พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560[แก้ไข]

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560”

มาตรา 2[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3[แก้ไข]

ในพระราชบัญญัตินี้

  • คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
  • กรรมการ หมายความว่า กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
  • แผนแม่บท หมายความว่า แผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ
  • หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า หน่วยงานที่เป็นของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือในรูปแบบอื่นใด และไม่ว่าจะเป็นองค์กรในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ
  • หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้
(1) หัวหน้าส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้อำนวยการหรือผู้บริหารสูงสุดที่เรียกชื่ออย่างอื่นของรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน หรือหัวหน้าหรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานของรัฐในรูปแบบอื่น สำหรับหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหาร
(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือหัวหน้าหน่วยงาน สำหรับสภาผู้แทนราษฎรวุฒิสภา หรือหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในกำกับของประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี
(3) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับองค์กรฝ่ายตุลาการ
(4) คณะกรรมการหรือคณะบุคคลที่เป็นองค์กรอิสระและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำหรับองค์กรอิสระ
(5) อัยการสูงสุด สำหรับองค์กรอัยการ
  • สำนักงาน หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • เลขาธิการ หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

มาตรา 4[แก้ไข]

ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด 1 ยุทธศาสตร์ชาติ[แก้ไข]

มาตรา 5[แก้ไข]

ให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันอันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี

การประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติให้ทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ

การกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและแผนอื่นใด รวมตลอดทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

ให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะกำกับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคสองและวรรคสาม

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ การกำกับดูแลตามวรรคสี่ ให้หมายความถึงการประสาน การปรึกษา หรือเสนอแนะต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าว


มาตรา 6[แก้ไข]

ยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1) วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ
(2) เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว กำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย
(3) ยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ

เป้าหมายการพัฒนาประเทศตาม (2) อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายในด้านความมั่นคงของประเทศด้านคุณภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน และด้านบทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน

มาตรา 7[แก้ไข]

การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติ ความต้องการและความจำเป็นในการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล และเป้าหมายการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยให้ดำเนินการ ตามกระบวนการ ดังต่อไปนี้

(1) มีการใช้ข้อมูลความรู้ที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ
(2) วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างรอบด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและข้อจำกัด รวมทั้งความเสี่ยงของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
(3) การให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรวมทั้งการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน

การกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามมาตรา 6 (1) และ (2) ต้องมีความชัดเจนเพื่อให้เห็นภาพในอนาคตของประเทศ โดยเป็นกรอบอย่างกว้างที่ยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก และต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งมีการระบุตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมายไว้ให้ชัดเจน

มาตรา 8[แก้ไข]

ในกระบวนการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการจัดให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้

(1) การรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นเพื่อนำมาใช้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ
(2) การรับฟังความคิดเห็นเมื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ แล้วเสร็จเบื้องต้นเพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุง

การรับฟังความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องใช้วิธีการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้โดยสะดวกและทั่วถึงและต้องมีการแสดงข้อมูลที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วย

มาตรา 9[แก้ไข]

เมื่อคณะกรรมการดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเสร็จแล้ว ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องใด ให้ส่งคืนคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร แล้วส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

ให้คณะรัฐมนตรีนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับจากคณะกรรมการหรือที่คณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่งแล้ว เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ

ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติและลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติ และให้วุฒิสภาพิจารณาและลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างจากสภาผู้แทนราษฎร

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ได้ให้ความเห็นชอบในร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะรัฐมนตรีเสนอ

ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้ร่างยุทธศาสตร์ชาติเป็นอันตกไป และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ได้ ซึ่งต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ โดยให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่เว้นแต่ระยะเวลาหกสิบวันและสามสิบวันตามวรรคสาม ให้ลดเหลือสามสิบวันและสิบห้าวัน แล้วแต่กรณี

ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวัน เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ

มาตรา 10[แก้ไข]

เมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านจัดทำแผนแม่บทเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

แผนแม่บทและแผนการปฏิรูปประเทศตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศต้องมีความสอดคล้องกัน

แผนแม่บทที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้มีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น รวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทด้วย

ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีก่อน และเมื่อคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว จึงดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

มาตรา 11[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุกห้าปีหรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งด้านใดได้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ให้คณะกรรมการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดำเนินการ

เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้คณะกรรมการ ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ และเมื่อได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วให้ถือเป็นส่วนหนึ่ง ของยุทธศาสตร์ชาติ

หมวด 2 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ[แก้ไข]

มาตรา 12[แก้ไข]

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ประกอบด้วย

(1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง
(3) ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง
(4) รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่สาม
(5) ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ
(6) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่เกินเจ็ดสิบห้าปี ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในด้านความมั่นคง ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมด้านวัฒนธรรม ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านสาธารณสุข ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ จำนวนไม่เกินสิบเจ็ดคน

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย และรองเลขาธิการซึ่งเลขาธิการมอบหมายเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ในการแต่งตั้งกรรมการตาม (6) ให้คำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และความหลากหลายของช่วงอายุด้วย

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตาม (2) (3) (4) หรือ (5) ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

มาตรา 13[แก้ไข]

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี

ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา 14[แก้ไข]

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 12 (6)
(4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ

มาตรา 15[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี
(2) กำหนดวิธีการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ และการมีส่วนร่วมในการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
(3) เสนอความเห็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
(4) กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ
(5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา 16[แก้ไข]

ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อพิจารณาจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการ มอบหมาย

คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละคณะ ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น จำนวนไม่เกินสิบห้าคน โดยในการแต่งตั้งให้คำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และความหลากหลายของช่วงอายุด้วย

ในการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมหรือภารกิจขององค์กรอิสระ ให้แต่งตั้งผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการด้วย

มาตรา 17[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแล้วแต่กรณี มอบหมาย

มาตรา 18[แก้ไข]

การประชุมของคณะกรรมการ คณะกรรมการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติและคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ในการประชุมของคณะกรรมการ ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการจะมอบหมายบุคคลใดให้มาประชุมแทนไม่ได้

มาตรา 19[แก้ไข]

การปฏิบัติหน้าที่และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 20[แก้ไข]

ในกรณีที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจำเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด จะขอให้สำนักงานจ้างบุคคล สถาบันการศึกษา หรือสถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัย เพื่อดำเนินการศึกษาค้นคว้าและจัดทำรายงานเรื่องดังกล่าวก็ได้

วิธีการจ้าง ค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอื่นของบุคคลหรือสถาบันตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 21[แก้ไข]

ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และอนุกรรมการตามมาตรา 17 ได้รับค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 22[แก้ไข]

ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ คณะกรรมการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติและคณะอนุกรรมการ
(2) ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลและความเห็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งจัดหาและพัฒนาข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการให้แก่คณะกรรมการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และคณะอนุกรรมการ
(3) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(4) ดำเนินการให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามมาตรา 8
(5) เผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท รวมทั้งดำเนินการอื่นใดเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างแนวร่วมในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
(6) รับผิดชอบในการดำเนินการให้มีการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและการจัดทำรายงานตามมาตรา 24 และมาตรา 27 วรรคสอง
(7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมอบหมาย

หมวด 3 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล[แก้ไข]

มาตรา 23[แก้ไข]

ให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการการติดตามการตรวจสอบ และการประเมินผลการดำ เนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ

ข้อเสนอแนะในการวางระเบียบตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ให้คณะกรรมการประสานและปรึกษากับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวด้วย

มาตรา 24[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดำ เนินการตามยุทธศาสตร์ชาติให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงาน ภายในเวลาและตามรายการที่สำนักงานกำหนด

ให้สำนักงานจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการ คณะรัฐมนตรีหัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง และรัฐสภาทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจากหน่วยงานตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุความก้าวหน้าของ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติด้วย

ในกรณีมีเหตุอันควรรายงานให้รัฐสภาทราบเป็นการเฉพาะเรื่อง ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านที่เกี่ยวข้องรายงานต่อคณะกรรมการ เพื่อให้คณะกรรมการเสนอรัฐสภาเป็นการเฉพาะเรื่องได้

มาตรา 25[แก้ไข]

ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณารายงานตามมาตรา 24 แล้วเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดำ เนินการตามมาตรา 26 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุอันสมควรให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นตามหน้าที่และอำนาจให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป

มาตรา 26[แก้ไข]

ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่าการดำเนินการใดของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บทให้คณะกรรมการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้หน่วยงานของรัฐนั้นทราบถึงความไม่สอดคล้องและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง และเมื่อหน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขปรับปรุงประการใดแล้วให้แจ้งให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่แจ้งการดำเนินการให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทราบภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการทราบเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและสั่งการต่อไป เว้นแต่เป็นกรณีของหน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอัยการ ให้แจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐขององค์กรดังกล่าวเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และให้นำความในมาตรา 25 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 27[แก้ไข]

ให้สำนักงานเผยแพร่รายงานที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐ และรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีและรายงานเป็นการเฉพาะเรื่องตามมาตรา 24 ให้ประชาชนทราบทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงาน

เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สำนักงานจัดให้มีวิธีการที่ประชาชนซึ่งพบหรือเห็นว่าหน่วยงานของรัฐหน่วยใดไม่ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บทสามารถแจ้งเหตุดังกล่าวให้สำนักงานทราบได้โดยสะดวกและรวดเร็ว

บทเฉพาะกาล[แก้ไข]

มาตรา 28[แก้ไข]

ในวาระเริ่มแรก เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ ให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

(1) ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 12 (6) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(2) ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
(3) ให้ถือว่าการรับฟังความคิดเห็นที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และสำนักงานได้ดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นการดำเนินการตามมาตรา 8 (1) แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจที่จะดำเนินการให้มีการรับฟัง

ความคิดเห็นเพิ่มเติม

(4) ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้ใช้ ร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำขึ้นมาใช้เป็นหลักในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นดังกล่าว และให้นำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง มาประกอบการพิจารณา รวมทั้งให้คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับตาม (3) ด้วย
(5) ให้สำนักงานดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 8 (2) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นตาม (4)
(6) ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ แก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับผลการรับฟังความคิดเห็นตาม (5) ให้แล้วเสร็จ และเสนอต่อคณะกรรมการภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่การรับฟังความคิดเห็นตาม (5) แล้วเสร็จ
(7) ให้คณะกรรมการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
(8) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะกรรมการ
(9) ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะรัฐมนตรี
(10) ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างยุทธศาสตร์ชาติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบแล้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติตาม (8) ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วตาม (8) ต่อวุฒิสภาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะรัฐมนตรี
ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงก่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติตาม (9) จะแล้วเสร็จ ให้วุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติต่อไปให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ และในกรณีที่จำเป็นอาจขยายระยะเวลาอีกได้แต่ต้องไม่เกินสิบวัน
เมื่อวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติตามวรรคสองหรือวรรคสามแล้วให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตาม (10) ต่อไป

มาตรา 29[แก้ไข]

ในระหว่างอายุของวุฒิสภาตามมาตรา 269 (4) ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้คณะกรรมการและวุฒิสภาทราบ และให้วุฒิสภาดำ เนินการตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่วุฒิสภาเห็นว่ากรณีเป็นปัญหาว่ามติของคณะรัฐมนตรีหรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้วุฒิสภามีมติเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของคณะรัฐมนตรีหรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาและมีมติให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติโดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :-[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าวโดยในการจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติและกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

อ้างอิง[แก้ไข]

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 79 ก 31 กรกฎาคม 2560