พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ/กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2550

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2550 ฉบับที่ 5[แก้ไข]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2550
เป็นปีที่ 62 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550”

มาตรา 2[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3[แก้ไข]

ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “นิติบุคคล” ระหว่างบทนิยามคำว่า “เวลาราชการ” และ “คณะกรรมการ” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546

  • นิติบุคคล หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

มาตรา 4[แก้ไข]

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (4/1) ของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539

“(4/1) จัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อให้บริการแก่กองทุนหรือนิติบุคคลที่กองทุนเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบห้าของหุ้นทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น”

มาตรา 5[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความใน (8) ของมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(8) พิจารณามอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นจัดการเงินของกองทุน”

มาตรา 6[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความใน (2) และ (3) ของมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(2) ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่จะมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน

(3) ติดตามดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุน”

มาตรา 7[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 39 ให้สมาชิกส่งเงินสะสมเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่สมาชิกซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ใช้บังคับ จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่สมาชิกผู้ใดประสงค์ที่จะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเกินกว่าอัตราตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่ทั้งนี้ การส่งเงินสะสมตามมาตรานี้รวมกันแล้วจะต้องไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินเดือน ถ้าสมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนหรือได้รับเงินเดือนไม่เต็มจำนวนสำหรับระยะเวลาใดให้ส่งเงินสะสมตามส่วนแห่งเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับ การส่งเงินสะสมตามมาตรานี้ ให้ส่วนราชการหักจากเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับและส่งเข้ากองทุนในวันที่มีการจ่ายเงินเดือน ให้ส่วนราชการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนให้สมาชิกในจำนวนที่เท่ากับอัตราเงินสะสมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงพร้อมการส่งเงินสะสมนั้น แต่ถ้าสมาชิกไม่ได้รับเงินเดือนหรือได้รับเงินเดือนไม่เต็มจำนวน ให้ส่งเงินสมทบตามอัตราส่วนแห่งเงินเดือนที่สมาชิกผู้นั้นได้รับ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ เงินเดือนไม่รวมถึงเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับค่าวิชา สำหรับประจำตำแหน่งที่ต้องฝ่าอันตรายเป็นปกติ สำหรับการสู้รบ สำหรับการปราบปรามผู้กระทำความผิดหรือเงินเพิ่มอย่างอื่น”

มาตรา 8[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 41 ให้ส่วนราชการส่งเงินชดเชยเข้ากองทุนให้แก่สมาชิกตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่สมาชิก ในการนี้ให้นำมาตรา 39 วรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา 9[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“การจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้กองทุนจ่ายภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการเจ้าสังกัด และได้ปรากฏหลักฐานถูกต้องครบถ้วน”

มาตรา 10[แก้ไข]

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 67/1 และมาตรา 67/2 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539

มาตรา 67/1 ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวตามมาตรา 45 ผู้ใดที่ยังไม่ขอรับเงินคืน หรือขอทยอยรับเงินคืน ให้กองทุนบริหารเงินที่ยังไม่รับคืนต่อไปได้ แต่ถ้าผู้นั้นขอโอนเงินไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพ ให้กองทุนโอนเงินไปยังกองทุนดังกล่าวภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความประสงค์ และได้ปรากฏหลักฐานถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 67/2 เงินประเดิมตามบัญชีเงินรายตัวสมาชิกซึ่งกระทรวงการคลังส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 40 นั้น หากต่อมามีข้อมูลเพิ่มเติมทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงยอดเงินประเดิมและดอกผลของเงินดังกล่าวของสมาชิกรายใดแล้ว ให้กองทุนคำนวณผลการเปลี่ยนแปลงสุทธิเป็นรายเดือน ในกรณีที่ผลการเปลี่ยนแปลงสุทธิเป็นการรับเงินเกิน ให้กองทุนส่งเงินดังกล่าวคืนแก่กระทรวงการคลัง แต่ในกรณีที่ผลการเปลี่ยนแปลงสุทธิเป็นการรับเงินขาด ให้กองทุนทดรองจ่ายออกจากบัญชีเงินกองกลางเพื่อเข้าบัญชีรายตัวสมาชิกก่อน หลังจากนั้นให้แจ้งกระทรวงการคลังทราบ และให้กระทรวงการคลังดำเนินการส่งเงินเท่าจำนวนเงินที่ทดรองจ่ายไปคืนแก่บัญชีเงินกองกลางภายในปีงบประมาณถัดไป”

มาตรา 11[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 69 การหาประโยชน์ของกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการและจะมอบหมายให้บุคคลใดดำเนินการแทนตามความเหมาะสมก็ได้ การมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนภายในประเทศนั้น กองทุนจะต้องมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนไม่น้อยกว่าสองแห่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือผู้ได้รับอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุน ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงด้วย และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการหาประโยชน์ของกองทุนภายในประเทศ ให้ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนมีหน้าที่และอยู่ในบังคับบทบัญญัติต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เสมือนหนึ่งกองทุนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี การมอบหมายให้จัดการเงินของกองทุนในต่างประเทศนั้น กองทุนจะต้องมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุน การให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการกองทุนในประเทศหรือในต่างประเทศ คุณสมบัติของผู้รับดำเนินการ วิธีดำเนินการ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 12[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 70 เงินของกองทุนนอกจากส่วนที่นำไปลงทุนตามแผนการลงทุนในวรรคสองให้ลงทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ ยกเว้นเงินสำรองตามมาตรา 72 ต้องนำไปลงทุนในตราสารแสดงสิทธิในหนี้ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจก่อน กองทุนอาจจัดให้มีแผนการลงทุนสำหรับเงินที่อยู่ในบัญชีเงินรายบุคคลเฉพาะในส่วนของเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลของเงินดังกล่าว ตามมาตรา 71 (3) เพื่อให้สมาชิกเลือก โดยในแต่ละแผนอาจกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงแตกต่างจากอัตราที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งได้ การจัดให้มีแผนการลงทุน การเลือกแผนการลงทุน การให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกแผนการลงทุนแก่สมาชิก และการเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด”

มาตรา 13[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 73 ดอกผลที่ได้จากการนำเงินของกองทุนในแต่ละบัญชีไปลงทุนหาผลประโยชน์ตามมาตรา 70 เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามส่วนของการลงทุนในแต่ละบัญชีแล้ว ดอกผลที่ได้จากการนำเงินสำรองไปลงทุนให้บันทึกไว้ในบัญชีเงินสำรอง ดอกผลที่ได้จากการนำเงินกองกลางไปลงทุนให้บันทึกไว้ในบัญชีเงินกองกลาง ดอกผลที่ได้จากการนำเงินรายบุคคลไปลงทุนให้บันทึกไว้ในบัญชีรายบุคคล สำหรับดอกผลที่ได้จากการนำเงินรายบุคคลในส่วนของเงินสะสม เงินสมทบและดอกผลของเงินดังกล่าวไปลงทุนตามแผนการลงทุน ให้บันทึกแยกตามผลประกอบการของแต่ละแผนการลงทุน โดยให้จัดสรรผลประโยชน์ตอบแทนไว้ในบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกตามอัตราผลตอบแทนของแต่ละแผนการลงทุนที่เลือกไว้ตามสัดส่วนของเงินแยกต่างหากจากกัน ทั้งนี้ การคำนวณดอกผล ค่าใช้จ่ายและการจัดสรรผลประโยชน์ตอบแทน ให้ทำเป็นประจำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด สมาชิกไม่มีสิทธิเรียกร้องผลตอบแทนจากแผนการลงทุนอื่นที่สมาชิกมิได้เลือก”

มาตรา 14[แก้ไข]

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 73/1 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539

มาตรา 73/1 ในกรณีที่ไม่มีการจ่ายเงินประเดิมหรือเงินชดเชยของสมาชิก เพราะเหตุสมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเนื่องจากการออกจากราชการ หรือเพราะเหตุการรับบำเหน็จ หรือบำเหน็จตกทอดแล้วแต่กรณี ให้กองทุนส่งเงินประเดิมหรือเงินชดเชยของสมาชิกรายนั้น พร้อมดอกผลของเงินดังกล่าวคืนแก่กระทรวงการคลังโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด”


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และให้ผลประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิกโดยกองทุนจะนำเงินไปลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สมาชิกแต่เนื่องจากพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจการของกองทุนและเพื่อประโยชน์ของสมาชิก สมควรกำหนดให้กองทุนสามารถดำเนินกิจการของกองทุนได้ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยอาจมอบหมายให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการกองทุน รวมทั้งสามารถจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อให้บริการแก่กองทุนหรือนิติบุคคลที่กองทุนเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบห้าของหุ้นทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น และให้สมาชิกสามารถส่งเงินสะสมเข้ากองทุนได้ตามความสามารถของแต่ละคน รวมทั้งสามารถเลือกแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ที่กองทุนจัดทำขึ้น ซึ่งสมาชิกจะได้รับผลตอบแทนตามอัตราตอบแทนของแต่ละแผนการลงทุน นอกจากนั้น สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในกรณีที่กองทุนบริหารเงินของผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินคืนแต่ยังไม่ขอรับเงินหรือทยอยขอรับเงินคืนและกรณีที่ผู้มีสิทธิรับเงินคืนขอโอนเงินไปยังกองทุนอื่น รวมทั้งการส่งเงินประเดิมหรือเงินชดเชยคืนแก่กระทรวงการคลัง ในกรณีที่ไม่มีการจ่ายเงินประเดิมหรือเงินชดเชย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]