ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 (รก.)

จาก วิกิซอร์ซ
ดูฉบับอื่นของงานนี้ที่ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484
วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๔
เล่ม ๕๘ หน้า ๑๓๙๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
คณะสงฆ์
พุทธศักราช ๒๔๘๔

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
เป็นปีที่ ๘ ในรัชชกาลปัจจุบัน

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

บททั่วไป

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔"

มาตราให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตราให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
สมเด็จพระสังฆราช

มาตราพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

มาตราสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก และทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตราสมเด็จพระสังฆราชทรงบัญญัติสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา

มาตราสมเด็จพระสังฆราชทรงบริหารการคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี

มาตราสมเด็จพระสังฆราชทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร

มาตรา๑๐ถ้าไม่มีสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระสังฆราชไม่ทรงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราว ให้สังฆนายกหรือสังฆมนตรีซึ่งรักษาการแทนทำหน้าที่บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช

หมวด ๒
สังฆสภา

มาตรา๑๑สังฆสภา ประกอบด้วย สมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่เกินสี่สิบห้ารูป คือ

(๑)พระเถระชั้นธรรมขึ้นไป

(๒)พระคณาจารย์เอก

(๓)พระเปรียญเอก

แต่ทั้งนี้ ถ้ามีจำนวนเกินกว่าที่กำหนด ให้เป็นสมาชิกตามลำดับ (๑) (๒) (๓) และตามลำดับอาวุโส

มาตรา๑๒ทุกคราวสมัยประชุมสามัญ สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งสมาชิกในสังฆสภา ตามมติของสังฆสภา ให้เป็นประธานสภาหนึ่งรูป เป็นรองประธานหนึ่งรูปหรือหลายรูปก็ได้

ในการตั้งประธานและรองประธานสังฆสภา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามรับสนอง

มาตรา๑๓ประธานสังฆสภามีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับ รองประธานมีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธาน ในเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ในขณะที่ยังมิได้ตั้งประธานและรองประธาน หรือในเมื่อประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกเลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธานการประชุมในคราวประชุมนั้น

มาตรา๑๔ในการประชุมสังฆสภาทุกคราว ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุมได้

ในการประชุมสังฆสภาทุกคราว ถ้าไม่มีข้อขัดข้องทางพระวินัย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือผู้แทน จะเข้าฟังการประชุมด้วยก็ได้ และจะเสนอคำชี้แจงอย่างใดในที่ประชุมนั้นได้

มาตรา๑๕สมาชิกภาพแห่งสังฆสภาสิ้นสุดลงเมื่อ

(๑)ถึงมรณภาพ

(๒)พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

(๓)ลาออก

(๔)สังฆสภาวินิจฉัยให้ออก โดยคะแนนเสียงเกินกว่าสองในสามของสมาชิกที่มาประชุม

มาตรา๑๖ญัตติที่จะรับเข้าปรึกษาในที่ประชุมสังฆสภานั้น จะเสนอได้สามทาง คือ ทางคณะสังฆมนตรีหนึ่ง ทางกระทรวงศึกษาธิการหนึ่ง และทางสมาชิกสังฆสภาหนึ่งแต่ญัตติที่เสนอทางสมาชิกสังฆสภานั้น ต้องให้สังฆนายกรับรอง

มาตรา๑๗การลงมติข้อปรึกษานั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในพระราชบัญญัตินี้ หรือในพระธรรมวินัยให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

สมาชิกรูปหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากันให้ประธานที่ประชุมมีสิทธิชี้ขาดให้เป็นไป ทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือจะให้ระงับเรื่องนั้นไว้ก็ได้

แต่การตีความพระธรรมวินัย ถ้ามีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางรักษาพระธรรมวินัยให้เคร่งครัดโดยไม่ต้องลงมติ

มาตรา๑๘ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง หรือหลายสมัยแล้วแต่สภาจะกำหนด สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ให้มีกำหนดเวลาไม่เกินสามสิบวัน แต่สมเด็จพระสังฆราชจะโปรดให้ขยายเวลาออกไปก็ได้วันเริ่มสมัยประชุมครั้งแรกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนด

มาตรา ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชทรงเรียกประชุมสังฆสภาตามสมัยประชุมและทรงเปิดปิดประชุม

การเปิดประชุม สมเด็จพระสังฆราชจะเสด็จมาทรงทำ หรือจะโปรดให้สังฆนายกทำแทนก็ได้

มาตรา ๒๐ เมื่อเป็นการจำเป็น สมเด็จพระสังฆราชจะทรงเรียกประชุมวิสามัญสังฆสภาก็ได้

อนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชจะทรงเรียกประชุมวิสามัญสังฆสภา เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการร้องขอ

ในการนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามรับสนอง

มาตรา ๒๑ สังฆาณัติย่อมบัญญัติได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดวิธีการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

(๒) กิจการที่มีบทกฎหมายกำหนดว่าให้ทำเป็นสังฆาณัติ

มาตรา ๒๒ สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวง

ข้อบังคับและระเบียบต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัย

สังฆาณัติ จะบัญญัติความผิดและกำหนดทัณฑกรรมแก่บรรพชิตผู้ประพฤติล่วงละเมิดพระวินัยและสังฆาณัติไว้ ให้เป็นโสดหนึ่งต่างหากจากโทษตามวินัยก็ได้

มาตรา ๒๓ ทัณฑกรรมที่จะบัญญัติไว้ในสังฆาณัติ เกี่ยวด้วยการปฏิบัติล่วงละเมิดพระวินัย และสังฆาณัตินั้นให้กำหนดได้เจ็ดสถานดังนี้

(๑) ให้สึกและห้ามอุปสมบท

(๒) ให้สึก

(๓) ให้ปัพพาชนียกรรม

(๔) ให้พักหรือเวนคืนตำแหน่งหน้าที่

(๕) ให้กักบริเวณ

(๖) ให้ทำงานภายในวัด

(๗) ให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษ

มาตรา ๒๔ เมื่อสังฆสภาได้ร่างสังฆาณัติขึ้นสำเร็จแล้ว ให้สังฆนายกนำขึ้นถวายสมเด็จพระสังฆราชเพื่อลงพระนาม และเมื่อได้ประกาศในแถลงการณ์คณะสงฆ์แล้ว ให้ใช้บังคับได้

ถ้าสมเด็จพระสังฆราชไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างสังฆาณัตินั้น จะได้ประทานคืนมายังสังฆสภาภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่สังฆนายกนำขึ้นถวายก็ดี หรือมิได้ประทานคืนมาภายในสิบห้าวันนั้นก็ดี สังฆสภาจะต้องปรึกษากันใหม่และออกเสียงลงคะแนนลับ ถ้าและสังฆสภาลงมติตามเดิม ให้นำร่างสังฆาณัตินั้นขึ้นถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสังฆราชมิได้ลงพระนามภายในเจ็ดวันแล้วให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาดู ถ้าเห็นสมควรก็ให้นำร่างสังฆาณัตินั้นเสนอประธานสังฆสภาภายในเจ็ดวัน ในกรณีเช่นนี้ให้ประธานสังฆสภาลงนามประกาศสังฆาณัตินั้น ใช้บังคับได้

มาตรา ๒๕ สังฆสภามีอำนาจเลือกสมาชิกสังฆสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกพระภิกษุซึ่งเป็นสมาชิกสังฆสภา หรือมิได้เป็นสมาชิกสังฆสภาก็ตาม ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความอันอยู่ในวงงานของสังฆสภา หรือที่เกี่ยวกับการคณะสงฆ์

การประชุมคณะกรรมาธิการ จะต้องมีกรรมาธิการเข้าประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวน จึงเป็นองค์ประชุมได้

มาตรา ๒๖ สังฆสภามีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสังฆสภา เพื่อดำเนินการตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๗ การโฆษณาข้อความที่เกี่ยวกับการประชุมสังฆสภา คณะกรรมาธิการ สังฆสภา คณะสังฆมนตรี หรือคณะกรรมการที่คณะสังฆมนตรีตั้งขึ้นให้พิจารณาเป็นการลับ จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

หมวด ๓ คณะสังฆมนตรี

มาตรา ๒๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งสังฆมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยสังฆนายกรูปหนึ่ง และสังฆมนตรีอีกไม่เกินเก้ารูปในการตั้งคณะสังฆมนตรี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามรับสนอง

มาตรา ๒๙ สังฆนายกและสังฆมนตรีอย่างน้อยสี่รูป ต้องเลือกจากสมาชิกของสังฆสภา นอกนั้นจะเลือกจากพระภิกษุผู้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกของสังฆสภาก็ได้

สังฆมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกสังฆสภา ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแสดงความเห็นในสังฆสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

มาตรา ๓๐ สังฆนายกต้องรับผิดชอบในการบริหารการคณะสงฆ์ ส่วนสังฆมนตรีผู้ได้รับแต่งตั้งให้บริหารคองค์การใด ต้องรับผิดชอบในหน้าที่องค์การนั้น และสังฆมนตรีทุกรูปจะได้รับแต่งตั้งให้บริหารองค์การใดหรือไม่ก็ตาม ต้องรับผิดชอบร่วมกันในกิจการทั่วไปของคณะสังฆมนตรี

มาตรา ๓๑ คณะสังฆมนตรีต้องออกจากหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์ เมื่อได้รับหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์มาเป็นเวลาครบสี่ปีแล้ว หรือลาออกทั้งคณะ หรือความเป็นสังฆนายกได้สิ้นสุดลง คณะสังฆมนตรีที่ออกนั้น ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่าคณะสังฆมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

นอกจากนี้ ความเป็นสังฆมนตรีจะสิ้นสุดลงเฉพาะรูป เมื่อ

(๑) ถึงมรณภาพ

(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ

(๓) ลาออก

(๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถวายความเห็นให้ลาออก

มาตรา ๓๒ สมเด็จพระสังฆราชทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทรงตรากติกาสงฆ์ ตามที่ระบุไว้ในสังฆาณัติ

มาตรา ๓๓ ให้จัดระเบียบบริหารการคณะสงฆ์ส่วนกลาง เป็นองค์การต่างๆ คือ

(๑) องค์การปกครอง

(๒) องค์การศึกษา

(๓) องค์การเผยแผ่

(๔) องค์การสาธารณูปการ

นอกจากนี้ จะให้มีสังฆาณัติกำหนดให้มีองค์การอื่นเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ทุกองค์การ ต้องมีสังฆมนตรีรูปหนึ่ง เป็นผู้ว่าการบังคับบัญชารับผิดชอบ ถ้าจำเป็นจะมีสังฆมนตรีช่วยว่าการก็ได้

มาตรา ๓๔ ระเบียบการคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสังฆาณัติ

มาตรา ๓๕ ให้มีเจ้าคณะตรวจการในภาคต่างๆ ตามที่จะมีสังฆาณัติกำหนดไว้

เจ้าคณะตรวจการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมสั่งการ และแนะนำชี้แจงกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารคณะสงฆ์ให้เป็นตามพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กฎองค์การ กฎหมายข้อบังคับ และระเบียบ

มาตรา ๓๖ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๒ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๘ สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ และพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช อันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์นั้น ต้องมีสังฆมนตรีรูปหนึ่งลงนามรับสนอง

มาตรา ๓๗ การแต่งตั้ง ถอดถอน หรือโยกย้ายพระอุปัชฌายะและพระภิกษุอันเกี่ยวกับตำแหน่งการบริหารการคณะสงฆ์ ให้กระทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในสังฆาณัติ

หมวด ๔ วัด

มาตรา ๓๘ วัดมีสองอย่าง

(๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว

(๒) สำนักสงฆ์

มาตรา ๓๙ การสร้าง การตั้ง การรวม การโอน การย้าย และการยุบเลิกวัด ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้กระทำโดยพระบรมราชโองการ

มาตรา ๔๐ ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด มีดังนี้

(๑) ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดจนตลอดเขตวัดนั้น

(๒) ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

(๓) ที่กัลปนา คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัด หรือพระสาสนา

มาตรา ๔๑ ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ

มาตรา ๔๒ วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปหนึ่งหรือหลายรูปก็ได้

มาตรา ๔๓ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ ดังนี้

(๑) บำรุงรักษาจัดการวัดและสมบัติของวัดให้เป็นไปโดยระเบียบเรียบร้อยตามสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ

(๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีถิ่นที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ

(๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัย แก่บรรพชิตและคฤหัสถ์

(๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล

มาตรา ๔๔ เจ้าอาวาสมีอำนาจ ดังนี้

(๑) ห้ามบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่ในวัดนั้น

(๒) ขับไล่บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสให้ออกจากวัดนั้น

(๓) กระทำทัณฑกรรมแก่บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ที่มีถิ่นที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัดนั้น ให้ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซี่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ หรือระเบียบ

มาตรา ๔๕ บรรพชิตต้องมีสังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง และมีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

หมวด ๕ ศาสนสมบัติ

มาตรา ๔๖ ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท

(๑) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ทรัพย์สินของพระศาสนา ซึ่งยังมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง

(๒) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง

มาตรา ๔๗ การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลางให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ

มาตรา ๔๘ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำงบประมาณประจำปีของศาสนสมบัติกลาง เมื่อได้รับความเห็นชอบของคณะสังฆมนตรีแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้งบประมาณนั้นได้

มาตรา ๔๙ ศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามระเบียบซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะได้ตราไว้ด้วยความเห็นชอบของคณะสังฆมนตรี

หมวด ๖ คณะวินัยธร

มาตรา ๕๐ การพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะวินัยธร

มาตรา ๕๑ ระเบียบการแต่งตั้งคณะวินัยธรก็ดี ระเบียบวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ก็ดี ให้เป็นไปตามสังฆาณัติ

มาตรา ๕๒ คณะวินัยธรย่อมเป็นอิสระในการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและสังฆาณัติ

หมวด ๗ บทกำหนดโทษ

มาตรา ๕๓ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๗ มีความผิดต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามเดือน

มาตรา ๕๔ ผู้ใด

(๑) มิได้รับบรรพชาอุปสมบทโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย แต่บังอาจแต่งกายเลียนแบบบรรพชิต

(๒) หมดสิทธิ์ที่จะได้รับบรรพชาอุปสมบท แต่มารับบรรพชาอุปสมบทโดยปิดบังความจริง

(๓) ต้องปาราชิกแล้ว ไม่สละการแต่งกายอย่างเพศบรรพชิต

(๔) ต้องคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้สึกแล้วไม่สึก

มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน

มาตรา ๕๕ ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์ไทย หรือพระภิกษุสงฆ์คณะใดคณะหนึ่ง อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี

มาตรา ๕๖ ไวยาวักรผู้ใดกระทำการทุจริตต่อหน้าที่มีความผิดต้องระวางโทษฐานเจ้า พนักงานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตตามกฎหมายลักษณะอาญา

หมวด ๘

บทเบ็ดเตล็ด

มาตรา ๕๗ พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา

มาตรา ๕๘ การปกครองคณะสงฆ์อื่นนอกจากคณะสงฆ์ไทย ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง

มาตรา ๕๙ ให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสังฆสภาและสำนักงานเลขาธิการคณะสังฆมนตรี เพื่อการนี้ ให้มีสิทธิเสนอคำชี้แจงในคณะสังฆมนตรี

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๖๐ ก่อนที่จะได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้ครบถ้วน แต่อย่างช้าต้องไม่เกิดแปดปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้ออกสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช กฎกระทรวง หรือระเบียบใด ที่จะบังคับให้ต้องเปลี่ยนลัทธิอันได้นิยมนับถือและปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • พิบูลสงคราม
  • นายกรัฐมนตรี

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"