พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า "พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗"
พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๒๔
ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เว้นแต่
(๑) คำพิพากษายกฟ้อง หรือคำสั่งยกคำร้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย
(๒) คำสั่งยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ
(๓) คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
(๔) คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
(๕) คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย"
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๒๖
คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไปพร้อมกับอุทธรณ์ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ เมื่อศาลล้มละลายตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่า เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาลล้มละลายเห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้าม ก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้ดำเนินการต่อไป
ในกรณีที่ศาลล้มละลายสั่งไม่รับอุทธรณ์ เพราะเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งก็ได้ ถ้าคู่ความยื่นคำขอดังกล่าวแล้ว จะอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่ได้
การยื่นคำขอและการพิจารณาคำขอของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา
คดีที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งรับอุทธรณ์ส่งมาให้ศาลฎีกา หากศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า อุทธรณ์นั้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ ให้ยกอุทธรณ์ แต่ถ้าศาลฎีกาพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด จะรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นก็ได้
คดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่อุทธรณ์นั้นไม่สมควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา จะยกอุทธรณ์ดังกล่าวเสียก็ได้
ระเบียบตามวรรคสามและวรรคห้า เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้"
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
"มาตรา ๒๘
ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ ๑ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ในหมวด ๓ วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาและการชี้ขาดตัดสินคดีที่มีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔ ในศาลฎีกาโดยอนุโลม"
บรรดาคดีล้มละลายที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จ และให้คู่ความมีสิทธิฎีกาต่อไปได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในกรณีที่คู่ความยื่นอุทธรณ์แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ศาลล้มละลายยังมิได้สั่งรับอุทธรณ์ ให้ถือว่า อุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีจำเป็น ศาลล้มละลายจะสั่งให้คู่ความแก้ไขอุทธรณ์นั้นให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้
ในกรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่คดียังอยู่ในระหว่างอายุอุทธรณ์หรือฎีกา และคู่ความยังมิได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ให้คู่ความยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
- นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติในส่วนที่กำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีความไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่คุ้มครองสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเพียงพอ ประกอบกับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ใช้บังคับเฉพาะคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ สมควรแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อให้หลักเกณฑ์การอุทธรณ์ทั้งคดีล้มละลายและคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อยู่ในกฎหมายเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๗๐ ก/หน้า ๕๖/๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"