พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


พระราชบัญญัติ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๕๑[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑
เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๖ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ ให้ใช้บังคับเมื่อกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลใช้บังคับ

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(๑) ธนาคารพาณิชย์

(๒) บริษัทเงินทุน

(๓) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

(๔) นิติบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

“กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หมายความว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศตามข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก

“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“รองผู้ว่าการ” หมายความว่า รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย

“ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างธนาคารแห่งประเทศไทย

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกหมวด ๒ การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง มาตรา ๕ ถึงมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕

มาตรา ๕ ให้ใช้ความต่อไปนี้เป็นหมวด ๒ การจัดตั้งและวัตถุประสงค์ มาตรา ๕ ถึงมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕


“หมวด ๒
การจัดตั้งและวัตถุประสงค์


มาตรา ๕ ให้มีธนาคารกลางเรียกว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า “ธปท.”

ให้ ธปท. เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น

มาตรา ๖ ให้ ธปท. มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และจะตั้งสาขา หรือสำนักงานตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักรก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีแล้วจะตั้งสาขาหรือสำนักงานตัวแทนขึ้นนอกราชอาณาจักรก็ได้

มาตรา ๗ ธปท. มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลางเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน

การดำเนินภารกิจตามวรรคหนึ่งต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

มาตรา ๘ ให้ ธปท. มีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ เพื่อบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) การออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร

(๒) การกำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน

(๓) การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.

(๔) การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล

(๕) การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน

(๖) การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน

(๗) การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

(๘) การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมทั้งการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

(๙) การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

(๑๐) การปฏิบัติการตามที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ธปท.

(๑๑) การกระทำการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ ธปท.

ในการนี้ ธปท. อาจถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครองหรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องใด ๆ หรือก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งในและนอกราชอาณาจักร มาตรา ๙ ห้าม ธปท. กระทำการดังต่อไปนี้

(๑) ประกอบการค้าหรือมีส่วนได้เสียโดยตรงในกิจการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อหากำไรกับประชาชนโดยตรง แต่ ธปท. อาจได้มาซึ่งส่วนได้เสียอันเนื่องมาจากการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของ ธปท.

(๒) ซื้อหรือมีหุ้นในสถาบันการเงินหรือบริษัทใด เว้นแต่

(ก) เป็นหุ้นในธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
(ข) เป็นหุ้นที่ได้จากการชำระหนี้หรือการประกันการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๓) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่

(ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการของ ธปท. หรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ ธปท.
(ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้หรือการประกันสินเชื่อ

(๔) ให้กู้ยืมเงินในกรณีอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๕) รับจ้างพิมพ์ธนบัตร บัตรธนาคาร พันธบัตร อากรแสตมป์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นใดที่มีระบบป้องกันการปลอมแปลง ตลอดจนจำหน่ายหมึกพิมพ์หรืออุปกรณ์อันเกี่ยวเนื่องกับการพิมพ์สิ่งพิมพ์ดังกล่าว เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้กระทำกับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงิน หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ธปท.

บรรดาส่วนได้เสียหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของ ธปท. ตามวรรคหนึ่ง (๑) หรือ (๓) (ข) จะต้องจำหน่ายโดยเร็วภายในห้าปีนับแต่วันที่ส่วนได้เสียหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของ ธปท. เว้นแต่จะได้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นเพื่อเป็นสถานที่ประกอบกิจการหรือเพื่อใช้ประโยชน์แก่กิจการของ ธปท.

มาตรา ๑๐ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติดุลการชำระเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศและสถิติการเงินของประเทศ ให้ ธปท. มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อ ธปท. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๑ กิจการของ ธปท. ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ธปท. ต้องจัดให้มีระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์”

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกหมวด ๓ การกำกับ ควบคุม และจัดการ มาตรา ๑๔ ถึงมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๗

มาตรา ๗ ให้ใช้ความต่อไปนี้เป็นหมวด ๓ ทุนและเงินสำรอง มาตรา ๑๒ ถึงมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕


“หมวด ๓
ทุนและเงินสำรอง


มาตรา ๑๒ ให้กำหนดทุนประเดิมของ ธปท. เป็นจำนวนยี่สิบล้านบาท

การเพิ่มหรือลดทุนของ ธปท. ให้กระทำได้โดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

มาตรา ๑๓ ให้เงินสำรองของ ธปท. ประกอบด้วย

(๑) เงินสำรองธรรมดา ซึ่งตั้งไว้เผื่อขาดทุน

(๒) เงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน

(๓) เงินสำรองประเภทอื่นเพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ ตามที่คณะกรรมการ ธปท.จะตั้งไว้โดยอนุมัติรัฐมนตรี

มาตรา ๑๔ กำไรสุทธิของ ธปท. ในแต่ละปี เมื่อได้หักผลขาดทุนสะสมคงเหลือ หากมีแล้วให้กันเงินไว้สำหรับรายการดังต่อไปนี้ตามลำดับ

(๑) เงินสำรองธรรมดาเป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้า

(๒) เงินสำรองประเภทอื่นตามจำนวนที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรี

เมื่อ ธปท. ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว หากมีเงินคงเหลืออีก ให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา ๑๕ หากผลการดำเนินงานของ ธปท. ขาดทุนในปีใด ให้นำเงินสำรองธรรมดาชดเชยผลขาดทุนนั้น

มาตรา ๑๖ ในการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สินของ ธปท. ให้นำกำไรหรือขาดทุนที่เกิดจากการตีราคาดังกล่าวสะสมเข้าหรือหักออกจากเงินสำรองตามมาตรา ๑๓ (๒)”

มาตรา ๘ ให้ยกเลิกหมวด ๔ การออกบัตรธนาคาร มาตรา ๒๑ ถึงมาตรา ๒๗ และหมวด ๕ การธนาคาร มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช ๒๔๘๕

มาตรา ๙ ให้ใช้ความต่อไปนี้เป็นหมวด ๔ คณะกรรมการ มาตรา ๑๗ ถึงมาตรา ๒๘/๑๒ และหมวด ๕ ผู้ว่าการ มาตรา ๒๘/๑๓ ถึงมาตรา ๒๘/๒๑ และมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕


“หมวด ๔
คณะกรรมการ


มาตรา ๑๗ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท. ตามมาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้

(๑) คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ธปท.” เพื่อควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งการบริหารงานของ ธปท.

(๒) คณะกรรมการนโยบายการเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายการเงินของประเทศ

(๓) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

(๔) คณะกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแล และระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน

กรรมการในคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่บัญญัติในหมวดนี้ในส่วนที่ว่าด้วยคณะกรรมการแต่ละคณะ ทั้งนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์สำหรับการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนั้น ๆ

มาตรา ๑๘ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ต้องมีสัญชาติไทย และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๓) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๕) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๖) เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

(๗) เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท.

มาตรา ๑๙ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือน้อยกว่าเก้าสิบวัน และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวัน

มาตรา ๒๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) อายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๑๘

(๕) ขาดการประชุมคณะกรรมการเกินสามครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(๖) รัฐมนตรีให้ออกตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ธปท. เนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง โดยต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

มาตรา ๒๑ การประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ามีรองประธานมากกว่าหนึ่งคน ให้รองประธานที่มีอาวุโสสูงสุดในที่ประชุมเป็นประธานในที่ประชุม แต่ถ้าทั้งประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุม ให้เลื่อนการประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๒ ในการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณา ให้แจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือคณะกรรมการระบบการชำระเงินแล้วแต่กรณี ทราบ

การแจ้ง การพิจารณา และการมีคำสั่งเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียของประธานกรรมการหรือกรรมการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

มาตรา ๒๓ ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด และให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธปท.


ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการ ธปท.


มาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการสามคน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกห้าคน เป็นกรรมการ

ให้ผู้ว่าการเป็นรองประธานกรรมการและแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

มาตรา ๒๕ คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดำเนินการของ ธปท. เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ เว้นแต่กิจการและการดำเนินการที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินและคณะกรรมการระบบการชำระเงิน รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินกิจการและการดำเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ

(๒) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานบุคคล

(๓) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน

(๔) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ ผู้ว่าการพนักงานและลูกจ้าง

(๕) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการมอบอำนาจ การรักษาการแทน การบริหารงาน หรือดำเนินกิจการอื่นใด

(๖) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยงบประมาณและรายจ่าย และการจัดซื้อและจัดจ้าง

(๗) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการให้กู้ยืมเงินการสงเคราะห์และให้สวัสดิการต่าง ๆ แก่พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่ง และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว

(๘) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ ๓ ของหมวด ๖

(๙) พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งและการเลิกสาขาหรือสำนักงานตัวแทน

(๑๐) กำหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา ๕๕

(๑๑) กำกับดูแลการจัดทำงบการเงิน รายงานประจำปี และรายงานอื่น ๆ ของ ธปท. ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๑๒) ปฏิบัติการอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

มาตรา ๒๖ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ มาใช้บังคับแก่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. โดยอนุโลม

มาตรา ๒๗ ในวาระเริ่มแรก เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบหนึ่งปีหกเดือนให้ออกจากตำแหน่งสามคนโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตำแหน่งโดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ

มาตรา ๒๘ ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้รัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา ๒๘/๑ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง

หากยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการในคณะกรรมการ ธปท. เท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เว้นแต่มีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคน

มาตรา ๒๘/๑ ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการดังกล่าวในคณะกรรมการ ธปท. และให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

คณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

กรรมการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์ หรือส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ในขณะที่ได้รับการแต่งตั้ง และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการคัดเลือก

ให้ประธานกรรมการคัดเลือกและกรรมการคัดเลือกได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด และให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธปท.

มาตรา ๒๘/๒ ให้คณะกรรมการคัดเลือกกำหนดระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ และลักษณะการมีส่วนได้เสียของผู้ทรงคุณวุฒิที่อาจขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท. อย่างเพียงพอ เพื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกได้

ระเบียบตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลใช้บังคับต่อไปแม้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำหนดระเบียบดังกล่าวจะพ้นจากตำแหน่งแล้ว

การแก้ไขเพิ่มเติม การยกเลิก หรือการกำหนดระเบียบขึ้นใหม่ จะกระทำได้ก็แต่โดยคณะกรรมการคัดเลือกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้คณะกรรมการคัดเลือกเปิดเผยระเบียบที่กำหนดขึ้นตามมาตรานี้ในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

มาตรา ๒๘/๓ การประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการคัดเลือกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

มาตรา ๒๘/๔ คณะกรรมการคัดเลือกทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อการดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วแต่กรณีเสร็จสิ้น

มาตรา ๒๘/๕ ให้ผู้ว่าการและปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๘ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์สำหรับการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ ธปท. ต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. แล้วแต่กรณี โดยให้ผู้ว่าการเสนอเป็นจำนวนไม่เกินสองเท่า และปลัดกระทรวงการคลังเสนอเป็นจำนวนไม่เกินหนึ่งเท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้งตามลำดับ

เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งแล้ว ในกรณีประธานกรรมการ ให้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแล้วให้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง


ส่วนที่ ๒
คณะกรรมการนโยบายการเงิน


มาตรา ๒๘/๖ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้งจำนวนสี่คน เป็นกรรมการ ให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

มาตรา ๒๘/๗ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐ สภาวะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

(๒) กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

(๓) กำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายตาม (๑) และ (๒)

(๔) ติดตามการดำเนินมาตรการของ ธปท. ตาม (๓) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน

มาตรา ๒๘/๘ ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินจัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไป เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและ ธปท. ในการดำเนินการใด ๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีเสนอเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ได้ทำความตกลงร่วมนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ โดยต้องดำเนินการตามที่กำหนดในวรรคหนึ่ง


ส่วนที่ ๓
คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน


มาตรา ๒๘/๙ ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนห้าคนเป็นกรรมการ

ให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

มาตรา ๒๘/๑๐ ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และติดตามการดำเนินการของ ธปท. ตามมาตรา ๘ (๕) และ (๗) รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงิน

(๒) กำหนดนโยบายการเปิดและปิดสาขาสถาบันการเงิน

(๓) กำหนดอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(๔) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการเงินรายใหม่

ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ ธปท.ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด


ส่วนที่ ๔
คณะกรรมการระบบการชำระเงิน


มาตรา ๒๘/๑๑ ให้คณะกรรมการระบบการชำระเงิน ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนสามคน เป็นกรรมการ

ให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

มาตรา ๒๘/๑๒ คณะกรรมการระบบการชำระเงินมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแลและระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตลอดจนดำเนินไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ตามมาตรา ๘ (๖)

ให้คณะกรรมการระบบการชำระเงินรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ ธปท. ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด


หมวด ๕
ผู้ว่าการ


มาตรา ๒๘/๑๓ ผู้ว่าการรับผิดชอบการบริหารจัดการกิจการและการดำเนินการของ ธปท. ให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๗ ตลอดจนให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ กำหนด

ให้ผู้ว่าการเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้าง

มาตรา ๒๘/๑๔ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี

ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งผู้ว่าการ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในมาตรา ๒๘/๑ จำนวนเจ็ดคน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองคน และให้รัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเลขานุการ

การแต่งตั้งผู้ว่าการเพื่อดำรงตำแหน่งตามวาระ ให้คณะกรรมการคัดเลือกเสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคสองต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนครบวาระเป็นเวลาอย่างน้อยเก้าสิบวัน

ในกรณีที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคสองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง

ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๘/๒ และมาตรา ๒๘/๓ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคสอง โดยอนุโลม

ให้คณะกรรมการคัดเลือกตามวรรคสองพ้นจากตำแหน่ง เมื่อการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ว่าการเสร็จสิ้น

มาตรา ๒๘/๑๕ ผู้ว่าการต้องมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร

มาตรา ๒๘/๑๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของ ธปท.

มาตรา ๒๘/๑๗ ผู้ว่าการต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอชื่อเพื่อทรงแต่งตั้ง

(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๔) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง

(๖) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๗) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๘) เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

(๙) เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท.

มาตรา ๒๘/๑๘ ผู้ว่าการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีนับแต่วันที่ทรงแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งได้อีกไม่เกินหนึ่งวาระ

มาตรา ๒๘/๑๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๘/๑๘ แล้ว ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๒๘/๑๗

(๔) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

(๕) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

มาตรา ๒๘/๒๐ ผู้ว่าการซึ่งพ้นจากตำแหน่งจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินภายในระยะเวลาสองปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง

มาตรา ๒๘/๒๑ ในกิจการของ ธปท. ที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของ ธปท. และเพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้พนักงานกระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

มาตรา ๒๙ ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ ในการกำหนดเงินเดือน ให้คำนึงถึงข้อห้ามการดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินภายหลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามมาตรา ๒๘/๒๐ ด้วย”

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๙ อัฏฐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๙ อัฏฐ ให้กองทุนมีอำนาจกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา ๒๙ ตรี และอำนาจเช่นว่านี้ ให้รวมถึง

(๑) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยน โอน รับโอน

หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

(๒) ค้ำประกันหรือรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน

(๓) มีเงินฝากไว้ในสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการจัดการกองทุนเห็นว่าจำเป็นและสมควร

(๔) กู้หรือยืมเงิน ออกตั๋วเงินและพันธบัตร

(๕) ลงทุนเพื่อนำมาซึ่งรายได้ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดการกองทุน

(๖) ทำกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกองทุน”

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา ๒๙ อัฏฐารส แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐

มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกหมวด ๖ ความสัมพันธ์กับรัฐบาล มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ หมวด ๗ เงินสำรองที่ธนาคารต้องดำรงไว้ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ หมวด ๘ การสอบและตรวจบัญชีมาตรา ๓๕ ถึงมาตรา ๓๗ หมวด ๙ บทเบ็ดเสร็จ มาตรา ๓๘ ถึงมาตรา ๔๑ และหมวด ๑๐ บทลงโทษ มาตรา ๔๒ ถึงมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕

มาตรา ๑๓ ให้ใช้ความต่อไปนี้เป็นหมวด ๖ การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท. มาตรา ๓๐ ถึงมาตรา ๔๕ หมวด ๗ การป้องกันการมีส่วนได้เสียของผู้ปฏิบัติหน้าที่มาตรา ๔๖ ถึงมาตรา ๔๘ หมวด ๘ การกำกับดูแล มาตรา ๔๙ ถึงมาตรา ๕๒ หมวด ๙ การบัญชี การตรวจสอบการสอบบัญชี และการรายงาน มาตรา ๕๓ ถึงมาตรา ๖๑ และหมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ มาตรา ๖๒ ถึงมาตรา ๗๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕


“หมวด ๖
การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท.

ส่วนที่ ๑
การออกธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร


มาตรา ๓๐ ให้ ธปท. เป็นผู้ออกธนบัตรของรัฐบาล โดยอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

มาตรา ๓๑ ให้ ธปท. มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะออกบัตรธนาคารในราชอาณาจักร

ให้ถือว่าบัตรธนาคารที่ ธปท. ออกตามวรรคหนึ่ง เป็นธนบัตรตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและให้การออกและจัดการบัตรธนาคารอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวด้วย

มาตรา ๓๒ ให้ถือว่าบัตรธนาคารเป็นเงินตราตามประมวลกฎหมายอาญา


ส่วนที่ ๒
การดำเนินนโยบายการเงิน


มาตรา ๓๓ ให้ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนดโดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับเงินฝากประจำหรือกระแสรายวันตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด

(๒) กำหนดอัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินตามมาตรา ๔๑ (๑)

(๓) ซื้อขายและแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต ซึ่งเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(๔) กู้ยืมเงินตราต่างประเทศเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งค่าของเงินตรา โดยวิธีออกตั๋วเงินที่กำหนดระยะเวลาใช้เงิน หรือพันธบัตร หรือวิธีการอื่นใด และจัดให้มีหลักประกันสำหรับเงินกู้ยืมนั้นด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

(๕) กู้ยืมเงินเพื่อการดำเนินนโยบายการเงินโดยจัดให้มีหลักประกันสำหรับเงินกู้ยืมนั้น

(๖) เข้าชื่อซื้อ ซื้อขาย และแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต ซึ่งหลักทรัพย์เท่าที่จำเป็นเพื่อควบคุมปริมาณเงินในระบบการเงินของประเทศ ดังต่อไปนี้

(ก) หลักทรัพย์ของรัฐบาลไทยหรือหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย
(ข) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามที่ ธปท. กำหนด
(ค) ตั๋วเงิน พันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่ ธปท. เป็นผู้ออก
(ง) ตราสารหนี้อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

(๗) ยืมหรือให้ยืมโดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทนซึ่งหลักทรัพย์ตาม (๖) โดยในกรณีที่เป็นการให้ยืมต้องมีสินทรัพย์หลักประกันชั้นหนึ่งตามที่ ธปท. กำหนดเป็นหลักประกัน

(๘) ขายและจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ธปท. เพื่อบังคับสิทธิเรียกร้องของ ธปท. ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

(๙) ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินนโยบายการเงินตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินกำหนด

ซื้อขายตามวรรคหนึ่ง (๓) และ (๖) อาจมีข้อกำหนดอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้

(๑) กำหนดให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินและผู้ซื้อชำระราคาทันทีภายในเวลาที่กำหนดไว้

(๒) กำหนดให้ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินและผู้ซื้อชำระราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตเป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้

(๓) กำหนดให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะเรียกให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำสัญญาซื้อขายภายในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้

(๔) กำหนดให้ผู้ซื้อขายคืนและผู้ขายซื้อคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาที่กำหนดไว้

(๕) ข้อกำหนดอื่น ๆ ตามที่ ธปท. กำหนด

แลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคตตามวรรคหนึ่ง (๓) และ (๖) ได้แก่ สัญญา ซึ่งคู่สัญญาตกลงแลกเปลี่ยนภาระการรับจ่ายดอกเบี้ยหรือแลกเปลี่ยนภาระการรับจ่ายเงินตราต่างสกุล ทั้งนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้

มาตรา ๓๔ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท. อาจกำหนดให้สถาบันการเงินดำรงเงินฝากไว้ที่ ธปท. นอกจากการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสถาบันการเงินที่ ธปท.กำหนดตามกฎหมายอื่น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. ประกาศกำหนด


ส่วนที่ ๓
การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท.


มาตรา ๓๕ ให้ ธปท. มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. ซึ่งรวมถึงการนำสินทรัพย์นั้นไปลงทุนหาประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพคล่อง และผลประโยชน์ตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ

สินทรัพย์ตามวรรคหนึ่งไม่หมายความรวมถึง สินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

มาตรา ๓๖ ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ตามมาตรา ๓๕ หากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ให้กระทำได้เฉพาะสินทรัพย์ต่อไปนี้

(๑) ทองคำ

(๒) เงินตราต่างประเทศอันเป็นเงินตราของประเทศที่รับปฏิบัติตามพันธะที่ตั้งไว้ตามหมวด ๘ แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งต้องอยู่ในรูปเงินฝากในธนาคารพาณิชย์นอกราชอาณาจักร สถาบันการเงินต่างประเทศนอกราชอาณาจักร สถาบันการเงินระหว่างประเทศหรือต้องอยู่ในรูปเงินที่เก็บรักษาในสถาบันผู้เก็บรักษาหลักทรัพย์นอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามลักษณะหรือคุณสมบัติที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

(๓) หลักทรัพย์ต่างประเทศที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ใน (๒) เฉพาะหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้

(ก) หลักทรัพย์ของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
(ข) หลักทรัพย์ที่รัฐบาลต่างประเทศ หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศค้ำประกันการชำระหนี้ตามหลักทรัพย์นั้น
(ค) ตราสารที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกออกให้เป็นหลักฐานว่า ผู้ถือตราสารได้มีส่วนร่วมกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศดังกล่าว ในการให้กู้ยืมเงินแก่รัฐบาลสมาชิกหรือองค์การของรัฐบาลสมาชิกของสถาบันการเงินระหว่างประเทศดังกล่าว ตามจำนวนดังที่ระบุไว้ในตราสารนั้น
(ง) หลักทรัพย์ที่ออกโดยองค์การหรือนิติบุคคลต่างประเทศอื่นตามที่คณะกรรมการ ธปท.กำหนด

(๔) สิทธิซื้อส่วนสำรองตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินและธนาคารระหว่างประเทศ

(๕) สิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

(๖) สินทรัพย์อื่นใดที่ ธปท. นำส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และมิได้นับเป็นสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา

(๗) สินทรัพย์อื่นตามที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

มาตรา ๓๗ ให้ ธปท. รายงานผลการบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. ต่อคณะกรรมการ ธปท. เพื่อทราบเป็นรายไตรมาส


ส่วนที่ ๔
การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล


มาตรา ๓๘ ให้ ธปท. เป็นนายธนาคารของรัฐบาล โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) รับเงินเพื่อเข้าบัญชีฝากของกระทรวงการคลัง และจ่ายเงินจำนวนต่าง ๆ ไม่เกินจำนวนลัพธ์ของบัญชีนั้น โดยกระทรวงการคลังไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาบัญชีดังกล่าว และ ธปท. ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามบัญชีฝากให้แก่กระทรวงการคลัง

(๒) รับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่น รวมทั้งผลประโยชน์ในหลักทรัพย์นั้นไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์ของรัฐบาล

(๓) แลกเปลี่ยนเงิน ส่งเงินไปต่างประเทศ และกิจการธนาคารบรรดาที่เป็นของรัฐบาล

(๔) เป็นตัวแทนของรัฐบาลในกิจการ ดังต่อไปนี้

(ก) การซื้อและขายโลหะทองคำและเงิน
(ข) การซื้อ ขาย และโอนตั๋วแลกเงิน หลักทรัพย์ และใบหุ้น
(ค) การควบคุมและการรวมไว้ในแหล่งกลางซึ่งเงินปริวรรตต่างประเทศ
(ง) การทำกิจการอื่นใดของรัฐบาลตามที่ได้รับมอบหมาย

มาตรา ๓๙ ธปท. อาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาลก็ได้ และให้มีอำนาจกระทำการในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐบาล

(๒) จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขของหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายตาม (๑)

(๓) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการตาม (๑) และ (๒)

มาตรา ๔๐ ธปท. อาจเป็นนายธนาคารของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรืออาจเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐก็ได้ โดย ให้นำความในมาตรา ๓๘ หรือมาตรา ๓๙ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ โดยอนุโลม


ส่วนที่ ๕
การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน


มาตรา ๔๑ ให้ ธปท. เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหกเดือน และต้องมีสินทรัพย์หลักประกันชั้นหนึ่งที่ ธปท. กำหนดตามมาตรา ๓๓ (๗) เป็นประกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด

(๒) รับเก็บรักษาเงิน หลักทรัพย์ หรือของมีค่าอย่างอื่นของสถาบันการเงิน รวมทั้งผลประโยชน์ในหลักทรัพย์นั้นไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ย

(๓) สั่งให้สถาบันการเงินใดส่งรายงานเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพันตามที่ ธปท. กำหนด และอาจเรียกให้สถาบันการเงินชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความในรายงานนั้นได้

การให้กู้ยืมเงินตาม (๑) ให้หมายความรวมถึงการซื้อสินทรัพย์หลักประกันชั้นหนึ่งตามมาตรา ๓๓ (๗) จากสถาบันการเงินโดยมีสัญญาขายคืนแก่สถาบันการเงินนั้นด้วย

มาตรา ๔๒ ในกรณีที่สถาบันการเงินใดประสบปัญหาสภาพคล่องอันอาจมีผลกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินเป็นส่วนรวม และ ธปท. เห็นว่าการให้กู้ยืมเงินหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินนั้น อาจช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และระบบการเงินได้ ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จะให้กู้ยืมเงินหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะอื่นใดแก่สถาบันการเงินดังกล่าวก็ได้

หากสถาบันการเงินนั้นมีหุ้นหรือทรัพย์สินของสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นใดซึ่งอาจนำมาเป็นประกันได้ ให้นำหุ้นหรือทรัพย์สินนั้นมาเป็นประกันการให้กู้ยืมเงิน หรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินกำหนด

การให้กู้ยืมเงินหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการซื้อ การซื้อโดยมีสัญญาขายคืน ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินตราสารเปลี่ยนมือ และการก่อภาระผูกพันเพื่อประโยชน์ของสถาบันการเงินด้วย

มาตรา ๔๓ ให้ ธปท. เป็นผู้ทรงบุริมสิทธิพิเศษในลำดับก่อนบุริมสิทธิอื่นสำหรับมูลหนี้ที่เกิดจากการให้กู้ยืมเงินหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงินตามมาตรา ๔๒ และมีอยู่เหนือเงินหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินของสถาบันการเงิน และหุ้นหรือทรัพย์สินของนิติบุคคลอื่นใดที่นำมาเป็นประกันหนี้นั้น ทั้งนี้ เฉพาะที่อยู่ในความครอบครองของ ธปท.


ส่วนที่ ๖
การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน


มาตรา ๔๔ ให้ ธปท. จัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงินและการบริหารจัดการระบบดังกล่าว เพื่อให้ระบบการชำระเงินเกิดความปลอดภัยตลอดจนดำเนินไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธปท. ประกาศกำหนด

มาตรา ๔๕ ในการดำเนินการระบบการชำระเงินที่ ธปท. จัดตั้งตามมาตรา ๔๔ หาก ธปท. จำเป็นต้องให้กู้ยืมเงิน ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการระบบการชำระเงินกำหนดในกรณีที่เป็นการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการให้สภาพคล่องระหว่างวัน ธปท. จะเรียกดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนหรือกำหนดให้วางหลักประกันหรือไม่ก็ได้


หมวด ๗
การป้องกันการมีส่วนได้เสียของผู้ปฏิบัติหน้าที่


มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างกระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดการขัดหรือแย้งระหว่างผลประโยชน์ของตนและผลประโยชน์ของ ธปท. หรือขัดหรือแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน

มาตรา ๔๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานหรือลูกจ้างเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียในเรื่องที่ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณาต่อผู้ว่าการ คณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือคณะกรรมการระบบการชำระเงิน แล้วแต่กรณีและห้ามมิให้ผู้นั้นพิจารณาหรือเข้าร่วมในการประชุมเรื่องนั้น จนกว่าจะมีคำชี้ขาดให้ปฏิบัติอย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด

มาตรา ๔๘ พนักงานและลูกจ้างต้องไม่ดำรงตำแหน่ง รับจ้างหรือรับทำการงานใด ๆ ในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นไปตามข้อบังคับที่ ธปท. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ธปท.


หมวด ๘
การกำกับดูแล


มาตรา ๔๙ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ ธปท.

มาตรา ๕๐ เพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือระบบสถาบันการเงิน รัฐมนตรีและผู้ว่าการอาจจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสมก็ได้

มาตรา ๕๑ ในกรณีที่มีเหตุการณ์อันอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน หรือของระบบสถาบันการเงิน ให้ ธปท. รายงานข้อเท็จจริงและประเมินผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร็ว

เพื่อประโยชน์ในการป้องกันหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน หรือของระบบสถาบันการเงิน รัฐมนตรีอาจให้ ธปท. รายงานข้อเท็จจริง วิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก็ได้

มาตรา ๕๒ ในกรณีที่ฐานะสุทธิของเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการต่ำกว่าระดับที่จำเป็นต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ให้ ธปท. รายงานต่อรัฐมนตรีโดยเร็ว พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และให้รัฐมนตรีรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป


หมวด ๙
การบัญชี การตรวจสอบ การสอบบัญชี และการรายงาน


มาตรา ๕๓ ปีการเงินของ ธปท. ให้เป็นไปตามปีปฏิทิน

มาตรา ๕๔ การบัญชีของ ธปท. ให้จัดทำตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เว้นแต่คณะกรรมการ ธปท. จะกำหนดเฉพาะเรื่องเป็นอย่างอื่นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติของธนาคารกลางอื่นโดยทั่วไป

มาตรา ๕๕ ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง ไม่น้อยกว่าสามคนและไม่เกินห้าคน ซึ่งต้องมาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. อย่างน้อยสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากบุคคลภายนอกอย่างน้อยหนึ่งคนเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการตรวจสอบกิจการของ ธปท. และรายงานต่อคณะกรรมการ ธปท. และรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส

มาตรา ๕๖ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของ ธปท.

มาตรา ๕๗ ภายในเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีการเงิน ให้ ธปท. เสนองบการเงินของ ธปท. ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตรประจำปีการเงินนั้น ซึ่งผู้ว่าการได้รับรองและผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว ต่อรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในการเสนองบการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ ธปท. เสนอรายงานของคณะกรรมการ ธปท. สรุปผลการดำเนินการของ ธปท. ภายในรอบปีนั้นต่อรัฐมนตรีด้วย

มาตรา ๕๘ ให้ ธปท. จัดทำรายงานแสดงฐานะของเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการทั้งในฐานะรวม ฐานะสุทธิ และฐานะล่วงหน้าสุทธิ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นประจำทุกเดือน

มาตรา ๕๙ ทุกสิ้นสัปดาห์ ให้ ธปท. เผยแพร่รายงานแสดงฐานะการเงินประจำสัปดาห์ของ ธปท. ทุนสำรองเงินตรา และกิจการธนบัตร และเสนอต่อรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๖๐ เพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเงินหรือของระบบสถาบันการเงิน ให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อรัฐมนตรีเป็นประจำทุกเดือน โดยต้องวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินงานด้วย

มาตรา ๖๑ ทุกหกเดือน ให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงานและประเมินผล เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ ทั้งนี้ ให้จัดทำรายงานภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน และวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของทุกปี


หมวด ๑๐
บทกำหนดโทษ


มาตรา ๖๒ ห้ามมิให้บุคคลใดนอกจาก ธปท. ใช้คำว่า “ชาติ” “รัฐ” “ประเทศไทย” หรือ “กลาง” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือคำแสดงชื่อธนาคาร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๖๓ บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา ๖๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘/๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๕ สถาบันการเงินใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง

มาตรา ๖๖ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใด เบียดบังทรัพย์สินนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๗ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๘ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖๙ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานในหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิตหรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๐ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่ ธปท. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๑ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ ธปท. มอบหมายหรือตามข้อบังคับของ ธปท. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๒ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดมีหน้าที่จ่ายทรัพย์สิน จ่ายทรัพย์สินนั้นเกินกว่าที่ควรจ่าย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๓ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๔ ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดล่วงรู้กิจการของ ธปท. อันเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย หรือเป็นกิจการที่คณะกรรมการตามมาตรา ๑๗ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) แล้วแต่กรณี มีมติให้สงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่ง มิให้นำมาใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) การเปิดเผยตามหน้าที่หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือการพิจารณาคดี

(๒) การเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

(๔) การเปิดเผยแก่ผู้สอบบัญชีของสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

(๕) การเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในประเทศและต่างประเทศ การเปิดเผยแก่ทางการหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่ทำหน้าที่กำกับดูแลหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ หรือกำกับดูแลสถาบันการเงิน

(๖) การเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

มาตรา ๗๕ ผู้ใดนอกจากบุคคลตามมาตรา ๗๔ รู้ความลับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ ธปท. ตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้ความลับดังกล่าว ซึ่งมิใช่เป็นการปฏิบัติการตามกฎหมายหรือตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๑๔ ให้กรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๕ ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวนหกคนเสนอต่อรัฐมนตรีโดยให้พิจารณาคัดเลือกบุคคลคนหนึ่งจากบุคคลดังกล่าวเพื่อเสนอชื่อให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ให้นำมาตรา ๒๘/๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

การนับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ เป็นวาระแรก

มาตรา ๑๖ ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน หรือคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ตามมาตรา ๒๘/๖ มาตรา ๒๘/๙ หรือมาตรา ๒๘/๑๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ตามลำดับ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการดังกล่าว แล้วแต่กรณีไปพลางก่อน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๗ ให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่ผู้ว่าการมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์

ในกรณีที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง หรือลาออกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดค่าชดเชยการเสียโอกาสจากข้อห้ามมิให้ประกอบอาชีพตามมาตรา ๒๘/๒๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ แก่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย และให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย

มาตรา ๑๘ ให้มาตรา ๒๙ อัฏฐารส วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ ยังคงใช้บังคับต่อไปแก่กรณีการประกันหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามบทบัญญัติดังกล่าวแก่สถาบันการเงินที่กระทำก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๙ ภายในระยะเวลาสี่ปีนับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากใช้บังคับหากยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินใช้บังคับ แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน อันอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและเป็นกรณีที่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินอาจเสนอแนะแผน แนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินนั้นต่อคณะกรรมการจัดการกองทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยต้องแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการตามแผน แนวทาง และวิธีการดังกล่าวมีประสิทธิผลสูงสุดและเป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อคณะกรรมการจัดการกองทุนพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้ เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินตามความจำเป็นเร่งด่วน

(๑) ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินโดยมีหรือไม่มีประกันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการจัดการกองทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

(๒) ซื้อหรือเข้าถือหุ้นในสถาบันการเงิน

(๓) ซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน

ในกรณีที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินการตามวรรคสอง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจให้กู้ยืมเงินแก่กองทุน หรือรัฐบาลอาจค้ำประกันการกู้ยืมเงินของกองทุนก็ได้ ทั้งนี้ ให้กองทุนจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินการดังกล่าวแยกต่างหากจากบัญชีอื่น

ให้รัฐบาลใช้คืนเงินที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้กู้ยืมตามวรรคสามดอกเบี้ยที่เกิดจากเงินกู้ยืมดังกล่าว ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้แก่กองทุน

มาตรา ๒๐ ให้บรรดาประกาศ ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับ ที่ออกตามความในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ออกตามความในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวัตถุประสงค์อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลาง ในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ประกอบกับสมควรให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ เฉพาะที่จำเป็นในแต่ละด้าน ได้แก่ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินและคณะกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันต่อเหตุการณ์และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทยและการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร รวมทั้งกำหนดการป้องกันการมีส่วนได้เสียของผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้การบริหารงานของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความโปร่งใสนอกจากนั้น สมควรกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินและระบบสถาบันการเงินที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินเป็นส่วนรวม กำหนดประเภทสินทรัพย์และเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเพื่อการดูแลเสถียรภาพทางการเงินและระบบสถาบันการเงิน และการบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยตลอดจนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มประเภทเงินสำรองและมีระบบการจัดทำบัญชี การตรวจสอบ และการรายงานที่เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพและคล่องตัว นอกจากนี้ เมื่อมีกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากใช้บังคับแล้ว สมควรยกเลิกอำนาจของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงิน ผู้ฝากเงินหรือเจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน ในกรณีที่สถาบันการเงินประสบวิกฤติทางการเงินอย่างร้ายแรง เพื่อให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินยุติบทบาทหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว โดยยังคงให้ทำหน้าที่ในการบริหารสินทรัพย์ต่อไป เพื่อชำระหนี้สินและภาระผูกพันที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เสร็จสิ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๑ ก/หน้า ๒๒/๓ มีนาคม ๒๕๕๑



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"