ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการแห่งประเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
พระราชบัญญัติ
กู้เงินเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการแห่งประเทศ
พ.ศ. ๒๔๙๙

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๙
เป็นปีที่ ๑๑ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรจัดการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการแห่งประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการแห่งประเทศ พ.ศ. ๒๔๙๙"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้รัฐบาลมีอำนาจกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการแห่งประเทศ ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ในยอดเงินไม่เกินสองพันล้านบาท จะเป็นเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศสกุลใดก็ได้
มาตรา ๔ เพื่อให้การกู้เงินดั่งกล่าวสำเร็จลุล่วงไป ให้รัฐบาลมีอำนาจออกตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หรือตราสารอื่น เป็นคราวๆ ได้ตามความต้องการ
มาตรา ๕ ชนิด หน่วย และลักษณะของพันธบัตรและตราสารอื่นก็ดี ราคาและวิธีการออกพันธบัตรและตราสารอื่นก็ดี ให้กำหนดโดยกฎกะทรวง
มาตรา ๖ วิธีการจ่ายดอกเบี้ยและชำระเงินต้นของพันธบัตรและตราสารอื่นก็ดี ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการออกและปฏิบัติเงินกู้ตามอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้ก็ดี ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ

[แก้ไข]
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการแห่งประเทศ พ.ศ. ๒๔๙๖ จะหมดอายุลง ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๘ แล้ว และประเทศยังคงมีความต้องบำรุงในด้านต่างๆ คือ ทางการคมนาคม การทาง และการลงทุนทางเศรษฐกิจและวิวัฒนาการการพลังงานและการลงทุนอย่างอื่น เงินได้ทางภาษีอากรก็ต้องใช้จ่ายในทางป้องกันประเทศ การศึกษา การปกครอง การรักษาความสงบ การสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลนี้ไม่มีนโยบายที่จะเรียกเก็บภาษีอากรจนรุนแรงเกินไป แต่ก็ปรารถนาจะเร่งรัดการพิพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่างๆ ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องเสนอขอกู้เงิน ตามพระราชบัญญัตินี้มาในวงเงินกู้ไม่เกิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท

อ้างอิง

[แก้ไข]

ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"