พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484

จาก วิกิซอร์ซ
วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๔๘๔
เล่ม ๕๘ หน้า ๑๓๘๕
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ชื่อบุคคล
พุทธศักราช ๒๔๘๔

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
เป็นปีที่ ๘ ในรัชชกาลปัจจุบัน

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงบทบัญญัติในเรื่องชื่อบุคคลให้เหมาะสมแก่กาลสมัย

จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช ๒๔๘๔"

มาตรา  ให้ใช้พระราชบัญญัติตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา  ในพระราชบัญญัตินี้

"ชื่อตัว" หมายความว่า ชื่อประจำตัวบุคคล

"ชื่อรอง" หมายความว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว

"ชื่อสกุล" หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา  บุคคลต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และถ้าประสงค์จะมีชื่อรอง ก็ให้มีได้

มาตรา  การตั้งชื่อตัวหรือชื่อรองนั้น จะต้องไม่มุ่งหมายให้พ้องหรือคล้ายคลึงกับราชทินนามหรือชื่อสกุลของผู้อื่น

มาตรา  ผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกจากบรรดาศักดิ์ จะใช้ราชทินนามเป็นชื่อรองก็ได้

มาตรา  ชื่อสกุลนั้น

(๑) อย่าให้พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายคลึงกับพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

(๒) อย่าให้พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายคลึงกับราชทินนาม

(๓) อย่าให้มีคำหรือความหมายหยาบคาย

(๔) อย่าให้ต้องเขียนเกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่ในกรณีที่ใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุลตามความในมาตรา ๑๘

(๕) อย่าให้ซ้ำกับชื่อสกุลซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้ว

มาตรา  ครอบครัวใดยังไม่มีชื่อสกุล ให้หัวหน้าครอบครัวนั้นเลือกชื่อใดชื่อหนึ่งเป็นชื่อสกุล แล้วยื่นคำขอจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ขอมีภูมิลำเนา

ให้กรมการอำเภอออกประกาศให้สาธารณชนในท้องถิ่นทราบ มีกำหนดสิบห้าวัน แล้วจึงเสนต่อไปตามลำดับ พร้อมด้วยคำคัดค้าน ถ้ามี

เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ใช้ชื่อสกุลนั้นได้แล้ว ให้กรมการอำเภอจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออกหนังสือแสดงการรับจดทะเบียนให้แก่ผู้ขอ

มาตรา ๑๐ ชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนแล้วนั้น ให้ใช้เป็นชื่อสกุลของผู้สืบสาโลหิตในสกุลนั้น

มาตรา ๑๑ หัวหน้าครอบครัวที่ได้จดทะเบียนชื่อสกุลไว้แล้ว จะอนุญาตให้พี่หรือน้องร่วมบิดาเดียวกันใช้ชื่อสกุลนั้นก็ได้

มาตรา ๑๒ หัวหน้าครอบครัวใดยังไม่มีชื่อสกุล ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลซึ่งหัวหน้าครอบครัวที่เป็นพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดาเดียวกับตนได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้นได้

มาตรา ๑๓ หญิงมีสามี ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี

มาตรา ๑๔ เมื่อบิดาของบุคคลใดไม่ปรากฏอยู่ชั่วกาลใด บุคคลนั้นจะใช้ชื่อสกุลฝ่ายมารดาชั่วกาลนั้นก็ได้

มาตรา ๑๕ ผู้ปกครองโรงพยาบาลหรือสถานที่รับเลี้ยงดูเด็กอาจขอจดทะเบียนชื่อสกุลเพื่อให้บรรดาเด็กที่ไม่ปรากฏนามบิดมารดาในโรงพยาบาลหรือสถานที่รับเลี้ยงดูเด็กนั้นใช้ก็ได้

มาตรา ๑๖ การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุลของตน หรือของผู้ที่อยู่ในความปกครอง ความอนุบาล หรือความพิทักษ์ของตน จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

มาตรา ๑๗ การเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล ให้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นคำร้องมีภูมิลำเนา พร้อมด้วยเหตุผล

ในกรณีการขอเปลี่ยนชื่อสกุลนั้น ให้กรมการอำเภอออกประกาศให้สาธารณชนในท้องถิ่นทราบ มีกำหนดสิบห้าวัน แล้วจึงเสนอต่อไปตามลำดับ พร้อมด้วยคำคัดค้าน ถ้ามี

มาตรา ๑๘ ผู้ใดประสงค์จะขอใช้ราชทินนามของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีเพื่อถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตและได้นำหลักฐานไปจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นเรื่องราวมีภูมิลำเนาแล้ว จึงให้ถือว่า เป็นชื่อสกุลอันชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๑๙ ให้เรียกค่าธรรมเนียมแก่ผู้ที่ร้องขอเปลี่ยนชื่อสกุลใหม่ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินรายละสิบบาท

มาตรา ๒๐ การใช้ชื่อบุคคลในัหนังสือราชการนั้น ให้ใช้ชื่อตัว ชื่อรอง ถ้ามี และชื่อสกุล ประกอบกัน เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลมีราชทินนาม

มาตรา ๒๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและกำหนดกิจการอย่างอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

พระราชบัญญัติฉะบับนี้ตราขึ้นเพื่อปรับปรุงและรวบรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องชื่อบุคคลขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับกาลสมัย

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"