พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ
พุทธศักราช ๒๔๗๖
ประชาธิปก ป.ร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรที่จะจัดการป้องกันรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ

จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๗๖"

มาตรา  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อ หรือเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยมหรือหวาดหวั่นต่อ การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แม้การกระทำดั่งกล่าวมาแล้วจะเป็นเพียงการคบคิด หรือทำความตกลง หรือจะเตรียมการก็ตาม ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีจนถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่ ๕๐๐ บาทจนถึง ๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทำปรับ

แต่ถ้าหากความผิดที่กระทำลงนั้นต้องด้วยบทกฎหมายอื่น ท่านว่า บุคคลผู้กระทำผิดนั้นจะต้องถูกลงโทษตามพระราชกำหนดกฎหมายอื่นนั้นด้วย

มาตรา  เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า บุคคลใดดำเนินการอันจะเป็นเหตุให้เกิดความผิดตามมาตรา ๓ ข้างต้น ให้กระทรวงมหาดไทยส่งเรื่องให้คณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อไต่สวนวินิจฉัย ถ้าเห็นว่า มีมูล ก็ให้ทำความเห็นเพื่อให้บุคคลนั้นอยู่ภายในเขตต์ที่อันมีกำหนดได้เป็นเวลาไม่เกินสิบปี และให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งการให้เป็นไปตามความเห็นนั้น

ถ้าผู้ต้องหาเป็นคนต่างด้าว ท่านให้จัดการตามพระราชบัญญัติเนรเทศ ร.ศ. ๑๓๑

มาตรา  คณะกรรมการตามมาตรา ๔ นั้น จะต้องตั้งขึ้นจากข้าราชการตุลาการ และให้มีจำนวน ๓ นายเป็นอย่างน้อย จึ่งจะนั่งเป็นองค์ประชุมได้ การวินิจฉัย ให้ถือตามความเห็นข้างมาก

มาตรา  บุคคลที่ถูกสั่งให้อยู่ภายในเขตต์ที่อันมีกำหนด และได้ไปอยู่ในเขตต์นั้นตามคำสั่งแล้ว ภายหลังอาจร้องขอให้กระทรวงมหาดไทยดำริที่จะเพิกถอนคำสั่งเช่นว่ามาแล้วนั้นได้ เมื่อยอมรับรองว่า

๑. จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ

๒. จะเผยแผ่สนับสนุนด้วยความบริสุทธิ์ใจซึ่งการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ

เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้เรียกประกันทัณฑ์บน และวินิจฉัยเห็นเป็นถ่องแท้ว่า ผู้ต้องหาจะปฏิบัติการตามที่ยอมรับรองได้ ก็ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติให้เพิกถอนคำสั่งเดิมเสียก็ได้

ประกาศมาณวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นปีที่ ๙ ในรัชชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"