พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก ๑๒๔

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติทาษ


รัตนโกสินทรศก ๑๒๔[1]





มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่ได้เสด็จถวัลยราชบรมราชาภิเศกมา ได้ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ประเพณีทาษที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ถึงเปนวิธีทาษทำสารกรมธรรม์ขายตัวด้วยใจสมัค มิใช่ทาษเชลยที่เปนการกดขี่อย่างร้ายแรงก็จริง แต่ก็เปนเครื่องกีดขวางความเจริญประโยชน์และศุขสำราญของมหาชนอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งจำเปนจะต้องเลิกถอนอย่าให้มีประเพณีทาษภายในพระราชอาณาจักร์นี้ กรุงสยามจึงจะมีความเจริญสมบูรณ์เท่าทันประเทศอื่น แต่ประเพณีทาษเปนของมีสืบเนื่องมาแต่โบราณ คนทั้งหลายทุกชั้นบรรดาศักดิ์ได้คุ้นเคยและมีประโยชน์ทรัพย์สมบัติเกี่ยวเนื่องอยู่ในวิธีทาษโดยมาก จะเลิกถอนเสียทันทีก็หน้าที่จะเกิดความลำบากในประชุมชนทั้งหลายได้มากอยู่ การเลิกทาษสมควรจะต้องผ่อนผันเลิกไปเปนลำดับตามควรแก่การร จึงจะเปนประโยชน์ดีด้วยประการทั้งปวง ทรงพระราชดำริห์เห็นดังนี้ เมื่อปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ คือ รัตนโกสินทรศก ๙๑ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ตราพระราชบัญญัติผ่อนเพียงห้ามมิให้คยเกิดในรัชกาลปัตยุบันนี้เปนทาษ ต่อแต่นั้นมา ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้มีพระราชบัญญัติลดหย่อนถอนวิธีทาษลงโดยลำดับ มาจนบัดนี้ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะตราพระราชบัญญัติเพื่อลดหย่อนประเพณีทาษให้ยิ่งน้อยลงได้อีกชั้นหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้ว่า



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาษ รัตนโกสินทรศก ๑๒๔”


มาตรา ๒

ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทรก ๑๒๔ ทั่วพระราชอาณาจักร เว้นแต่มณฑลพายัพและมณฑลบุรพาซึ่งได้ตราพระราชบัญญัติทาษไว้สำหรับมณฑลนั้น ๆ แล้ว กับมณฑลไทรบุรีและเมืองกลันตันเมืองตรังกานูซึ่งใช้กฎหมายตามลัทธิศาสนาของเมืองนั้น ๆ


มาตรา ๓

บรรดาลูกทาษให้รับว่าเปนไทยมิให้มีพิกัดเกษียณอายุดังว่าไว้ในพระราชบัญญัติลูกทาษลูกไทย จุลศักราช ๑๒๓๖ นั้นต่อไป


มาตรา ๔

บรรดาคนที่เปนไทยอยู่ก็ดี หรือทาษที่หลุดพ้นค่าตัวแล้วก็ดี ต่อไปห้ามมิให้เปนทาษ


มาตรา ๕

บรรดาทาษที่มีอยู่ในเวลาออกพระราชบัญญัตินี้ นอกจากเวลาที่ทาษหลบหลีกหนีหาย ให้เจ้าเงินลดค่าตัวให้คนหนึ่งเดือนละ ๔ บาท นับเดือนเมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ เปนต้นไป


มาตรา ๖

ถ้าทาษจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ทำสารกรมธรรม์ขึ้นค่าตัวกว่าจำนวนเงินค่าตัวในเวลานั้น



ประกาศมา ณ วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ ตรงกับวันที่ ๑๓๒๙๐ ในรัชกาลปัตยุบันนี้



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๒/ตอนที่ ๑/หน้า ๙/๒ เมษายน ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๘๘, ค.ศ. ๑๙๐๕)




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"