พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘”
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ให้เพิ่มบทนิยามคําว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ” และ “เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ” ระหว่างบทนิยามคําว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และคําว่า “ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง” ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
“เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ” หมายความว่า ผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งด้านนิติบัญญัติ บริหารปกครอง หรือตุลาการ ของรัฐต่างประเทศ และบุคคลใด ๆ ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับหน้าที่ราชการให้แก่รัฐต่างประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่สําหรับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง มีตําแหน่งประจําหรือชั่วคราว และได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอื่นหรือไม่ก็ตาม
“เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากองค์การระหว่างประเทศให้ปฏบิัติงานในนามขององค์การระหว่างประเทศนั้น”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๔/๑) และ (๔/๒) ของมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
“(๔/๑) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลใด กระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๓/๒ มาตรา ๑๒๓/๓ มาตรา ๑๒๓/๔ และมาตรา ๑๒๓/๕
(๔/๒) ไต่สวนและวินิจฉัยการกระทําความผิดที่อยู่ในอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้กระทําลงนอกราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์แห่งการไต่สวนและวินิจฉัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๑๔/๑) ของมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
“(๑๔/๑) ดําเนินการตามคําร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในคดีทุจริตที่ผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการหรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศในคดีทุจริตซึ่งมิใช่คําร้องขอความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา”
ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“การไต่สวนข้อเท็จจริง หรือการตรวจสอบตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๔/๑) (๔/๒) และ (๖)คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้พนักงานไต่สวนเป็นผู้รับผิดชอบสํานวนเพื่อดําเนินการแทนก็ได้แล้วรายงานต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานไต่สวนดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓/๑) ของมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
“(๓/๑) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยทําข้อตกลงกับหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมอบหมายเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจําเป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด”
ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ มาใช้บังคับกับการแสดง การยื่น การรับบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม”
ให้ยกเลิกความใน (๑) ของวรรคสองของมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) ในกรณทีี่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดํารงตําแหน่งผู้บริหารระดับสูง ให้นําบทบัญญตัิมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ มาใช้บังคับกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยอนุโลม”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๖) ของวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
“(๖) มีกรณีที่ต้องดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา ๙๙/๑”
ให้ยกเลิกความในมาตรา ๗๔/๑ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๗๔/๑ ในการดําเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําเลย ถ้าจําเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ มาใช้บังคับ”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๘/๑ การดําเนินคดีอาญาเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และเอกชน มาตรา ๙๙/๑ มาตรา ๙๙/๒ มาตรา ๙๙/๓มาตรา ๙๙/๔ มาตรา ๙๙/๕ มาตรา ๙๙/๖ และมาตรา ๙๙/๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญวาด่ ้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙๙/๑ การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศและบุคคลใด ว่ากระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๓/๒ มาตรา ๑๒๓/๓ มาตรา ๑๒๓/๔ และมาตรา ๑๒๓/๕ ให้กล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การกล่าวหาตามวรรคหนึ่งจะทําด้วยวาจาหรือทําเป็นหนังสือก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด และให้นําบทบัญญัติมาตรา ๘๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๙๙/๒ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจไม่รับหรือยกเรื่องกล่าวหาที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณาก็ได้
(๑) เรื่องที่ไม่ระบุพยานหลักฐานหรือไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งการกระทําชัดเจนเพียงพอที่จะดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้
(๒) เรื่องที่ล่วงเลยมาแล้วเกินห้าปีนับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่มีการกล่าวหา และเป็นเรื่องที่ไม่อาจหาพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้
(๓) เรื่องที่เป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศและบุคคลใดซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดําเนินการต่อผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดําเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม
ให้นําบทบัญญัติมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยคําว่า “ศาล” ให้หมายความรวมถึงศาลในต่างประเทศด้วย
มาตรา ๙๙/๓ เม่ือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับคํากล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และบุคคลใดตามมาตรา ๙๙/๑ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และบุคคลใดกระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๓/๒ มาตรา ๑๒๓/๓ มาตรา ๑๒๓/๔ และมาตรา ๑๒๓/๕ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการตามหมวด ๔ การไต่สวนข้อเท็จจริง
มาตรา ๙๙/๔ ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และบุคคลใด อันเนื่องมาจากได้กระทําการตามมาตรา ๙๙/๓ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อจะดําเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา ๙๙/๓ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป
มาตรา ๙๙/๕ ในกรณีที่มีการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในอํานาจของศาลเนื่องจากมีการจับผู้ถูกกล่าวหาไว้ระหว่างดําเนินคดีตามมาตรา ๙๙/๔ ให้พนักงานสอบสวนมีอํานาจขอให้ศาลควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ได้ต่อไป และให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบเพื่อดําเนินคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่ต้องส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการ
กรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคําสั่งไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหา ให้รายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ กรณีดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจเรียกสํานวนการสอบสวนพร้อมพยานหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องจากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาพิจารณาหรือไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่ก็ได้
การดําเนินการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ย่อมไม่ตัดอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเอง หรือมอบหมายให้พนักงานไต่สวนเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนก็ได้
มาตรา ๙๙/๖ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ และบุคคลใดว่ากระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๓/๒ มาตรา ๑๒๓/๓ มาตรา ๑๒๓/๔ และมาตรา ๑๒๓/๕ ที่อยู่ระหว่างดําเนินการให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้
มาตรา ๙๙/๗ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาน้ันเป็นอันตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดทางอาญาให้ดําเนินการตามมาตรา ๙๗ และให้นําบทบัญญัติมาตรา ๙๘ และมาตรา ๙๘/๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๒๓/๒ มาตรา ๑๒๓/๓ มาตรา ๑๒๓/๔ มาตรา ๑๒๓/๕ มาตรา ๑๒๓/๖ มาตรา ๑๒๓/๗ และมาตรา ๑๒๓/๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
“มาตรา ๑๒๓/๒ ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา ๑๒๓/๓ ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตําแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา ๑๒๓/๔ ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตน ให้กระทําการหรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
มาตรา ๑๒๓/๕ ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทําการไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทําไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทําการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอํานาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่ก็ตาม
มาตรา ๑๒๓/๖ ในการริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากศาลจะมีอํานาจริบทรัพย์สินตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิด
(๑) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด
(๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทําความผิดหรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทําความผิด
(๓) ทรพยั ์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) หรือ (๒)
(๔) ประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
ในการที่ศาลจะมีคําสั่งริบทรัพย์สินตาม (๑) ของวรรคหนึ่ง ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทําความผิด รวมทั้งโอกาสที่จะนําทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทําความผิดอีก
ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีวิธีการอื่นที่ทําให้บุคคลไม่สามารถใช้ทรัพย์สินตาม (๑) ของวรรคหนึ่งในการกระทําความผิดได้อีกต่อไป ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ดําเนินการตามวิธีการดังกล่าวแทนการริบทรัพย์สิน
หากการดําเนินการตามวรรคสามไม่เป็นผล ศาลจะมีคําสั่งริบทรัพย์สินนั้นในภายหลังก็ได้
มาตรา ๑๒๓/๗ บรรดาทรัพย์สินดังต่อไปนี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิด
(๑) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
(๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจากการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศได้มาจากการกระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๓/๒ หรือมาตรา ๑๒๓/๓หรือความผิดในลักษณะเดียวกันตามกฎหมายอื่น
(๔) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่ได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทําความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทําความผิด
(๕) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจําหน่าย จ่ายโอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
(๖) ประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕)
มาตรา ๑๒๓/๘ เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคําขอของโจทก์ว่าสิ่งที่ศาลสั่งริบตามมาตรา ๑๒๓/๖ (๒) (๓) หรือ (๔) หรือมาตรา ๑๒๓/๗ เป็นสิ่งที่โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนําสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นหรือได้มีการจําหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทําได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจกําหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคํานึงถึงราคาท้องตลาดของสิ่งนั้นในวันที่ศาลมีคําพิพากษาและสั่งให้ผู้ที่ศาลสั่งให้ส่งสิ่งที่ริบชําระเงินหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทําความผิดตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกําหนด
การกําหนดมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบตามวรรคหนึ่งในกรณีที่มีการนําไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นหรือการกําหนดมูลค่าของสิ่งนั้นในกรณีมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนต่ํากว่าการนําไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นในวันที่มีการจําหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น ให้ศาลกําหนดโดยคํานึงถึงสัดส่วนของทรัพย์สินที่มีการรวมเข้าด้วยกันนั้น หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนสิ่งนั้นแล้วแต่กรณี
ในการสั่งให้ผู้ที่ศาลให้ส่งสิ่งที่ริบชําระเงินตามวรรคสอง ศาลจะกําหนดให้ผู้นั้นชําระเงินทั้งหมดในคราวเดียว หรือจะให้ผ่อนชําระก็ได ้โดยคํานึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่กรณี
ผู้ที่ศาลสั่งให้ส่งสิ่งที่ริบซึ่งไม่ชําระเงินหรือชําระไม่ครบถ้วนตามจํานวนและภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่กฎหมายกําหนด
ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ แต่คําพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้เลขาธิการมีอํานาจเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินดังกล่าวจนกว่าคดีถึงที่สุด หรือศาลมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด”
- ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- นายกรัฐมนตรี
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ด้วยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. ๒๐๐๓ (United Nations Convention against Corruption : UNCAC) เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ อันก่อให้เกิดหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายในของประเทศไทยเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาซึ่งเป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเป็นผู้ถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญา การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องความพยายามและความจริงจังในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตรวมถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในประเทศ จึงมีความจําเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องการกําหนดความผิดการให้หรือรับสินบนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ การกําหนดอายุความในกรณีหลบหนีและอายุความล่วงเลยการลงโทษการกําหนดการริบทรัพย์สินในคดีทุจริตให้เป็นไปตามหลักการริบทรัพย์ตามมูลค่า อีกทั้งยังเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีกลไกในการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเนื่องจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวถือเป็นอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษ จึงควรบัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระและความเชี่ยวชาญของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทํางาน และเป็นหลักประกันมิให้เกิดการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลมากเกินความจําเป็น นอกจากนี้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินให้ถูกต้อง จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๖๐ ก/หน้า ๑/๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"