พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ/คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560[แก้ไข]

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560๐
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1[แก้ไข]

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560”

มาตรา 2[แก้ไข]

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [1]

มาตรา 3[แก้ไข]

ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550
(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
(3) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(4) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 5 เมษายน 2560 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง

มาตรา 4[แก้ไข]

ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง
กรรมการ หมายความว่า กรรมการการเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้งด้วย
กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติด้วย
เลือกตั้ง หมายความว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และการออกเสียงประชามติด้วยแล้วแต่กรณี
ผู้สมัคร หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วย แล้วแต่กรณี
หน่วยเลือกตั้ง หมายความว่า หน่วยเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงหน่วยเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และหน่วยออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติด้วย แล้วแต่กรณี
จังหวัด หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย
หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
สำนักงาน หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เลขาธิการ หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

มาตรา 5[แก้ไข]

ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นการใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมาย ว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้วและในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว

ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการหรือเลขาธิการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการหรือเลขาธิการกำหนดโดยทำเป็นประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วยทั้งนี้ ถ้าประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการหรือเลขาธิการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย

ให้สำนักงานมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มิได้มีผลเป็นการเปิดเผยถึงตัวบุคคลผู้ลงคะแนนเลือกตั้งเป็นการเฉพาะและมิได้ห้ามเปิดเผยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้

มาตรา 6[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการต้องให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือองค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยไม่ชักช้า

ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือมิชอบด้วยกฎหมาย อาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นด้วยให้คณะกรรมการปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาร่วมประชุมเพื่อหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันได้ และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว

มาตรา 7[แก้ไข]

ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

หมวด 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง[แก้ไข]

มาตรา 8[แก้ไข]

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาจำนวนห้าคน จากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(ข) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(ค) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
(ง) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
(จ) เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลังการบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
(ฉ) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (จ) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
(ช) เป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
(2) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวนสองคน

มาตรา 9[แก้ไข]

นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา 8 แล้ว กรรมการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรา 10[แก้ไข]

กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
(2) ติดยาเสพติดให้โทษ
(3) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(4) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(5) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(6) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(7) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(8) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(9) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(10) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(11) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(12) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(13) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(14) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(15) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(16) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(17) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(19) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(20) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(21) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(22) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(23) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(24) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

มาตรา 11[แก้ไข]

เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา 8 (1) ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย

(1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(4) บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 8 และมาตรา 9 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ

ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา

ในการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (4) ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต มีความเข้าใจในภารกิจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ และผู้จะได้รับ การคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคนให้นำเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (2) หรือกรรมการสรรหาตาม (4) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกำหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่

ให้กรรมการสรรหาตาม (4) อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหากรรมการใหม่ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (4) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นในขณะเดียวกันมิได้

ให้ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 12[แก้ไข]

ในการสรรหากรรมการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้วให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้าน ประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วยโดยอนุโลม

ในการสรรหาหรือคัดเลือก ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย

ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา

ผู้ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกา

ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสี่หรือวรรคห้า หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้มีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสามหรือไม่เกินกึ่งหนึ่งแล้วแต่กรณี ถ้ายังได้ไม่ครบตามจำนวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

เมื่อคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสรรหาหรือคัดเลือกได้บุคคลใดแล้วให้เสนอชื่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้

เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ถ้ามีเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจำนวนถึงห้าคนก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้วให้คณะกรรมการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว

ในการสรรหาเพิ่มเติมตามวรรคเก้าให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมเป็นผู้ดำเนินการ

ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา 13[แก้ไข]

ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการโดยที่ยังมิได้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 10 (20) (21) หรือ (22) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา 10 (23) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้วนั้นต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งกรรมการในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่ และให้นำความในมาตรา 12 วรรคสิบ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 14[แก้ไข]

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

การวินิจฉัยให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย

ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม แต่กรรมการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามจะอยู่ในที่ประชุมในขณะพิจารณาและวินิจฉัยมิได้

มาตรา 15[แก้ไข]

กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการใหม่แทน

มาตรา 16[แก้ไข]

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 หรือมาตรา 9 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10

เมื่อประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการด้วย

เมื่อมีปัญหาว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (2) หรือ (3) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ

ในระหว่างที่กรรมการพ้นจากตำแหน่ง และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างให้คณะกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสี่คน ให้กระทำได้แต่เฉพาะการที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในกรณีที่กรรมการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกกรรมการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่กรรมการครบวาระ แต่ถ้ากรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง

มาตรา 17[แก้ไข]

เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 16 (2) หรือ (3) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหามีเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

หลักฐานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

ในกรณีที่กรรมการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการทำหน้าที่เป็นกรรมการเป็นการชั่วคราวให้ครบเจ็ดคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการได้จนกว่ากรรมการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน

มาตรา 18[แก้ไข]

ภายใต้บังคับมาตรา 16 วรรคห้า การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าคน จึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่กรรมการคนใดไม่อาจมาประชุมได้ให้จดแจ้งเหตุนั้นไว้ในรายงานการประชุม

การลงมติในการประชุมของคณะกรรมการให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก โดยประธานในที่ประชุมและกรรมการที่มาประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติ และให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด

การไม่เข้าประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการประชุมของคณะกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 19[แก้ไข]

ในกรณีที่คณะกรรมการต้องมีมติวินิจฉัยในเรื่องดังต่อไปนี้ กรรมการทุกคนที่อยู่ในที่ประชุมต้องลงมติ การงดออกเสียงหรือการออกเสียงที่แตกต่างไปจากประเด็นที่จะต้องลงมติจะกระทำมิได้ แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการลงมติ

(1) การวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(2) การให้ความเห็นชอบคำวินิจฉัยตามมาตรา 20 วรรคสอง
(3) การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งตามมาตรา 30
(4) การสั่งระงับการดำเนินการอันจะทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 33
(5) การสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 26 วรรคสาม หรือมาตรา 41
(6) การยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(7) การสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และการวินิจฉัยว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(8) เรื่องอื่นใดที่คณะกรรมการมีมติกำหนดด้วยคะแนนสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

มาตรา 20[แก้ไข]

ในการลงมติของกรรมการตามมาตรา 19 หรือในเรื่องอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด ให้กรรมการลงมติเป็นหนังสือตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีชื่อเรื่องและประเด็นที่ลงมติ มติที่ลง และลายมือชื่อของกรรมการที่ลงมติ และให้เลขาธิการเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน

มติที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุมของคณะกรรมการ และในกรณีที่ต้องทำคำวินิจฉัย เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบร่างคำวินิจฉัยนั้นและประธานกรรมการหรือผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการได้ลงนามในคำวินิจฉัยนั้นแล้วให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ

การให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบแทนคณะกรรมการก็ได้

คำวินิจฉัยตามวรรคสองให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

ในกรณีที่คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งคณะก่อนลงนามในคำวินิจฉัย ให้เลขาธิการบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยและให้เลขาธิการเป็นผู้ลงนามในคำวินิจฉัยนั้นแทน เมื่อเลขาธิการลงนามในคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นอันใช้บังคับได้

มาตรา 21[แก้ไข]

กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของคณะกรรมการต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจและปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง กรรมการจะเข้ารับ การศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่คณะกรรมการเป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ

มาตรา 22[แก้ไข]

นอกจากหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) หน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายอื่น
(2) ออกข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายอื่น
(3) วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการ
(4) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งการสืบสวนและไต่สวน และการอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
(5) ส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชน ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง และความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(6) วางระเบียบเกี่ยวกับการชำระค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการเลือกตั้งและดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ รวมตลอดทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ
(7) กำกับและติดตามการใช้จ่ายเงินอุดหนุนที่พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว
(8) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตต่อรัฐสภา และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
(9) จัดให้มีการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัย เพื่อกำหนดวิธีการหรือมาตรการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
(10) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและสำนักงาน

ในการควบคุม กำกับ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการที่จะต้องดำเนินการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวนเพื่อป้องกันและขจัดการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำใดอันจะก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

การกำหนดตาม (10) ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์ที่สาธารณชนจะพึงได้รับ หลักธรรมาภิบาล และความเป็นธรรมประกอบกัน

มาตรา 23[แก้ไข]

ในกรณีที่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครผู้ใดสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำ หนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการตอบข้อสอบถามให้แล้วเสร็จโดยเร็วแต่ต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันได้รับการสอบถาม ในการนี้ คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือเลขาธิการเป็นผู้ตอบข้อสอบถามแทนคณะกรรมการก็ได้ และเมื่อได้ตอบแล้วให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

ในกรณีที่คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตอบข้อสอบถามไม่ทันภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

วิธีการสอบถามและวิธีการตอบข้อสอบถามให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 24[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) ให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือส่งเอกสารหลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(2) ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานตาม (1) พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือบุคคลใดมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐาน หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อประกอบการพิจารณา
(3) ขอความร่วมมือให้ศาลส่งเอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(4) เข้าไปหรือแต่งตั้งให้บุคคลเข้าไปในที่เลือกตั้ง ที่ออกเสียงประชามติ หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้งหรือนับคะแนนการออกเสียงประชามติ

ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจตาม (4) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดด้วย

มาตรา 25[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 24 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน

มาตรา 26[แก้ไข]

ในระหว่างการเลือกตั้ง ให้กรรมการแต่ละคนมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) กำกับและตรวจสอบการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
(2) มีคำสั่งให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนเมื่อพบเห็นการกระทำใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(3) เมื่อพบการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าการนั้นเป็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าเป็นการกระทำของบุคคลซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ หรือสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด บันทึกพฤติกรรมแห่งการกระทำและรวบรวมพยานหลักฐานไว้เพื่อดำเนินการต่อไปได้ตามที่จำเป็น หรือในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำนั้นก็ได้

ในกรณีที่กรรมการสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบันทึกพฤติกรรมแห่งการกระทำและรวบรวมพยานหลักฐานตาม (3) ให้ถือว่าการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นการดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา

ในกรณีที่ผลการสืบสวนหรือไต่สวนตาม (2) จะต้องมีคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครผู้ใดไว้เป็นการชั่วคราว หรือดำเนินการอื่นใด ให้เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย

เมื่อกรรมการผู้ใดออกคำสั่งตาม (2) หรือ (3) แล้ว ให้รายงานต่อคณะกรรมการเพื่อทราบโดยเร็วในการนี้ ถ้าคณะกรรมการเห็นสมควรจะมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกคำสั่ง หรือมีมติให้ดำเนินการอย่างใดตามที่เหมาะสมก็ได้

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 27[แก้ไข]

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภา และการออกเสียงประชามติ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการในการจัดการเลือกตั้ง หรือเลือก หรือออกเสียงประชามติ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการ กับให้มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น

มาตรา 28[แก้ไข]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแต่ละครั้งให้คณะกรรมการจัดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัดในระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วรายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ในกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยเร็ว ในการนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย

คณะกรรมการจะมอบหมายให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้แต่จะมอบอำนาจของคณะกรรมการหรือกรรมการที่มีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมิได้

ระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง หมายความถึงเวลาตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งหรือภายหลังจากนั้นอีกไม่เกินหกสิบวันตามที่คณะกรรมการกำหนด

วิธีการรายงานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องกำหนดให้สามารถรายงานได้โดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งเพิ่มเติมหรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการออกเสียงประชามติ หรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการจะสั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งไปปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 30

มาตรา 29[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัดจังหวัดละไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินแปดคน เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งตามจำนวนที่เพียงพอแก่การปฏิบัติหน้าที่ครบทุกจังหวัด โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อขึ้นไว้ บัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ใช้ได้เป็นเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปี

เมื่อคัดเลือกบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว ก่อนดำเนินการแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ประชาชนทราบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน และให้นำข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนมาประกอบการพิจารณาแต่งตั้งด้วย

จังหวัดใดไม่อาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดครบตามจำนวนตามวรรคหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใดคณะกรรมการจะไม่แต่งตั้งผู้มีภูมิลำเนาจากจังหวัดนั้นเลยหรือจะแต่งตั้งน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งก็ได้ในกรณีเช่นนั้นคณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาจากจังหวัดอื่นแทนให้ครบจำนวนก็ได้

ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลาห้าปีที่ผ่านมาก่อนการแต่งตั้ง เป็นบุคคลซึ่งเชื่อได้ว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียและต้องมีคุณสมบัติอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่กำหนดไว้สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งต้องไม่เป็นผู้มีบุพการี คู่สมรส หรือบุตรเป็นหรือสมัครรับเลือกตั้งหรือรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องยืนยันในใบสมัครว่ามีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดใด ๆ ที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 30

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัคร การคัดเลือก การประเมินผล การปฏิบัติงานและการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ถ้าคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งผู้ใดขาดความสุจริต ขาดความเที่ยงธรรม มีความประพฤติเสื่อมเสีย ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ละทิ้งหน้าที่หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ให้คณะกรรมการมีมติให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งและคัดออกจากบัญชีรายชื่อทันที

มาตรา 30[แก้ไข]

เมื่อมีกรณีที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา 29 มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินแปดคนโดยคำนึงถึงพื้นที่ของจังหวัดหรือพื้นที่ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ เพื่อแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด

ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ได้นับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง แม้จะยังมีจำนวนไม่ครบตามวรรคหนึ่งก็ตาม

การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมาย จับสลากจาก

(1) รายชื่อตามบัญชีรายชื่อตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่จะแต่งตั้งจำนวนสองคน
(2) รายชื่อตามบัญชีรายชื่อตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ที่มิได้มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้งให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับจังหวัดนั้น

ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดตาม (1) ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดคณะกรรมการจะแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดตาม (2) แทนผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดตาม (1) ก็ได้

ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ แต่ต้องไม่เร็วกว่าสามสิบวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ

เมื่อพ้นเวลาระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้งตามมาตรา 28 แล้ว ให้คำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นอันสิ้นผล เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดใดยังมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการต่อไป คณะกรรมการจะประกาศให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามเวลาที่กำหนดก็ได้

มาตรา 31[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่าที่พัก ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายหรือการสงเคราะห์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 32[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการอาจขอให้มีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สอบบัญชีของพรรคการเมืองโดยอาจขอให้ตรวจสอบอย่างเร่งด่วนในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งด้วยก็ได้
(2) เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแจ้งรายงานการทำธุรกรรมของพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ตามที่คณะกรรมการแจ้งให้ทราบ หรือให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินแจ้งให้ทราบถึงการโอนหรือการเบิกจ่ายเงินในกรณีดังกล่าวตามที่คณะกรรมการร้องขอ ทั้งนี้ ภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามหน่วยงานใดเปิดเผยข้อมูลในความครอบครองมาใช้บังคับแก่การแจ้งข้อมูลตามที่คณะกรรมการร้องขอ
(3) ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวกับการข่าว แจ้งข้อมูลเบาะแสตามที่คณะกรรมการร้องขอ แต่เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลใดแล้วให้คณะกรรมการใช้ข้อมูลนั้นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำ ความผิดหรือวางมาตรการป้องกันการกระทำ ความผิดในส่วนที่เป็นหน้าที่และอำ นาจของคณะกรรมการ แต่คณะกรรมการจะเปิดเผยข้อมูลและแหล่งข้อมูลมิได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คณะกรรมการมีอำนาจจัดสรรเงินงบประมาณที่สำนักงานได้รับจัดสรรมาให้แก่หน่วยงานนั้นเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปของหน่วยงานนั้นได้
ในการสั่งให้ดำเนินการตาม (1) คณะกรรมการมีอำนาจจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 33[แก้ไข]

เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลใดดำเนินการด้านธุรกรรมทางการเงินผลิตหรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาจใช้ในการจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ ใช้เงินหรือทรัพย์สินหรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดอันจะเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการดำเนินการนั้นไว้เป็นการชั่วคราวภายในเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน

ผู้ได้รับคำสั่งตามวรรคหนึ่งมีสิทธิร้องขอต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนคำสั่งนั้นได้ และถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการดำเนินการของบุคคลนั้นมิได้เป็นไปเพื่อให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้น

มาตรา 34[แก้ไข]

ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสนับสนุนการเลือกตั้ง หรือการสืบสวนหรือไต่สวนตามที่คณะกรรมการร้องขอเป็นหนังสือ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งหรือแต่งตั้งข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติการอันจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสนับสนุนการเลือกตั้ง หรือการสืบสวนหรือไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควร และให้แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างนั้นสังกัดอยู่ทราบโดยเร็ว

ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคสองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดทางวินัย และถ้าเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินการเลือกตั้ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแก่ผู้นั้นโดยเร็ว และแจ้งผลให้คณะกรรมการทราบด้วย

มาตรา 35[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการอาจแต่งตั้งบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรชุมชน หรือสถาบันการศึกษาซึ่งสมัครใจปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานหรือเป็นผู้สังเกตการณ์ในการเลือกตั้งเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการหรือกรรมการทราบได้ตามสมควร

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติงาน การสนับสนุนทางการเงิน การรายงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และให้เผยแพร่ผลการปฏิบัติงานและผลการประเมินให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย

มาตรา 36[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลักฐานทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

ทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิตรวจสอบและขอแก้ไขให้ถูกต้องได้

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจขอเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อนำมาดำเนินการจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรืออาจมอบหมายให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเป็นผู้จัดทำแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 37[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอื่น คณะอนุกรรมการ บุคคลหรือคณะบุคคล เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง ค่าตอบแทน และการสงเคราะห์อื่นรวมทั้งวิธีปฏิบัติงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคคลตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

การดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงประสิทธิภาพการทำงาน ความคุ้มค่าและความรวดเร็วด้วย

มาตรา 38[แก้ไข]

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้กรรมการเลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา 37 เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 39[แก้ไข]

เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ

ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของประธานกรรมการหรือกรรมการ

มาตรา 40[แก้ไข]

ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ครบวาระ
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) มีอายุครบเจ็ดสิบปี

ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา 39 คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี

สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง

หมวด 2 การสืบสวน การไต่สวน และการดำเนินคดี[แก้ไข]

มาตรา 41[แก้ไข]

เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใดไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาหรือไม่ ถ้ามีหลักฐานพอสมควรหรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนต่อไปว่ามีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือจะมีผล ให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้มีการสืบสวน หรือไต่สวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานโดยพลันถ้าผลการสืบสวนหรือไต่สวนปรากฏว่าไม่มีมูลความผิดให้สั่งยุติเรื่อง หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อว่ามีผู้กระทำการตามที่มีการสืบสวนหรือไต่สวน ให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินคดีโดยเร็ว หรือในกรณีจำเป็นจะสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้กระทำการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้

การดำเนินการให้มีการสืบสวนหรือไต่สวน การสืบสวนและการไต่สวน และการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ห้ามมิให้บุคคลใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้ง รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการดำเนินการตามมาตรานี้ มาตรา 32 (3) หรือมาตรา 47 เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจหรือตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล

ในการสืบสวนหรือไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้บุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งให้สืบสวนหรือไต่สวนตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 42[แก้ไข]

ให้กรรมการมีอำนาจสืบสวน ไต่สวน หรือดำเนินคดีตามมาตรา 41 และเพื่อให้การดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน หรือการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงานเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวน หรือดำเนินคดีได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ และขอบเขตแห่งหน้าที่และอำนาจของผู้ได้รับแต่งตั้งแต่ละระดับไว้ให้ชัดเจนรวมตลอดทั้งการออกบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องด้วย

พนักงานของสำนักงานที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางกฎหมาย การสืบสวน การไต่สวน หรือการดำเนินคดี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว

ในกรณีมีความจำเป็น คณะกรรมการจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐให้เป็นเจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกาลหรือเฉพาะเรื่องตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้

ให้เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่ง เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ความในวรรคหนึ่งไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการที่จะดำเนินการให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดำเนินการไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 43[แก้ไข]

ภายใต้บังคับมาตรา 41 วรรคสาม และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองในการไต่สวน กรรมการหรือเจ้าพนักงานต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยสรุป

ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะให้ถ้อยคำ หรือแสดงพยานหลักฐานภายในเวลาที่กรรมการหรือเจ้าพนักงานกำหนด และมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการไต่สวนได้ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำหรือแสดงพยานหลักฐานภายในเวลาที่กำหนด ให้กรรมการ หรือเจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการไต่สวนต่อไปได้

ในการแจ้งตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจะแจ้งโดยวิธีปิดหมาย หรือส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และเมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

ในการสืบสวนหรือไต่สวน เจ้าพนักงานอาจจัดให้มีการบันทึกภาพหรือเสียงของผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานด้วยก็ได้

มาตรา 44[แก้ไข]

เมื่อมีกรณีที่จะต้องดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดเพราะเหตุกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ให้คณะกรรมการแจ้งให้พนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยให้ส่งสำนวนการไต่สวนหรือสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ เพื่อใช้เป็นสำนวนในการดำเนินคดีโดยถือว่าสำนวนการไต่สวนหรือสำนวนการสอบสวนดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยจะส่งตัวผู้ต้องหาไปพร้อมกับสำนวนการไต่สวนหรือสำนวนการสอบสวนหรือไม่ก็ได้ แต่พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานตามมาตรา 42 ไต่สวนเพิ่มเติม หรือพนักงานอัยการจะดำเนินการไต่สวนหรือสอบสวนเพิ่มเติมเองก็ได้ ถ้าพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล และเป็นกรณีที่ไม่มีตัวผู้ถูกกล่าวหาให้ศาลออกหมายเรียกหรือออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาตามควรแก่กรณี เพื่อดำ เนินคดีต่อไปแต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัย เมื่ออัยการสูงสุดวินิจฉัยประการใดให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบ ในกรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ให้แจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบ และให้คณะกรรมการเผยแพร่เหตุผลดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแทนคณะกรรมการก็ได้

เมื่อมีกรณีที่จะต้องร้องขอต่อศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ได้โดยตรง หรือจะมอบหมายให้กรรมการหรือเจ้าพนักงานตามมาตรา 42 เป็นผู้ดำเนินการแทนคณะกรรมการก็ได้ และให้ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการมาใช้เป็นหลักในการพิจารณา แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

ในคดีที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ในการดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้คณะกรรมการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง

มาตรา 45[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการคุ้มครองพยานมิให้เกิดอันตรายแก่พยานรวมตลอดทั้งมาตรการรักษาความลับให้แก่ผู้เป็นพยาน ในมาตรการดังกล่าวจะกำหนดให้มีการจ่ายค่าที่อยู่หรือค่าเดินทางหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นด้วยก็ได้

การคุ้มครองพยานตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ให้ข้อมูล หรือผู้ชี้เบาะแสด้วย และให้กระทำได้เมื่อได้รับคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าว

ในกรณีที่กรรมการ เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรืออนุกรรมการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง ผู้ใดถูกดำเนินคดีไม่ว่าเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง และไม่ว่าจะถูกฟ้องในขณะดำรงตำแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ถ้าการถูกดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเพราะเหตุที่ได้มีมติ คำสั่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ และมิใช่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้อง ให้คณะกรรมการมีอำนาจให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีแก่บุคคลดังกล่าวได้ และให้พนักงานอัยการเข้าแก้ต่างให้แก่บุคคลเหล่านั้นตามที่คณะกรรมการร้องขอ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวให้รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความด้วย

มาตรการในการคุ้มครองพยานตามวรรคหนึ่ง และการให้ความช่วยเหลือตามวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 46[แก้ไข]

บุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หากได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยการกระทำความผิด คณะกรรมการอาจจะไม่ดำเนินคดีก็ได้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองและเมื่อคณะกรรมการมีมติไม่ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวแล้วให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นอันระงับไป

มาตรา 47[แก้ไข]

เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนหรือไต่สวน ให้คณะกรรมการมีอำนาจจัดตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการ กระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมตลอดทั้งให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง

ในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจจัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานโดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับเงิน แต่คณะกรรมการต้องมีหนังสือรับรองค่าใช้จ่ายดังกล่าว

การใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการจะจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองหรือจากเงินรายได้ของสำนักงานมาเพื่อใช้จ่ายตามมาตรานี้ตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา 48[แก้ไข]

ในกรณีที่คณะกรรมการได้รับแจ้งจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมและเป็นกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจจะดำเนินการใดได้ ให้คณะกรรมการดำเนินการสืบสวนไต่สวน หรือดำเนินคดีตามหมวดนี้โดยพลัน โดยให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบหรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนหรือสอบสวนของคณะกรรมการ

มาตรา 49[แก้ไข]

เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณา และคณะกรรมการเห็นว่าเป็นการสมควรที่คณะกรรมการจะดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้นโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมาให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีเช่นนี้ให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองมาให้คณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว

หมวด 3 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง[แก้ไข]

มาตรา 50[แก้ไข]

ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา กำกับดูแล และรับผิดชอบของคณะกรรมการ

กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

มาตรา 51[แก้ไข]

สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

(1) รับผิดชอบงานธุรการ และดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
(2) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุน การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกรรมการ และผู้ตรวจการเลือกตั้ง
(3) ดำเนินการเพื่อให้พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความรู้ความเข้าใจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และมติของคณะกรรมการ
(4) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 52[แก้ไข]

ในการกำ กับดูแลสำ นักงาน ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศ ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงาน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(2) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งและค่าตอบแทนหรือสิทธิและประโยชน์อื่นของเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
(3) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสมรรถภาพ การประเมินผลการปฏิบัติงาน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษ สำหรับเลขาธิการและพนักงานของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงาน
(4) การบริหารและจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
(5) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นซึ่งรวมถึงการจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยในกรณีเลขาธิการดำรงตำแหน่งครบวาระ
(6) การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการได้มาซึ่งเลขาธิการ
(7) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของคณะกรรมการ เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
(8) การอื่นใดอันจำเป็นต่อการกำกับหรือควบคุมการดำเนินงานของสำนักงานหรือการบังคับบัญชาเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน หรือการทำให้บุคคลดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินการตาม (1) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัว
การกำหนดตาม (2) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และความเพียงพอในการดำรงชีพและภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของพนักงานและลูกจ้างแต่ละสายงานและระดับด้วย
ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยจะกำหนดให้มีคณะบุคคลเพื่อกำกับ ดูแล หรือพิจารณาคำร้องทุกข์หรือคำอุทธรณ์ที่เป็นอิสระด้วยก็ได้

มาตรา 53[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการออกข้อกำหนดทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ทั้งนี้ ข้อกำหนดทางจริยธรรมดังกล่าวต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด

ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ใดกระทำการใดโดยไม่สุจริตหรือเอื้อประโยชน์หรือกลั่นแกล้งผู้ใดในการปฏิบัติหน้าที่หรือในการดำเนินการเลือกตั้ง ให้ดำเนินการทางวินัยโดยเร็ว และในระหว่างนั้น ให้คณะกรรมการย้ายผู้นั้นให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือจากท้องที่ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ทันที

ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับแก่เลขาธิการด้วยโดยอนุโลม โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้พลางก่อนได้

มาตรา 54[แก้ไข]

ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่งซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งตามมติของคณะกรรมการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ คณะกรรมการจะกำหนดให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานรองจากเลขาธิการก็ได้

ให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ

มาตรา 55[แก้ไข]

เลขาธิการต้องเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในระยะเวลาสิบปีก่อนได้รับแต่งตั้ง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีสัญชาติไทยมีอายุไม่เกินหกสิบปีในวันที่ได้รับแต่งตั้งและมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีในขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการและมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงานตามที่คณะกรรมการกำหนด

เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา 56[แก้ไข]

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 55
(4) ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา
(5) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือมีการกระทำหรือมีคุณลักษณะไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ
(6) เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง

มาตรา 57[แก้ไข]

ภายใต้บังคับมาตรา 59 เลขาธิการมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการและให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย

(1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามระเบียบของคณะกรรมการ
(2) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบหรือประกาศหรือมติของคณะกรรมการ
(3) หน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นและตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 58[แก้ไข]

ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานแทนก็ได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกิจการสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การงบประมาณของสำนักงาน และกิจการอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้เลขาธิการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

มาตรา 59[แก้ไข]

คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัดเพื่อปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจตามที่คณะกรรมการกำหนด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

ให้นำความในมาตรา 53 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วย

มาตรา 60[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการเสนองบประมาณรายจ่าย เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณ ะกรรมการและสำ นักงานไว้ในร่างพระราชบัญ ญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง

ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย

ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งมากกว่างบประมาณที่สำนักงานได้รับ ให้รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับการดำเนินงานของคณะกรรมการ

มาตรา 61[แก้ไข]

เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา 61 ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่งเว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเป็นการเฉพาะกรณี

ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ

มาตรา 62[แก้ไข]

รายได้และทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสำนักงาน ประกอบด้วย

(1) เงินอุดหนุนที่ได้รับตามมาตรา 61
(2) รายได้จากค่าธรรมเนียมหรือทรัพย์สินของสำนักงาน
(3) ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงาน
(4) ดอกผลหรือผลประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินของสำนักงาน
(5) รายได้อื่นตามที่กฎหมายกำหนด

ในการรับทรัพย์สินตาม (3) ให้คำนึงถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการรับทรัพย์สินดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน จะสั่งให้สำนักงานไม่รับทรัพย์สินนั้นหรือให้คืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้อุทิศให้ก็ได้

มาตรา 63[แก้ไข]

รายได้ของสำนักงานไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น ให้สำ นักงานจัดทำ รายงานการรับและการใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี

อสังหาริมทรัพย์ซึ่งสำนักงานได้กรรมสิทธิ์มาไม่ว่าจากการซื้อ หรือมีผู้ยกให้ ให้เป็นที่ราชพัสดุแต่สำนักงานมีอำนาจในการปกครองดูแล ใช้ หรือหาประโยชน์ได้

มาตรา 64[แก้ไข]

ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้

มาตรา 65[แก้ไข]

ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน โดยให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงาน รวมทั้งประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน โดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมายมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และคุ้มค่าเพียงใด แล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี โดยไม่ชักช้า

หมวด 4 บทกำหนดโทษ[แก้ไข]

มาตรา 66[แก้ไข]

ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กรรมการ เลขาธิการผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้ตรวจการเลือกตั้ง กรรมการหรืออนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 67[แก้ไข]

ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการที่สั่งตามมาตรา 24 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 68[แก้ไข]

ผู้ใดซึ่งได้ล่วงรู้ข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลที่คณะกรรมการได้รับแจ้งตามมาตรา 32 (3) แล้วเปิดเผยข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลนั้นต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คณะกรรมการหรือผู้มีหน้าที่และอำนาจในการใช้ข้อมูลนั้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือฝ่าฝืนมาตรา 41 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นกรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 69[แก้ไข]

กรรมการ เลขาธิการ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้ตรวจการเลือกตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ผู้ใดกระทำการหรือละเว้นการกระทำ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาสิบปี

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยทุจริตต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 149 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย

บทเฉพาะกาล[แก้ไข]

มาตรา 70[แก้ไข]

ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ให้ผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนตามมาตรา 40 โดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะลาออก โดยให้คำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจนถึงวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

ในกรณีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่ง ตาย ลาออก หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดและมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 71[แก้ไข]

ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 11

มาตรา 72[แก้ไข]

ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 71 และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

มาตรา 73[แก้ไข]

ให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญ ญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นี้ใช้บังคับและมีคุณ สมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ยังคงเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ ตามสัญญาจ้างที่ทำไว้ต่อกัน

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัย

มาตรา 74[แก้ไข]

ให้กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 เป็นอันพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

มาตรา 75[แก้ไข]

บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนดประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 76[แก้ไข]

ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 เป็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

บรรดาสิทธิ หน้าที่ และความผูกพันใด ๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มีอยู่กับบุคคลใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้โอนมาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 77[แก้ไข]

ให้โอนบรรดาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสิทธิและประโยชน์อื่นใดซึ่งพนักงานหรือลูกจ้างดังกล่าวได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 เป็นสิทธิและประโยชน์อื่นใดที่ได้รับต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะมีระเบียบที่ออกตามมาตรา 52 (2) กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 78[แก้ไข]

การดำเนินการสืบสวนสอบสวน การไต่สวน การดำเนินคดีหรือการดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ซึ่งดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าการนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

ในกรณีที่มีปัญหาในการดำเนินการในเรื่องใดที่ยังค้างพิจารณาอยู่ และมิได้บัญญัติวิธีดำเนินการไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ การดำ เนินการนั้นต่อไปให้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง


ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ[แก้ไข]

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณ าจักรไทยบัญ ญัติให้มีพระราชบัญ ญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามกฎหมายที่กำ หนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

เอกสารประกอบ[แก้ไข]

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 93 ก 13 กันยายน 2560