พระราชบัญญัติชื่อถิ่นกำเนิดเหล้าองุ่นโปรตุเกส พุทธศักราช ๒๔๘๑

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)

สารบัญ[แก้ไข]

อารัมภบท
มาตรา ๑
มาตรา ๒
มาตรา ๓
มาตรา ๔
มาตรา ๕
มาตรา ๖
มาตรา ๗
มาตรา ๘
มาตรา ๙
มาตรา ๑๐
มาตรา ๑๑
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ




Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand

พระราชบัญญัติ

ชื่อถิ่นกำเนิดเหล้าองุ่นโปรตุเกส

พุทธศักราช ๒๔๘๑

_______________


ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร

ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)



อาทิตย์ทิพย์อาภา

พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน


ตราไว้ ณ วันที่ ๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

เป็นปีที่ ๖ ในรัชชกาลปัจุบัน




โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรตราบทกฎหมาย เพื่อคุ้มครองเหล้าองุ่นโปรตุเกสที่ใช้ชื่อถิ่นกำเนิดโดยฉะเพาะดั่งได้ระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างสยามกับโปรตุเกส ซึ่งได้ลงนามกัน ณ ลิสบอน เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑

จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

(สารบัญ)


มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติชื่อถิ่นกำเนิดเหล้าองุ่นโปรตุเกส พุทธศักราช ๒๔๘๑”

(สารบัญ)


มาตรา ๒

ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนด ๙๐ วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]

(สารบัญ)


มาตรา ๓

ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิก “พระราชบัญญัติป้องกันการเรียกขานชื่อเหล้าว่าปอรตและมะเดรา พุทธศักราช ๒๔๖๙”

(สารบัญ)


มาตรา ๔

ชื่อ “ปอร์โต” “มาแดร์” “โมสคาเตลเด เสตูบัล” และ “คาร์คาเวลอส” นั้น ให้ถือว่าเป็นเครื่องหมายภูมิภาคหรือชื่อถิ่นกำเนิด และให้พึงใช้เป็นชื่อเพียงฉะเพาะเหล้าองุ่นที่ผลิตในดินแดนโปรตุเกส คือ ดูโร เกาะมาเดรา เสตูบัล และ คาร์คาเวลอส แล้วแต่กรณี

บทบัญญัตินี้ให้ใช้ตลอดถึงคำผะสมใด ๆ ที่เนื่องมาจากการใช้ชื่อ “ปอร์โต” หรือ “มาแดร์” ไม่ว่าในรูปเดิมหรือที่แปลขึ้น (เช่น ปอร์ต โอปอร์โต คำอังกฤษว่า ปอร์ตไวน์ คำเนเธอร์แลนด์สว่า ปอรตเวน ฯลฯ หรือคำอังกฤษว่ามาเดราไวน์ คำเยอรมันว่า มาเดราไวน์ คำเนเธอร์แลนด์สว่า มาเดราเวน ฯลฯ

(สารบัญ)


มาตรา ๕

ผู้ใดนำเข้า เก็บคลังสินค้า จัดทำ ส่งออก จำหน่าย เสนอเพื่อขาย หรือขาย บันดาเหล้าองุ่นซึ่งมีชื่อแสดงดั่งได้ระบุไว้ในมาตรา ๔ เมื่อเหล้าองุ่นนั้นมิได้มีกำเนิดมาจากภูมิภาคโปรตุเกส คือ ดูโร เกาะมาเดรา เสตูบัล และคาร์คาเวลอส แล้วแต่กรณี และมิได้ส่งออกโดยทางเมืองท่า ดั่งต่อไปนี้ คือ เหล้าปอร์โตโดยทางสันดอนแห่งดูโรและเมืองท่าเลโชเอส เหล้ามาเดราโดยทางเมืองท่าฟุนชัล เหล้าโมสคาเตล เด เสตูบัลโดยทางเมืองท่าลิสบอน หรือเสตูบัล เหล้าคาร์คาเวลอสโดยทางเมืองท่าลิสบอน ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทสำหรับความผิดแต่ละครั้ง

ส่วนความแท้จริงแห่งเหล้าองุ่นเหล่านี้นั้น ให้พิสูจน์หลักฐานด้วยหนังสือสำคัญถิ่นกำเนิด ซึ่งเจ้าหน้าที่โปรตุเกสผู้มีอำนาจได้ออกให้ หนังสือสำคัญนั้นต้องยื่นเมื่อนำเหล้าองุ่นเข้ามาในราชอาณาจักร และการแสดงหนังสือสำคัญถิ่นกำเนิดหรือสำเนาที่ได้รับรองว่าถูกต้องแล้วนั้น ให้เป็นการพอเพียงในการพิสูจน์เจตนาสุจริตของบุคคลที่เกี่ยวข้องตามความในวรรคก่อน

(สารบัญ)


มาตรา ๖

บทกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร และอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ให้ใช้แก่ เหล้าองุ่นที่มีการนำเข้า ส่งออก หรือเก็บคลังสินค้า ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจออกข้อบังคับศุลกากร ว่าด้วยการแจ้งความวางประกัน เงื่อนไขหรือวิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับเหล้าองุ่นเหล่านั้น ก่อนกักเหล้าองุ่นใด ๆ หรือดำเนินคดีต่อไปประการใดเพื่อริบเหล้าองุ่นนั้น ๆ อธิบดีกรมศุลกากรจะสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับที่กล่าวข้างต้นเสียก่อนก็ได้ และจะดำเนินการตามข้อบังคับที่ว่านั้นให้เป็นที่พอใจเสียก่อนว่า เหล้าองุ่นนั้น ๆ เป็นเหล้าที่มีการนำเข้า ส่งออก หรือเก็บคลังสินค้า อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ข้อบังคับที่ว่านั้นจะกำหนดไว้ก็ได้ว่า

ในกรณีที่การสอบสวนตามคำแจ้งความใด ๆ มิได้เป็นผลให้มีคำพิพากษาลงโทษหรือให้ริบของก็ให้ผู้แจ้งความต้องใช้เงินคืนแก่กรมศุลกากรสำหรับค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายทั้งปวงอันเกิดจากการกักตามที่ผู้นั้นได้แจ้งความไว้ และจากการดำเนินคดีเนื่องแต่การกักนั้นด้วย

(สารบัญ)


มาตรา ๗

ผู้ใด

(ก) จัดทำ ส่งออก จำหน่าย เสนอเพื่อขาย หรือขายเหล้าองุ่นบรรจุภาชนะที่มีป้ายเครื่องหมายหรือคำพรรณนาอย่างใด ๆ ที่อาจโน้มนำให้ผู้ซื้อสำคัญผิดหรือก่อให้เกิดความสับสนในใจ ว่าเหล้าองุ่นนั้นมีกำเนิดอันแท้จริงมาจากถิ่นที่เดียวกันกับที่ระบุไว้ในมาตรา ๔ หรือ

(ข) เสนอเพื่อขาย หรือขาย เหล้าองุ่นที่มีชื่อถิ่นกำเนิดแสดงไว้ถูกต้องตามความในมาตรา ๔ แต่สถานะความบริสุทธิ์ได้ถูกเจือปนด้วยการเติมน้ำหรือเหล้าองุ่นอื่น ๆ หลังจากการนำเข้า

ผู้นั้นมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕

(สารบัญ)


มาตรา ๘

ในคดีใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้จะโต้แย้งเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ว่า มีถิ่นกำเนิดอันแท้จริงบ่งไว้แล้ว หรือว่า มีคำแสดงแก้บางอย่างกำกับชื่อเท็จไว้แล้ว เช่นคำว่า “ชะนิด” “แบบ” “ทำนอง” “คู่แข่ง” หรือการแสดงภูมิภาคอย่างอื่นโดยฉะเพาะหรือโดยทางอื่นก็ตาม

(สารบัญ)


มาตรา ๙

การฟ้องคดีกระทำผิดพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานอัยยการยื่นฟ้องโดยดำเนินการเอง หรือเมื่อมีคำร้องทุกข์จากผู้มีส่วนได้เสียจะเป็นบุคคลเอกชน เศรษฐสังคมหรือสังคม ซึ่งเป็นคนชาติสยามหรือโปรตุเกสก็ตาม

(สารบัญ)


มาตรา ๑๐

ให้ยึดบันดาเหล้าองุ่นที่จัดทำ จำหน่าย เสนอเพื่อขาย หรือขายผิดบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ การสั่งริบเหล้าองุ่นที่กล่าวนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ยึดร้องขอ ศาลจะสั่งริบก็ได้ โดยมิพักต้องคำนึงว่าบุคคลใดถูกฟ้องคดีหรือหาไม่

(สารบัญ)


มาตรา ๑๑

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เท่าที่กรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

(สารบัญ)



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖/หน้า ๓๙๓/๒๔ เมษายน ๒๔๘๒

ดูเพิ่ม[แก้ไข]




งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"