พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒/ปัจจุบัน

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


กีฬามวย


พ.ศ. ๒๕๔๒


_______________


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยกีฬามวย

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. ๒๕๔๒”


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติหมวด ๒ และหมวด ๓ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ[1]


มาตรา ๓

ในพระราชบัญญัตินี้

“กีฬามวย” หมายความว่า การแข่งขันชกมวยตามกติกาของศิลปะมวยไทยหรือกีฬามวยสากล

“นักมวย” หมายความว่า ผู้ซึ่งเข้าแข่งขันกีฬามวย

“สนามมวย” หมายความว่า อาคาร สถานที่ หรือบริเวณอื่นใดสำหรับใช้ในการแข่งขันกีฬามวยเป็นปกติ

“นายสนามมวย” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่จัดการหรือดำเนินกิจการสนามมวย

“ผู้จัดการนักมวย” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนและจัดการดูแลผลประโยชน์ของนักมวยโดยได้รับค่าตอบแทน

“ผู้จัดรายการแข่งขันมวย” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการแข่งขันกีฬามวย

“หัวหน้าค่ายมวย” หมายความว่า ผู้เป็นเจ้าของค่ายมวย

“ผู้ตัดสิน” หมายความว่า ผู้ห้ามมวยบนเวที และผู้ให้คะแนนในการแข่งขันกีฬามวย

“ผู้ฝึกสอน” หมายความว่า ผู้ซึ่งทำหน้าที่ฝึกสอนศิลปะมวยไทยหรือมวยสากล

“การล้มมวย” หมายความว่า การเข้าแข่งขันกีฬามวยโดยแสร้งชกแพ้ และให้หมายรวมถึงการเข้าแข่งขันกีฬามวยโดยได้มีการกำหนดผลการแข่งขันไว้เป็นการล่วงหน้า หรือมีเจตนาเพื่อให้ผลการแข่งขันกีฬามวยเป็นไปตามที่กำหนดผลล่วงหน้า

“เงินรางวัล” หมายความว่า เงินที่ให้เป็นค่าตอบแทนแก่นักมวยในการแข่งขันกีฬามวยแต่ละครั้งตามที่ได้ทำความตกลงไว้

“บุคคลในวงการกีฬามวย” หมายความว่า นักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน ผู้จัดการนักมวย หัวหน้าค่ายมวย นายสนามมวย และผู้จัดรายการแข่งขันมวย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกีฬามวย

“การกีฬาแห่งประเทศไทย” หมายความว่า การกีฬาแห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย

“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย และผู้ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยมอบหมาย

“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๔[2]

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นค่าธรรมเนียม กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และจรรยาบรรณของบุคคลในวงการกีฬามวย และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้



หมวด ๑


คณะกรรมการกีฬามวย


_________________



มาตรา ๕[3]

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกีฬามวย” ประกอบด้วย รัฐมนตรีซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงแรงงาน นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคน และให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยเป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยคำแนะนำของประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับกีฬามวย ในจำนวนนี้ ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีภูมิลำเนาในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศอย่างน้อยสี่คน


มาตรา ๖

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไป จนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ทั้งนี้ ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน


มาตรา ๗

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑)   ตาย

(๒)   ลาออก

(๓)[4]   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้พ้นจากตำแหน่ง ตามคำแนะนำของประธานกรรมการและกรรมการ ซึ่งมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด

(๔)   เป็นบุคคลล้มละลาย

(๕)   เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๖)   ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ


มาตรา ๘

การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด


มาตรา ๙

ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)   ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ และเผยแพร่กีฬามวย

(๒)   วางแผนและกำหนดมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับกีฬามวย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักมวย

(๓)   พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และจรรยาบรรณของบุคคลในวงการกีฬามวย

(๔)   พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

(๕)   ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการ

(๖)   ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

(๗)   ปฏิบัติการอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย


มาตรา ๑๐

ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

ให้นำมาตรา ๘ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม


มาตรา ๑๑

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมีอำนาจเรียกบุคคลในวงการกีฬามวยมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น หรือให้บุคคลดังกล่าวส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร



หมวด ๒


การส่งเสริมและการคุ้มครอง


__________________



มาตรา ๑๒

คณะกรรมการมีอำนาจให้ทุน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อส่งเสริมสวัสดิการแก่นักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และหัวหน้าค่ายมวยที่เป็นบุคคลธรรมดา ในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุเจ็บป่วยจากการแข่งขันกีฬามวย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ทุน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๑๓

คณะกรรมการมีอำนาจให้ทุน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ และเผยแพร่กิจกรรมกีฬามวย

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ทุน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๑๔

ในการจัดการแข่งขันกีฬามวยแต่ละครั้ง นายสนามมวยและผู้จัดรายการแข่งขันมวยต้องจัดให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักมวย อย่างน้อยตามมาตรฐานดังต่อไปนี้

(๑)   จัดให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจสุขภาพของนักมวยแต่ละคนก่อนการแข่งขันกีฬามวย เพื่อรับรองว่า นักมวยมีสุขภาพสมบูรณ์พร้อมทำการแข่งขัน

(๒)   จัดให้มีแพทย์แผนปัจจุบันหรือพยาบาลวิชาชีพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ประจำสนามมวยในขณะที่มีการแข่งขัน

(๓)   จัดให้มีการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลอันเนื่องมาจากการแข่งขันกีฬามวยสำหรับนักมวย

การจัดให้มีมาตรการเพื่อความปลอดภัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๑๕

ในการแข่งขันกีฬามวยแต่ละครั้ง ผู้จัดรายการแข่งขันมวย หัวหน้าค่ายมวย หรือผู้จัดการนักมวย ตามที่ได้ตกลงกัน แล้วแต่กรณี ต้องจ่ายเงินรางวัลให้แก่นักมวย ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าตอบแทนรวมกันทั้งหมดที่ผู้จัดรายการแข่งขันมวยตกลงจ่ายให้แก่นักมวย หัวหน้าค่ายมวย และผู้จัดการนักมวย

ความตกลงเกี่ยวกับส่วนแบ่งค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อนักมวย หัวหน้าค่ายมวย ผู้จัดการนักมวย และผู้จัดรายการแข่งขันมวยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการแบ่งและการจ่ายเงินรางวัล ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

บรรดาทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้แก่นักมวยโดยตรงในการแข่งขันกีฬามวย ให้ตกเป็นของนักมวยทั้งหมด ข้อตกลงใด ๆ เพื่อแบ่งปันทรัพย์สินดังกล่าวจากนักมวย ให้ตกเป็นโมฆะ

บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่การแข่งขันกีฬามวยบางประเภท ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๖ กฎกระทรวงดังกล่าวให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินรางวัลไว้ด้วย


มาตรา ๑๖

ให้คณะกรรมการจัดให้มีระเบียบและกติกามาตรฐานสำหรับการแข่งขันกีฬามวย เพื่อใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬามวย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ ความปลอดภัยของนักมวย และจารีตประเพณีในการแข่งขันกีฬามวย



หมวด ๓


การควบคุม


_______________



มาตรา ๑๗

ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยขึ้น มีฐานะเป็นหน่วยงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย


มาตรา ๑๘

ให้ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ แต่งตั้งพนักงานของการกีฬาแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง ระดับไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง เป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย

ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างในสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย


มาตรา ๑๙

สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดมีหน้าที่ช่วยนายทะเบียนในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ตามที่นายทะเบียนมอบหมาย โดยความเห็นชอบของผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย


มาตรา ๒๐

ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลในวงการกีฬามวย และออกบัตรประจำตัวนักมวย ผู้ฝึกสอน และหัวหน้าค่ายมวย

ทะเบียนประวัติบุคคลในวงการกีฬามวย และแบบบัตรประจำตัวนักมวย ผู้ฝึกสอน และหัวหน้าค่ายมวยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๒๑

ในการควบคุมกีฬามวยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่นายทะเบียนมอบหมาย มีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑)   เข้าไปในสนามมวยในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่ เพื่อตรวจสอบใบอนุญาต สภาพและลักษณะของสถานที่ทำการ เครื่องมือเครื่องใช้และยานพาหนะเพื่อการพยาบาลที่ใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬามวย ตลอดจนเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬามวย

(๒)   เรียกบุคคลในวงการกีฬามวยหรือตัวแทนมาให้ถ้อยคำ หรือชี้แจง หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬามวยเพื่อตรวจสอบ


มาตรา ๒๒

การมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๑ ให้นายทะเบียนมอบหมายเป็นหนังสือ


มาตรา ๒๓

ในการปฏิบัติหน้าที่ นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง


มาตรา ๒๔

เมื่อนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่นายทะเบียนมอบหมายพบว่า มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการตามมาตรา ๓๙ หรือมาตรา ๔๐ แล้วแต่กรณี แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ


มาตรา ๒๕

ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา


มาตรา ๒๖

ห้ามมิให้ผู้ใดจัดแข่งขันกีฬามวย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน เว้นแต่ในกรณีการจัดการแข่งขันกีฬามวยบางประเภทตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬามวยสำหรับนักมวยที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ จะกำหนดได้เฉพาะเมื่อมีอุปกรณ์ในการป้องกันความปลอดภัยในการแข่งขัน

ในการออกใบอนุญาต นอกจากต้องปฏิบัติตามวรรคสองแล้ว นายทะเบียนอาจกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ ได้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้การจัดการแข่งขันกีฬามวยเป็นไปตามระเบียบและกติกาที่คณะกรรมการกำหนด

การจัดการแข่งขันกีฬามวยที่ไม่ต้องขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบก่อน และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดตามมาตรา ๑๖


มาตรา ๒๗

ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งสนามมวยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๒๖ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๒๘

ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสนามมวยมีสิทธิที่จะจัดการแข่งขันกีฬามวยได้ทุกประเภท โดยไม่ต้องขออนุญาตจัดการแข่งขันกีฬามวยตามมาตรา ๒๖

ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสนามมวยดำเนินกิจการอื่นในสนามมวย เว้นแต่เป็นกิจการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หรือได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเป็นการเฉพาะ


มาตรา ๒๙

นักมวยที่จะจดทะเบียนได้ต้อง

(๑)   มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์

(๒)   ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคที่คณะกรรมการกำหนด

(๓)   ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๔)   ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า จะนำมาซึ่งความเสียหายแก่วงการกีฬามวย

ผู้เยาว์ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้ว อาจทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับการเข้าแข่งขันกีฬามวยได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมอีก


มาตรา ๓๐

นักมวยที่จดทะเบียนแล้ว ต้องสังกัดค่ายมวยใดค่ายมวยหนึ่งในการชกแต่ละครั้งแต่เพียงค่ายมวยเดียว และต้องปฏิบัติตามระเบียบของค่ายมวยที่ได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการโดยเคร่งครัด

ข้อตกลงจำกัดไม่ให้นักมวยย้ายสังกัดค่ายมวยเป็นโมฆะ เว้นแต่จะเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๓๑

ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และหัวหน้าค่ายมวยต้อง

(๑)   ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคที่คณะกรรมการกำหนด

(๒)   ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๓)   ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่วงการกีฬามวย


มาตรา ๓๒

ให้นักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และหัวหน้าค่ายมวยมาจดทะเบียนต่อนายทะเบียน และขอมีบัตรประจำตัวนักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน หรือหัวหน้าค่ายมวย แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ผู้ที่จดทะเบียนเป็นนักมวยด้านศิลปะมวยไทย นักมวยด้านมวยสากล ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และหัวหน้าค่ายมวย ต้องมีสัญชาติไทย และมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการกำหนด

การจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นนักมวย ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน


มาตรา ๓๓

ผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นนักมวยด้านศิลปะมวยไทย จะเข้าแข่งขันกีฬามวยด้านมวยสากลไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนเป็นนักมวยสากลด้วย


มาตรา ๓๔

นักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน หรือหัวหน้าค่ายมวยที่จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา ๓๒ หากภายหลังปรากฏว่า บุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๙ หรือมาตรา ๓๑ แล้วแต่กรณี ให้นายทะเบียนเพิกถอนทะเบียนดังกล่าว


มาตรา ๓๕

ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการนักมวย นายสนามมวย และผู้จัดรายการแข่งขันมวย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

การขอรับใบอนุญาต คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และแบบใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


'มาตรา ๓๖

ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งการอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๕ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับคำขอรับใบอนุญาต

ในกรณีที่นายทะเบียนไม่อนุญาต ให้แสดงเหตุผลที่ไม่อนุญาตไว้ในหนังสือ แจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบด้วย


มาตรา ๓๗

ใบอนุญาตตามมาตรา ๒๗ ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต และใบอนุญาตตามมาตรา ๓๕ ให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๗ และมาตรา ๓๕ ซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว ให้กระทำการในเรื่องที่ได้รับอนุญาตต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียน

การขอต่ออายุใบอนุญาต และการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


มาตรา ๓๘

ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่ต่ออายุใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการ โดยยื่นเป็นหนังสือต่อนายทะเบียน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่ออกใบอนุญาตหรือการไม่ต่ออายุใบอนุญาตจากนายทะเบียน และให้นายทะเบียนเสนอหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด


มาตรา ๓๙

ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่า ผู้ได้รับจดทะเบียนตามมาตรา ๓๒ หรือผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๓๕

(๑)   ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ

(๒)   ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้

ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนทะเบียนเป็นการชั่วคราว หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ โดยมีกำหนดระยะเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินครั้งละหกเดือน

ผู้ได้รับจดทะเบียนหรือผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกเพิกถอนทะเบียนเป็นการชั่วคราวหรือถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต จะกระทำการใด ๆ ตามที่ได้รับจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตในระหว่างนั้นไม่ได้


มาตรา ๔๐

เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนว่า ผู้ได้รับจดทะเบียนตามมาตรา ๓๒ หรือผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๓๕ ผู้ใดเคยถูกเพิกถอนทะเบียนเป็นการชั่วคราว หรือถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๙ มาแล้ว และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๙ (๑) หรือ (๒) อีก ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนทะเบียนหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาต สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตนั้น ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ส่งคืนใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งดังกล่าว


มาตรา ๔๑

ผู้ได้รับจดทะเบียนตามมาตรา ๓๒ หรือผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๓๕ ซึ่งถูกเพิกถอนทะเบียนเป็นการชั่วคราว ถูกเพิกถอนทะเบียน ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต แล้วแต่กรณี มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ โดยยื่นเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งดังกล่าว และให้นายทะเบียนเสนอหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

การอุทธรณ์การเพิกถอนทะเบียนเป็นการชั่วคราว การเพิกถอนทะเบียน คำสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับดังกล่าว เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับ


มาตรา ๔๒

ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตอีกจนกว่าจะพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต


มาตรา ๔๓

นายสนามมวยมีสิทธิโดยกฎหมายที่จะจัดให้นักมวยแข่งขันกีฬามวยได้


มาตรา ๔๔

นายสนามมวยที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๕ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)   ดำเนินการหรือจัดการแข่งขันกีฬามวยให้เป็นไปตามระเบียบและกติกาการแข่งขันกีฬามวยซึ่งออกโดยคณะกรรมการตามมาตรา ๑๖

(๒)   สอดส่องดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยในสนามมวยที่ได้รับอนุญาตนั้น

(๓)   จัดทำทะเบียนประวัตินักมวย ผู้จัดรายการแข่งขันมวย ที่แข่งขันในสนามมวยนั้น ส่งให้นายทะเบียนตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด

(๔)   จัดทำบัญชีการรับจ่ายเงินรางวัล ตลอดจนควบคุมการรับจ่ายเงินรางวัลของนักมวยที่แข่งขันในสนามมวยนั้นตามมาตรา ๑๕

(๕)   สนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือบุคคลในวงการกีฬามวย


มาตรา ๔๕

ผู้ตัดสินมีหน้าที่ตัดสินการแข่งขันกีฬามวยตามระเบียบและกติกาซึ่งออกโดยคณะกรรมการตามมาตรา ๑๖


มาตรา ๔๖

หัวหน้าค่ายมวยต้องจัดการค่ายมวยให้มีมาตรฐาน และจัดให้มีสวัสดิการแก่นักมวย ผู้ฝึกสอน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในค่ายมวยที่ตนเองดูแลรับผิดชอบ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


มาตรา ๔๗

ผู้จัดรายการแข่งขันมวยและผู้จัดการนักมวยที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๕ นอกจากจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑)   ให้ความร่วมมือกับนายสนามมวยในการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด

(๒)   ปฏิบัติตามระเบียบของสนามมวยที่คณะกรรมการเห็นชอบ


มาตรา ๔๘

ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่นักมวย หรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้นักมวยกระทำการล้มมวย


มาตรา ๔๙

ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ตัดสิน หรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินไม่ตัดสินตามระเบียบและกติกาการแข่งขันอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม


มาตรา ๕๐

ห้ามมิให้นักมวยรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้นักมวยกระทำการล้มมวย


มาตรา ๕๑

ห้ามมิให้ผู้ตัดสินรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินไม่ตัดสินตามระเบียบและกติกาการแข่งขันอย่างถูกต้องเที่ยงธรรม



หมวด ๔


กองทุนกีฬามวย


_______________



มาตรา ๕๒

ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนกีฬามวย” ในการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม คุ้มครอง และควบคุมการกีฬามวย

กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(๑)   เงินอุดหนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย

(๒)   เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(๓)   ดอกผลและผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน

(๔)   เงินที่ได้จากค่าธรรมเนียมและค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้

(๕)   รายได้ที่เกิดจากการดำเนินการกองทุน

(๖)   เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้

ให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุน และดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ โดยจัดให้มีระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการ

ทุกปี ให้การกีฬาแห่งประเทศไทยจัดทำงบดุล และบัญชีทำการของกองทุน ส่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอคณะกรรมการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ให้คณะกรรมการเป็นผู้จัดการกองทุน

การบริหาร การจัดหาประโยชน์ และการใช้จ่ายเงินกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด



หมวด ๕


บทกำหนดโทษ


_______________



มาตรา ๕๓

ผู้ใด

(๑)   ไม่มาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสาร หรือหลักฐาน หรือสิ่งใดตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ นายทะเบียน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา ๑๑ ประกอบกับมาตรา ๙ (๔) และมาตรา ๒๑ (๒) โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือ

(๒)   ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๑ (๑)

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๕๔

ผู้จัดรายการแข่งขันมวย หัวหน้าค่ายมวย หรือผู้จัดการนักมวย ซึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้จัดรายการแข่งขันมวย หัวหน้าค่ายมวย หรือผู้จัดการนักมวย ซึ่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๕๕

ผู้ใดจัดการแข่งขันกีฬามวยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๕๖

ผู้จัดรายการแข่งขันมวยหรือนายสนามมวยผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอนุญาตที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๒๖ วรรคสาม ซึ่งเป็นเงื่อนไขในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอนุญาตที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา ๒๖ วรรคสาม ซึ่งไม่ใช่เงื่อนไขในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท


มาตรา ๕๗

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๒๘ วรรคสอง หรือมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๕๘

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๕๙

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๖๐

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


มาตรา ๖๑

ผู้ใดปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นใด เพื่อให้นักมวยเสพย์หรือใช้ และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพหรือทำให้นักมวยเสื่อมถอยกำลังที่จะชกมวยได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



บทเฉพาะกาล


_______________



มาตรา ๖๒

ผู้ใดจัดตั้งสนามมวยอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะประกอบกิจการดังกล่าวต่อไป ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๒๗ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบกิจการดังกล่าวต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียน

ผู้จัดตั้งสนามมวยซึ่งได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต้องเลิกประกอบกิจการดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่อนุญาต


มาตรา ๖๓

ผู้ใดเป็นผู้จัดการนักมวย นายสนามมวย หรือผู้จัดรายการแข่งขันมวยอยู่แล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะเป็นผู้จัดการนักมวย นายสนามมวย หรือผู้จัดรายการแข่งขันมวย แล้วแต่กรณี ต่อไป ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๓๕ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้เป็นผู้จัดการนักมวย นายสนามมวย หรือผู้จัดรายการแข่งขันมวย แล้วแต่กรณีต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งการไม่อนุญาตจากนายทะเบียน



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี





อัตราค่าธรรมเนียม


_______________



๑.   ใบอนุญาตจัดตั้งสนามมวย ฉบับละ ๕,๐๐๐ บาท

๒.   ใบอนุญาตจัดการแข่งขันกีฬามวยเป็นกรณีเฉพาะคราว ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

๓.   ใบอนุญาตเป็นผู้จัดการนักมวย นายสนามมวย หรือผู้จัดรายการแข่งขันมวย ฉบับละ ๕๐๐ บาท

๔.   ใบแทนใบอนุญาตจัดตั้งสนามมวย ฉบับละ ๑,๐๐๐ บาท

๕.   ใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้จัดการนักมวย นายสนามมวย หรือผู้จัดรายการแข่งขันมวย ฉบับละ ๓๐๐ บาท

๖.   การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต





หมายเหตุ


เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกีฬามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้และเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งการแข่งขันมวยไทยได้กลายเป็นกีฬามวยที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมดูแลการแข่งขันมวย และส่งเสริมสนับสนุนกีฬามวยให้มีมาตรฐาน ดังนั้น สมควรให้มีกฎหมายเพื่อควบคุมกิจการดังกล่าว และเพื่อจัดให้มีสวัสดิการแก่นักมวยและบุคคลในวงการกีฬามวยที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๑๒๘ ก/หน้า ๑๑/๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๒
  2. มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕
  3. มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕
  4. มาตรา ๗ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕




ขึ้น ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๒

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"