พระราชบัญญัติการเกณฑ์ช่วยราชการทหาร พ.ศ.2530

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติ การเกณฑ์ช่วยราชการทหาร พ.ศ. 2530[แก้ไข]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2530
เป็นปีที่ 42 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหารในเวลาปกติหรือเวลาสงคราม และในเวลาที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการเกณฑ์ช่วยราชการทหาร พ.ศ. 2530

มาตรา 2[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3[แก้ไข]

ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหารในเวลาปกติหรือเวลาสงคราม และในเวลาที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2464 บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับอื่นที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา 4[แก้ไข]

ในพระราชบัญญัตินี้

  • การเกณฑ์ในเวลาปกติ หมายความว่า การเกณฑ์ช่วยราชการทหารสำหรับหน่วยทหารที่ออกฝึกราชการสนามเฉพาะเมื่อไม่สามารถหรือไม่มีเวลาพอที่จะจัดหาทรัพย์สินเพื่อใช้ในราชการทหารได้ตามปกติ
  • การเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติ หมายความว่า การเกณฑ์ช่วยราชการทหารในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
  • ใบเรียกเกณฑ์ หมายความว่า หนังสือสั่งเกณฑ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 ผู้รับมอบอำนาจตามมาตรา 18 หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 47 (2) ออกไปถึงเจ้าพนักงานปกครองท้องที่
  • หมายเกณฑ์ หมายความว่า หนังสือสั่งเกณฑ์ซึ่งเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ออกไปถึงผู้ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์
  • ใบรับ หมายความว่า หนังสือซึ่งแสดงว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ได้รับหรือได้คืนทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์นั้นแล้ว
  • พักแรม หมายความว่า การที่ทหารและบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือปกครองของทหาร ตลอดจนสัตว์ ยานพาหนะ และสิ่งของเครื่องใช้ซึ่งทหารนำมา ได้เข้าอาศัยในสถานที่ที่เรียกเกณฑ์
  • ยานพาหนะ หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดซึ่งสามารถบรรทุกคน สัตว์ หรือสิ่งของและเคลื่อนที่ไปได้ทั้งบนบก ในน้ำ หรือในอากาศ ไม่ว่าจะเคลื่อนไปได้ด้วยแรงคน สัตว์ เครื่องยนต์ หรือพลังงานอื่นใด
  • เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ หมายความว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดเมืองพัทยา นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต ปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ และผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ทำนองเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร= หมายความว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ได้รับคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5[แก้ไข]

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงร่วมกันเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1 บททั่วไป[แก้ไข]

มาตรา 6[แก้ไข]

เมื่อมีการเกณฑ์ช่วยราชการทหารแล้ว เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ได้รับใบเรียกเกณฑ์ หรือบุคคลที่ได้รับหมายเกณฑ์ต้องปฏิบัติตามทันที

มาตรา 7[แก้ไข]

ในเดือนมกราคมของทุกปี ให้ปลัดเมืองพัทยา นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ทำนองเดียวกับนายอำเภอ ทำบัญชีส่งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือส่วนราชการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนด บัญชีดังกล่าวให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งมีรายการดังนี้

(1) สถานที่สำหรับใช้พักแรม หรือสร้างที่พักแรม
(2) ยานพาหนะ เส้นทางคมนาคม สถานพยาบาล ประชากร สาธารณูปโภค ผลิตผลทางกสิกรรม ปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะ
(3) สถานที่เก็บรักษาหรือจำหน่ายเชื้อเพลิง น้ำมันเชื้อเพลิง สิ่งหล่อลื่น หรือก๊าซ
(4) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด
(5) เครื่องมือสื่อสารและเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์
(6) โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
(7) สถานที่จำหน่ายอุปกรณ์และอะไหล่สำหรับยานพาหนะ เครื่องมือสื่อสาร หรือเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์
(8) เครื่องกล เครื่องมือ เครื่องใช้ และสิ่งอื่นที่ใช้สำหรับการสร้าง ซ่อมแซม หรือบำรุงรักษาเส้นทางคมนาคม
(9) สิ่งอื่นตามที่ทางราชการทหารกำหนด

มาตรา 8[แก้ไข]

เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการสมควร อาจสำรวจรายการในบัญชีตามมาตรา 7 ได้ ในการนี้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินต้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา 9[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 47 (2) เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานปกครองท้องที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด 2 การเกณฑ์ในเวลาปกติ[แก้ไข]

ส่วนที่ 1 ขอบเขตการเกณฑ์[แก้ไข]

มาตรา 10[แก้ไข]

การเกณฑ์ในเวลาปกติกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการเกณฑ์เพื่อการฝึกราชการสนามที่จำต้องมีพลเรือนเข้าร่วมในการฝึกนั้น

มาตรา 11[แก้ไข]

การเกณฑ์ตามมาตรา 10 อาจเกณฑ์ทรัพย์สินได้ ดังต่อไปนี้

(1) สถานที่สำหรับใช้พักแรมหรือสร้างที่พักแรม
(2) เชื้อเพลิง น้ำมันเชื้อเพลิง สิ่งหล่อลื่น และก๊าซ
(3) ยานพาหนะพร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการซ่อมบำรุงยานพาหนะนั้น
(4) สัตว์พาหนะพร้อมด้วยเครื่องผูกเทียมและเครื่องใช้สำหรับสัตว์พาหนะนั้น

มาตรา 12[แก้ไข]

การเกณฑ์รถไฟ เรือ หรืออากาศยาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอาจเข้าครอบครองและใช้สิ่งอำนวยความสะดวก พัสดุและสิ่งอื่นอันจำเป็นสำหรับการใช้รถไฟ เรือ หรืออากาศยานทั้งหมด หรือบางส่วนแล้วแต่จะเห็นสมควร

มาตรา 13[แก้ไข]

ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ได้รับยกเว้นจากการเกณฑ์ในเวลาปกติ

(1) ยานพาหนะที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูต
(2) ยานพาหนะและสัตว์พาหนะที่ใช้เกี่ยวกับการไปรษณีย์โทรเลข
(3) ยานพาหนะโดยสารที่ใช้ทำการตามกำหนดวันเวลาและเส้นทางตามปกติ
(4) ม้าพันธุ์และโคพันธุ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในการผสมพันธุ์

ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ได้รับใบเรียกเกณฑ์เป็นผู้ออกหนังสือยกเว้นสำหรับทรัพย์สินตาม (2) (3) และ (4) ให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ในหนังสือยกเว้นนั้นให้แจ้งเหตุที่ยกเว้นไว้ด้วย

หนังสือยกเว้น ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 14[แก้ไข]

สถานที่ดังต่อไปนี้ได้รับยกเว้นจากการเกณฑ์ในเวลาปกติ

(1) สถานที่ราชการ
(2) สถานทูต สถานกงสุล หรือสถานที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศหรือสถานที่ทำการอื่นที่เป็นของรัฐบาลต่างประเทศ
(3) ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข
(4) สถานพยาบาล และสถานที่ที่ใช้สำหรับสงเคราะห์เด็กกำพร้าหรือคนพิการ
(5) สถานศึกษาที่ได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย
(6) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 15[แก้ไข]

การเกณฑ์ทรัพย์สินตามมาตรา 11 (2) จะต้องเหลือไว้สำหรับเจ้าของ หรือผู้ครอบครองบริโภคไม่น้อยกว่าสิบวัน หรือถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้ทำการค้าให้เหลือไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของปริมาณที่มีอยู่ในวันที่มีการเกณฑ์

ส่วนที่ 2 วิธีดำเนินการ[แก้ไข]

มาตรา 16[แก้ไข]

การเกณฑ์ในเวลาปกติ ถ้าจะกระทำในท้องที่ใด เมื่อใด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมายเป็นหนังสือเป็นผู้ประกาศ และมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ในท้องที่นั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อทราบ

มาตรา 17[แก้ไข]

เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา 16 แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้มีอำนาจออกใบเรียกเกณฑ์

(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
(2) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
(3) ผู้บัญชาการทหารบก
(4) ผู้บัญชาการทหารเรือ
(5) ผู้บัญชาการทหารอากาศ
(6) แม่ทัพภาค

ใบเรียกเกณฑ์ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 18[แก้ไข]

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 อาจมอบอำนาจออกใบเรียกเกณฑ์ โดยทำเป็นหนังสือให้แก่นายทหารชั้นรองลงมาได้ และผู้รับมอบอำนาจต้องระบุในใบเรียกเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าได้รับมอบอำนาจจากผู้ใด

มาตรา 19[แก้ไข]

ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารส่งใบเรียกเกณฑ์แก่เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ในท้องที่ที่มีทรัพย์สินที่จะเกณฑ์ก่อนกำหนดเกณฑ์ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน หากเป็นกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วนจะส่งใบเรียกเกณฑ์ทันทีก็ได้

มาตรา 20[แก้ไข]

เมื่อเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ตามมาตรา 19 ได้รับใบเรียกเกณฑ์แล้วให้ออกหมายเกณฑ์ไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์โดยเร็ว หมายเกณฑ์ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 21[แก้ไข]

เมื่อมีกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 อาจเรียกเกณฑ์โดยทางวาจา หรือโดยเครื่องมือสื่อสารได้ และให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ตามมาตรา 19 ออกหมายเกณฑ์หรือดำเนินการเกณฑ์โดยทางวาจา หรือโดยเครื่องมือสื่อสารทันทีโดยให้ถือว่าได้รับใบเรียกเกณฑ์แล้วนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจ

เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินได้รับทราบการเกณฑ์จากเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าได้รับหมายเกณฑ์จากเจ้าพนักงานปกครองท้องที่แล้ว การเกณฑ์โดยทางวาจาหรือโดยเครื่องมือสื่อสาร จะต้องออกใบเรียกเกณฑ์หมายเกณฑ์ หรือเอกสารอื่นส่งตามไปภายในสามวันนับแต่วันเรียกเกณฑ์

มาตรา 22[แก้ไข]

ในการเกณฑ์ทรัพย์สินตามมาตรา 11 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 อาจขอให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่มีทรัพย์สินที่จะเกณฑ์ตรวจสอบว่ามีทรัพย์สินใดที่จะให้เกณฑ์ได้บ้าง

มาตรา 23[แก้ไข]

การเกณฑ์สถานที่สำหรับใช้พักแรมหรือสร้างที่พักแรมตามมาตรา 11 (1) เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารต้องแจ้งไปยังเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ได้รับใบเรียกเกณฑ์ให้ทราบกำหนดวันและเวลาอันแน่นอนที่จะใช้หรือสร้างที่พักแรมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

มาตรา 24[แก้ไข]

เมื่อเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ตามมาตรา 23 ได้รับใบเรียกเกณฑ์สถานที่สำหรับใช้พักแรม หรือสร้างที่พักแรมตามมาตรา 11 (1) แล้ว ให้ออกหมายเกณฑ์ไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองทันที และเมื่อถึงกำหนดวันและเวลาในหมายเกณฑ์ให้ไปตรวจสอบและอำนวยการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

การออกหมายเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามเกณฑ์ส่วนหนึ่งส่วนใดของเคหสถานที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองจำเป็นต้องใช้อาศัยอยู่กินหลับนอน

มาตรา 25[แก้ไข]

เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินได้รับหมายเกณฑ์แล้ว ต้องนำทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ไปส่งตามกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในหมายเกณฑ์ ถ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำไปส่ง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ออกค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วขอรับคืนจากเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์ แต่ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่าย ให้แจ้งเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ดังกล่าวเพื่อขอรับเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายนั้นและเมื่อได้รับแจ้งแล้วให้รีบจ่ายเงินให้ เงินค่าใช้จ่ายที่เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ต้องจ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้ขอรับคืนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

มาตรา 26[แก้ไข]

ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์จัดให้มีการตรวจสอบและควบคุมการส่งมอบทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ในหมายเกณฑ์

มาตรา 27[แก้ไข]

ถ้าในขณะที่เรียกเกณฑ์ ไม่มีทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์หรือมีแต่ไม่เพียงพอกับจำนวนที่เรียกเกณฑ์ในท้องที่ใด ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์แจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 ทราบโดยเร็ว

มาตรา 28[แก้ไข]

การเกณฑ์ทรัพย์สินนั้น ถ้าไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้ปฏิบัติตามหมายเกณฑ์นั้นแทน

ในกรณีที่ไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ตามวรรคหนึ่ง มีอำนาจปฏิบัติการตามหมายเกณฑ์นั้น โดยให้กระทำต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานปกครองท้องที่นั้นได้ร้องขอมาเป็นพยาน

มาตรา 29[แก้ไข]

ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมีทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์แต่ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินนั้นได้ตามกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในหมายเกณฑ์ ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์ทราบทันที และให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่นั้นแจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารทราบ ถ้าเป็นกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วนที่จะต้องเกณฑ์ทรัพย์สินนั้น ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์จัดหาทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์หรือที่ใช้แทนกันได้ส่งมอบแทนโดยเร็ว และอาจคิดค่าใช้จ่ายในการส่งมอบแทนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ได้

มาตรา 30[แก้ไข]

เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์ต้องมอบใบรับแสดงทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ และระบุว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ได้ปฏิบัติตามหมายเกณฑ์แล้วให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองขณะที่รับเอาทรัพย์สินนั้น ใบรับสำหรับการเกณฑ์สถานที่สำหรับใช้พักแรมหรือสร้างที่พักแรมตามมาตรา 11 (1) ให้มอบในขณะที่ทหารออกจากที่นั้น

มาตรา 31[แก้ไข]

ทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์มานั้นเมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้ในราชการทหารให้คืนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองตามกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะได้ประกาศให้ทราบ เมื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์แล้ว ให้ทำใบรับแสดงทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ และระบุว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์คืนไปแล้ว ให้ไว้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์

มาตรา 32[แก้ไข]

ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับโดยทั่วไปซึ่งการเกณฑ์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

ส่วนที่ 3 ค่าทดแทนและค่าเสียหาย[แก้ไข]

มาตรา 33[แก้ไข]

การเกณฑ์ช่วยราชการทหารก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเสียหายได้ เว้นแต่ที่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 34[แก้ไข]

ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์เป็นผู้กำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์แล้วแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นมารับค่าทดแทน

การกำหนดค่าทดแทนให้คำนึงถึงราคาหรือค่าเช่าปานกลางในท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการนำส่งทรัพย์สินนั้นเป็นหลัก เว้นแต่ค่าเช่ายานพาหนะให้ถือตามอัตราที่กระทรวงกลาโหมกำหนด

มาตรา 35[แก้ไข]

ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินไม่พอใจจำนวนค่าทดแทนที่เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์กำหนด ให้ยื่นคำคัดค้านเป็นหนังสือต่อเจ้าพนักงานปกครองท้องที่นั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับค่าทดแทน และให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่นั้นส่งคำคัดค้านไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยเร็ว

เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับคำคัดค้านแล้ว ให้เสนอคำคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำคัดค้าน ในกรณีนี้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาค่าทดแทนและส่งคำสั่งแต่งตั้ง พร้อมทั้งคำคัดค้านไปยังประธานกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำคัดค้านจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

คณะกรรมการตามวรรคสองประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตรสองคนและเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ในท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์หนึ่งคน โดยให้นายทหารสัญญาบัตรคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการและต้องพิจารณาและวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้ทราบการแต่งตั้ง ในการนี้ผู้ยื่นคำคัดค้านจะนำพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงด้วยก็ได้

ให้ประธานกรรมการแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการไปยังเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์ และผู้ยื่นคำคัดค้านโดยเร็ว

มาตรา 36[แก้ไข]

ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ในท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์ เป็นผู้จ่ายค่าทดแทนการเกณฑ์ทรัพย์สินตามจำนวนที่เจ้าพนักงานปกครองท้องที่กำหนดตามมาตรา 34 หรือที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 35 โดยให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนำใบรับมาแสดง ในกรณีที่ใบรับสูญหายหรือไม่สามารถนำมาแสดงได้ ให้นำหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแสดงแทน การจ่ายค่าทดแทนให้กระทำให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนำใบรับหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องมาแสดง แล้วแต่กรณี

เมื่อได้จ่ายค่าทดแทนแล้ว ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ตามวรรคหนึ่งรวบรวมและส่งใบรับหรือหลักฐานแสดงการรับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นคราวๆ แต่ไม่เกินเดือนละสองครั้งและให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจ่ายเงินคืนให้โดยเร็ว

มาตรา 37[แก้ไข]

ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ประสงค์จะเรียกค่าเสียหาย ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร หรือเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ส่งคืนทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์

ในกรณีที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ส่งคำร้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยเร็ว

เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับคำร้องแล้ว ให้สอบสวนความเสียหายให้แน่ชัดโดยไม่ชักช้า และมีหนังสือแจ้งผลการสอบสวนหรือจำนวนค่าเสียหายไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สอบสวนเสร็จ

มาตรา 38[แก้ไข]

ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินไม่พอใจผลการสอบสวนหรือจำนวนค่าเสียหายตามมาตรา 37 วรรคสาม ให้ยื่นคำคัดค้านเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้รับคำคัดค้านแล้วให้เสนอคำคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำคัดค้าน ในกรณีนี้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาค่าเสียหายและส่งคำสั่งแต่งตั้ง พร้อมทั้งคำคัดค้านไปยังประธานกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำคัดค้านจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

คณะกรรมการตามวรรคสองประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตรสองคน และเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ในท้องที่ที่ออกหมายเกณฑ์หนึ่งคน โดยให้นายทหารสัญญาบัตรคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และต้องพิจารณาและวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการได้ทราบการแต่งตั้ง ในการนี้ผู้ยื่นคำคัดค้านจะนำพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงด้วยก็ได้

ให้ประธานกรรมการแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและผู้ยื่นคำคัดค้านโดยเร็ว

มาตรา 39[แก้ไข]

ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจ่ายค่าเสียหายตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารกำหนดตามมาตรา 37 หรือที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 38 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร หรือประธานกรรมการ แล้วแต่กรณี มีหนังสือแจ้งจำนวนค่าเสียหายไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน

มาตรา 40[แก้ไข]

ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตามมาตรา 35 หรือมาตรา 38 ให้ฟ้องต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

มาตรา 41[แก้ไข]

ในกรณีที่การจ่ายค่าทดแทนหรือค่าเสียหายไม่เป็นไปภายในเวลาที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ฟ้องต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดนั้น

หมวด 3 การเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติ[แก้ไข]

มาตรา 42[แก้ไข]

การเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติ ให้กระทำได้

(1) ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงครามนับแต่วันเวลาที่ได้มีคำสั่งให้ทหารเตรียมเข้าทำการรบ หรือนับแต่วันเวลาที่ได้ประกาศสงคราม แล้วแต่กรณี และให้ใช้ทั่วราชอาณาจักร
(2) ในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นับแต่วันเวลาและในเขตที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
(3) ในระหว่างเวลาที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก นับแต่วันเวลาและในเขตที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 43[แก้ไข]

การเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติอาจเกณฑ์ทรัพย์สินและแรงงานได้ดังต่อไปนี้

(1) ทรัพย์สินตามมาตรา 11 และมาตรา 12
(2) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และไพโรเทคนิค
(3) เครื่องมือสื่อสารและเครื่องมืออิเลคทรอนิกส์ตลอดจนอะไหล่และอุปกรณ์ของเครื่องมือดังกล่าว
(4) เครื่องกล เครื่องมือ เครื่องใช้และสิ่งอื่นที่ใช้สำหรับการสร้าง ซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาเส้นทางคมนาคมและยานพาหนะเพื่อกิจการของทางราชการทหาร
(5) สิ่งต่างๆ ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์สำหรับจัดที่พักแรมหรือโรงพยาบาล
(6) เสบียงอาหารสำหรับคนหรือสัตว์
(7) คนงาน คนนำทาง คนเดินข่าวสาร ล่าม หรือผู้ที่อาจเป็นประโยชน์แก่กิจการของทางราชการทหาร
(8) แรงงานและทรัพย์สินอื่นที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นแก่กิจการของทางราชการทหาร

มาตรา 44[แก้ไข]

เมื่อต้องการเกณฑ์แรงงาน ให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ที่ได้รับ ใบเรียกเกณฑ์ออกหมายเกณฑ์ไปยังบุคคลที่เหมาะสมแก่งานนั้นเป็นการเฉพาะตัว หรือจะออกหมายเกณฑ์ไปยังพลเมืองทั้งหมดหรือบางส่วนในท้องที่ที่มีเขตอำนาจก็ได้แล้วแต่จะเห็นสมควร

มาตรา 45[แก้ไข]

ผู้ถูกเกณฑ์แรงงานให้ไปพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ณ สถานที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารกำหนด และให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเลี้ยงดู และให้การรักษาพยาบาลตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด

มาตรา 46[แก้ไข]

โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน อาจถูกเกณฑ์ได้เฉพาะในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงครามและเพื่อให้ได้ผลตามที่เกณฑ์นั้น อาจจัดให้อยู่ในความอำนวยการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ แต่มิให้ใช้โรงงานนั้นกระทำสิ่งอื่น นอกจากที่ได้กระทำอยู่เป็นปกติ เว้นแต่จะได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

มาตรา 47[แก้ไข]

นับแต่วันเวลาที่ได้มีคำสั่งหรือประกาศตามมาตรา 42 และได้ดำเนินการตามมาตรา 16 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ออกใบเรียกเกณฑ์แล้วส่งตรงไปยังเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ได้ทันที

(1) เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17
(2) นายทหารซึ่งมีตำแหน่งบังคับบัญชาทหารสูงสุด ณ ที่นั้น และมีกำลังในบังคับบัญชาตั้งแต่หนึ่งกองพันหรือเทียบเท่าขึ้นไป เมื่อนำทหารเข้าทำการรบหรือเข้าสู่สงคราม หรือเมื่อบังคับบัญชาทหารอยู่ในเขตที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในเขตที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 48[แก้ไข]

ในการเกณฑ์ตามมาตรา 42 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 47 อาจขอให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ในท้องที่ที่จะเกณฑ์ตรวจสอบว่ามีแรงงานและทรัพย์สินใดที่จะให้เกณฑ์ได้บ้าง

มาตรา 49[แก้ไข]

ในกรณีจำเป็นถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นว่าจะต้องจัดซื้อหรือเช่าทรัพย์สินที่อาจจะเรียกเกณฑ์ได้ตามมาตรา 11 (3) และ (4) แล้ว ให้มีอำนาจบังคับซื้อหรือเช่าทรัพย์สินนั้นได้ ตามราคาหรือค่าเช่าที่เจ้าพนักงานปกครองท้องที่แห่งท้องที่ที่บังคับซื้อหรือเช่าทรัพย์สินนั้นเป็นผู้กำหนด โดยใช้ราคาหรือค่าเช่าปานกลางในท้องที่นั้นเป็นหลักในการพิจารณา

การฟ้องคดีเรียกให้ชำระราคาหรือค่าเช่าทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันครบกำหนดชำระราคาหรือวันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า แล้วแต่กรณี เมื่อทางราชการทหารหมดความจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพย์สินที่จัดซื้อตามวรรคหนึ่งแล้ว เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ซื้อไปนั้นมีสิทธิที่จะขอซื้อทรัพย์สินนั้นคืนได้ตามราคาปานกลางในท้องที่ที่ซื้อคืนซึ่งทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน

มาตรา 50[แก้ไข]

เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะที่รับขนส่งในเขตหรือใกล้เขตที่ทหารเข้าทำการรบหรือเขตที่กระทำสงคราม หรือในเขตที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในเขตที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอันเกี่ยวกับการกักหรือเปลี่ยนแปลงการเดินทางตามความต้องการของทางราชการทหาร และจะต้องให้ความสะดวกสำหรับการเดินทางของทหารก่อนการอื่น

ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่ให้ความสะดวกตามวรรคหนึ่ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจที่จะเข้าไปจัดการตามสมควร เพื่อให้เหมาะสมแก่กิจการของทางราชการทหารโดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะนั้นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมายเป็นหนังสือจะแต่งตั้งนายทหารสัญญาบัตรเข้าอำนวยการเดินทางก็ได้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามมาตรานี้

มาตรา 51[แก้ไข]

เมื่อมีความจำเป็นในการป้องกันประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเข้ายึดอสังหาริมทรัพย์ไว้ชั่วคราวเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการทหาร และให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารออกใบรับให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์

เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการยึดอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง

ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเห็นเป็นการสมควร อาจจ่ายค่าทดแทนการใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นโดยให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่แห่งท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่เป็นผู้กำหนดค่าทดแทนตามราคาหรือค่าเช่าปานกลางในท้องที่นั้น

มาตรา 52[แก้ไข]

การเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติ ผู้ใดทราบหมายเกณฑ์แล้วไม่ปฏิบัติตามหมายเกณฑ์ หรือเจ้าพนักงานปกครองท้องที่คนใดไม่ออกหมายเกณฑ์ตามที่ได้รับใบเรียกเกณฑ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจใช้กำลังบังคับได้ตามความจำเป็น และมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปและค้นได้ทุกเวลาเพื่อให้สำเร็จตามที่ได้เรียกเกณฑ์
(2) เข้ายึดหรือครอบครองทรัพย์สินตามหมายเกณฑ์หรือใบเรียกเกณฑ์โดยออกใบรับให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง

ผู้ถูกเกณฑ์แรงงานหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 53[แก้ไข]

ผู้ถูกเกณฑ์แรงงานซึ่งต้องทำงานอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำเป็นปกติและได้รับค่าจ้างจากนายจ้างสำหรับงานนั้นอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน

มาตรา 54[แก้ไข]

การเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นผู้จ่ายค่าทดแทนการเกณฑ์แรงงาน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ค่าทดแทนการเกณฑ์แรงงานที่เหลืออยู่ให้จ่ายให้เสร็จสิ้นในวันเลิกเกณฑ์ เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายได้ตามเวลาที่กำหนด ให้มอบใบสำคัญแทนตัวเงินไปก่อนแล้วให้ดำเนินการจ่ายให้ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้

มาตรา 55[แก้ไข]

การเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการในการจ่าย ค่าทดแทนหรือค่าเสียหายสำหรับทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ให้เป็นที่สุด ในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายค่าทดแทนหรือค่าเสียหายให้ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ให้มอบใบสำคัญแทนตัวเงินไปก่อน แล้วดำเนินการจ่ายให้ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้

มาตรา 56[แก้ไข]

ให้นำบทบัญญัติมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 39 และมาตรา 41 ในหมวด 2 ว่าด้วยการเกณฑ์ในเวลาปกติมาใช้บังคับในหมวด 3 ว่าด้วยการเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติโดยอนุโลม

หมวด 4 บทกำหนดโทษ[แก้ไข]

มาตรา 57[แก้ไข]

เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในการปฏิบัติการตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 58[แก้ไข]

ผู้ใดออกใบเรียกเกณฑ์ หรือเรียกเกณฑ์โดยทางวาจา หรือโดยเครื่องมือสื่อสาร โดยไม่มีอำนาจให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 59[แก้ไข]

ผู้ใดออกหมายเกณฑ์ หรือดำเนินการเกณฑ์โดยทางวาจา หรือโดยเครื่องมือสื่อสาร โดยไม่มีอำนาจให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 60[แก้ไข]

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้ใดออกใบเรียกเกณฑ์ หรือเรียกเกณฑ์โดยทางวาจา หรือโดยเครื่องมือสื่อสารซึ่งสิ่งที่เกณฑ์ไม่ได้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือสิ่งที่ทางราชการทหารไม่มีความต้องการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 61[แก้ไข]

เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ผู้ใดออกหมายเกณฑ์ หรือดำเนินการเกณฑ์โดยทางวาจา หรือโดยเครื่องมือสื่อสารซึ่งสิ่งที่เกณฑ์ไม่ได้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือสิ่งที่ทางราชการทหารไม่มีความต้องการต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 62[แก้ไข]

เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ผู้ใดได้รับใบเรียกเกณฑ์แล้ว ขัดขืนหรือละเลยไม่ออกหมายเกณฑ์อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 20 หรือกระทำการอย่างใดอันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 63[แก้ไข]

ผู้ถูกเกณฑ์แรงงานผู้ใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่ไปพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 45 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 64[แก้ไข]

ผู้ถูกเกณฑ์แรงงานผู้ใดละทิ้งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือไปเสียจากหน้าที่นั้นโดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 65[แก้ไข]

เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินผู้ใดไม่นำทรัพย์สินที่ถูกเกณฑ์ไปส่งตามกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในหมายเกณฑ์ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ทราบตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 66[แก้ไข]

เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ผู้ใดไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้มีอำนาจตามมาตรา 17 ทราบตามมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 67[แก้ไข]

เจ้าพนักงานปกครองท้องที่ผู้ใดไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารทราบ หรือไม่จัดหาทรัพย์สินส่งมอบแทนตามมาตรา 29 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 68[แก้ไข]

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 69[แก้ไข]

เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นในการเกณฑ์ให้กระทำหรือละเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ ด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำหรือปรับ

มาตรา 70[แก้ไข]

ผู้ใดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามการเกณฑ์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขัดขืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามการเกณฑ์นั้น หรือขัดขวางเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือเจ้าพนักงานปกครองท้องที่ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือให้ถ้อยคำซึ่งตนรู้ว่าเป็นเท็จในข้อสาระสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามการเกณฑ์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 71[แก้ไข]

ถ้าการกระทำความผิดตามหมวดนี้ เป็นการกระทำในกรณีการเกณฑ์ในเวลาไม่ปกติ ผู้กระทำต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ เป็นทวีคูณ


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ[แก้ไข]

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติเกณฑ์พลเมืองอุดหนุนราชการทหารในเวลาปกติ หรือเวลาสงครามและในเวลาที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2464 ได้ประกาศใช้บังคับมานานแล้ว ชื่อตำแหน่งเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกไปแล้ว ถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้อยู่ยังไม่รัดกุมและชัดเจนและเป็นการสมควรที่จะแก้ไขปรับปรุงวิธีการเกณฑ์ให้เหมาะสมกับกาลสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เอกสารประกอบ[แก้ไข]

  • เอกสาร pdf

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104/ตอนที่ 270/ฉบับพิเศษ หน้า 1/28 ธันวาคม 2530