พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548

จาก วิกิซอร์ซ

เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๗ ก

๑๙ มกราคม ๒๕๔๘
หน้า ๑
ราชกิจจานุเบกษา

ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๔๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘
เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา  ชื่อตัวต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

ชื่อรองต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง และต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือกรณีบุตรใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองของตน

คู่สมรสอาจใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้ เมื่อได้รับความยินยอมของฝ่ายนั้นแล้ว"

มาตรา  ให้ยกเลิกความในวรรคสอง ของมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"เมื่อนายทะเบียนท้องที่พิจารณาเห็นว่า ชื่อสกุลที่ขอตั้งนั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้เสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง เมื่อได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลางแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ แต่ในกรณีที่สำนักทะเบียนใดสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเครือข่ายข้อมูลของสำนักทะเบียนกลางตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่ดำเนินการดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลาง"

มาตรา  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสาม ของมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕

"ในกรณีที่ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลตายแล้ว ให้ผู้สืบสันดานของผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลในลำดับที่ใกล้ชิดที่สุดซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลนั้นมีสิทธิอนุญาตตามวรรคหนึ่ง"

มาตรา  ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๑๒ คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

การตกลงกันตามวรรคหนึ่ง จะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้

ข้อตกลงตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงภายหลังก็ได้

มาตรา ๑๓ เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายซึ่งใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตาย ให้ฝ่ายซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นได้ต่อไป แต่เมื่อจะสมรสใหม่ ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน"

มาตรา  ให้ยกเลิกมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐

มาตรา  ให้ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ และให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา  หญิงมีสามีซึ่งใช้ชื่อสกุลของสามีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของสามีได้ต่อไป แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตนหรือมีข้อตกลงระหว่างสามีภรรยาเป็นประการอื่น

มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

"อัตราค่าธรรมเนียม

(๑) การออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(๒) การออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล ฉบับละ ๒๐๐ บาท
(๓) การออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล
(ก) การเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะเหตุสมรส
(๑) การเปลี่ยนครั้งแรกภายหลังการจดทะเบียนสมรส หรือเปลี่ยนเพราะการสมรสสิ้นสุดลง ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
(๒) การเปลี่ยนครั้งต่อ ๆ ไป ฉบับละ ๑๐๐ บาท
(ข) การเปลี่ยนชื่อสกุลเพราะเหตุอื่น ฉบับละ ๒๐๐ บาท
(๔) การออกใบแทนหนังสือสำคัญตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ฉบับละ ๕๐ บาท"

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๒๑/๒๕๔๖ ว่า พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๒ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ ประกอบกับหลักเกณฑ์ในการใช้ชื่อรองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่รัดกุม และอาจมีการนำชื่อสกุลของบุคคลอื่นมาใช้เป็นชื่อรอง อันจะทำให้บุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้น อีกทั้งวิธีการขอตั้งชื่อสกุลที่เป็นอยู่ ไม่เอื้อต่อการให้บริการประชาชนโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการกำหนดให้ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลเท่านั้นที่เป็นผู้มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลอื่นร่วมใช้ชื่อสกุล ก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ในกรณีผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลเสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนี้ อัตราค่าธรรมเนียมเดิมใช้มาเป็นระยะเวลานาน ไม่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการและให้บริการข้อมูลชื่อบุคคลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง สมควรปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"