พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๖ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติตามกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐"
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
- (๑) พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔
- (๒) พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๔
- (๓) พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๘
- (๔) คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
- (๕) คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๖ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
"พิมพ์" หมายความว่า ทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร รูปรอบ ตัวเลข แผนผังหรือภาพโดยวิธีการอย่างใด ๆ
"สิ่งพิมพ์" หมายความว่า สมุด หนังสือ แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใด ๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา
"หนังสือพิมพ์" หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงนิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นในทำนองเดียวกัน
"ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์
"ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า
"บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย
"เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์ ดังต่อไปนี้ คือ
- (๑) สิ่งพิมพ์ของส่วนราชการ หรือหน่วยงานรัฐ
- (๒) บัตร บัตรอวยพร ตราสาร แบบพิมพ์ และรายงานซึ่งใช้กันตามปกติในการส่วนตัว การสังคม การเมือง การค้า หรือสิ่งพิมพ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น เช่น แผ่นพับหรือแผ่นโฆษณา
- (๓) สมุดบันทึก สมุดแบบฝึกหัด หรือสมุดภาพระบายสี
- (๔) วิทยานิพนธ์ เอกสารคำบรรยาย หรือสูตรการเรียนการสอน หรือสิ่งพิมพ์อื่นทำนองเดียวกันที่เผยแพร่ในสถานศึกษา
มาตรา ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎหระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑ สิ่งพิมพ์
[แก้ไข]มาตรา ๗ ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์และเผยแพร่ในราชอาณาจักรต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
- (๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
- (๒) มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
- (๓) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- (๔) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่จะพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีหรือเป็นความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งด้วย
มาตรา ๘ ในสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์และพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้
- (๑) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์
- (๒) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา
- (๓) เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้
ข้อความตามวรรคหนึ่งให้พิมพ์ไว้ในลักษณะที่เห็นได้ชัด และบรรดาชื่อตาม (๑) และ (๒) มิให้เป็นชื่อย่อ หรือนามแฝง
สิ่งพิมพ์ตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงสิ่งพิมพ์ที่บันทึกด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขายหรือให้เปล่าด้วย
มาตรา ๙ ให้ผู้พิมพ์ส่งสิ่งพิมพ์ตามมาตรา ๘ จำนวนสองฉบับให้หอสมุดแห่งชาติภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันเผยแพร่
มาตรา ๑๐ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจขอคำสั่งโดยประการในราชกิจจานุเบกษา ห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใด ๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไวในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้
การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย
สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย
หมวด ๒ หนังสือพิมพ์
[แก้ไข]มาตรา ๑๑ หนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นภายในราชอาณาจักรต้องจดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
ผู้ยื่นจดแจ้งการพิมพ์หนังสือพิมพ์ต้องยื่นแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานซึ่งต้องมีรายการดังต่อไปนี้
- (๑) ชื่อ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์แล้วแต่กรณี
- (๒) ชื่อของหนังสือพิมพ์
- (๓) วัตถุประสงค์และระยะเวลาออกหนังสือพิมพ์
- (๔) ภาษาที่หนังสือพิมพ์จะออกใช้
- (๕) ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์หรือสถานที่พิมพ์
- (๖) ชื่อและที่ตั้งสำนักงานของหนังสือพิมพ์
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานตามวรรคสองแล้ว ให้รับจดแจ้งและออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้แก่ผู้ยื่นจดแจ้งโดยไม่ชักช้า เว้นแต่ผู้ยื่นจดแจ้งยังดำเนินการไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนำให้ผู้ยื่นจดแจ้งดำเนินการให้ถูกต้องและครบถ้วนทุกเรื่องในคราวเดียวกันภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแบบการจดแจ้งการพิมพ์และหลักฐานการจดแจ้ง เมื่อได้ดำเนินการถูกต้องและครบถ้วน ให้รับจดแจ้งพร้อมออกหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งให้แก่ผู้แจ้งโดยพลัน
หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นจดแจ้ง การจดแจ้ง การเปลี่ยนรายการหลักฐานการจดแจ้ง การยกเลิกหลักฐานการจดแจ้ง การกำหนดแบบการจดแจ้งการพิมพ์และอัตราค่าธรรมเนียมการจดแจ้งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๒ ในหนังสือพิมพ์ให้แสดงข้อความ ดังต่อไปนี้
- (๑) ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งของโรงพิมพ์
- (๒) ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา
- (๓) ชื่อของบรรณรธิการหนังสือพิมพ์
- (๔) ชื่อและที่ตั้งของเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
ข้อความตามวรรคหนึ่งให้พิมพ์ไว้ในลักษณะที่เห็นได้ชัด และบรรดาชื่อตามวรรคหนึ่งมิให้ใช้ชื่อย่อ หรือนามแฝง
มาตรา ๑๓ ชื่อของหนังสือพิมพ์ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- (๑) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อ พระนามาภิไธยย่อ หรือนามพระราชวงศ์
- (๒) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของบุพการี หรือของผู้สืบสันดาน
- (๓) ไม่ซ้ำกับชื่อหนังสือพิมฑ์ที่ได้รับจดแจ้งไว้แล้ว
- (๔) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
มาตรา ๑๔ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
- (๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
- (๒) มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย
- (๓) มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
- (๔) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- (๕) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่จะพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีหรือเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๑๕ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
- (๑) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
- (๒) มีสัญชาติไทย
- (๓) มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
- (๔) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- (๕) ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่จะพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีหรือเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
มาตรา ๑๖ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลต้องมีบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของหุ้นทั้งหมด และต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสีของจำนวนกรรมการทั้งหมดเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย
ห้ามมิให้บุคคลใดถือหุ้นแทนบุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยในนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่เป็นนิติบุคคลมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นหรือมีกรรมการเป็นผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่าจำนวนที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิกถอนการจดแจ้ง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎหระทรวง
มาตรา ๑๗ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือผู้ใดเปลี่ยนแปลงรายการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่ไดทำการเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว
มาตรา ๑๘ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายการในหลักฐานการจดแจ้ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์
หมวด ๓ บทกำหนดโทษ
[แก้ไข]ส่วนที่ ๑ โทษทางปกครอง
[แก้ไข]มาตรา ๑๙ ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๒๐ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๒๑ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา ๒๒ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสามหมื่นบาท
มาตรา ๒๓ ถ้ากระทำผิดซึ่งมีโทษปรับทางปกครองเป็นความผิดต่อเนื่องและพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งลงโทษปรับทางปกครองสำหรับความผิดนั้น ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษปรับรายวันอีกนับตั้งแต่วันที่คำสั่งลงโทษปรับทางปกครองดังกล่าวตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัตืให้ถูกต้องในอัตราดังต่อไปนี้
- (๑) กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๑๙ และ ๒๐ ให้ปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งพันบาท
- (๒) กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๒๑ ให้ปรับอีกวันละไม่เกินสองพันบาท
- (๓) กรณีโทษปรับทางปกครองตามมาตรา ๒๒ ให้ปรับอีกวันละไม่เกินสามพันบาท
มาตรา ๒๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองแก่ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกรัฐมนตรีประกาศกำหนด
ส่วนที่ ๒ โทษอาญา
[แก้ไข]มาตรา ๒๕ ผู้ใดออกหนังสือพิมพ์โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ับแจ้งตามมาตรา ๑๑ หรือรู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะที่ต้องห้ามของการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ แล้วได้เป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ โดยฝ่าฝืนมาตรา ๗ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๖ วรรคสอง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละห้าหมื่นบาทถึงสองแสนห้าหมื่นบาทตลอกเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามมาตรา ๑๐ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
[แก้ไข]มาตรา ๒๘ หนังสือพิมพ์ซึ่งได้แจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใชบังคับ ให้ถือว่าหนังสือพิมพ์ดังหล่าวเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้จดแจ้งการพิมพ์ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้ว
มาตรา ๒๙ ผู้ใดเป็นนผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่ได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณราธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่ได้มีการจดแจ้งการพิมพ์ตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว
- ผู้สนองพระบรมราชโองการ
- พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
- นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ
[แก้ไข]เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน กอปรกับพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ คําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๕ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ และคําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๓๖ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ประกาศใช้บังคับมานานแล้ว บทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายฉบับบัญญัติรองรับไว้เพียงพอต่อการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐและประชาชนแล้ว สมควรยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์ และคําสั่งของคณะปฏิรูปดังกล่าว และให้มีกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดําเนินคดี ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวกระทําผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๙๓ ก/หน้า ๑ - ๙/๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"