พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร


พ.ศ. ๒๕๒๘


_______________


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘


เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลปัจจุบัน



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลภาษีอากรและให้มีวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘”


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ในพระราชบัญญัตินี้

“ภาษีอากร” หมายความว่า ภาษี อากร และค่าภาคหลวงทุกชนิด และหมายความรวมถึง

(๑)   แสตมป์ยาสูบ ตามกฎหมายว่าด้วยยาสูบ

(๒)   ค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่ ตามกฎหมายว่าด้วยไพ่

(๓)   ค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับการนำเข้า ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

(๔)   ค่าธรรมเนียมพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า

(๕)   ค่าธรรมเนียมการส่งออก ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

(๖)   เงินสงเคราะห์ที่ผู้ส่งออกต้องเสีย ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

(๗)   ค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นภาษีอากรตามพระราชบัญญัตินี้

“ศาลภาษีอากร” หมายความว่า ศาลภาษีอากรกลาง หรือศาลภาษีอากรจังหวัด

“คดีภาษีอากร” หมายความว่า คดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร


มาตรา ๔

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



หมวด ๑


ศาลภาษีอากร


_________________



มาตรา ๕

ให้จัดตั้งศาลภาษีอากรกลางขึ้นในกรุงเทพมหานคร และจะเปิดทำการเมื่อใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา

ให้ศาลภาษีอากรกลางมีเขตอำนาจตลอดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี แต่บรรดาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง จะยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลภาษีอากรกลางที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้ เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง


มาตรา ๖

ถ้าจะจัดตั้งศาลภาษีอากรจังหวัดขึ้นในจังหวัดใด ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ ซึ่งจะต้องระบุเขตอำนาจศาลนั้นไว้ด้วย

เขตอำนาจศาลภาษีอากรจังหวัดจะครอบคลุมเขตการปกครองหลายจังหวัดก็ได้


มาตรา ๗

ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในเรื่องต่อไปนี้

(๑)   คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร

(๒)   คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร

(๓)   คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร

(๔)   คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร

(๕)   คดีที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากร


มาตรา ๘

คดีตามมาตรา ๗ (๑) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น และได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว


มาตรา ๙

คดีตามมาตรา ๗ (๓) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาเช่นว่านั้น


มาตรา ๑๐

เมื่อศาลภาษีอากรเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรไว้พิจารณาพิพากษา

ในกรณีมีปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลภาษีอากรหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด


มาตรา ๑๑

คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลภาษีอากรจังหวัด คู่ความทุกฝ่ายอาจตกลงกันร้องขอให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาในศาลภาษีอากรกลางก็ได้ แต่ห้ามมิให้อนุญาตตามคำขอเช่นว่านั้น เว้นแต่ศาลภาษีอากรกลางจะได้ยินยอมก่อน


มาตรา ๑๒

ให้ศาลภาษีอากรเป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับโดยอนุโลม



หมวด ๒


ผู้พิพากษาในศาลภาษีอากร


_________________



มาตรา ๑๓

ในศาลภาษีอากรกลาง ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางหนึ่งคน และให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ตามจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนด

ในศาลภาษีอากรจังหวัด ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลภาษีอากรจังหวัดศาลละหนึ่งคน


มาตรา ๑๔

อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลภาษีอากรจังหวัด และผู้พิพากษาศาลภาษีอากรจังหวัด จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีความรู้หรือความชำนาญในเรื่องเกี่ยวกับภาษีอากร


มาตรา ๑๕

การนั่งพิจารณาและพิพากษาในศาลภาษีอากร ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน จึงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีภาษีอากร


มาตรา ๑๖

การดำเนินกระบวนพิจารณา นอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรคนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำหรือออกคำสั่งใด ๆ ได้



หมวด ๓


วิธีพิจารณาคดีภาษีอากร


_________________



มาตรา ๑๗

กระบวนพิจารณาในศาลภาษีอากร ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และข้อกำหนดตามมาตรา ๒๐ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๑๘

ถ้าคู่ความประสงค์จะแต่งตั้งบุคคลใดที่มีภูมิลำเนาในเขตอำนาจศาลภาษีอากรเพื่อรับคำคู่ความหรือเอกสารแทนตน ให้ยื่นคำขอต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เมื่อศาลอนุญาตแล้ว จะส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งนั้นก็ได้

ถ้าคู่ความไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานในเขตอำนาจศาลภาษีอากรที่พิจารณาคดี ศาลนั้นอาจสั่งให้คู่ความแต่งตั้งบุคคลที่มีภูมิลำเนาในเขตอำนาจศาลนั้น ซึ่งจะเป็นการสะดวกในการส่งคำคู่ความหรือเอกสารภายในเวลาที่ศาลกำหนด เพื่อรับคำคู่ความหรือเอกสารแทน

ถ้าคู่ความไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารจะกระทำโดยวิธีปิดประกาศไว้ ณ ศาลที่พิจารณาคดี แจ้งให้คู่ความมารับคำคู่ความหรือเอกสารนั้น แทนการส่งโดยวิธีอื่นก็ได้ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีเช่นว่านี้ ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันปิดประกาศ

การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลที่ได้รับแต่งตั้ง ให้กระทำได้เช่นเดียวกับการส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่คู่ความ หรือการส่งโดยวิธีอื่นแทน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคนี้ ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันส่ง หรือสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยวิธีอื่นแทน


มาตรา ๑๙

ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ศาลภาษีอากรกำหนด ศาลภาษีอากรมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม


มาตรา ๒๐

เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง โดยอนุมัติประธานศาลฎีกา มีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลภาษีอากรได้

ข้อกำหนดนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


มาตรา ๒๑

ศาลภาษีอากรหรือศาลฎีกาอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้

ความในวรรคหนึ่ง ไม่ตัดสิทธิของคู่ความในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวในวรรคหนึ่ง


มาตรา ๒๒

เมื่อศาลภาษีอากรแจ้งกำหนดนัดพิจารณาให้คู่ความฝ่ายใดทราบแล้ว คู่ความฝ่ายนั้นไม่มาศาลภาษีอากรตามกำหนดนัด ให้เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายนั้นมารับทราบกำหนดนัดต่อไปจากศาลภาษีอากรเอง หากไม่มารับทราบ ให้ถือว่า คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบกำหนดนัดต่อไปแล้ว


มาตรา ๒๓

ให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลภาษีอากรหรือศาลฎีกาขอให้มาให้ความเห็น ได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด



หมวด ๔


อุทธรณ์


_________________



มาตรา ๒๔

ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภาษีอากร ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น


มาตรา ๒๕

ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลภาษีอากรได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือได้รับรองว่า มีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง


มาตรา ๒๖

คำสั่งของศาลภาษีอากรในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้อุทธรณ์ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

(๑)   คำสั่งให้จำคุก กักขัง หรือปรับผู้ใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

(๒)   คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา หรือคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง


มาตรา ๒๗

ให้ประธานศาลฎีกาจัดตั้งแผนกคดีภาษีอากรขึ้นในศาลฎีกา เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีภาษีอากรที่อุทธรณ์มาจากศาลภาษีอากร


มาตรา ๒๘

ในกรณีที่ประธานศาลฎีกาเห็นสมควร จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายใดในคดีภาษีอากรใดโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาก็ได้


มาตรา ๒๙

ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา มาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีภาษีอากรในศาลฎีกาโดยอนุโลม



บทเฉพาะกาล


_________________



มาตรา ๓๐

คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลแพ่งหรือศาลอื่นในวันเปิดทำการของแผนกคดีภาษีอากรในศาลแพ่ง ให้ศาลนั้นคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป โดยถือว่า คดีนั้นมิใช่คดีภาษีอากรตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๓๑

ในระหว่างที่ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้เปิดทำการ ให้จัดตั้งแผนกคดีภาษีอากรขึ้นในศาลแพ่ง โดยมีอำนาจและเขตอำนาจเช่นเดียวกับศาลภาษีอากรกลาง และให้เปิดทำการภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อแผนกคดีภาษีอากรในศาลแพ่งเปิดทำการแล้ว ให้นำมาตรา ๑๐ และมาตรา ๓๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

ข้อกำหนดใดที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งออกตามมาตรา ๒๐ ให้มีผลใช้บังคับได้ จนกว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางจะได้ออกข้อกำหนดใหม่แทนข้อกำหนดนั้น


มาตรา ๓๒

เมื่อศาลภาษีอากรกลางเปิดทำการแล้ว ให้โอนบรรดาคดีทั้งปวงในแผนกคดีภาษีอากรในศาลแพ่งไปดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาในศาลภาษีอากรกลาง และให้ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจออกหมายบังคับคดี ออกหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีที่โอนมานั้นด้วย


มาตรา ๓๓

ในระหว่างที่ศาลภาษีอากรจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลภาษีอากรกลางมีเขตอำนาจในท้องที่นั้นด้วย โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลภาษีอากรกลาง เมื่อศาลภาษีอากรกลางสั่งรับคดีนั้นไว้พิจารณาแล้ว ศาลภาษีอากรกลางอาจออกไปนั่งพิจารณาพิพากษา ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือกำหนดให้นั่งพิจารณาพิพากษา ณ ศาลภาษีอากรกลาง สุดแล้วแต่ศาลภาษีอากรกลางจะเห็นสมควร

ศาลภาษีอากรกลางอาจขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ซึ่งโจทก์ยื่นคำฟ้องไว้ หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ป. ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่คดีภาษีอากรเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งโดยทั่วไป เพราะเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐอันเนื่องมาจากการประเมินหรือการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งหากได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาทางด้านภาษีอากรโดยเฉพาะ ก็จะทำให้การพิจารณาคดีภาษีอากรเป็นไปได้โดยรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงสมควรจัดตั้งศาลภาษีอากรขึ้น เพื่อพิจารณาคดีภาษีอากรโดยมีวิธีพิจารณาคดีเป็นพิเศษ ยกเว้นขั้นตอนและวิธีการต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบางอย่างเพื่อให้เกิดการคล่องตัวยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๑๒๐/ฉบับพิเศษ/หน้า ๔๖/๕ กันยายน ๒๕๒๘



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"