พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญฯ พ.ศ. ๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
พระราชบัญญัติ
การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญ
ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔
พ.ศ. ๒๕๕๗[1]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ พ.ศ. ๒๕๕๗”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“ข้าราชการ” หมายความว่า ข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

“เงินสะสม” หมายความว่า เงินสะสมตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

“เงินสมทบ” หมายความว่า เงินสมทบตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

“เงินประเดิม” หมายความว่า เงินประเดิมตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

“เงินชดเชย” หมายความว่า เงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

มาตรา ๔ ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิขอกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

(๑) ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙

(๒) ผู้รับบำนาญอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙

(๓) ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙

มาตรา ๕ ข้าราชการตามมาตรา ๔ (๑) หากมีความประสงค์จะกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ในกรณีที่ข้าราชการตามวรรคหนึ่งออกจากราชการไปเนื่องจากถูกสั่งให้ออกจากราชการเพื่อไปรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร หรือได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรืออยู่ในระหว่างร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และกลับเข้ารับราชการหลังวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้แสดงความประสงค์ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กลับเข้ารับราชการ

ในกรณีที่ข้าราชการตามวรรคหนึ่งออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด ๆ นอกจากเหตุตามวรรคสอง หลังวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ยกเว้นกรณีถึงแก่ความตายหรือถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ให้แสดงความประสงค์ได้จนถึงวันก่อนวันออกจากราชการ

มาตรา ๖ ผู้รับบำนาญตามมาตรา ๔ (๒) หากมีความประสงค์จะกลับไปใช้สิทธิรับบำนาญตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

มาตรา ๗ ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดตามมาตรา ๔ (๓) หากมีความประสงค์จะกลับไปใช้สิทธิรับบำนาญเหตุทดแทนตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เว้นแต่กรณีออกจากกองหนุนเบี้ยหวัดเพื่อรับบำนาญเหตุทดแทนก่อนวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้แสดงความประสงค์ได้จนถึงวันก่อนวันออกจากกองหนุนเบี้ยหวัดเพื่อรับบำนาญเหตุทดแทน

มาตรา ๘ การแสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา ๗ ให้แสดงความประสงค์ต่อส่วนราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

มาตรา ๙ ผู้ซึ่งได้แสดงความประสงค์ไว้ตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ หรือมาตรา ๗ จะถอนคืนการแสดงความประสงค์นั้นมิได้ แต่ถ้าผู้แสดงความประสงค์ถึงแก่ความตายก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์เป็นอันสิ้นผล

มาตรา ๑๐ ให้สมาชิกภาพในกองทุนของข้าราชการซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ สิ้นสุดลงภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้

(๑) ข้าราชการซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เว้นแต่ข้าราชการนั้นต้องออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด ๆ ยกเว้นกรณีถึงแก่ความตายหรือถูกลงโทษไล่ออกจากราชการก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตั้งแต่วันออกจากราชการ

(๒) ข้าราชการซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ วรรคสอง ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตั้งแต่วันถัดจากวันแสดงความประสงค์ต่อส่วนราชการ

(๓) ข้าราชการซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ วรรคสาม ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตั้งแต่วันออกจากราชการ

มาตรา ๑๑ ข้าราชการตามมาตรา ๔ (๑) ซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตั้งแต่วันออกจากราชการ

ให้ผู้รับบำนาญตามมาตรา ๔ (๒) ซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๖ เป็นผู้รับบำนาญตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตั้งแต่วันออกจากราชการ

ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดตามมาตรา ๔ (๓) ซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๗ มีสิทธิได้รับบำนาญเหตุทดแทนตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติมตั้งแต่วันออกจากกองหนุนเบี้ยหวัดเพื่อรับบำนาญเหตุทดแทน

มาตรา ๑๒ ข้าราชการตามมาตรา ๔ (๑) ซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ มีสิทธิได้รับเฉพาะเงินสะสมและผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสะสม แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว

ให้กองทุนจ่ายคืนเงินสะสมและผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสะสมแก่ข้าราชการผู้นั้น

ให้กองทุนนำส่งเงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวของข้าราชการตามวรรคหนึ่ง เข้าบัญชีเงินสำรองตามมาตรา ๗๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙

การจ่ายคืนเงินสะสมและผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสะสมตามวรรคสอง และการส่งเงินเข้าบัญชีเงินสำรองตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กองทุนกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา ๑๓ ผู้รับบำนาญตามมาตรา ๔ (๒) ซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๖ ต้องคืนเงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวที่กองทุนคำนวณให้ในวันปิดบัญชีเงินรายบุคคลของผู้รับบำนาญนั้น และเงินบำนาญที่ได้รับหรือพึงได้รับตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ตั้งแต่วันออกจากราชการจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้แก่ส่วนราชการ โดยวิธีการหักกลบลบกันกับเงินบำนาญที่พึงได้รับตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ตั้งแต่วันออกจากราชการจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ในกรณีที่ดำเนินการหักกลบลบกันแล้ว ผู้รับบำนาญตามวรรคหนึ่งผู้ใดต้องคืนเงิน ให้ดำเนินการส่งเงินคืนให้แก่ส่วนราชการภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือจะแบ่งชำระเงินออกเป็นส่วน ๆ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ก็ได้ และให้ส่วนราชการนั้นส่งเงินให้กรมบัญชีกลางเก็บรักษาไว้ตามมาตรา ๑๕

ในกรณีที่ดำเนินการหักกลบลบกันแล้ว ผู้รับบำนาญตามวรรคหนึ่งผู้ใดได้รับเงินส่วนเพิ่ม ให้กรมบัญชีกลางนำเงินที่เก็บรักษาไว้ตามมาตรา ๑๕ จ่ายให้แก่ผู้นั้น

ในกรณีที่ผู้รับบำนาญตามวรรคหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ต้องคืนเงินตามวรรคสองผู้ใดไม่คืนเงินให้แก่ส่วนราชการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์ตามมาตรา ๖ ของผู้นั้น เป็นอันสิ้นผล

ในกรณีที่ผู้รับบำนาญตามวรรคหนึ่งไม่ส่งเงินคืนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองหรือถึงแก่ความตายก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้ส่วนราชการแจ้งกรมบัญชีกลางเพื่อถอนเงินที่เก็บรักษาไว้ตามมาตรา ๑๕ เพื่อจ่ายเงินที่ผู้รับบำนาญได้คืนให้แก่ส่วนราชการตามวรรคสองให้แก่ผู้รับบำนาญหรือผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบำนาญนั้น แล้วแต่กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การหักกลบลบกัน การคืนเงินให้แก่ส่วนราชการ การจ่ายเงินส่วนเพิ่มให้แก่ผู้รับบำนาญและการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบำนาญตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

มาตรา ๑๔ ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดตามมาตรา ๔ (๓) ซึ่งได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๗ ไม่มีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว และต้องคืนเงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสมทบที่ได้รับไปจากกองทุนให้แก่ส่วนราชการภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เว้นแต่ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดซึ่งออกจากกองหนุนเบี้ยหวัดเพื่อรับบำนาญเหตุทดแทนก่อนวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้คืนเงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทนของเงินสมทบดังกล่าวให้แก่ส่วนราชการภายในวันก่อนวันออกจากกองหนุนเบี้ยหวัดเพื่อรับบำนาญเหตุทดแทน

ให้ส่วนราชการนำส่งเงินที่ได้รับตามวรรคหนึ่งให้กรมบัญชีกลางเก็บรักษาไว้ตามมาตรา ๑๕

ในกรณีที่ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดซึ่งมีหน้าที่ต้องคืนเงินตามวรรคหนึ่งผู้ใดไม่คืนเงินให้แก่ส่วนราชการภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์ตามมาตรา ๗ เป็นอันสิ้นผล ในกรณีที่ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดตามวรรคหนึ่งถึงแก่ความตายก่อนวันออกจากกองหนุนเบี้ยหวัดเพื่อรับบำนาญเหตุทดแทน ให้ส่วนราชการแจ้งกรมบัญชีกลางเพื่อจ่ายเงินที่ทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดได้คืนให้แก่ส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง ให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ

ให้กองทุนนำส่งเงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวของทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดตามวรรคหนึ่ง เข้าบัญชีเงินสำรองตามมาตรา ๗๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กองทุนกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

การคืนเงินให้แก่ส่วนราชการ และการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

มาตรา ๑๕ เงินที่ส่วนราชการได้รับจากผู้รับบำนาญและทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดและเงินที่กรมบัญชีกลางได้รับจากส่วนราชการตามมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

ให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้เก็บรักษาเงินตามวรรคหนึ่ง โดยนำฝากกระทรวงการคลัง

ในกรณีที่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้รับบำนาญตามมาตรา ๑๓ วรรคสาม หรือผู้รับบำนาญหรือผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบำนาญตามมาตรา ๑๓ วรรคห้า แล้วแต่กรณี ให้กรมบัญชีกลางจ่ายจากเงินที่เก็บรักษาไว้ตามวรรคสอง ถ้าเงินที่ได้รับไว้ไม่พอจ่าย ให้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ

เมื่อกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับบำนาญและผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบำนาญเสร็จสิ้นแล้ว หากมีเงินตามวรรคสองคงเหลือ ให้กรมบัญชีกลางนำส่งเข้าบัญชีเงินสำรองตามมาตรา ๗๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด และให้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

มาตรา ๑๖ ให้กองทุนจัดทำรายงานการนำเงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าวตามมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๔ ส่งเข้าบัญชีเงินสำรองตามมาตรา ๗๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ เสนอต่อกรมบัญชีกลางตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด

มาตรา ๑๗ ให้นำความในพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ของบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ข้าราชการซึ่งรับราชการอยู่ในวันก่อนวันที่บทบัญญัติหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับ ซึ่งต้องลาออกจากราชการเนื่องจากได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครอง และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และต้องเข้าเป็นสมาชิกกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ ต้องได้รับการแต่งตั้งไม่เกินวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

(๒) ข้าราชการซึ่งรับราชการอยู่ในวันก่อนวันที่บทบัญญัติหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับ ซึ่งลาออกจากราชการและกลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่บทบัญญัติหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ทั้งนี้ ต้องกลับเข้ารับราชการไม่เกินวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

(๓) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา ๗๐/๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

(๔) พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเป็นสมาชิกกองทุนตามมาตรา ๗๐/๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

(๕) ผู้รับบำนาญอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งเคยเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ในวันก่อนวันออกจากราชการ หรือเคยเป็นบุคคลตาม (๔) ในวันก่อนวันพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้บทนิยามคำว่า “ข้าราชการ” ตามพระราชบัญญัตินี้ หมายความรวมถึงบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) และให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับข้าราชการและผู้รับบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาใช้บังคับกับบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) โดยอนุโลม

ในกรณีที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นตาม (๓) ได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตั้งแต่วันออกจากราชการ โดยบำเหน็จบำนาญให้จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น ในการนี้ ให้นับเวลาราชการต่อเนื่องกับการเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น และให้นำระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดมาใช้บังคับแก่การขอรับบำเหน็จบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่นดังกล่าวโดยอนุโลม

ในกรณีที่ผู้รับบำนาญตาม (๕) ซึ่งเคยเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นตาม (๓) ได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๖ ให้มีสิทธิได้รับบำนาญตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตั้งแต่วันออกจากราชการ โดยบำนาญให้จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ในกรณีที่พนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตาม (๔) ได้แสดงความประสงค์ตามมาตรา ๕ ให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตั้งแต่วันพ้นสภาพการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยให้นับเวลาราชการต่อเนื่องกับการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ทั้งนี้ การคำนวณบำเหน็จบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ให้คำนวณโดยใช้เงินเดือนเดือนสุดท้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนเพื่อใช้ในการคำนวณเงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชยและบำเหน็จบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัย

มาตรา ๑๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และผู้รับบำนาญ และทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัด ซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่รับราชการอยู่ในวันก่อนวันที่บทบัญญัติ หมวด ๓ สมาชิกและสิทธิประโยชน์ของสมาชิกแห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙ ใช้บังคับสามารถกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๗๗ ก/หน้า ๖/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"