พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2496 ฉบับที่ 2

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติ การประมง พ.ศ. 2496 ฉบับที่ 2[แก้ไข]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2496
เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา 1[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496”

มาตรา 2[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

 มาตรา 17 ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือปลูกบัว ข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
 ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด”

มาตรา 4[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 18 ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด”

มาตรา 5[แก้ไข]

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 20 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490

  “มาตรา 20 ทวิ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำ โดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดตามมาตรา 20”

มาตรา 6[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 53 ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำหรือไข่ของสัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 7[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 62 บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 9 มาตรา 13 มาตรา 17 ถึงมาตรา 19 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 30 มาตรา 54 หรือมาตรา 55 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ”

มาตรา 8[แก้ไข]

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 62 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490

  “มาตรา 62 ทวิ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 20 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่ต่ำกว่าสิบเท่าของราคาสัตว์น้ำนั้น แต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”

มาตรา 9[แก้ไข]

ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 62 ตรี แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490

  “มาตรา 62 ตรี บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 20 ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินห้าพันบาท”

มาตรา 10[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 69 เรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำ และสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้ แต่ถ้าสิ่งเช่นว่านั้น ได้ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดในที่รักษาพืชพันธุ์ หรือโดยการฝ่าฝืนมาตรา 20 ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น”


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ[แก้ไข]

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยปรากฏว่าเวลานี้มีผู้ใช้วัตถุระเบิดทำการประมงทั้งในน่านน้ำจืดและน่านน้ำเค็มกันเป็นจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ผู้ฝ่าฝืนไม่ค่อยกลัวเกรงเพราะโทษแห่งความผิดได้กำหนดไว้ให้ในอัตราต่ำ และการจับกุมผู้กระทำผิด ก็จับได้ด้วยความยากลำบาก การใช้วัตถุระเบิดทำการประมงนั้น ปรากฏจากผลของการทดลองของกองทัพเรือ ร่วมกับกรมการประมงว่า เป็นการทำลายพันธุ์ปลาชนิดดี ๆ อย่างร้ายแรงมาก การใช้วัตถุระเบิดส่วนมาก ผู้ฝ่าฝืนใช้ตามหินกองในท้องทะเลซึ่งมีปลาพันธุ์ดีอาศัยอยู่ เช่นปลาเหลือง ปลาสีกุน การระเบิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรากฏว่าได้ทำลายพันธุ์ปลาที่อยู่ในรัศมีการระเบิดโดยสิ้นเชิง ทั้งปลาใหญ่และลูกปลาที่เป็นปลาที่มีราคาและปลาเหล่านี้ เป็นปลาประจำท้องที่ ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนเช่นนี้ต่อไปอีก ไม่ช้าพันธุ์ปลาดี ๆ ในท้องทะเลก็จะถูกทำลายให้สูญพันธุ์ในกาลต่อไปได้ เป็นการทำลายอาชีพการประมงของบรรดาชาวประมง และบัดนี้ก็ปรากฏว่าเครื่องมือทำการประมงบางชนิดเช่น อวนยอ อวนมุโร เบ็ดสาย ลอบปะทุน ทำการประมงไม่ได้ผล เพราะบริเวณที่ใดถูกระเบิด ปลาก็ถูกทำลายแทบหมดสิ้น ไม่มีพันธุ์พอที่จะเกิดและเพิ่มปริมาณให้มีการจับได้อีกเป็นเวลานาน ทำให้ชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ทำการจับไม่ได้ต่างพากันร้องว่าเดือดร้อน ฉะนั้น จึงควรกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ในอัตราสูง เพื่อปราบปรามให้เข็ดหลาบ และป้องกันการทำลายพันธุ์ปลาไว้มิให้ถูกทำลายหมดไป โดยการกระทำของผู้เห็นประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้า
  อนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ฝ่าฝืนทำการบุกรุกและวิดน้ำจับสัตว์น้ำ ในที่จับสัตว์น้ำอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ โดยมิได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดการเสียหายแก่ที่จับสัตว์น้ำและพันธุ์สัตว์น้ำ จึงเห็นควรแก้ไขให้การควบคุมและการรักษาพันธุ์สัตว์น้ำได้ประโยชน์รัดกุมยิ่งขึ้น

เอกสารประกอบ[แก้ไข]

  • เอกสาร pdf

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 70/ตอนที่ 61/หน้า 1145/29 กันยายน 2496