พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2552 ฉบับที่ 6

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติ

ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๖)

พ.ศ. ๒๕๕๒



ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เป็นปีที่ ๖๔ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า


โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้


มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๒”


มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป


มาตรา ๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๐



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๕๔ แห่งกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม บัญญัติให้กรมทางหลวงชนบทต้องยุบเลิกไปภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่เนื่องจากภารกิจปัจจุบันที่กรมทางหลวงชนบทดำเนินการอยู่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง และการกระจายความเจริญสู่ชนบท ซึ่งเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาล โดยกรมทางหลวงชนบทมีหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานทางการก่อสร้างและการบำรุงรักษาทางทั้งทางหลวงชนบทและทางหลวงท้องถิ่นที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ควบคุมในทางวิชาการงานทางฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งระดับผู้ปฏิบัติและระดับผู้บริหารของ อปท. ทั่วประเทศ กำกับและตรวจตราให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการตามที่กำหนดไว้วิจัยและพัฒนางานทางเพื่อสนับสนุนการพัฒนางานทางหลวงชนบทและงานทางหลวงท้องถิ่น ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือในด้านวิชาการแก่ อปท. นอกจากนั้นกฎหมายทางหลวงได้กำหนดให้กรมทางหลวงชนบทมีหน้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม และมีสาระสำคัญ ๒ ด้าน คือ ด้านกำกับตรวจตราและควบคุมทางหลวง และด้านควบคุม รักษาขยายและสงวนเขตทาง จึงมีความจำเป็นต้องมีกรมทางหลวงชนบทไว้รับผิดชอบภารกิจดังกล่าวซึ่งมีความสำคัญต่อระบบการคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้