พระราชบัญญัติฯ วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542

จาก วิกิซอร์ซ
ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญา
ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
  • ให้ไว้ ณ วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒
  • เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒"

มาตรา  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา  ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงไว้เป็นอย่างอื่น

"ศาล" หมายความว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

"คณะกรรมการ ป.ป.ช." หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

"ประธาน ป.ป.ช." หมายความว่า ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

"กรรมการ ป.ป.ช." หมายความว่า ประธานหรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

มาตรา  นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษา

มาตรา  ในการพิจารณาคดี ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้ศาลอื่น พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมาย

เพื่อให้กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเที่ยงธรรม ให้บุคคล คณะบุคคล หรือหน่วยงานตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ความร่วมมือในการดำเนินการใด ๆ ตามที่ศาลขอหรือมอบหมาย

มาตรา  ศาลมีอำนาจออกหมายอาญาและหมายใด ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติ

มาตรา   ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

หมวด ๑
บททั่วไป


มาตรา  ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนตามที่เห็นสมควร เป็นผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเพื่อปฏิบัติงานที่จำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีองค์คณะผู้พิพากษาตามมาตรา ๑๓ สำหรับคดีใดคดีหนึ่ง

มาตรา  ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้

(๑) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

(๒) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลตาม (๑) หรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาตาม (๑)

(๓) คดีซึ่งประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลพิจารณาพิพากษาข้อกล่าวหาว่า กรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

(๔) คดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติตกเป็นของแผ่นดิน

มาตรา ๑๐ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า กรณีมีมูลที่จะดำเนินคดีตามมาตรา ๙ (๑) (๒) หรือ (๔) ให้ประธาน ป.ป.ช. ส่งรายงาน เอกสาร และพยานหลักฐาน พร้อมทั้งความเห็น ไปยังอัยการสูงสุดภายในสิบสี่วัน เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อศาล

ให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ภายในระยะเวลาดังกล่าวอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า เรื่องที่ส่งมานั้นยังมีข้อไม่สมบูรณ์ และได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์นั้นไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.

มาตรา ๑๑ ภายในสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ตามมาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนของแต่ละฝ่ายจำนวนฝ่ายละเท่ากัน เป็นคณะทำงาน ให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ คณะทำงานมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ และรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อไป

ในกรณีที่คณะทำงานไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีได้ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันตั้งคณะทำงาน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจยื่นฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนได้ แต่ต้องฟ้องภายในสิบสี่วันนับแต่วันครบกำหนด

มาตรา ๑๒ การยื่นฟ้องเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ ย่อมกระทำได้ ถ้าได้ฟ้องภายในอายุความ

มาตรา ๑๓ เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสิบสี่วันนับแต่วันยื่นฟ้องคดี

ผู้พิพากษาคนใดประสงค์จะขอถอนตัวจากการได้รับเลือก ให้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ก่อนการลงคะแนน และให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติว่า จะให้มีการถอนตัวหรือไม่ มติของที่ประชุมใหญ่เป็นที่สุด

การเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแต่ละคดีให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ ให้ผู้พิพากษาที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบจำนวนเก้าคนเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาสำหรับคดีนั้น ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินเก้าคน ให้ประธานศาลฎีกาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก

ผู้พิพากษาที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีจนกว่าจะสิ้นสุด อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกา

มาตรา ๑๔ ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาย่อมพ้นหน้าที่ในคดีเมื่อ

(๑) พ้นจากการเป็นข้าราชการตุลาการ

(๒) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ศาลอื่น

(๓) ถอนตัวเนื่องจากการคัดค้านผู้พิพากษา และองค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งยอมรับตามคำคัดค้านในมาตรา ๑๖

ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการเลือกผู้พิพากษาแทนที่ตามวิธีการในมาตรา ๑๓

มาตรา ๑๕ ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ที่ทำให้ไม่สามารถนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะได้ และองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า หากเลื่อนการไต่สวนพยานหลักฐานออกไปจะทำให้ล่าช้าและขาดความเที่ยงธรรม ให้ดำเนินการเลือกผู้พิพากษาแทนที่ตามวิธีการในมาตรา ๑๓ ในกรณีนี้ ให้ผู้พิพากษาที่ถูกแทนที่สิ้นสุดอำนาจหน้าที่ในคดี

มาตรา ๑๖ หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดที่ได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องจากมีเหตุอันจะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน ในการนี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้วมีคำสั่งยอมรับหรือยกคำคัดค้าน คำสั่งนี้เป็นที่สุด และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

การคัดค้านผู้พิพากษาจะกระทำมิได้ หากได้เริ่มการไต่สวนพยานหลักฐานไปแล้ว เว้นแต่ผู้คัดค้านจะสามารถแสดงต่อศาลได้ว่า มีเหตุสมควรทำให้ไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนนั้น

มาตรา ๑๗ ให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้พิพากษาคนหนึ่งในจำนวนเก้าคนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจดำเนินการตามมติขององค์คณะผู้พิพากษา และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาอีกสองคน มีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ที่มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้

มาตรา ๑๘ ประธานศาลฎีกา โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดี เพื่อใช้แก่การปฏิบัติงานของศาลได้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับสำหรับคดีอาญา และบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับสำหรับคดีกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ โดยอนุโลม

มาตรา ๑๙ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปทุกวันทำการ จนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้

มาตรา ๒๐ การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือ พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก ในการนี้ องค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้

คำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคน ให้เปิดเผยตามวิธีการที่ประธานศาลฎีกากำหนด

มาตรา ๒๑ ความเห็นในการวินิจฉัยคดีอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(๑) ชื่อคู่ความทุกฝ่าย

(๒) เรื่องที่ถูกกล่าวหา

(๓) ข้อกล่าวหาและคำให้การ

(๔) ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา

(๕) เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

(๖) บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง

(๗) คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี

มาตรา ๒๒ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องจับกุมหรือคุมขังผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย เนื่องจากมีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรืออัยการสูงสุดอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายจับหรือหมายขังผู้นั้นได้

ในกรณีที่มีการฟ้องคดีแล้ว ไม่ว่าจะมีการคุมขังจำเลยมาก่อนหรือไม่ ให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาถึงเหตุอันควรคุมขังจำเลย และมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร หรือปล่อยชั่วคราวจำเลยนั้นได้

หมวด ๒
การดำเนินคดีอาญา


มาตรา ๒๓ ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้แก่

(๑) อัยการสูงสุด

(๒) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการปฏิบัติตามมาตรา ๑๑

มาตรา ๒๔ ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย

มาตรา ๒๕ การฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง

ในวันยื่นฟ้อง ให้โจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาล เพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้ในสำนวน และศาลอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๒๖ การพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐาน ให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำคัญ ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับได้

มาตรา ๒๗ เมื่อได้มีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลย และนัดคู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก

นับแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาฟ้อง ให้จำเลยมีสิทธิขอตรวจและขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ในวันพิจารณาครั้งแรก เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาล และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่า ได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้บันทึกไว้ ถ้าจำเลยไม่ให้การก็ให้บันทึกไว้ และให้ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์และจำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

มาตรา ๒๘ ให้โจทก์จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาในจำนวนที่เพียงพอก่อนวันพิจารณาตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

การยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากองค์คณะผู้พิพากษา เมื่อสามารถแสดงเหตุสมควรว่า ไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้น หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดี

มาตรา ๒๙ ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้โจทก์จำเลยส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุต่อศาล เพื่อให้อีกฝ่ายตรวจสอบ เว้นแต่องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้น หลังจากนั้น ให้โจทก์จำเลยแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อองค์คณะผู้พิพากษา

ในกรณีที่มิได้มีการโต้แย้งพยานหลักฐานใด องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่งให้รับฟังพยานหลักฐานนั้นโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ แต่หากมีการโต้แย้งพยานหลักฐานใดหรือเมื่อศาลเห็นเอง ให้องค์คณะผู้พิพากษาดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นต่อไป

มาตรา ๓๐ ในกรณีที่ต้องมีการไต่สวน ให้องค์คณะผู้พิพากษากำหนดวันเริ่มไต่สวนโดยให้โจทก์จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

มาตรา ๓๑ ในการไต่สวน ให้องค์คณะผู้พิพากษาสอบถามพยานบุคคลเอง โดยการแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงซึ่งจะทำการไต่สวน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเองหรือตอบคำถามศาล แล้วจึงให้โจทก์จำเลยถามเพิ่มเติมต่อไป

มาตรา ๓๒ เมื่อการไต่สวนพยานหลักฐานเสร็จสิ้น โจทก์และจำเลยมีสิทธิแถลงปิดคดีของตนภายในเวลาที่ศาลกำหนด แล้วให้องค์คณะผู้พิพากษามีคำพิพากษา และให้อ่านคำพิพากษาในศาลโดยเปิดเผยภายในเจ็ดวันนับแต่วันเสร็จการพิจารณา ถ้ามีเหตุสมควร จะเลื่อนการอ่านไปก่อนก็ได้ แต่ต้องไม่เกินสิบสี่วัน และต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ เว้นแต่ไม่อาจได้ตัวจำเลยมาศาลในวันอ่านคำพิพากษา

ในกรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง แต่จำเลยไม่อยู่หรือไม่มาฟังคำพิพากษา ให้ศาลเลื่อนการอ่านไป และออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา เมื่อได้ออกหมายจับแล้ว ไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกหมายจับ ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่า จำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว

หมวด ๓
การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน


มาตรา ๓๓ ในการพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ เว้นแต่มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๗ วรรคสาม และมาตรา ๓๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๓๔ เมื่อได้รับคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ศาลประกาศคำร้องดังกล่าวในที่เปิดเผยตามวิธีการในข้อกำหนดตามมาตรา ๑๘

บุคคลภายนอกอาจร้องคัดค้านเข้ามาในคดีได้ แต่ต้องกระทำก่อนศาลมีคำพิพากษา

มาตรา ๓๕  ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่า ทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติก็ดี มิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติก็ดี ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ต่อศาล

ถ้าผู้มีภาระการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนวิกลจริตไม่อยู่ในภาวะทำการพิสูจน์ต่อศาลได้ หรือผู้ที่กล่าวอ้างโต้แย้งเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถในการพิสูจน์ของบุคคลดังกล่าว และพิจารณาพิพากษาตามที่เห็นเป็นการยุติธรรม

หมวด ๔
การดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช.


มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๓๐๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ดำเนินการเลือกองค์คณะผู้พิพากษาตามมาตรา ๑๓

มาตรา ๓๗ ให้องค์คณะผู้พิพากษาแต่งตั้งบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นคณะกรรมการไต่สวน ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริง และทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีตามคำร้องขอ

ในการดำเนินการของคณะกรรมการไต่สวน ให้คณะกรรมการไต่สวนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยอนุโลม

มาตรา ๓๘ คณะกรรมการไต่สวน ให้แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการระดับไม่ต่ำกว่าชั้น ๖ อย่างน้อยหนึ่งคน และข้าราชการอัยการระดับไม่ต่ำกว่าชั้น ๖ อย่างน้อยหนึ่งคน และที่เหลือให้พิจารณาแต่งตั้งตามความเหมาะสมแก่คดีจากบุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีในวันแต่งตั้ง และต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ ๑๐ หรือเทียบเท่า

(๒) เป็นหรือเคยเป็นผู้สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่าสิบปี

(๓) เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การบัญชี หรือวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในคดี โดยเคยปฏิบัติงานด้านดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

มาตรา ๓๙ กรรมการไต่สวนต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(๑) เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

(๒) เป็นผู้เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๓) เป็นคนไร้ความสามารถ ฃหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๔) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

(๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

(๖) เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี

(๗) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

(๘) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

มาตรา ๔๐ กรรมการไต่สวนจะได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนอย่างอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๔๑ คณะกรรมการไต่สวนมีอำนาจสั่งให้กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อประกอบการไต่สวน ตามรายการ วิธีการ และภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการไต่สวนกำหนด

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหกสิบวัน

มาตรา ๔๒ คณะกรรมการไต่สวนต้องทำการไต่สวนและทำความเห็นให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับแต่งตั้ง แต่องค์คณะผู้พิพากษาอาจขยายระยะเวลาให้เท่าที่จำเป็นได้

ในกรณีที่คณะกรรมการไต่สวนมีมติว่า ข้อกล่าวหาอันเป็นคดีอาญาต่อกรรมการ ป.ป.ช. นั้นมีมูล หรือมีมติว่า กรณีมีมูลน่าเชื่อว่ากรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการไต่สวนส่งรายงานพร้อมทั้งเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล

ให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีตามความเห็นของคณะกรรมการไต่สวนภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง

การยื่นฟ้องเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคสาม ย่อมกระทำได้ ถ้าได้ฟ้องภายในอายุความ

ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ และหมวด ๓ มาใช้บังคับในการดำเนินคดีตามหมวดนี้ด้วยโดยอนุโลม

มาตรา ๔๓ ในกรณีที่คณะกรรมการไต่สวนเห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้คณะกรรมการไต่สวนส่งรายงานพร้อมทั้งเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่ไปยังองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อดำเนินการต่อไป

หากองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า พยานหลักฐานที่คณะกรรมการไต่สวนรวบรวมยังไม่เพียงพอที่จะมีคำสั่งในเรื่องนี้ อาจกำหนดให้คณะกรรมการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายในระยะเวลาอันสมควรก่อนมีคำสั่งก็ได้

หากองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้พิพากษายกคำร้องขอ แต่หากองค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูล ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล และให้นำมาตรา ๔๒ วรรคสามถึงวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๔๔ ในการพิจารณาพิพากษา ให้องค์คณะผู้พิพากษาดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร เพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงตามคำร้องขอให้ดำเนินคดี โดยไม่ผูกมัดกับเหตุผลหรือพยานหลักฐานที่ปรากฏในคำร้องขอให้ดำเนินคดี หรือในการไต่สวนหรือความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน หรือในการดำเนินคดีของอัยการสูงสุด

หมวด ๕
การบังคับคดี


มาตรา ๔๕ การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดี ให้เป็นไปตามมาตรา ๑๘

คำพิพากษาและคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด

บทเฉพาะกาล


มาตรา ๔๖ คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลอื่นในวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คงพิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จ และมิให้ถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลนี้

  • ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
  • ชวน หลีกภัย
  • นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถูกกล่าวหาว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าวด้วย ดังนั้น จะต้องดำเนินการจัดตั้งแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีพิจารณา ตลอดจนการบังคับคดีในการดำเนินคดีดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"