ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติความร่วมมือฯ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. 2555

จาก วิกิซอร์ซ
ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก
พ.ศ. ๒๕๕๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. ๒๕๕๕”

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราในพระราชบัญญัตินี้

“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบหกปีบริบูรณ์

“สิทธิควบคุมดูแลเด็ก” หมายความว่า สิทธิเกี่ยวกับการดูแลความเป็นอยู่ของเด็กและหมายความรวมถึงสิทธิกำหนดที่อยู่ของเด็ก ซึ่งสิทธิดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้โดยผลของกฎหมาย โดยคำสั่งของศาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นผลจากความตกลงที่มีผลตามกฎหมาย

“สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก” หมายความรวมถึงสิทธิในการนำเด็กออกไปจากถิ่นที่อยู่ปกติของเด็กไปยังสถานที่อื่นภายในระยะเวลาจำกัด

“ผู้ประสานงานกลาง” หมายความว่า อัยการสูงสุดหรือผู้ที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้

“ศาล” หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

มาตราให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงหรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน

กฎกระทรวงหรือระเบียบนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
ผู้ประสานงานกลาง


มาตราผู้ประสานงานกลางมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑)รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ร้องขอ

(๒)พิจารณาและวินิจฉัยว่า ควรจะให้หรือขอความช่วยเหลือหรือไม่

(๓)ให้ความร่วมมือกับผู้ประสานงานกลางหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของต่างประเทศ รวมทั้งติดตามและเร่งรัดเพื่อให้มีการส่งตัวเด็กกลับคืนโดยเร็วและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อื่นตามพระราชบัญญัตินี้

(๔)สืบหาแหล่งที่อยู่ของเด็กซึ่งถูกพาตัวมาหรือถูกกักตัวตามพระราชบัญญัตินี้

(๕)ดำเนินการเพื่อให้มีการปกป้องเด็กมิให้ได้รับอันตราย หรือป้องกันการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

(๖)ดำเนินการเพื่อให้มีการส่งตัวเด็กกลับคืนโดยสมัครใจหรือเพื่อระงับข้อขัดแย้งอย่างฉันมิตรและเป็นธรรม

(๗)แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก

(๘)ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายของประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

(๙)ดำเนินการเพื่อให้มีการส่งตัวเด็กกลับคืนหรือเพื่อให้การใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(๑๐)จัดให้มีพนักงานอัยการ ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมาย เพื่อให้มีการส่งตัวเด็กกลับคืนหรือเพื่อให้การใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(๑๑)ดำเนินการอย่างอื่นเพื่อให้การให้หรือการขอความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้บรรลุผล

การดำเนินการของผู้ประสานงานกลาง ต้องกระทำโดยรวดเร็ว โดยถือประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ และคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอหรือไม่ตามมาตรา ๑๓ ด้วย

หมวด ๒
การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ


ส่วนที่ ๑
การขอความช่วยเหลือ


มาตราผู้อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็กอาจขอให้ส่งตัวเด็กซึ่งถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้ในประเทศไทยกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่ปกติแห่งสุดท้ายของเด็กในต่างประเทศก่อนถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้ โดยยื่นคำร้องขอต่อผู้ประสานงานกลางของประเทศที่เด็กมีถิ่นที่อยู่ดังกล่าวหรือต่อผู้ประสานงานกลาง ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด

คำร้องขอความช่วยเหลือจะต้องระบุ

(๑)ข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานแสดงตัวบุคคลของผู้ร้องขอ ของเด็ก และของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้พาเด็กมาหรือกักตัวเด็กไว้

(๒)วัน เดือน ปีเกิดของเด็ก ในกรณีที่มี

(๓)เหตุผลที่สนับสนุนคำร้องขอ

(๔)ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ของเด็ก และข้อมูลแสดงตัวบุคคลที่น่าเชื่อว่าเด็กไปอยู่ด้วย

(๕)เอกสารหลักฐานอื่นตามระเบียบที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด

มาตราเมื่อได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือ ถ้าคำร้องขอนั้นมีรายละเอียดและเอกสารตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖ วรรคสอง และสามารถให้ความช่วยเหลือได้ ให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้หรือยื่นคำร้องขอต่อศาลต่อไป

ถ้าคำร้องขอนั้นไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะให้ความช่วยเหลือได้ หรืออาจให้ความช่วยเหลือได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำเป็นบางประการ หรือมีเหตุขัดข้อง ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือพร้อมด้วยเหตุผลหรือแจ้งเงื่อนไขที่จำเป็นหรือเหตุขัดข้องให้ผู้ร้องขอทราบ

ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเด็กอยู่ในรัฐอื่นที่เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยลักษณะทางแพ่งในการลักพาเด็กข้ามชาติ ให้ผู้ประสานงานกลางส่งคำร้องขอต่อไปยังผู้ประสานงานกลางของรัฐภาคีดังกล่าวโดยเร็ว พร้อมกับแจ้งให้ผู้ร้องขอทราบ

ผู้ประสานงานกลางอาจปฏิเสธคำร้องขอความช่วยเหลือ หากคำร้องขอนั้นกระทบกระเทือนอธิปไตย ความมั่นคง หรือสาธารณประโยชน์ที่สำคัญอื่น ๆ ของประเทศไทย

มาตราผู้ร้องขออาจขอทบทวนคำวินิจฉัยของผู้ประสานงานกลางที่ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือตามมาตรา ๗ ต่อศาลได้ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือ

คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลให้เป็นที่สุด

มาตราการปฏิเสธคำร้องขอความช่วยเหลือของผู้ประสานงานกลางตามมาตรา ๗ ไม่ตัดสิทธิของผู้อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็กที่จะยื่นคำร้องขอเพื่อใช้สิทธิของตนต่อศาลโดยตรงตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๑๐ในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้

(๑)ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและปลัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการสืบหาแหล่งที่อยู่ของเด็กตามที่ได้รับแจ้งจากผู้ประสานงานกลาง และแจ้งผลการดำเนินการไปยังผู้ประสานงานกลาง

(๒)ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งส่งตัวเด็กกลับคืน

(๓)ให้พนักงานอัยการดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามคำร้องขอความช่วยเหลือที่ผู้ประสานงานกลางส่งให้ เมื่อได้ทราบที่อยู่ของเด็กแล้วก่อนการดำเนินการในประการอื่น พนักงานอัยการอาจยื่นคำขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดย้ายเด็กไปเสียจากแหล่งที่อยู่ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(๔)หากมีเหตุอันควรเชื่อว่า จะมีการฝ่าฝืนคำสั่งศาลตาม (๓) หรือเด็กอาจได้รับอันตราย หรือมีการกระทำอื่นใดอันอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานอัยการยื่นคำขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานอัยการดำเนินการตามที่จำเป็น และสมควรเพื่อนำตัวเด็กส่งไว้ในความคุ้มครองดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และให้เจ้าพนักงานตำรวจให้ความช่วยเหลือพนักงานอัยการในการดำเนินการดังกล่าวเมื่อได้รับการร้องขอ

ส่วนที่ ๒
การคุ้มครองดูแลเด็กระหว่างการดำเนินการส่งตัวเด็กกลับคืน


มาตรา๑๑ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหน้าที่รับตัวเด็กตามมาตรา ๑๐ (๔) ไว้คุ้มครองดูแล จนกว่าการดำเนินการส่งตัวเด็กกลับคืนเสร็จสิ้น หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

การคุ้มครองดูแลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนด โดยให้รวมถึง

(๑)การจัดให้มีการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมทั้งการรักษาเยียวยาแก่เด็ก

(๒)การจัดที่พักอาศัย ที่หลับนอน เครื่องนุ่งห่ม ให้เหมาะสม ถูกสุขลักษณะและจัดอาหารให้ถูกอนามัยและเพียงพอแก่เด็ก

ส่วนที่ ๓
ศาลและกระบวนพิจารณา


มาตรา๑๒ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีและมีคำสั่งคำร้องขอหรือคำขอที่ได้ยื่นต่อศาลตามพระราชบัญญัตินี้

คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด

มาตรา๑๓การพิจารณาส่งตัวเด็กกลับคืน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑)กรณีที่นับแต่วันที่เด็กถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้จนถึงวันยื่นคำร้องขอต่อศาลมีระยะเวลายังไม่ถึงหนึ่งปี ให้ศาลพิจารณาว่าจะให้ส่งตัวเด็กกลับคืนหรือไม่โดยเร็ว

(๒)กรณีที่นับแต่วันที่เด็กถูกพาตัวมาหรือกักตัวไว้จนถึงวันยื่นคำร้องขอต่อศาลมีระยะเวลาตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ศาลจะพิจารณาสั่งให้ส่งตัวเด็กกลับคืนก็ได้ เว้นแต่เด็กได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่แล้ว

(๓)กรณีที่ปรากฏว่า เด็กได้ออกไปจากประเทศไทยแล้ว ศาลอาจให้รอการพิจารณาไว้ หรือยกคำร้องขอก็ได้

(๔)ศาลอาจยกคำร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืน ในกรณีดังต่อไปนี้

(ก)ผู้มีสิทธิควบคุมดูแลเด็กมิได้ควบคุมดูแลเด็กในขณะที่มีการพาตัวเด็กหรือกักตัวเด็กไว้ หรือได้ให้ความยินยอมในตอนแรกหรือยอมรับในภายหลังให้มีการพาตัวเด็กหรือกักตัวเด็กไว้

(ข)การส่งตัวเด็กกลับคืนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็กอย่างร้ายแรง หรือเด็กจะตกอยู่ในสภาวะอันไม่อาจทนได้

(ค)เด็กคัดค้านการส่งตัวเด็กกลับคืน และศาลเห็นว่า เด็กมีอายุและวุฒิภาวะที่ควรจะรับฟังคำคัดค้านนั้น

(ง)การส่งตัวเด็กกลับคืนจะขัดกับหลักพื้นฐานของประเทศไทยที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

(จ)เด็กอายุครบสิบหกปีบริบูรณ์

ให้ศาลนำข้อมูลเกี่ยวกับเด็กตามที่ผู้ประสานงานกลางหรือเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่เด็กมีถิ่นที่อยู่ปกติเสนอ มาประกอบการพิจารณาในการออกคำสั่งด้วย

มาตรา๑๔ในกรณีที่ศาลมิได้มีคำสั่งตามคำร้องขอภายในหกสัปดาห์นับแต่วันรับคำร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืน เมื่อได้รับคำขอจากผู้ร้องขอหรือผู้ประสานงานกลางของรัฐที่ร้องขอ ผู้ประสานงานกลางหรือพนักงานอัยการอาจขอทราบข้อเท็จจริง แล้วแจ้งให้ผู้ร้องขอหรือผู้ประสานงานกลางของรัฐที่ร้องขอทราบ

มาตรา๑๕ในกรณีที่มีการร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืนและมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิควบคุมดูแลเด็กด้วย หากศาลพิจารณาสั่งไม่ส่งตัวเด็กกลับคืนแล้ว จึงพิจารณาเรื่องสิทธิควบคุมดูแลเด็กต่อไป

มาตรา๑๖ในการพิจารณาคำร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืนนั้น ศาลอาจสั่งให้ผู้ร้องขอส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลหรือองค์กรอื่นที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในประเทศที่เด็กมีถิ่นที่อยู่ปกติที่แสดงว่า การพาตัวเด็กมาหรือกักตัวเด็กเป็นการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก มาใช้ประกอบการวินิจฉัยว่าจะส่งตัวเด็กกลับคืนหรือไม่ก็ได้

มาตรา๑๗การร้องขอความช่วยเหลือขอใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก ให้ทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด

บุพการี ผู้ปกครอง ผู้มีสิทธิควบคุมดูแลเด็ก ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ที่มีความสัมพันธ์กับเด็กในทำนองเดียวกัน เป็นผู้มีสิทธิร้องขอความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง

การดำเนินการเพื่อให้มีการใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอให้ส่งตัวเด็กกลับคืนในหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด ๓
การขอความช่วยเหลือไปยังต่างประเทศ


มาตรา๑๘ผู้ร้องขอในประเทศไทยที่ประสงค์จะร้องขอความช่วยเหลือไปยังต่างประเทศเพื่อขอใช้สิทธิควบคุมดูแลเด็กและสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เสนอเรื่องต่อผู้ประสานงานกลาง ตามระเบียบที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด และให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ ส่วนที่ ๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด ๔
เบ็ดเตล็ด


มาตรา๑๙ให้ศาลรับฟังคำร้องขอและเอกสารหลักฐานที่ยื่นต่อศาลตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา๒๐คำร้องขอหรือเอกสารอื่นที่ยื่นต่อผู้ประสานงานกลาง จะต้องทำเป็นภาษาของประเทศผู้ร้องขอ และจะต้องมีคำแปลเป็นภาษาไทยประกอบด้วย หรือในกรณีไม่สามารถทำคำแปลเป็นภาษาไทยได้ ให้ทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ

มาตรา๒๑พระราชบัญญัตินี้ไม่ตัดสิทธิของผู้มีสิทธิควบคุมดูแลเด็กและผู้มีสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กที่จะยื่นคำร้องขอโดยตรงต่อศาลตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

มาตรา๒๒การเรียกประกัน หลักประกัน หรือมัดจำ ไม่ว่าในลักษณะใด เพื่อเป็นการประกันการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของผู้ประสานงานกลางหรือการดำเนินคดีทางศาลตามพระราชบัญญัตินี้ จะกระทำมิได้

มาตรา๒๓ให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ประสานงานกลางในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ค่าใช้จ่ายในการส่งตัวเด็กกลับคืน

มาตรา๒๔บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา๒๕ในการยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งส่งตัวเด็กกลับคืนหรือให้บังคับใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็กตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ยื่นคำร้องขออาจขอรวมไปกับคำร้องขอที่ยื่นต่อศาล หรือจะยื่นคำขอในระยะใดระหว่างที่คดีตามคำร้องขอกำลังพิจารณาอยู่ในศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้พาตัวเด็กมาหรือกักตัวเด็ก หรือผู้ขัดขวางการใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นที่เกิดแก่ผู้ยื่นคำร้องขอหรือในนามของผู้ยื่นคำร้องขอ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการสืบหาแหล่งที่อยู่ของเด็ก ค่าทนายความหรือที่ปรึกษากฎหมาย และค่าใช้จ่ายในการส่งตัวเด็กกลับคืน

ให้ศาลมีคำสั่งตามคำขอในวรรคหนึ่งได้ตามที่เห็นว่ามีเหตุอันสมควร

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องคุ้มครองเด็กให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการถูกพาไปหรือกักตัวไว้โดยมิชอบ และส่งคืนเด็กกลับสู่ประเทศซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ปกติโดยเร็ว รวมทั้งรับรองให้มีการคุ้มครองสิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยลักษณะทางแพ่งในการลักพาเด็กข้ามชาติ ค.ศ. ๑๙๘๐ (Convention on the Civil Aspects of International Child Abduction, 1980) แล้ว จึงมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวในเรื่องต่าง ๆ เช่น ผู้ประสานงานกลาง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสืบหาแหล่งที่อยู่ของเด็ก ดำเนินการให้มีการส่งตัวเด็กกลับคืน และใช้สิทธิในการพบและเยี่ยมเยียนเด็ก หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเด็กชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งตัวเด็กกลับคืน ตลอดจนการกำหนดอำนาจหน้าที่และกระบวนการพิจารณาของศาล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"