พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๕๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
พระราชบัญญัติ
การขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๑๓)
พ.ศ. ๒๕๕๗[1]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๕๗”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๕) “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ําหนักเกินสองพันสองร้อยกิโลกรัม”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ (๒) ของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ข) รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ําหนักรถไม่เกินสองพันสองร้อยกิโลกรัมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง”

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในวรรคสี่ของมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียนกลางและนายทะเบียนประจําจังหวัดอาจมอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดกรมการขนส่งทางบกกระทําการแทนได้”

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางคณะหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสามคนซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งหรือการวางแผนจราจร”

มาตรา ๗ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๙/๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“มาตรา ๓๙/๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจําทางอาจนํารถที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประกอบการขนส่งในเส้นทางหนึ่งไปใช้ทําการขนส่งอีกเส้นทางหนึ่งที่ตนเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในลักษณะหมุนเวียนได้ โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางกําหนด”

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๔๙ ให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอํานาจควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อประโยชน์ดังกล่าวให้อธิบดีหรือนายทะเบียนมีอํานาจ

(๑) เข้าไปในสถานที่ดําเนินการของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งเพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการขนส่ง

(๒) ยึดหรืออายัดไว้ซึ่งสิ่งของหรือเอกสารที่อยู่ในสถานที่ตาม (๑) ที่เป็นความผิดหรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด หรือได้มาจากการกระทําความผิด

(๓) เรียกผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ผู้จัดการและพนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง มาให้ถ้อยคําหรือสั่งให้ยื่นคําชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ

ในการปฏิบัติตาม (๑) และ (๒) ให้กระทําระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทําการของสถานที่นั้น และให้อธิบดีมีอํานาจมอบหมายให้ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพทําการแทนได้

ในการปฏิบัติการของอธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการ หรือพนักงานตรวจสภาพตามมาตรานี้ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอํานวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร”

มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๗๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“มาตรา ๗๔/๑ อัตราค่าบริการตรวจสภาพรถ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกําหนด

ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถต้องแสดงอัตราค่าบริการตรวจสภาพรถที่จะจัดเก็บไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานตรวจสภาพรถของตน”

มาตรา ๑๐ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒๕/๑ ในหมวด ๙ สถานีขนส่ง แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“มาตรา ๑๒๕/๑ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับสถานีขนส่งให้เป็นไปตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้นําความในมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้อธิบดี นายทะเบียนหรือผู้ตรวจการซึ่งอธิบดีมอบหมาย เป็นผู้มีอํานาจและหน้าที่ในการดําเนินการ”

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๔ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อํานวยความสะดวกแก่อธิบดี นายทะเบียน ผู้ตรวจการหรือพนักงานตรวจสภาพ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๔๙ (๑) และ (๒) หรือมาตรา ๔๙ ซึ่งได้นํามาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๗๐ มาตรา ๗๖ หรือมาตรา ๑๒๕/๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”

มาตรา ๑๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“มาตรา ๑๔๔/๑ ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคําหรือยื่นคําชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงต่ออธิบดีหรือนายทะเบียนตามมาตรา ๔๙ (๓) หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ตรวจการที่เรียกรถให้หยุดเพื่อทําการตรวจสอบตามมาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”

มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๘/๑ และมาตรา ๑๔๘/๒ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒

“มาตรา ๑๔๘/๑ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดเก็บค่าบริการผิดไปจากอัตราค่าบริการที่อธิบดีกําหนดตามมาตรา ๗๔/๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

มาตรา ๑๔๘/๒ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานตรวจสภาพรถผู้ใดไม่แสดงอัตราค่าบริการตรวจสภาพรถตามมาตรา ๗๔/๑ วรรคสอง ตองระวางโทษปร ้ ับไม่เกินสองพันบาท”

มาตรา ๑๔ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงอยู่ในตําแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระ

มาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สมควรปรับปรุงบทบัญญัติบางประการเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตรถในปัจจุบันที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก และเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการการตรวจสภาพรถให้ได้รับความเป็นธรรม จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๘๗ ก/หน้า ๓๑ - ๓๓/๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗.

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"