พระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติ นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551[แก้ไข]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551
เป็นปีที่ 63 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2551”

มาตรา 2[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3[แก้ไข]

ในพระราชบัญญัตินี้

  • การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว หมายความว่า การจัดสร้างและพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว การรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมการท่องเที่ยว การพัฒนาบริการท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยว การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ทางการท่องเที่ยว การสร้างสินค้าทางการท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว หรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  • อุตสาหกรรมท่องเที่ยว หมายความว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • ผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หมายความว่า ผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • แหล่งท่องเที่ยว หมายความรวมถึง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวที่ได้มีการจัดสร้างขึ้น
  • หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง
  • จังหวัด หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
  • ผู้ว่าราชการจังหวัด หมายความรวมถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยาสำหรับในเขตเมืองพัทยา
  • กองทุน หมายความว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
  • คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
  • คณะกรรมการบริหารกองทุน หมายความว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
  • สำนักงาน หมายความว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4[แก้ไข]

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและปฏิบัติการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ[แก้ไข]

มาตรา 5[แก้ไข]

ให้มีคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “ท.ท.ช.” ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินเก้าคน เป็นกรรมการ

ให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การตลาด การโรงแรม การบริหารธุรกิจศิลปวัฒนธรรม หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยต้องแต่งตั้งจากรายชื่อของผู้ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน

มาตรา 6[แก้ไข]

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นบุคคลล้มละลาย
(2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(4) เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
(5) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ฐานทุจริตต่อหน้าที่

มาตรา 7[แก้ไข]

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการใหม่ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้แต่งตั้งกรรมการใหม่

กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

มาตรา 8[แก้ไข]

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) นายกรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 6

มาตรา 9[แก้ไข]

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน

ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา 10[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำและเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือมาตรการเพื่อส่งเสริมการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(2) จัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
(3) เสนอนโยบายและแนวทางการจัดทำความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่อคณะรัฐมนตรี
(4) ดำเนินการเพื่อให้มีการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว
(5) พิจารณาให้ความเห็นชอบและกำกับดูแลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว
(6) กำหนดและจัดให้มีการรับรองมาตรฐานเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว
(7) อำนวยการ ติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ และนโยบายหรือมาตรการเพื่อการส่งเสริมการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว
(8) กำกับการจัดการและบริหารกองทุน
(9) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา 11[แก้ไข]

ให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง เพื่อปรึกษาพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 12[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

ให้นำความในมาตรา 11 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา 13[แก้ไข]

ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการอาจเชิญบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง ความเห็น หรือคำแนะนำทางวิชาการได้เมื่อเห็นสมควร และอาจขอความร่วมมือจากบุคคลใดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง หรือเพื่อสำรวจกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้

มาตรา 14[แก้ไข]

ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาข้อมูลและกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำและพัฒนานโยบายและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ รวมทั้งศึกษาปัญหาและประเมินผลกระทบที่จะเกิดเสนอต่อคณะกรรมการ
(2) เป็นศูนย์กลางประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานตามนโยบายและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติในทุกภาคส่วน
(3) วิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการเพื่อการผลักดันและสนับสนุนการนำนโยบายและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนการพิจารณาเสนอแนะแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่มีต่อการดำเนินงานตามนโยบายและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติต่อคณะกรรมการ
(4) ศึกษา วิเคราะห์ และพิจารณากลั่นกรองแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวเสนอต่อคณะกรรมการ
(5) สำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แนวโน้มการท่องเที่ยว รวมทั้งจัดทำและเผยแพร่สถิติการท่องเที่ยวของประเทศ
(6) จัดหรือสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
(7) รายงานผลการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย แผน และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเสนอต่อคณะกรรมการ
(8) จัดทำรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(9) เสนอแนะแนวทางการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวในทุกภาคส่วนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อคณะกรรมการ
(10) จัดทำและพัฒนากลไกและระบบการประสานงานด้านการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของประเทศ ตลอดจนร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(11) พัฒนาให้ความรู้และทักษะด้านการท่องเที่ยวแก่บุคลากรในหน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
(12) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

หมวด 2 แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ[แก้ไข]

มาตรา 15[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติตามวรรคหนึ่งต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยว วิธีปฏิบัติ และความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจน

ในกรณีที่สภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างที่แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติใช้บังคับคณะกรรมการอาจดำเนินการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาวการณ์นั้นได้ โดยให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 16[แก้ไข]

เมื่อได้มีการประกาศแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐ เพื่อจัดทำแผนงานหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ

หมวด 3 แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว[แก้ไข]

มาตรา 17[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการรักษา ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว หรือการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ คณะกรรมการอาจกำหนดให้เขตพื้นที่ใดเป็นเขตพัฒนาการท่องเที่ยวได้ โดยพิจารณาร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ให้มีการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชุมชนในพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

เขตพัฒนาการท่องเที่ยวตามวรรคหนึ่งจะกำหนดเป็นกลุ่มจังหวัด จังหวัด หรือพื้นที่เฉพาะก็ได้โดยให้ออกเป็นกฎกระทรวงระบุชื่อของเขตพัฒนาการท่องเที่ยว และในกรณีจำเป็น ให้มีแผนที่สังเขปแสดงแนวเขตแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย

การเปลี่ยนแปลงแนวเขตหรือการเพิกถอนเขตพัฒนาการท่องเที่ยวให้ออกเป็นกฎกระทรวง

มาตรา 18[แก้ไข]

เมื่อมีการออกกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวใดให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการประจำเขตดังกล่าวขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว” ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานหอการค้าจังหวัด ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยวจำนวนไม่เกินสามสิบคนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเป็นกรรมการ โดยมีผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นกรรมการและเลขานุการ

การแต่งตั้งและการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 19[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวของตน เสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ภายในเขตและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ และอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงานในการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวภายในเขตของตน หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบรวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 20[แก้ไข]

เมื่อได้ประกาศแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวใดในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายในเขตดำเนินการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอาจพิจารณาให้การสนับสนุนตามที่เห็นสมควร และให้คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการดังกล่าว

มาตรา 21[แก้ไข]

การใช้บังคับกฎหมายภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวต้องสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยให้คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวดำเนินการประสานงานให้สอดคล้องกัน

หมวด 4 กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย[แก้ไข]

มาตรา 22[แก้ไข]

ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในสำนักงานเรียกว่า “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การพัฒนาทักษะด้านการบริหาร การตลาด หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน รวมถึงการดูแลรักษาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว และการส่งเสริมสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ในท้องถิ่น

มาตรา 23[แก้ไข]

กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(1) เงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามมาตรา 31
(2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
(3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
(4) ดอกผลหรือรายได้จากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
(5) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน

เงินและทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งให้ตกเป็นของสำนักงานเพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดิน

มาตรา 24[แก้ไข]

เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นเงินอุดหนุนหรือเงินให้กู้ยืมแก่หน่วยงานของรัฐ เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานตามนโยบายหรือแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ รวมทั้งแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว
(2) เป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การฝึกอบรม การประชุม การประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ข้อมูล
(3) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน

มาตรา 25[แก้ไข]

ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน เป็นกรรมการ

ให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแต่งตั้งข้าราชการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง หรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

มาตรา 26[แก้ไข]

คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) บริหารและควบคุมการปฏิบัติงานกองทุนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
(2) วางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายเงินกองทุน ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานกองทุน
(4) พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้จ่ายตามกิจการที่กำหนดไว้ในมาตรา 24
(5) ควบคุม ติดตามผล และประเมินผลการใช้จ่ายเงินกองทุน
(6) ปฏิบัติการอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 27[แก้ไข]

ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และมาตรา 12 มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการบริหารกองทุนโดยอนุโลม

มาตรา 28[แก้ไข]

ให้กองทุนวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีตามหลักสากล โดยให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ

มาตรา 29[แก้ไข]

ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน

ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้ส่งสำเนารายงานดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการและรัฐมนตรีเพื่อทราบ

บทเฉพาะกาล[แก้ไข]

มาตรา 30[แก้ไข]

ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไปพลางก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวและผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

มาตรา 31[แก้ไข]

ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนเงิน ทรัพย์สินและหนี้สินของกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามระเบียบกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยว่าด้วยการจัดการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2548 มาเป็นเงินของกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 32[แก้ไข]

ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการบริหารกองทุนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนประกอบด้วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนไปพลางก่อน



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ[แก้ไข]

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของประเทศ ในปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานของรัฐ ทำให้การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวที่ผ่านมาไม่มีเอกภาพ เป็นไปอย่างไร้ทิศทางและไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับสภาวการณ์ในปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวหลายประเภทยังมิได้มีระบบการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นเหตุให้แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมและด้อยคุณภาพนำมาซึ่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศให้มีคุณภาพและมีความยั่งยืน สมควรกำหนดให้มีกลไกในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวของประเทศให้เป็นไปอย่างมีระบบสอดรับและเชื่อมโยงกันทั้งในระดับชาติระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวมีเอกภาพและมีความต่อเนื่องตลอดจนเพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างถูกต้องและเหมาะสม  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125/ตอนที่ 28 ก/หน้า 20/5 กุมภาพันธ์ 2551