ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๒

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
พ.ศ. ๒๕๕๒[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
เป็นปีที่ ๖๔ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๒”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

“การออกเสียง” หมายความว่า การออกเสียงประชามติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

“ผู้มีสิทธิออกเสียง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

“วันออกเสียง” หมายความว่า วันที่กำหนดให้เป็นวันออกเสียงประชามติ

“เขตออกเสียง” หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดให้เป็นเขตออกเสียงประชามติ

“หน่วยออกเสียง” หมายความว่า ท้องถิ่นที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนออกเสียงประชามติ

“ที่ออกเสียง” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนออกเสียงประชามติและให้หมายความรวมถึงบริเวณที่กำหนดขึ้นโดยรอบที่ออกเสียงประชามติ

“หีบบัตรออกเสียง” หมายความว่า หีบสำหรับใส่บัตรออกเสียงประชามติ

“จังหวัด” หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร

“อำเภอ” หมายความรวมถึง เขตและกิ่งอำเภอ

“เทศบาล” หมายความรวมถึง เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น

มาตรา ๔ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


หมวด ๑
บททั่วไป


มาตรา ๕ ในกรณีที่จะดำเนินการจัดทำประชามติตามมาตรา ๑๖๕ (๑) ของรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา โดยจะต้องมีรายละเอียด ดังนี้

(๑) กำหนดเรื่องในการจัดทำประชามติ ซึ่งจะต้องมีข้อความที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติ

(๒) กำหนดว่าการจัดให้มีการออกเสียงดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้มีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือเป็นไปเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี

ในกรณีที่จะดำเนินการจัดทำประชามติตามที่มีกฎหมายบัญญัติตามมาตรา ๑๖๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำประชามติตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติ ถ้ากฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติผู้มีอำนาจออกประกาศให้มีการออกเสียงไว้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจออกประกาศให้มีการออกเสียงตามกฎหมายนั้น

มาตรา ๖ เมื่อมีประกาศให้มีการออกเสียงตามมาตรา ๕ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันออกเสียงในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีประกาศดังกล่าว

วันออกเสียงต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทุกเขตออกเสียง และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(๑) วันออกเสียงในการจัดทำประชามติตามมาตรา ๑๖๕ (๑) ของรัฐธรรมนูญต้องกำหนดวันออกเสียงภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา

(๒) วันออกเสียงในการจัดทำประชามติตามที่มีกฎหมายบัญญัติตามมาตรา ๑๖๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญ ต้องกำหนดวันออกเสียงตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติ ซึ่งต้องกำหนดวันออกเสียงภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียงในราชกิจจานุเบกษา ถ้ากฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติวันออกเสียง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันออกเสียงตามระยะเวลาที่กำหนดใน (๑)

ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียงใดแล้ว ถ้ามีผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นว่าการให้มีการออกเสียงนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายที่บัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ หรือตามเจตนารมณ์ของมาตรา ๑๖๕ ของรัฐธรรมนูญสามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีคำวินิจฉัยโดยเร็ว

มาตรา ๗ ในการดำเนินการจัดทำประชามติตามมาตรา ๑๖๕ (๑) ของรัฐธรรมนูญให้รัฐอุดหนุนหรือจัดสรรค่าใช้จ่ายอย่างเพียงพอแก่คณะกรรมการการเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติที่ต้องดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียง

ในการดำเนินการจัดทำประชามติตามที่มีกฎหมายบัญญัติตามมาตรา ๑๖๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญให้หน่วยงานของรัฐที่จะจัดทำประชามติรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการจัดทำประชามติทั้งหมด เว้นแต่ค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง

มาตรา ๘ การออกเสียง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

มาตรา ๙ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

การออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ

การออกเสียงตามที่มีกฎหมายบัญญัติตามมาตรา ๑๖๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญให้ถือจำนวนคะแนนเสียงตามที่กฎหมายนั้นบัญญัติ แต่ถ้ากฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติจำนวนคะแนนเสียงไว้ให้นำความในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม


หมวด ๒
การให้ข้อมูลและการจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ


มาตรา ๑๐ เมื่อมีประกาศให้มีการออกเสียงตามมาตรา ๕ ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติต้องดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างเพียงพอ

การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อเรื่องที่จะจัดทำประชามติ และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการทำประชามติ

(๒) สาระสำคัญของกิจการในเรื่องที่ทำประชามติ

(๓) ขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินกิจการในเรื่องที่ทำประชามติ

(๔) ประมาณการค่าใช้จ่ายและที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายสำหรับกิจการในเรื่องที่ทำประชามติ

(๕) ประโยชน์ได้เสียที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ท้องถิ่นหรือประชาชน รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการพร้อมสรุปเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียด้วย

การจัดทำและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติตามวรรคหนึ่งต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติ และต้องไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับเรื่องที่จะจัดทำประชามตินั้น

ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติประกาศข้อมูลที่ต้องเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศให้มีการออกเสียง รวมทั้งจัดทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลส่งให้เจ้าบ้านทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันออกเสียง

นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลตามวรรคสี่แล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติประสานกับสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐและสื่อประชาสัมพันธ์อื่นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดทำประชามติให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้ทราบอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

มาตรา ๑๑ เมื่อมีประกาศกำหนดวันออกเสียงตามมาตรา ๖ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการออกเสียงให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งบุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ

ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ จัดสรรเวลาออกอากาศตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด


หมวด ๓
เขตออกเสียง และหน่วยออกเสียง


มาตรา ๑๒ การออกเสียงตามมาตรา ๑๖๕ (๑) ของรัฐธรรมนูญ ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียง สำหรับการออกเสียงตามมาตรา ๑๖๕ (๒) ของรัฐธรรมนูญให้ใช้เขตออกเสียงที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดเป็นเขตออกเสียง

กรณีใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียงให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นคณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นผู้อำนวยการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในเขตออกเสียงตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

กรณีมิได้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียงให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายแต่งตั้งคณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงไม่เกินห้าคนและผู้อำนวยการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงหนึ่งคน โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในเขตออกเสียงตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

มาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงกำหนดหน่วยออกเสียงที่จะพึงมีในแต่ละเขตจังหวัดหรือเขตออกเสียง โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางมาใช้สิทธิออกเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียง

การกำหนดหน่วยออกเสียงตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตของหน่วยออกเสียง เว้นแต่ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนน้อยจะรวมหมู่บ้านที่อยู่ติดกันตั้งแต่สองหมู่บ้านขึ้นไปเป็นหน่วยออกเสียงเดียวกันก็ได้ สำหรับเขตเทศบาล เขตกรุงเทพมหานคร หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจกำหนดให้ใช้เขตชุมชน แนวถนน ตรอก ซอย คลอง หรือแม่น้ำ เป็นเขตของหน่วยออกเสียงก็ได้ และ

(๒) ให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงหน่วยละแปดร้อยคนเป็นประมาณแต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นการสะดวกหรือไม่ปลอดภัยในการไปลงคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียงอาจกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงมากกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้ หรือจะกำหนดหน่วยออกเสียงเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้

ให้ดำเนินการประกาศหน่วยออกเสียงไม่น้อยกว่ายี่สิบวันก่อนวันออกเสียง โดยให้ปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต ที่ว่าการกิ่งอำเภอ สำนักงานเทศบาล ศาลาว่าการเมืองพัทยา ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านและเขตชุมชนหนาแน่นที่เห็นสมควร ในกรณีจำเป็นอาจให้จัดทำแผนที่สังเขปแสดงเขตของหน่วยออกเสียงไว้ด้วยก็ได้ การเปลี่ยนแปลงเขตของหน่วยออกเสียง ให้กระทำได้โดยประกาศก่อนวันออกเสียงไม่น้อยกว่าสิบวัน เว้นแต่ในกรณีเกิดเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นจะประกาศเปลี่ยนแปลงก่อนวันออกเสียงน้อยกว่าสิบวันก็ได้ และให้นำความในวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๔ ในการกำหนดหน่วยออกเสียงตามมาตรา ๑๓ ให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง กำหนดที่ออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียงไว้ด้วยและให้นำความในมาตรา ๑๓ วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการประกาศกำหนดที่ออกเสียงและการเปลี่ยนแปลงที่ออกเสียง

ที่ออกเสียงตามวรรคหนึ่งต้องเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้าออกได้สะดวก เพื่อการลงคะแนนออกเสียง มีความเหมาะสม มีขนาดพอสมควร และควรตั้งอยู่ในย่านกลางของหน่วยออกเสียงพร้อมทั้งให้มีป้ายหรือเครื่องหมายอื่นใดเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของที่ออกเสียงไว้ด้วย ตามลักษณะของท้องที่และภูมิประเทศในการลงคะแนนออกเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียง

ในเขตออกเสียงใดถ้าเห็นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงหรือเพื่อความปลอดภัยของผู้มีสิทธิออกเสียง อาจประกาศกำหนดที่ออกเสียงนอกเขตของหน่วยออกเสียงก็ได้แต่ต้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับหน่วยออกเสียงนั้น


หมวด ๔
ผู้มีสิทธิออกเสียง และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง


มาตรา ๑๕ ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๖ เมื่อมีประกาศกำหนดวันออกเสียง ให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียงและปิดประกาศบัญชีรายชื่อดังกล่าว พร้อมทั้งประกาศให้มีการออกเสียงตามมาตรา ๕ ไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต ที่ว่าการกิ่งอำเภอ สำนักงานเทศบาล ศาลาว่าการเมืองพัทยา ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือที่ทำการชุมชนเมือง และที่ออกเสียงหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่ออกเสียงในเขตออกเสียงนั้นไม่น้อยกว่ายี่สิบวันก่อนวันออกเสียง

ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการขอเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มาใช้บังคับกับการเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงและการถอนชื่อผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงโดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อต่อคณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย


หมวด ๕
เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการออกเสียง


มาตรา ๑๗ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้อำนวยการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงหรือคณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคลใดเป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานการออกเสียงได้ตามสมควร

มาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการออกเสียง ดังนี้

(๑) ผู้อำนวยการประจำหน่วยออกเสียงหนึ่งคน มีหน้าที่อำนวยความสะดวกช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการตรวจสอบเอกสารและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

(๒) คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงไม่น้อยกว่าห้าคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงคะแนนออกเสียงในที่ออกเสียงและนับคะแนนออกเสียงของหน่วยออกเสียงแต่ละแห่ง ให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการประจำหน่วยออกเสียงและคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียง

ในกรณีที่ผู้ใดขัดขวางการออกเสียง ให้กรรมการประจำหน่วยออกเสียงมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นออกไปจากที่ออกเสียงได้ แต่ต้องไม่ขัดขวางต่อการใช้สิทธิออกเสียงของผู้นั้น

มาตรา ๑๙ คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงตามมาตรา ๑๘ (๒) ให้ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการไม่น้อยกว่าสี่คน ซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตออกเสียงนั้น ในกรณีที่กรรมการประจำหน่วยออกเสียงตามวรรคหนึ่งมีจำนวนไม่ถึงห้าคนให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงแต่งตั้งผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตออกเสียงนั้นเป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงให้ได้จำนวนตามมาตรา ๑๘ (๒)

ในวันออกเสียง ถ้าถึงเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียงแล้วมีกรรมการประจำหน่วยออกเสียงมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงห้าคน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงที่อยู่ในขณะนั้นแต่งตั้งผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตออกเสียงนั้นเป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงนั้นจนครบห้าคน แต่ถ้าไม่มีกรรมการประจำหน่วยออกเสียงมาปฏิบัติหน้าที่เลย ให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงแต่งตั้งผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตออกเสียงนั้นเป็นกรรมการประจำหน่วยออกเสียงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยออกเสียง ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด

มาตรา ๒๐ นอกจากที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

ค่าตอบแทนของบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด


หมวด ๖
หีบบัตรออกเสียง และบัตรออกเสียงประชามติ


มาตรา ๒๑ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีหีบบัตรออกเสียงและบัตรออกเสียงประชามติ โดยมีลักษณะที่เหมาะสมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิออกเสียง

ลักษณะและขนาดของหีบบัตรออกเสียง บัตรออกเสียงประชามติและวิธีการลงคะแนนในบัตรออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด


หมวด ๗
การลงคะแนนออกเสียง และการนับคะแนน


มาตรา ๒๒ การลงคะแนนในบัตรออกเสียงประชามติ ให้ผู้ออกเสียงทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมายแสดงความคิดเห็นที่ผู้ออกเสียงเลือก

มาตรา ๒๓ ในวันออกเสียง ให้เปิดการลงคะแนนออกเสียง ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา

มาตรา ๒๔ ผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงของหน่วยออกเสียงใดให้ลงคะแนนออกเสียงได้ ณ หน่วยออกเสียงนั้น และให้มีสิทธิลงคะแนนออกเสียงได้เพียงแห่งเดียว

มาตรา ๒๕ ผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยออกเสียงอื่นที่อยู่นอกหน่วยออกเสียงที่ตนมีสิทธิออกเสียงในเขตออกเสียงเดียวกันสามารถลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงที่ตนต้องปฏิบัติหน้าที่

มาตรา ๒๖ กรณีการออกเสียงทั่วราชอาณาจักร คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้สิทธิออกเสียงของผู้มีสิทธิซึ่งอยู่นอกเขตจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันออกเสียงหรือผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร รวมทั้งวิธีการนับคะแนน และแจ้งผลคะแนนการออกเสียงในกรณีดังกล่าวด้วย

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิออกเสียงผู้ใดอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันออกเสียงหรือมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร หากประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียงในจังหวัดที่ตนอยู่หรือในประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ ต้องมาลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดหรือนอกราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี โดยต้องลงทะเบียนก่อนวันออกเสียงไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

การลงทะเบียน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด

มาตรา ๒๗ ก่อนเริ่มเปิดให้มีการออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงนับจำนวนบัตรออกเสียงประชามติทั้งหมดของหน่วยออกเสียงนั้น และปิดประกาศจำนวนบัตรออกเสียงประชามติทั้งหมดในที่ออกเสียงไว้ในที่เปิดเผย เมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนนให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงเปิดหีบบัตรออกเสียงในที่เปิดเผยแสดงให้ผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งอยู่ ณ ที่ออกเสียงนั้นเห็นว่าเป็นหีบเปล่าและให้ปิดหีบบัตรออกเสียงตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด แล้วให้ทำการบันทึกการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่าสองคนซึ่งอยู่ในที่ออกเสียงในขณะนั้นลงลายมือชื่อในบันทึกนั้นด้วย เว้นแต่ไม่มีผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ในขณะนั้น

มาตรา ๒๘ ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งประสงค์จะลงคะแนนไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยออกเสียงโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้และมีหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร

เมื่อคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงแล้วให้อ่านชื่อตัวและชื่อสกุลของผู้นั้นดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้ใดทักท้วง ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงและให้จดหมายเลขบัตรและสถานที่ออกบัตร และชื่อหน่วยงานของรัฐที่ออกบัตร พร้อมทั้งให้กรรมการประจำหน่วยออกเสียงจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงที่ต้นขั้วบัตรออกเสียงประชามติแล้วให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นหลักฐาน ตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด แล้วให้กรรมการประจำหน่วยออกเสียงมอบบัตรออกเสียงประชามติให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปลงคะแนน

ในกรณีที่มีผู้ทักท้วงหรือกรรมการประจำหน่วยออกเสียงสงสัยว่าผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งมาแสดงตนนั้นไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงมีอำนาจสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยเป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงหรือไม่ และในกรณีที่คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงวินิจฉัยว่าผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงทำบันทึกคำวินิจฉัยและลงลายมือชื่อไว้ด้วย และให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงนั้น

มาตรา ๒๙ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการลงคะแนนออกเสียง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายจัดให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการลงคะแนนออกเสียงของคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการลงคะแนนออกเสียงภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียง แต่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้คนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุได้ลงคะแนนออกเสียงด้วยตนเอง ทั้งนี้ การอำนวยความสะดวกนั้นต้องเป็นไปเพื่อให้มีการลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ การอำนวยความสะดวกและการช่วยเหลือแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด

มาตรา ๓๐ เมื่อถึงกำหนดเวลาปิดการลงคะแนนออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประกาศปิดการลงคะแนน และงดจ่ายบัตรออกเสียงประชามติแล้วให้ทำเครื่องหมายในบัตรออกเสียงประชามติที่เหลืออยู่ให้เป็นบัตรออกเสียงประชามติที่ใช้ลงคะแนนออกเสียงไม่ได้ตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งประสงค์จะลงคะแนนออกเสียงได้มาอยู่ในบริเวณที่ออกเสียงแล้วก่อนเวลาปิดการลงคะแนนออกเสียงที่เหลืออยู่ แต่ยังไม่ได้รับบัตรออกเสียงประชามติให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงมอบบัตรออกเสียงประชามติให้แก่ผู้มาแสดงตนนั้นและเมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนออกเสียงเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงปิดช่องใส่บัตรออกเสียงประชามติของหีบบัตรออกเสียง และจัดทำรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรออกเสียงประชามติทั้งหมด จำนวนผู้มาแสดงตนและรับบัตรออกเสียงประชามติและจำนวนบัตรออกเสียงประชามติที่เหลือ โดยให้กรรมการประจำหน่วยออกเสียงทุกคนลงลายมือชื่อไว้และให้ทำสำเนาปิดประกาศไว้ ณ ที่ออกเสียงและให้ส่งต้นฉบับไปเก็บรักษาไว้ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๓๑ เมื่อปิดการลงคะแนนออกเสียงแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงแต่ละแห่งนับคะแนน ณ ที่ออกเสียงนั้น โดยเปิดเผยติดต่อกันจนแล้วเสร็จ

วิธีการนับคะแนน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด

มาตรา ๓๒ บัตรออกเสียงประชามติ ดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นบัตรเสีย

(๑) บัตรปลอม

(๒) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน

(๓) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนในทางใด

(๔) บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนนอกช่องทำเครื่องหมาย

(๕) บัตรที่มิใช่บัตรที่กรรมการประจำหน่วยออกเสียงมอบให้

(๖) บัตรที่มีการเขียนข้อความหรือถ้อยคำอื่นใดลงไป

(๗) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย

ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงสลักหลังในบัตรที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่งว่า “เสีย” พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียตามความในอนุมาตราใด แล้วลงลายมือชื่อกำกับไว้ไม่น้อยกว่าสามคนและห้ามมิให้นับบัตรเสียเป็นคะแนน แต่ให้นับรวมเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงด้วย

มาตรา ๓๓ เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงนำบัตรออกเสียงประชามติของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงทั้งหมดใส่ไว้ในหีบบัตรออกเสียงพร้อมทั้งรายงานผลการนับคะแนน แล้วปิดหีบบัตรออกเสียงจัดส่งไปให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด

มาตรา ๓๔ ในกรณีที่เกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ทำให้การลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงแห่งใดไม่สามารถกระทำได้ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันออกเสียงให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงกำหนดหน่วยออกเสียงใหม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถไปลงคะแนนได้โดยสะดวกแล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประกาศงดลงคะแนนในหน่วยออกเสียงนั้นและประกาศให้ผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นไปใช้สิทธิออกเสียงที่หน่วยออกเสียงที่คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงกำหนดแทนแล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง


หมวด ๘
การประกาศผลการออกเสียง


มาตรา ๓๕ เมื่อได้ผลการนับคะแนนออกเสียงประชามติจากที่ออกเสียงทุกแห่งแล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการออกเสียงและจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว และหากเป็นการออกเสียงตามมาตรา ๑๖๕ (๑) ของรัฐธรรมนูญให้แจ้งผลไปยังนายกรัฐมนตรี


หมวด ๙
การคัดค้านการออกเสียง


มาตรา ๓๖ ผู้มีสิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงใด เห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มีสิทธิยื่นคำคัดค้านโดยมีรายละเอียดแห่งพฤติการณ์หรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการออกเสียงนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง

มาตรา ๓๗ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำคัดค้านแล้วให้ดำเนินการพิจารณาสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยพลัน ถ้าเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้น ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันออกเสียง เว้นแต่การออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้นจะไม่ทำให้ผลการออกเสียงของทุกหน่วยออกเสียงเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมีคำสั่งยุติเรื่อง

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

วิธีการยื่นคำคัดค้านการออกเสียงและการพิจารณา ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด


หมวด ๑๐
ความผิดและบทกำหนดโทษ


มาตรา ๓๘ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

การใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่งมิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่หรือตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงโดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่า อาจทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

มาตรา ๓๙ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง กรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง ผู้อำนวยการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียง กรรมการประจำหน่วยออกเสียง คณะอนุกรรมการ อนุกรรมการ คณะบุคคลหรือบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๐ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๑ ผู้ใดทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจกระทำได้หรือจงใจกระทำการด้วยประการใด ๆ ให้บัตรออกเสียงประชามติชำรุด หรือเสียหายหรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ถ้าผู้กระทำตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานหรือเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการออกเสียงต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา ๔๒ ผู้ใดกระทำการในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง ดังต่อไปนี้

(๑) ออกเสียงหรือพยายามออกเสียง โดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงนั้น

(๒) ใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรออกเสียงประชามติมาออกเสียง

(๓) นำบัตรออกเสียงประชามติออกไปจากที่ออกเสียง

(๔) ทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรออกเสียงประชามติเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรออกเสียงประชามติของตน หรือใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดบันทึกภาพบัตรออกเสียงประชามติที่ตนได้ลงคะแนนออกเสียงแล้ว

(๕) ขัดคำสั่งกรรมการประจำหน่วยออกเสียงที่สั่งให้ออกไปจากที่ออกเสียงเพราะเหตุที่ผู้นั้นขัดขวางการออกเสียงตามมาตรา ๑๘ วรรคสาม

(๖) นำบัตรออกเสียงประชามติใส่ในหีบบัตรออกเสียงโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง เพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนออกเสียงโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรออกเสียงประชามติเพิ่มขึ้นจากความจริง

(๗) กระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถใช้สิทธิได้หรือขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไป ณ ที่ออกเสียง หรือเข้าไป ณ ที่ออกเสียงหรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าว ภายในกำหนดเวลาที่จะออกเสียง

(๘) ก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือกระทำการใดอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง

ผู้กระทำตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้กระทำตาม (๖) (๗) หรือ (๘) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา ๔๓ ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

(๑) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(๒) ให้ เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจะจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(๓) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลา ที่ออกเสียงหรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง

(๔) เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ทำให้ไร้ประโยชน์นำไป หรือขัดขวางการส่งซึ่งหีบบัตรออกเสียงหรือบัตรออกเสียงประชามติ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย

(๕) เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(๖) เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อจะไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง

(๗) ขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง

ผู้ใดกระทำตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท และผู้กระทำตาม (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้

ผู้ใดกระทำตาม (๗) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนตาม (๖) เป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายก่อนหรือในวันออกเสียง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ผู้ใดกระทำการตาม (๒) (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) อันเป็นเหตุให้มีการออกเสียงประชามติใหม่ให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการออกเสียงประชามติในคราวถัดไป

มาตรา ๔๔ ผู้ใดเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๕ กรรมการประจำหน่วยออกเสียงผู้ใดจงใจนับบัตรออกเสียงประชามติหรือคะแนนในการออกเสียงให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใด ๆ โดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรออกเสียงประชามติชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรออกเสียงประชามติให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการออกเสียงไม่ตรงความจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ

[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๒ บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖/ตอนที่ ๙๘ ก/หน้า ๑/๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"