พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต/แก้ไข พ.ศ.2550

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550[แก้ไข]

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2550
เป็นปีที่ 62 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2550”

มาตรา 2[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “(2) เมื่อมีกรณีที่ต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 66”

มาตรา 4[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “มาตรา 55 ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล และข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องตามมาตรา 43 (1) หรือ (2) นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา แล้วแต่กรณี”

มาตรา 5[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความใน (1) ของมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

  “(1) ประธานวุฒิสภา ถ้าข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องตามมาตรา 43 (1) หรือ (2)”

มาตรา 6[แก้ไข]

ให้ยกเลิกความในมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน


  “มาตรา 66 ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยหรือมีผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว เว้นแต่ในกรณีที่ผู้กล่าวหามิใช่ผู้เสียหาย และคำกล่าวหาไม่ระบุพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะไม่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงก็ได้
  คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการกล่าวหาตามวรรคหนึ่งได้
  บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนด้วย”

มาตรา 7[แก้ไข]

ให้ยกเลิกมาตรา 67 มาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ[แก้ไข]

  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำผิดยังมีข้อจำกัดบางประการ โดยกำหนดให้ต้องมีผู้เสียหายมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงจะสามารถดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ ทำให้บางกรณีแม้มีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวกระทำผิด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถดำเนินการกับบุคคลนั้นได้ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจและวิธีการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตในกรณีดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 22 ก/หน้า 4/1 พฤษภาคม 2550