ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. 2525

จาก วิกิซอร์ซ
ตราราชโองการ
ตราราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ตั้งจังหวัดมุกดาหาร
พ.ศ. ๒๕๒๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
เป็นปีที่ ๓๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรตั้งจังหวัดมุกดาหาร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตราพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติตั้งจังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. ๒๕๒๕"

มาตราพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตราให้แยกอำเภอมุกดาหาร อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอนิคมคําสร้อย กิ่งอำเภอดงหลวง และกิ่งอำเภอหว้านใหญ่ ออกจากการปกครองของจังหวัดนครพนม รวมทั้งขึ้นเป็นจังหวัดมุกดาหาร และมีเขตท้องที่ตามที่อำเภอและกิ่งอำเภอดังกล่าวมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตราให้เปลี่ยนชื่ออำเภอมุกดาหารเป็นอำเภอเมืองมุกดาหาร

ให้กิ่งอำเภอดงหลวงและกิ่งอำเภอหว้านใหญ่อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเมืองมุกดาหาร

มาตราให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ และสิทธิของจังหวัดนครพนมในส่วนที่เกี่ยวกับอำเภอและกิ่งอำเภอตามมาตรา ๓ ไปเป็นของจังหวัดมุกดาหาร

มาตราให้โอนบรรดากิจการทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ งบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนมในส่วนที่เกี่ยวกับอำเภอและกิ่งอำเภอตามมาตรา ๓ ไปเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร

มาตราให้โอนข้าราชการและลูกจ้างของอำเภอและกิ่งอำเภอซึ่งสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร

มาตราให้บรรดาข้อบัญญัติจังหวัด ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของจังหวัดนครพนม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในอำเภอและกิ่งอำเภอตามมาตรา ๓ คงมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้ถือเป็นข้อบัญญัติจังหวัด ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของจังหวัดมุกดาหารจนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

มาตราการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการภาษีอากร การทะเบียน และการอื่น ๆ ซึ่งปฏิบัติอยู่ในอำเภอและกิ่งอำเภอตามมาตรา ๓ ให้ดำเนินไปเช่นเดิมไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการสั่งเปลี่ยนแปลง ส่วนรายได้ที่เก็บได้จากอำเภอและกิ่งอำเภอตามมาตรา ๓ ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้จัดส่งทางจังหวัดมุกดาหาร

มาตรา๑๐เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งที่ ๑ จังหวัดนครพนมก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ได้รับเลือกตั้งจากจังหวัดมุกดาหาร และให้ถือว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดนครพนม ก่อนวันที่พระราชพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ได้รับเลือกตั้งจากจังหวัดนครพนม

มาตรา๑๑ให้สมาชิกสภาจังหวัดนครพนม ในเขตเลือกตั้งของอำเภอและกิ่งอำเภอตามมาตรา ๓ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นสมาชิกสภาจังหวัดมุกดาหาร และให้วาระการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลงตามระยะเวลาของสมาชิกภาพแห่งสภาจังหวัดนครพนมจะสิ้นสุดลงตามวาระ

ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดนครพนมและสมาชิกสภาจังหวัดมุกดาหาร เพิ่มให้ครบตามจำนวนที่พึงมีตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด ทั้งนี้ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้วาระการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลงตามระยะเวลาของสมาชิกภาพแห่งสภาจังหวัดนครพนมจะสิ้นสุดลงตามวาระ

มาตรา๑๒ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • พลเอก ป. ติณสูลานนท์
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีท้องที่ติดชายแดน มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีพลเมืองมาก ดังนั้น เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การรักษาความมั่นคงและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในท้องที่ สมควรแยกอำเภอมุกดาหาร อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอนิคมคำสร้อย กิ่งอำเภอดงหลวง (เดิมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม) และกิ่งอำเภอหว้านใหญ่ (เดิมอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม) ออกจากการปกครองของจังหวัดนครพนม รวมตั้งเป็นจังหวัดมุกดาหาร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

บรรณานุกรม

[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"