ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



พระราชบัญญัติ
กองทุนการออมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๕๔[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เป็นปีที่ ๖๖ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติ

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติแห่งหมวด ๓ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนการออมแห่งชาติ

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ

“เงินสะสม” หมายความว่า เงินที่สมาชิกสะสมเข้ากองทุนตามพระราชบัญญัตินี้

“เงินสมทบ” หมายความว่า เงินที่รัฐบาลจ่ายสมทบเงินสะสมเข้ากองทุนตามพระราชบัญญัตินี้

“บำนาญ” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่สมาชิกเป็นรายเดือนเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว

“เงินดำรงชีพ” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่สมาชิกเป็นรายเดือนแทนเงินบำนาญ

“ทุพพลภาพ” หมายความว่า การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือการสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจ จนไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมกำหนด

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้กับให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศ และแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


หมวด ๑
การจัดตั้งกองทุนและลักษณะของกิจการกองทุน


มาตรา ๕ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนการออมแห่งชาติ” เรียกโดยย่อว่า “กอช.”

ให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

กองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิกและเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ

รายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา ๖ กิจการของกองทุนไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

มาตรา ๗ กองทุนประกอบด้วยทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(๑) เงินสะสม

(๒) เงินสมทบ

(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

(๔) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้

(๕) รายได้อื่น

(๖) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

มาตรา ๘ ให้กองทุนมีสำนักงานใหญ่ ณ สถานที่ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาและจะจัดตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดตามความจำเป็นก็ได้

มาตรา ๙ ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ

(๒) ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร

(๓) ลงทุนหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน

(๔) กระทำการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

มาตรา ๑๐ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน ให้จ่ายจากเงินของกองทุนในบัญชีเงินกองกลางตามมาตรา ๔๖ (๓) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด


หมวด ๒
การควบคุมและการบริหาร


มาตรา ๑๑ ให้มีคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ กอช.” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาชิกที่ได้รับเลือกตามมาตรา ๑๒ จำนวนหกคน ผู้รับบำนาญที่ได้รับเลือกตามมาตรา ๑๒ จำนวนหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านบัญชี ด้านการเงินและการลงทุน และด้านสวัสดิการชุมชนด้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการ

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

มาตรา ๑๒ การเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกและกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำนึงถึงการกระจายตัวในทุกภูมิภาคและความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง ทั้งนี้ จะให้มีการขึ้นบัญชีไว้สำหรับผู้ได้รับคะแนนถัดไปจากผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกหรือกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญเพื่อประโยชน์ตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง ด้วยก็ได้

มาตรา ๑๓ ให้ประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการซึ่งเป็นสมาชิกและกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

มาตรา ๑๔ กรรมการซึ่งเป็นสมาชิก กรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๒) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(๓) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๔) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวไม่น้อยกว่าสามปี

(๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของกองทุน

(๖) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับกองทุน หรือในกิจการที่กระทำให้แก่กองทุนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้เป็นกรรมการในบริษัทที่กองทุนเป็นผู้ถือหุ้น

(๗) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือจากหน่วยงานเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่

มาตรา ๑๕ ให้กรรมการซึ่งเป็นสมาชิก กรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี

กรรมการตามวรรคหนึ่งซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันมิได้

ในกรณีที่กรรมการซึ่งเป็นสมาชิก กรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการขึ้นใหม่ภายในหกสิบวัน ในระหว่างที่ยังมิได้มีการเลือกกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไป จนกว่ากรรมการที่ได้รับเลือกใหม่เข้ารับหน้าที่

มาตรา ๑๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๕ กรรมการซึ่งเป็นสมาชิกกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) พ้นจากสมาชิกภาพ กรณีกรรมการซึ่งเป็นสมาชิก

(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ กรณีกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

(๕) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔

(๖) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด

มาตรา ๑๗ ในกรณีที่กรรมการซึ่งเป็นสมาชิกหรือกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญผู้ใดพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนถัดไปซึ่งขึ้นบัญชีไว้ในการเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกหรือกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญเป็นกรรมการแทน ในกรณีที่ไม่มีผู้ขึ้นบัญชีไว้ให้ดำเนินการเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกหรือกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญขึ้นใหม่ตามมาตรา ๑๒

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ตามมาตรา ๑๓ แทนตำแหน่งที่ว่าง

ให้กรรมการผู้ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทนตามวรรคหนึ่งและวรรคสองอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

ในกรณีที่วาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่เลือกกรรมการขึ้นดำรงตำแหน่งแทนก็ได้

มาตรา ๑๘ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมของคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

การออกเสียงลงมติแต่งตั้งหรือเลิกจ้างเลขาธิการต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในตำแหน่ง

มาตรา ๑๙ ประธานกรรมการและกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาให้แจ้งการมีส่วนได้เสียนั้นและห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น

มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบาย และออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งในการบริหารกิจการของกองทุน

(๒) กำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

(๓) กำกับดูแลการบริหารกิจการของกองทุน

(๔) ออกข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของเลขาธิการและรองเลขาธิการด้านการลงทุนและการมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนเลขาธิการและรองเลขาธิการด้านการลงทุน

(๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับ เก็บรักษา และจ่ายเงินของกองทุน

(๖) พิจารณามอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นจัดการเงินของกองทุน

(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

(๘) ออกระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับเกี่ยวกับการพนักงาน ระบบพนักงานสัมพันธ์ การบรรจุแต่งตั้ง ถอดถอน และวินัยพนักงานและลูกจ้างของกองทุน การกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ

(๙) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการปรับปรุงอัตราเงินสะสมและเงินสมทบ

(๑๐) ปฏิบัติงานอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๑ ให้มีคณะอนุกรรมการการลงทุน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ระบบไร้ดอกเบี้ยด้านการเงินและการลงทุน หรือด้านกฎหมาย เป็นอนุกรรมการ และรองเลขาธิการด้านการลงทุน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

มาตรา ๒๒ ให้คณะอนุกรรมการการลงทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการลงทุนต่อคณะกรรมการ

(๒) ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่จะมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน

(๓) ติดตามดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน

(๔) รายงานผลการดำเนินการด้านการลงทุนและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ

(๕) ปฏิบัติการในเรื่องอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา ๒๓ ให้นำมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา ๒๔ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุน

มาตรา ๒๕ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งเลขาธิการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีและให้คณะกรรมการแต่งตั้งรองเลขาธิการด้านการลงทุน

การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการกำหนดเงื่อนไขในการทดลองปฏิบัติงานหรือการทำงานในหน้าที่เลขาธิการและรองเลขาธิการด้านการลงทุน ให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้มีอายุการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี และเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาจ้างแล้วคณะกรรมการจะต่ออายุสัญญาจ้างอีกก็ได้แต่ต้องไม่เกินสี่ปี

การทำสัญญาจ้าง ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาในนามกองทุน

ให้เลขาธิการและรองเลขาธิการด้านการลงทุนได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทนและเงินอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

มาตรา ๒๖ เลขาธิการและรองเลขาธิการด้านการลงทุนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการแต่งตั้ง

(๓) สามารถปฏิบัติงานให้แก่กองทุนได้เต็มเวลา

(๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) และ (๗)

มาตรา ๒๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามอายุการจ้าง เลขาธิการและรองเลขาธิการด้านการลงทุนพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๖

(๔) คณะกรรมการมีมติให้เลิกจ้างโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีสำหรับกรณีเลขาธิการและคณะกรรมการมีมติให้เลิกจ้างสำหรับกรณีรองเลขาธิการด้านการลงทุน

มาตรา ๒๘ ให้เลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของกองทุนและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด

เลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการของกองทุน

มาตรา ๒๙ ในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของกองทุน

การปฏิบัติงานของเลขาธิการและการมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติงานแทนเลขาธิการให้เป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

นิติกรรมที่กระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับตามวรรคสอง ย่อมไม่ผูกพันกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน


หมวด ๓
สมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิก


มาตรา ๓๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๙ ให้บุคคลสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือเป็นสมาชิกกองทุนหรืออยู่ในระบบบำนาญอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงมีสิทธิเป็นสมาชิกของกองทุน

มาตรา ๓๑ บุคคลตามมาตรา ๓๐ อาจสมัครเป็นสมาชิกของกองทุนได้โดยแสดงความจำนงพร้อมกับการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเดือนละห้าสิบบาท แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

การสมัครเป็นสมาชิกและการจ่ายเงินสะสม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๓๒ ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบตามระดับอายุของผู้เป็นสมาชิกและเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินสะสมตามบัญชีเงินสมทบท้ายพระราชบัญญัตินี้

เงินสมทบตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกันแล้วในปีหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบสูงสุดที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบสูงสุดตามบัญชีเงินสมทบท้ายพระราชบัญญัตินี้ โดยให้มีการพิจารณาทบทวนกฎกระทรวงตามมาตรานี้ทุกห้าปี

ในกรณีที่สมาชิกไม่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน ให้สมาชิกรายนั้นยังคงการเป็นสมาชิกต่อไปแต่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับสมาชิกรายนั้น การจ่ายเงินสมทบ ให้จ่ายภายในสิ้นเดือนถัดจากเดือนที่สมาชิกจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน

มาตรา ๓๓ สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเมื่อ

(๑) อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์

(๒) ตาย

(๓) ลาออกจากกองทุน

มาตรา ๓๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๕ ในกรณีที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเพราะอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้สมาชิกผู้นั้นมีสิทธิได้รับบำนาญจากกองทุนจนตลอดชีวิต

บำนาญตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณจากเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบที่โอนไปเข้าบัญชีเงินบำนาญตามมาตรา ๔๗ พร้อมกับประมาณการเงินผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภายหลังจากเงินในบัญชีเงินบำนาญนั้น โดยให้เพียงพอกับการจ่ายบำนาญให้แก่สมาชิกได้จนถึงอายุครบแปดสิบปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาตรา ๓๕ ในกรณีเงินบำนาญที่คำนวณได้ตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนเงินบำนาญขั้นต่ำที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ให้งดจ่ายเงินบำนาญแต่ให้จ่ายเป็นเงินดำรงชีพจากเงินในบัญชีเงินบำนาญของสมาชิกเท่ากับจำนวนเงินบำนาญขั้นต่ำนั้นจนกว่าเงินในบัญชีเงินบำนาญจะหมด

มาตรา ๓๖ ในกรณีสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเพราะถึงแก่ความตายก่อนอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้จ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบของผู้นั้นทั้งหมดจากกองทุนให้แก่บุคคลซึ่งสมาชิกผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ต่อกองทุนตามแบบและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดเว้นแต่มิได้แสดงเจตนาไว้ให้จ่ายแก่ทายาท ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) บุตรให้ได้รับสองส่วน แต่ถ้าผู้ตายมีบุตรตั้งแต่สามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน

(๒) สามีหรือภริยาให้ได้รับหนึ่งส่วน

(๓) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน

ในกรณีที่ไม่มีทายาทในอนุมาตราใด หรือทายาทนั้นได้ถึงแก่ความตายไปก่อนให้แบ่งเงินดังกล่าวระหว่างทายาทผู้มีสิทธิในอนุมาตราที่มีทายาทผู้มีสิทธิได้รับ

ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งสมาชิกผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้และไม่มีทายาทตามวรรคหนึ่ง หรือบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายไปก่อน ให้เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบนั้นตกเป็นของกองทุน

มาตรา ๓๗ ในกรณีที่สมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าทุพพลภาพ สมาชิกจะขอรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมทั้งหมดหรือบางส่วนจากกองทุนก็ได้

การขอรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมเพราะเหตุทุพพลภาพตามวรรคหนึ่ง ให้ขอรับได้เพียงครั้งเดียว

มาตรา ๓๘ ในกรณีที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพเพราะลาออกจากกองทุน ให้สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมจากกองทุน ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้ตกเป็นของกองทุน

มาตรา ๓๙ เมื่อสมาชิกรายใดเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือเป็นสมาชิกกองทุนหรืออยู่ในระบบบำนาญอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงตามมาตรา ๓๐ ก่อนสิ้นสมาชิกภาพ ให้สมาชิกรายนั้นคงการเป็นสมาชิกต่อไปได้และสมาชิกจะจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนก็ได้ แต่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุน

เมื่อสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ ให้กองทุนจ่ายเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายตามวรรคหนึ่ง พร้อมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินดังกล่าวให้แก่สมาชิกรายนั้นทั้งจำนวน โดยไม่ต้องนำเงินดังกล่าวไปรวมคำนวณบำนาญตามมาตรา ๓๔ และคำนวณเพื่อจ่ายเงินชดเชยตามมาตรา ๔๔ ด้วย

มาตรา ๔๐ การจ่ายเงินบำนาญที่สมาชิกจะได้รับตามมาตรา ๓๔ การจ่ายเงินดำรงชีพตามมาตรา ๓๕ การจ่ายเงินกรณีสมาชิกถึงแก่ความตายตามมาตรา ๓๖ การจ่ายเงินกรณีสมาชิกทุพพลภาพตามมาตรา ๓๗ การจ่ายเงินกรณีสมาชิกลาออกจากกองทุนตามมาตรา ๓๘ การจ่ายเงินกรณีสมาชิกสิ้นสมาชิกภาพตามมาตรา ๓๙ และการจ่ายเงินกรณีผู้รับบำนาญหรือผู้รับเงินดำรงชีพถึงแก่ความตายตามมาตรา ๔๙ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาตรา ๔๑ สิทธิการรับเงินทั้งปวงตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนแก่กันได้

มาตรา ๔๒ การหาประโยชน์ของกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการ และกองทุนจะมอบหมายให้บุคคลใดดำเนินการแทนตามความเหมาะสมก็ได้

การมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนภายในประเทศนั้น กองทุนจะต้องมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนไม่น้อยกว่าสองแห่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงด้วย และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการหาประโยชน์ของกองทุนภายในประเทศ ให้ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนมีหน้าที่และอยู่ในบังคับบทบัญญัติต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เสมือนหนึ่งกองทุนเป็นกองทุนส่วนบุคคล

การมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนในต่างประเทศนั้น กองทุนจะต้องมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน การให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนในประเทศหรือในต่างประเทศ คุณสมบัติของผู้ได้รับมอบหมาย วิธีจัดการ และค่าใช้จ่ายในการจัดการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาตรา ๔๓ เงินของกองทุนให้ลงทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ

มาตรา ๔๔ ในวันที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพตามมาตรา ๓๓ (๑) หรือ (๒) ถ้าผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบที่ได้รับตลอดช่วงอายุการเป็นสมาชิกคำนวณได้น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภทสิบสองเดือนโดยเฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ห้าแห่งตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้กองทุนจ่ายชดเชยให้แก่สมาชิกเพื่อให้ได้ผลประโยชน์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่คำนวณได้ข้างต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

การจ่ายชดเชยตามวรรคหนึ่ง ให้กองทุนจ่ายจากเงินในบัญชีเงินกองกลางตามมาตรา ๔๖ (๓)


หมวด ๔
การเงินและการบัญชี


มาตรา ๔๕ กองทุนต้องจัดให้มีระบบบัญชีที่เหมาะสมเพื่อบันทึกรายการทางบัญชีและแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกองทุนโดยถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี รวมทั้งต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเป็นประจำตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

มาตรา ๔๖ ให้กองทุนจัดให้มีบัญชี ประกอบด้วย

(๑) บัญชีเงินรายบุคคลซึ่งแสดงรายการเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบบรรดาที่เป็นของสมาชิกแต่ละคน

(๒) บัญชีเงินบำนาญซึ่งแสดงรายการเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบที่โอนมาจากบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพสำหรับจ่ายบำนาญหรือจ่ายเงินดำรงชีพให้แก่สมาชิกผู้นั้น

(๓) บัญชีเงินกองกลางซึ่งแสดงรายการเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามมาตรา ๗ (๔) เงินที่มีผู้บริจาคให้ เงินตามบัญชีเงินรายบุคคลที่ไม่มีผู้รับ เงินและทรัพย์สินของกองทุนในส่วนที่มิใช่ของสมาชิกผู้รับบำนาญ หรือผู้รับเงินดำรงชีพคนใด และดอกผลของเงินและทรัพย์สินดังกล่าว

มาตรา ๔๗ เมื่อสมาชิกผู้ใดสิ้นสมาชิกภาพเพราะอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ให้โอนเงินจากบัญชีเงินรายบุคคลตามมาตรา ๔๖ (๑) ของสมาชิกผู้นั้นมาเข้าบัญชีเงินบำนาญเพื่อใช้จ่ายเป็นบำนาญตามที่คำนวณได้ตามมาตรา ๓๔ หรือจ่ายเป็นเงินดำรงชีพตามมาตรา ๓๕ ให้แก่สมาชิกผู้นั้น

มาตรา ๔๘ ในกรณีที่เงินในบัญชีเงินบำนาญของผู้รับบำนาญผู้ใดมีคงเหลือไม่เพียงพอจ่ายบำนาญ ให้จ่ายบำนาญจากเงินของบัญชีเงินกองกลาง

มาตรา ๔๙ ในกรณีที่ผู้รับบำนาญหรือผู้รับเงินดำรงชีพตายและยังมีเงินคงเหลือในบัญชีเงินบำนาญของผู้นั้น ให้จ่ายเงินที่เหลือนั้นแก่บุคคลตามมาตรา ๓๖ โดยอนุโลม

มาตรา ๕๐ ดอกผลที่ได้จากการนำเงินของกองทุนในแต่ละบัญชีไปลงทุนหาผลประโยชน์เมื่อได้หักไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนดแล้วที่เหลือให้ดำเนินการจัดสรรดังนี้

(๑) ดอกผลของการนำเงินของบัญชีเงินรายบุคคลไปลงทุน ให้จัดสรรเป็นผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบของเงินที่มีอยู่ในบัญชีของสมาชิกแต่ละคน

(๒) ดอกผลของการนำเงินของบัญชีเงินบำนาญของผู้รับบำนาญไปลงทุน ให้หักเข้าบัญชีเงินกองกลางตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดเพื่อสำรองจ่ายเงินบำนาญในกรณีตามมาตรา ๔๘ ส่วนที่เหลือให้จัดสรรเพิ่มในบัญชีของผู้รับบำนาญแต่ละคน

(๓) ดอกผลของการนำเงินของบัญชีเงินบำนาญของผู้รับเงินดำรงชีพไปลงทุน ให้จัดสรรเพิ่มในบัญชีของผู้รับเงินดำรงชีพแต่ละคน

(๔) ดอกผลอื่นนอกจาก (๑) (๒) และ (๓) ให้จัดสรรเป็นรายได้ของบัญชีเงินกองกลาง

การจัดสรรดอกผลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด


หมวด ๕
การตรวจสอบและรายงาน


มาตรา ๕๑ ให้กองทุนแจ้งยอดเงินสะสม เงินสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวในส่วนของสมาชิกแต่ละคนให้สมาชิกทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

มาตรา ๕๒ ให้กองทุนยื่นรายงานแสดงการจัดการกองทุนต่อรัฐมนตรีอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๕๓ ให้กองทุนจัดทำงบการเงิน เพื่อแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกองทุนเสนอผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

มาตรา ๕๔ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน

มาตรา ๕๕ ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานการสอบบัญชีของกองทุนเสนอต่อรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีและให้ประกาศงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วและรายงานการสอบบัญชีในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๕๖ ให้กองทุนจัดทำรายงานประจำปีเสนอรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อทราบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชี

รายงานตามวรรคหนึ่งต้องแสดงประมาณการการเงินที่จะขอให้รัฐบาลจัดสรรเพื่อการดำเนินงานของกองทุนในระยะเวลาสามปีนับจากวันเสนอรายงานผลงานของกองทุนในปีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งงบการเงิน และรายงานของผู้สอบบัญชีด้วย


หมวด ๖
การควบคุมกำกับการจัดการกองทุน


มาตรา ๕๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการเงินของกองทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการเงินของกองทุนภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือปรากฏว่าผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนจัดการเงินของกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนแก้ไขหรือระงับการกระทำนั้นหรือสั่งยกเลิกการมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนนั้นได้

เมื่อได้รับคำสั่งยกเลิกการมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนตามวรรคสองแล้วให้ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนหยุดจัดการเงินของกองทุนในทันที และส่งมอบเงินและทรัพย์สินคืนภายในเวลาที่กำหนดในคำสั่งนั้น

มาตรา ๕๘ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งการจัดการกองทุนเพื่อประโยชน์ในการนี้จะแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการกองทุนหรือจะแจ้งให้คณะกรรมการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานให้รัฐมนตรีทราบด้วยก็ได้

ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่า ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนจัดการเงินของกองทุนในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กองทุน รัฐมนตรีอาจขอให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๕๗ วรรคสองและวรรคสาม ได้

มาตรา ๕๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจหรือสถานที่ตั้งของผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบสมุดบัญชีหรือเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจัดการเงินของกองทุน

(๒) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือดำเนินคดี

(๓) สั่งให้กรรมการ ผู้จัดการ พนักงานหรือลูกจ้างของผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนมาให้ถ้อยคำหรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี หรือเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจัดการเงินของกองทุน ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบตาม (๑) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จจะกระทำต่อไปในเวลากลางคืนหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นก็ได้

มาตรา ๖๐ ในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๖๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา


หมวด ๗
บทกำหนดโทษ


มาตรา ๖๒ ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนรายใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ในกรณีที่ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนนั้นด้วย

มาตรา ๖๓ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ขัดขวาง หรือไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๔ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนรายใดแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดการเงินของกองทุนต่อคณะกรรมการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๕ ความผิดตามมาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๓ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้

คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้มีจำนวนสามคน ซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป


บทเฉพาะกาล


มาตรา ๖๖ ในวาระเริ่มแรกให้รัฐบาลจัดสรรเงินเข้าบัญชีเงินกองกลางตามมาตรา ๔๖ (๓) เป็นจำนวนหนึ่งพันล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน

มาตรา ๖๗ ในวาระเริ่มแรกให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการทำหน้าที่คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังทำหน้าที่เลขาธิการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน

ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งดำเนินการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ เป็นกรรมการ และแต่งตั้งเลขาธิการ ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๖๘ เมื่อได้ดำเนินการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและแต่งตั้งเลขาธิการแล้วให้กรรมการเท่าที่มีอยู่ประกอบเป็นคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน โดยให้ดำเนินการเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ เพื่อให้ได้คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่หมวด ๓ มีผลใช้บังคับ

ในกรณีที่ยังไม่อาจเลือกกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ ได้เนื่องจากยังไม่มีผู้รับบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการเลือกกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกตามวรรคหนึ่งอีกหนึ่งคน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการเลือกกรรมการซึ่งเป็นผู้รับบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๖๙ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บทบัญญัติแห่งหมวด ๓ ใช้บังคับ หากในวันที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกผู้ใดมีอายุห้าสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ให้ผู้นั้นมีสิทธิเป็นสมาชิกของกองทุนต่อไปได้อีกสิบปีนับแต่วันที่เป็นสมาชิก และเมื่อเป็นสมาชิกของกองทุนครบสิบปีหรือเมื่อสมาชิกซึ่งมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปลาออกจากการเป็นสมาชิกให้ถือว่าเป็นกรณีที่สมาชิกอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้และให้นำบทบัญญัติในหมวด ๓ และหมวด ๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี


บัญชีสมทบ
อายุสมาชิก อัตราสวนเงินสมทบตอเงินสะสม เงินสมทบสูงสุด
ไมเกิน ๓๐ ป
เกิน ๓๐ ป แตไมเกิน ๕๐ ป
เกิน ๕๐ ป
รอยละ ๕๐
รอยละ ๘๐
รอยละ ๑๐๐
๓,๐๐๐ บาท ตอป
๔,๘๐๐ บาท ตอป
๖,๐๐๐ บาท ตอป


หมายเหตุ

[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๘๔ (๔) บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง ดังนั้นเพื่อให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะประชากรภาคแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพอย่างทั่วถึง จึงทำให้บุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ อันเนื่องมาจากไม่มีช่องทางหรือโอกาสเข้าถึงระบบการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการออมของประชาชนคนไทยในวัยทำงาน จึงสมควรจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๓๔ ก/หน้า ๔๗/๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"