ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙/ฉบับที่ ๑

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand
พระราชบัญญัติธง
พุทธศักราช ๒๔๗๙[1]




ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙)
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๙
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน


โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ให้เหมาะแก่ความต้องการตามกาลสมัย

จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้


ความเบื้องต้น


มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙"

มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตืนี้นับตั้งแต่ครบกำหนดสามสิบวัน ภายหลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ ข้อบังคีบ และประกาศที่เกี่ยวด้วยธงทั้งหมดอันใช้อยู่แต่ก่อนแล้วเสียทั้งสิ้น

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ตั้งเจ้าพนักงาน หรือกระทำการอื่นๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้บังคับใช้ได้


หมวด ๑
ว่าด้วยลักษณะของธง

ส่วนที่ 1
ธงชาติ


มาตรา ๕ ธงชาติ รูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๙ ส่วน ด้านกว้าง ๒ ใน ๖ ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ ๑ ใน ๖ ส่วน เป็นแถบสีขาว ต่อสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง ธงชาตินี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ธงไตรรงค์"


ส่วนที่ ๒
ธงหมายพระอิสสริยยศ


มาตรา ๖ ธงหมายพระอิสริยยศมี ๑๒ อย่าง ดั่งต่อไปนี้


๑. ธงมหาราชใหญ่


ธงมหาราชใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีเหลือง ที่ศูนย์กลางมีรูปพระครุฑพ่าห์สีแดง เป็นธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์


๒. ธงมหาราชน้อย


ธงมหาราชน้อย แบ่งตามยาวออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นมีลักษณะสัณฐานเหมือนกันกับธงมหาราชใหญ่ ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ธงนี้มีขนาดกว้างตอนต้นไม่เกิน ๖๐ เซ็นติเมตร ตอนปลายสุดกว้างกึ่งเท่าของตอนต้น ส่วนยาวโดยตลอดเป็น ๘ เท่าของส่วนกว้างตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ของส่วนยาว

ธงนี้ ถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ


๓. ธงราชินีใหญ่


ธงราชินีใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นสีเหลือง ลักษณะและสัณฐานตอนต้น ๒ ใน ๓ ของส่วนยาวนั้น อย่างเดียวกับธงมหาราชใหญ่ ปลายธงตัดเป็นรูปแฉกหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว เป็นธงสำหรับองค์สมเด็จพระบรมราชินี


๔. ธงราชินีน้อย


ธงราชินีน้อย มีลักษณะและสัณฐานอย่างธงมหาราชน้อย ต่างกันแต่ชายต่อธงเป็นสีแดง

ธงนี้ ถ้าชักขึ้นแทนธงราชินีใหญ่ หมายความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ


๕. ธงเยาวราชใหญ่


ธงเยาวราชใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นนอกสีขาบ พื้นในสีเหลือง กว้างยาวกึ่งส่วนของพื้นนอก ที่ศูนย์กลางบนพื้นสีเหลืองมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง เป็นธงสำหรับองค์สมเด็จพระยุพราช


๖. ธงเยาวราชน้อย


ธงมหาราชน้อย แบ่งตามยาวออกเป็น ๒ ตอน ตอนต้นมีลักษณะสัณฐานเหมือนกันกับธงเยาวราชใหญ่ ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ธงนี้มีขนาดกว้างตอนต้นไม่เกิน ๖๐ เซ็นติเมตร ตอนปลายสุดกว้างกึ่งเท่าของตอนต้น ส่วนยาวโดยตลอดเป็น ๘ เท่าของส่วนกว้างตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ของส่วนยาว

ธงนี้ ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ หมายความว่า โปรดเกล้าฯ ให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ


๗. ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน


ธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน รูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ลักษณะและสัณฐานตอนต้น ๒ ใน ๓ ของส่วนยาวนั้น อย่างเดียวกับธงเยาวราชใหญ่ ปลายธงตัดเป็นรูปแฉกหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว เป็นธงสำหรับองค์พระวรชายาแห่งสมเด็จพระยุพราช


๘. ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน


ธงเยาวราชน้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงเยาวราชน้อย เว้นแต่ชายต่อธงเป็นสีแดง

ธงนี้ ถ้าชักขึ้นแทนธงเยาวราชใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า ทรงโปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ


๙. ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า


ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีขาบ ที่ศูนย์กลางมีวงกลมสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวเท่ากับกึ่งส่วนกว้างของธง ภายในวกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง เป็นธงสำหรับองค์พระราชโอรสในพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าในรัชชกาลใดๆ


๑๐. ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า


ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า แบ่งตามยาวออกเป็นสองตอน ตอนต้นมีลักษณะสัณฐานเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ตอนปลายมีลักษณะเป็นชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ธงนี้มีขนาดกว้างตอนต้นไม่เกิน ๖๐ เซ็นติเมตร ตอนปลายสุดกว้างกึ่งเท่าของตอนต้น ส่วนยาวโดยตลอดเป็น ๘ เท่าของส่วนกว้างตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ของส่วนยาว

ธงนี้ ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า หมายความว่า ทรงโปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ


๑๑. ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน


ธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน รูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ลักษณะและสัณฐานตอนต้น ๒ ใน ๓ ของส่วนยาวนั้น อย่างเดียวกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ปลายธงตัดเป็นรูปแฉกหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว เป็นธงสำหรับองค์พระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ ไม่ว่ารัชชกาลใดๆ


๑๒. ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน


ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า เว้นแต่ชายต่อธงเป็นสีแดง

ธงนี้ ถ้าชักขึ้นแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน หมายความว่า ทรงโปรดให้งดการยิงสลุตถวายคำนับ


ส่วนที่ ๓
ธงทหารเรือ

จำพวกที่ ๑
ธงราชการ


มาตรา ๗ ธงราชการสำหรับทหารเรือมี ๒ อย่าง ดั่งต่อไปนี้


๑. ธงราชนาวี


ธงราชนาวี มีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติ แต่มีดวงกลมสีแดงอยู่ที่ศูนย์กลาง ดวงกลมมีขนาดโตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๔ ใน ๖ ของส่วนกว้างของธง คือ ขอบของดวงกลมจดขอบสีแดงของพื้นธงพอดี ภายในดวงกลมนั้นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา

ธงนี้สำหรับใช้ชักที่ท้ายเรือ และสถานที่ราชการต่างๆ ของราชนาวี


๒. ธงฉาน


ธงฉาน มีลักษณะสัณฐานเหมือนธงชาติ แต่ที่ศูนย์กลางพื้นธงมีรูปสมอไขว้กับจักรภายในพระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง

ธงนี้ สำหรับใช้ชักที่หน้าเรือรบ และเรือพระที่นั่งในระหว่างเวลาประจำการ และ

ก) ถ้าชักขึ้นที่ปลายพรวนเสาหน้าของเราลำใด เป็นเครื่องหมายว่า เรือลำนั้นเป็นเรือยามประจำอ่าว

ข) ถ้าชักขึ้นที่เสาก๊าฟของเรือลำใด เป็นเครื่องหมายว่า ในเรือลำนั้นเป็นที่ตั้งของศาลทหาร ซึ่งดำเนินการพิจารณาคดีอยู่


จำพวกที่ ๒
ธงหมายยศ


มาตรา ๘ ธงหมายยศสำหรับนายทหารเรือมี ๔ ชั้น ดั่งต่อไปนี้


๑. ธงจอมพลเรือ


ธงจอมพลเรือ รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีขาบ มีรูปจักร ๔ จักรสีขาวอยู่ที่มุมธงทั้งสี่มุม และที่ศูนย์กลางธงมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง


๒. ธงนายพลเรือเอก


ธงนายพลเรือเอก รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีขาบ มีรูปจักรสีขาว ๓ จักร เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า


๓. ธงนายพลเรือโท


ธงนายพลเรือโท รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีขาบ มีรูปจักรสีขาว ๒ จักร ที่กลางพื้นธงเรียงกันในแนวดิ่ง


๔. ธงนายพลเรือตรี


ธงนายพลเรือตรี รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีขาบ มีรูปจักรสีขาว ๑ จักรที่ศูนย์กลางธง


จำพวกที่ ๓
ธงหมายตำแหน่ง


มาตรา ๙ ธงหมายตำแหน่ง สำหรับราชการทหารเรือ มี ๗ อย่าง ดั่งต่อไปนี้


๑. ธงผู้บัญชาการทหารเรือ


ธงผู้บัญชาการทหารเรือ รูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นสีขาบ ตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง


๒. ธงผู้บังคับการกองเรือรบ


ธงผู้บังคับการกองเรือรบ มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการทหารเรือ แต่ปลายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว


๓. ธงผู้บังคับหมวดเรือ


ธงผู้บังคับหมวดเรือ รูปสามเหลี่ยมเรียวปลายแหลม ขนาดกว้าง ๒ ส่วน ยาว ๕ ส่วน พื้นสีขาบ มีรูปสมอสีเหลือง ๑ ตัว อยู่ที่ศูนย์กลางธง


๔. ธงผู้บังคับหมู่เรือ


ธงผู้บังคับหมู่เรือ รูปสามเหลี่ยมเรียว ปลายแหลม กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๕ ส่วน ตอนต้น ๒ ใน ๕ ของส่วนยาว เป็นพื้นสีขาบ และมีรูปสมอสีเหลือง ๑ ตัว ตอนปลายที่เหลือ ๓ ใน ๕ ของส่วนยาวนั้น เป็นพื้นสีขาว


๕. ธงหัวหน้าชั่วคราว


ธงหัวหน้าชั่วคราว มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงผู้บังคับหมวดเรือ เว้นแต่พื้นขาว รูปที่กลางพื้นธงนั้นเป็นสมอสีขาบ ๑ ตัว


๖. ธงผู้บังคับการเรือ


ธงผู้บังคับการเรือ รูปสามเหลี่ยมเรียว ปลายแหลมคล้ายหางจรเข้ ตอนต้นกว้างไม่เกิน ๒๐ เซ็นติเมตร ยาว ๓๐ เท่าของส่วนกว้าง ตอนต้น ๑ ใน ๓ ของส่วนยาวเป็นพื้นสีแดง อีก ๒ ใน ๓ ของส่วนยาวที่เหลือเป็นพื้นสีขาบ


๗. ธงผู้บังคับการสถานีทหารเรือฝ่ายบก


ธงผู้บังคับการสถานีทหารเรือฝ่ายบก มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงผู้บังคับการกองเรือ แต่ตอนปลายที่ตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาวนั้นเป็นสีแดง


ส่วนที่ ๔
ธงราชการทั่วไป


มาตรา ๑๐ บรรดากระทรวงทะบวงกรม ที่มิได้มีแบบธงเป็นเครื่องหมายไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ธงชาติเป็นธงหมายตำแหน่งราชการ หรือสำหรับชักไว้ประจำเสาสถานที่ราชการ

มาตรา ๑๑ ธงประจำกองทหารมี ๓ อย่าง ดั่งต่อไปนี้


๑. ธงประจำกองทหารบก


ธงประจำกองทหารบก มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงชาติ แตjที่ศูนย์กลางธงมีรูปอุณาโลมทหารบก ธงนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ธงไชยเฉลิมพล"


๒. ธงประจำกองทหารเรือ


ธงประจำกองทหารเรือ มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ที่ศูนย์กลางธงมีรูปสมอไขว้กับจักรภายในพระมหามงกุฎ สีชองรูปนี้เป็นสีเหลือง

กองทหารเรือฝ่ายบก หรือหน่วยทหารเรือที่ไม่มีธงประจำกองในเวลายกพลขึ้นบก เมื่อจะให้มีธงประจำไปกับกองทหารด้วย ก็ให้ใช้ธงฉานเป็นธงประจำกองทหารเรือ


๓. ธงประจำกองทหารอากาศ


ธงประจำกองทหารอากาศ มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ที่ศูนย์กลางธงมีรูปอุณาโลมทหารอากาศ

มาตรา ๑๒ บรรดาธงที่ประจำกองทหารที่กล่าวมาในมาตรา ๑๑ นั้น จะกำหนดวัตถุที่ทำเป็นลวดลายในพื้นธง หรือจะให้มีส่วนประกอบธงอย่างอื่นอีกก็ได้ ซึ่งกระทรวงการเจ้าหน้าที่ผู้รักษาพระราชบัญญัติจะได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๓ ธงประจำคณะลูกเสือและประจำกองลูกเสือมีลักษณะดั่งนี้

๑. ธงประจำคณะลูกเสือแห่งสยาม พื้นเป็นธงชาติ มีขนาดกว้าง ๕๐ เซ็นติเมตร ยาว ๕๒ เซ็นติเมตร ที่ตรงกึ่งกลางมีตราธรรมจักรสีเหลือง ขนาดโตตามเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๒ เซ็นติเมตร คันธงยาว ๒.๖๐ เมตร ที่ยอดคันธงทำด้วยเงินเป็นรูปวชิร

๒. ธงประจำกองลูกเสือ พื้นเป็นธงชาติ มีขนาดกว้าง ๔๐ เซ็นติเมตร ยาว ๖๐ เซ็นติเมตร ที่ตรงกึ่งกลางมีรูปวงกลมพื้นสีเหลือง ขนาดโตตามเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๗ เซ็นติเมตร มีขอบเป็นสีดำ ๒ ขอบซ้อนกัน ขอบนอกกว้าง ๒ มิลิเมตร ขอบในกว้าง ๑ มิลิเมตร ระยะขอบนอกและขอบในห่างกัน ๒ มิลิเมตร ตรงกึ่งกลางวงกลมมีตราคณะลูกเสือแห่งสยาม และนามจังหวัดที่ได้รับพระราชทานเป็นอักษรสีดำอยู่เบื้องใต้คันธงยาว ๒.๖๐ เมตร ที่ยอดคันธงทำด้วยเงินเป็นรูปวชิร

มาตรา ๑๔ ธงราชการอย่างอื่นสำหรับใช้ฉะเพาะชักขึ้นในเรือเวลากระทำการตามหน้าที่ มี ๔ อย่าง คือ


๑. ธงเจ้าพนักงานการท่า


ธงเจ้าพนักงานการท่า รูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๒ ส่วน ตอนต้น ๑ ใน ๓ ของส่วนยาวเป็นอย่างสีธงชาติ ตอนปลายเป็นสีขาว


๒. ธงเจ้าพนักงานการไปรษณีย์


ธงเจ้าพนักงานการไปรษณีย์ มีลักษณะและสัณฐานอย่างธงเจ้าพนักงานการท่า แต่ตอนปลายเป็นสีแดง


๓. ธงเจ้าพนักงานการศุลกากร


ธงเจ้าพนักงานการศุลกากร มีลักษณะและสัณฐานอย่างธงเจ้าพนักงานการท่า แต่ตอนปลายเป็นสีเขียวใบไม้


๔. ธงเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง


ธงเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีลักษณะและสัณฐานอย่างธงเจ้าพนักงานการท่า แต่ตอนปลายเป็นสีเหลือง


ธงนำร่อง


มาตรา ๑๔ ธงนำร่อง รูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๘ ส่วน ยาว ๑๒ ส่วน ขอบธงโดยรอบเป็นแถบสีขาวกว้าง ๑ ใน ๘ ของส่วนกว้างของธง ภายในขอบสีขาวเป็นรูปอย่างธงชาติ


ส่วนที่ ๕
ธงหมายตำแหน่งทั่วไป


มาตรา ๑๖ ธงหมายตำแหน่งทั่วไป มี ๘ อย่าง ดั่งต่อไปนี้


๑. ธงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


ธงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส พื้นสีขาว ที่ศูนย์กลางมีแถบสีเหลืองเป็นรูปโล่ห์ แถบนี้กว้าง ๑ ใน ๑๐ ของส่วนกว้างของธง ภายในรูปโล่ห์เป็นแถบสีอย่างธงชาติ เหนือรูปโล่ห์มีรูปครุฑพ่าห์สีแดง

ธงนี้ เป็นธงหมายตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ ใช้ฉเพาะในหน้าที่ราชการเป็นเกียรติยศ


๒. ธงนายกรัฐมนตรี


ธงนายกรัฐมนตรี รูปสี่เหลี่ยมกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นสีขาว ที่ศูนย์กลางมีแถบสีเหลืองเป็นรูปโล่ห์ แถบนี้กว้าง ๑ ใน ๑๐ ของส่วนกว้างของธง ภายในรูปโล่ห์เป็นแถบสีอย่างธงชาติ ทั้ง ๒ ข้างรูปโล่ห์มีรูปราชสีห์แดงยืนอยู่ข้างขวาหนึ่งตัว และรูปคชสีห์แดงยืนอยู่ข้างซ้ายหนึ่งตัว


๓. ธงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม


ธงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นขาว ที่ศูนย์กลางธงมีรูปสมอสีขาบไขว้กับจักรสีแดง และปีกนก ๒ ปีกสีฟ้า อยู่ภายใต้พระมหามงกุฎสีเหลือง


๔. ธงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง


ธงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอื่น รูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นสีขาว มีแถบสีเหลืองเป็นรูปโล่ห์ แถบนี้กว้าง ๑ ใน ๑๐ ของส่วนกว้างของธง ภายในรูปโล่ห์เป็นแถบสีธงชาติ


๕. ธงผู้บัญชาการทหารบก


ธงผู้บัญชาการทหารบก รูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน มีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติ แต่ที่ศูนย์กลางธงมีรูปจักรสีขาว ดวงจักรนี้โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๕ ใน ๖ ของส่วนกว้างของธง


๖. ธงเจ้ากรมทหารอากาศ


ธงเจ้ากรมทหารอากาศ รูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นสีฟ้า ที่ศูนย์กลางพื้นธงมีรูปจักรอยู่กลาง และมีปีกนกข้างละปีกภายใต้พระมหามงกุฎ สีของรูปนี้เป็นสีเหลือง


๗. ธงอัครราชทูต


ธงอัครราชทูต มีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติ แต่ที่ศูนย์กลางพื้นธงมีดวงกลมสีขาบ ดวงกลมนี้โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๔ ใน ๖ ของส่วนกว้างของธง คือ ขอบของดวงกลมจดขอบสีแดงของพื้นธงพอดี ภายในดวงกลมมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสา


๘. ธงกงสุล


ธงกงสุล มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงราชทูต เว้นแต่ในดวงกลมสีขาบนั้นมีรูปช้างปล่อยสีขาว


หมวด ๒
บทบังคับทั่วไป


มาตรา ๑๗ ภายในดินแดนสยาม ให้ชักธงได้แต่ธงชาติสยาม

ธงชาติต่างประเทศ จะชักได้แต่ในกรณีดั่งต่อไปนี้

(๑) ชักธงในสถานทูต หรือสถานกงสุลตามขนบธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ

(๒) ชักธงบนเรือต่างประเทศ หรือบนอากาศยานต่างประเทศตามขนบธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ

(๓) ชักธงในโอกาสที่ประมุขแห่งรัฐ หรือผู้แทนมาเยี่ยมประเทศสยาม

(๔) ชักธงในโอกาสที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความแห่งพระราชบัญญัติ หรือในโอกาสที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๘ การชักธงชาติต่างประเทศตามมาตรา ๑๗ (๓) และ (๔) นั้น ให้ชักธงชาติสยามคู่ไปด้วย ธงชาติสยามนั้นต้องมีลักษณะบริบูรณ์ไม่ขาดวิ่นหรือเลอะเลือน และมีขนาดไม่เล็กไปกว่าธงชาติต่างประเทศ อนึ่ง ให้ชักธงชาติสยามไว้ในระดับไม่ต่ำกว่า และให้อยู่ข้างขวาของธงชาติต่างประเทศ

มาตรา ๑๙ บทบัญญัติที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๗ และ ๑๘ นั้น มิให้ใช้บังคับแก่การชักธงภายในห้องของบ้านหรือโรงเรือน

มาตรา ๒๐ นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือพระราชบัญญัติอื่น ห้ามมิให้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใดๆ ลงในธงชาติเป็นอันขาด

ห้ามมิให้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใดๆ ลงในแถบสีธงชาติโดยไม่สมควร หรือใช้ ชัก แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ ไว้ ณ สถานที่อันไม่สมควร หรือใช้ธงชาติ หรือแถบสีธงชาติโดยวิตถารวิธี หรือแสดงกิริยา วาจา อาการ อย่างหนึ่งอย่างใดหยาบคายต่อธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ หรือประดิษฐ์ธงชาติ หรือแถบสีธงชาติลงในสถานที่หรือบนสิ่งของใดๆ โดยไม่สมควร


หมวด ๓
บทกำหนดโทษ


มาตรา ๒๑ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๗ และมาตรา ๑๘ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๒๒ ผู้ใดชักธงหรือแสดงธงอย่างอย่างหนึ่งอย่างใดในพระราชบัญญัตินี้โดยไม่มีสิทธิ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสองเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

มาตรา ๒๓ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๐ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พ.อ. พหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี

เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓/หน้า ๘๖๕ - ๘๘๕/๖ ธันวาคม ๒๔๗๙.



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"