ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒/๒๕๔๗.๑๑.๑๒

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย


พ.ศ. ๒๕๔๒




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒


เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลล้มละลายและให้มีวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า "พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒"


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ในพระราชบัญญัตินี้

"ศาลล้มละลาย" หมายความว่า ศาลล้มละลายกลาง หรือศาลล้มละลายภาค

"คดีล้มละลาย" หมายความว่า คดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่มิใช่คดีอาญา และให้รวมถึง คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีดังกล่าวด้วย


มาตรา ๔

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้



หมวด ๑


ศาลล้มละลาย





มาตรา ๕

ให้จัดตั้งศาลล้มละลายกลางขึ้น และจะเปิดทำการเมื่อใดให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

ให้ศาลล้มละลายกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร แต่บรรดาคดีล้มละลายที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลล้มละลายกลาง จะยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลล้มละลายกลางที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้


มาตรา ๖

การจัดตั้งศาลล้มละลายภาค ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ ซึ่งจะต้องระบุเขตศาลและกำหนดที่ตั้งศาลนั้นไว้ด้วย


มาตรา ๗

ศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลาย


มาตรา ๘

เมื่อศาลล้มละลายเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลล้มละลายไว้พิจารณาพิพากษา


มาตรา ๙

ในกรณีมีปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลล้มละลายหรือไม่ ไม่ว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในศาลล้มละลายหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด

ห้ามมิให้เสนอปัญหาเช่นว่านี้ เมื่อศาลชั้นต้นไม่ว่าศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว


มาตรา ๑๐

คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลล้มละลายภาค คู่ความทุกฝ่ายอาจตกลงกันร้องขอต่อศาลนั้นให้โอนคดีมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลางได้ แต่ห้ามมิให้อนุญาตตามคำขอเช่นว่านั้น เว้นแต่ศาลล้มละลายกลางจะได้ยินยอมก่อน


มาตรา ๑๑

ให้ศาลล้มละลายเป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่ศาลล้มละลายโดยอนุโลม



หมวด ๒


ผู้พิพากษาในศาลล้มละลาย





มาตรา ๑๒

ในศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายภาค ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลละหนึ่งคน และให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลละหนึ่งคน แต่ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ จะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาในแต่ละศาลมากกว่าหนึ่งคนก็ได้


มาตรา ๑๓

ผู้พิพากษาในศาลล้มละลาย จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย



หมวด ๓


วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย




ส่วนที่ ๑


วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น





มาตรา ๑๔

นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ กระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และข้อกำหนดตามมาตรา ๑๙ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๑๕

ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๑๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ให้ศาลล้มละลายดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดี จนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว

ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใด ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่า คู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว


มาตรา ๑๖

ถ้าบุคคลใดเกรงว่า พยานหลักฐานที่ตนอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหาย หรือยากแก่การนำมาเมื่อมีคดีล้มละลายเกิดขึ้น หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดในคดีเกรงว่า พยานหลักฐานที่ตนจำนงจะอ้างอิงจะสูญหายเสียก่อนที่จะนำมาสืบ หรือเป็นการยากที่จะนำมาสืบในภายหลัง บุคคลนั้นหรือคู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอต่อศาลล้มละลายโดยทำเป็นคำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ทันที

เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านั้น ให้ศาลหมายเรียกผู้ขอ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมาศาล และเมื่อได้ฟังบุคคลเหล่านั้นแล้ว ให้ศาลสั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลสั่งอนุญาตตามคำขอแล้ว ให้สืบพยานหลักฐานไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ส่วนรายงานและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั้น ให้ศาลเก็บรักษาไว้


มาตรา ๑๗

ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อมีการยื่นคำขอตามมาตรา ๑๖ ผู้ยื่นคำขอจะยื่นคำร้องรวมไปด้วยเพื่อให้ศาลล้มละลายมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้า และถ้าจำเป็น จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานที่ขอสืบไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้

ให้นำมาตรา ๒๖๑ ถึงมาตรา ๒๖๓ และมาตรา ๒๖๗ ถึงมาตรา ๒๖๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้แก่กรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม


มาตรา ๑๘

เมื่อศาลล้มละลายเห็นเป็นการสมควร จะให้ศาลอื่นหรือเจ้าพนักงานศาลทำการสืบพยานหลักฐานส่วนใดส่วนหนึ่งแทนก็ได้ การสืบพยานหลักฐานดังกล่าว จะกระทำในศาลหรือนอกศาลก็ได้


มาตรา ๑๙

เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง โดยอนุมัติประธานศาลฎีกา มีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลล้มละลายได้

ข้อกำหนดนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


มาตรา ๒๐

ศาลล้มละลายอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ และไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว


มาตรา ๒๑

ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลล้มละลายขอให้มาให้ความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง


มาตรา ๒๒

คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีจะแต่งตั้งบุคคลใดซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาล ล้มละลายเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารแทนตนก็ได้ โดยให้ยื่นคำขอต่อศาลที่ พิจารณาคดีนั้น เมื่อศาลอนุญาตแล้ว จะส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นก็ได้

ถ้าคู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานในเขตศาลล้มละลายที่พิจารณาคดี เพื่อความสะดวกในการส่งคำคู่ความหรือเอกสาร ศาลนั้นจะสั่งให้คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลนั้นเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารแทนภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้

ถ้าคู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในวรรคสอง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารจะกระทำโดยวิธีปิดประกาศไว้ ณ ศาลที่พิจารณาคดี แจ้งให้คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีมารับคำคู่ความหรือเอกสารนั้น แทนการส่งโดยวิธีอื่นก็ได้ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีนี้ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศ

การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้ง ให้กระทำได้เช่นเดียวกันกับการส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่คู่ความ หรือการส่งโดยวิธีอื่นแทนดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคนี้ ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันส่ง หรือสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยวิธีอื่นแทน


มาตรา ๒๓

เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่คู่ความหรือบุคคลใดโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าคู่ความหรือบุคคลนั้นจะมีภูมิลำเนาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร กรณีเช่นนี้ ให้ถือว่า คำคู่ความหรือเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง



ส่วนที่ ๒


อุทธรณ์





มาตรา ๒๔[2]

ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เว้นแต่

(๑) คำพิพากษายกฟ้อง หรือคำสั่งยกคำร้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย

(๒) คำสั่งยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ

(๓) คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

(๔) คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

(๕) คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย


มาตรา ๒๕

ให้ประธานศาลฎีกาจัดตั้งแผนกคดีล้มละลายขึ้นในศาลฎีกาเพื่อพิจารณาคดีล้มละลายที่อุทธรณ์ขึ้นมา และให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว


มาตรา ๒๖[3]

คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไปพร้อมกับอุทธรณ์ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ เมื่อศาลล้มละลายตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่า เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาลล้มละลายเห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้าม ก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้ดำเนินการต่อไป

ในกรณีที่ศาลล้มละลายสั่งไม่รับอุทธรณ์ เพราะเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งก็ได้ ถ้าคู่ความยื่นคำขอดังกล่าวแล้ว จะอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่ได้

การยื่นคำขอและการพิจารณาคำขอของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา

คดีที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งรับอุทธรณ์ส่งมาให้ศาลฎีกา หากศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า อุทธรณ์นั้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ ให้ยกอุทธรณ์ แต่ถ้าศาลฎีกาพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด จะรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นก็ได้

คดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่อุทธรณ์นั้นไม่สมควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา จะยกอุทธรณ์ดังกล่าวเสียก็ได้

ระเบียบตามวรรคสามและวรรคห้า เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


มาตรา ๒๗

ในกรณีที่ประธานศาลฎีกาเห็นสมควร จะให้มีการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายใดในคดีล้มละลายใดโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาก็ได้


มาตรา ๒๘[4]

ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ ๑ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ในหมวด ๓ วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีที่มีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ ในศาลฎีกาโดยอนุโลม



บทเฉพาะกาล





มาตรา ๒๙

บรรดาคดีล้มละลายที่ยังไม่ถึงที่สุดในวันเปิดทำการของศาลล้มละลายกลางที่ได้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๕ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นมาใช้บังคับ เว้นแต่คดีนั้นจะได้มีการโอนมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลาง

สำหรับคดีล้มละลายที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น ถ้าคู่ความทุกฝ่ายตกลงกันร้องขอให้โอนคดีนั้นมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลาง ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางเปิดทำการ ก็ให้ศาลล้มละลายกลางรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป


มาตรา ๓๐

ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลล้มละลายกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอ จะยื่นต่อศาลจังหวัดซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขต ไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทน ในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้นก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลล้มละลายกลาง เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคดีนั้นไว้แล้ว จะออกไปทำการไต่สวน นั่งพิจารณา และพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนดให้ทำการไต่สวน นั่งพิจารณา และพิพากษาคดี ณ ศาลล้มละลายกลางก็ได้ ตามที่ศาลล้มละลายกลางจะเห็นสมควร

ศาลล้มละลายกลางอาจขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่มีการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอไว้ หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ตามความจำเป็น ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดีในหมวด ๓ มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากคดีล้มละลายเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไป ซึ่งโดยผลของคดีล้มละลายย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม และหากได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลายโดยเฉพาะแล้ว ย่อมทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาสามารถดำเนินไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น สมควรจัดตั้งศาลล้มละลายขึ้นเพื่อพิจารณาคดีล้มละลายโดยเฉพาะ และให้มีวิธีพิจารณาคดีล้มละลายโดยเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๒๕ ก/หน้า ๑๐/๘ เมษายน ๒๕๔๒
  2. มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗
  3. มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗
  4. มาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗




๘ เมษายน ๒๕๔๒ ขึ้น ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"