไปได้ แลจะซ้ำเปนที่หวาดหวั่นของราษฎรผู้ซึ่งไม่เข้าใจเรื่องราวอันใด เพราะไม่ได้นึกไม่ได้ต้องการเกิดขึ้นในใจเลย ราษฎรคงจะเชื่อเจ้าแผ่นดินมากกว่าผู้ซึ่งจะมาเปนเมมเบอออฟปาลิเมนต์ เพราะปรกติทุกวันนี้ ราษฎรย่อมเชื่อถือเจ้าแผ่นดินว่าเปนผู้อยู่ในยุติธรรม แลเปนผู้รักใคร่คิดจะทำนุบำรุงราษฎรให้อยู่เย็นเปนศุขยิ่งกว่าผู้อื่นทั้งสิ้นทั่วหน้ากันเปนความจริง เพราะเหตุฉนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรว่าราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินควรจะกําหนดตามแบบเดิมแต่ในข้อที่เปนข้อจริงอย่างไร คือเหมือนหนึ่งไม่กำหนดตามคําพูดกันนอก ๆ แบบ เช่นเรียกพระนามว่าเจ้าชีวิต ซึ่งเปนที่หมายว่ามีอำนาจอันจะฆ่าคนให้ตายโดยไม่มีความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดได้ได้ ซึ่งความจริงสามารถจะทําได้ แต่ไม่เคยทําเลยนั้น ก็จะเปนการสมควรแก่บ้านเมืองในเวลานี้อยู่แล้ว

ข้อความซึ่งได้กล่าวมาทั้งปวงนี้ เปนใจความหัวข้อความประสงค์ของข้าพเจ้าซึ่งจะให้ท่านทั้งปวงทราบว่า ประสงค์ซึ่งจะจัดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้วยเหตุผลประการใด แลประสงค์จะวางรูปใหม่เปลี่ยนรูปเก่านั้นอย่างไร เมื่อท่านทั้งปวงได้เข้าใจความประสงค์หัวข้อ่นนี้แล้ว ขอให้ประชุมกันคิดจัดข้อบังคับสำหรับที่จะให้การทั้งปวงเปนไปตามความประสงค์ดังนี้ ให้เรียบร้อยตลอดทุกตำแหน่ง ซึ่งข้าพเจ้าจะได้นั่งในที่ประชุมปฤกษาการทั้งปวงนั้นด้วยต่อไป เมื่อคิดการได้ตลอดทั่วถึงเรียบร้อยแล้วจะเปลี่ยนแบบอย่างใหม่ เพื่อให้เปนการมั่นคงในการที่เปนเอกราชของกรุงสยามเปนความศุขแก่ราษฎรทั้งปวงสืบต่อไป