พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ๒๕๒๑
พระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. ๒๕๒๑”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป*
- *[รก.๒๕๒๑/๙๙/๑พ/๒๑ กันยายน ๒๕๒๑]
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
- “มหาวิทยาลัย” หมายถึง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- “สภามหาวิทยาลัย” หมายถึง สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- “สภาวิชาการ” หมายถึง สภาวิชาการมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หมวด ๑ บททั่วไป
[แก้ไข]มาตรา ๕ ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่ง เรียกว่า “มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” เป็นสถาบันการศึกษาแบบไม่มีชั้นเรียนของตนเอง มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทําการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทะนุบํารุงวัฒนธรรม
ให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรมสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย
มาตรา ๖ การให้การศึกษาของมหาวิทยาลัย จะต้องใช้ระบบสื่อการสอนทางไปรษณีย์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือวิธีการอย่างอื่นที่ผู้ศึกษาสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียนตามปกติ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยและการรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภามหาวิทยาลัยกําหนดโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก
มาตรา ๗ การให้การศึกษาของมหาวิทยาลัยให้แบ่งเป็นสาขาวิชา
การจัดตั้ง ยุบรวม และเลิกสาขาวิชาให้ทําเป็นประกาศทบวงมหาวิทยาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๘ มหาวิทยาลัยอาจมีส่วนราชการ ดังนี้
- (๑) สํานักงานอธิการบดี
- (๒) สถาบันเพื่อการวิจัย และสํานักเพื่อส่งเสริมการศึกษาหรือเพื่อบริการทาง
สํานักงานอธิการบดี อาจแบ่งส่วนราชการเป็น กอง และแผนก หรือส่วนราชการวิชาการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
สถาบันและสํานักอาจแบ่งส่วนราชการเป็นศูนย์ ฝ่าย และสํานักงานเลขานุการ
ศูนย์ ฝ่าย และสํานักงานเลขานุการ อาจแบ่งส่วนราชการเป็นแผนกหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
มาตรา ๙ การจัดตั้ง ยุบรวม และเลิก สํานักงานอธิการบดี สถาบันและสํานัก ตามมาตรา ๘ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
การแบ่งส่วนราชการเป็นศูนย์ ฝ่าย สํานักงานเลขานุการ กอง และแผนก หรือ ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้ทําเป็นประกาศทบวงมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจา นุเบกษา
มาตรา ๑๐ ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ มหาวิทยาลัยจะรับสถาบันวิชาการชั้นสูงอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยก็ได้ และมีอํานาจให้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นใดชั้นหนึ่งแก่ผู้สําเร็จการศึกษาจากสถาบันวิชาการชั้นสูง นั้น ๆ ได้
การรับสถาบันวิชาการชั้นสูง เข้าสมทบในมหาวิทยาลัย ให้ทําเป็นประกาศทบวงมหาวิทยาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การควบคุมสถาบันวิชาการชั้นสูงซึ่งเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภามหาวิทยาลัยกําหนด
มาตรา ๑๑ นอกจากเงินที่กําหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดินมหาวิทยาลัยอาจมีรายได้ ดังนี้
- (๑) เงินผลประโยชน์ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
- (๒) ทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่มหาวิทยาลัย
รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนําส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
มาตรา ๑๒ บรรดาทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเพื่อประโยชน์และตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
หมวด ๒ การดําเนินงาน
[แก้ไข]มาตรา ๑๓ ให้มีสภามหาวิทยาลัย ประกอบด้วยนายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยหรือผู้แทน อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์หรือผู้แทน อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขหรือผู้แทน ผู้อํานวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน และอธิการบดีซึ่งเป็นกรรมการโดยตําแหน่งกรรมการสภาวิชาการซึ่งสภาวิชาการเลือกจํานวนหนึ่งคน กับกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง มีจํานวนไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินเก้าคน
ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยคนหนึ่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และให้อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทําหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัย เมื่อนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย
ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่ง เป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัยโดยคําแนะนําของอธิการบดี
มาตรา ๑๔ นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ดํารงตําแหน่งสองปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งใหม่อีกก็ได้
ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งแทนแล้ว หรือในกรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตําแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตําแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
ในกรณีที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งตามวาระแต่ยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิใหม่
มาตรา ๑๕ สภามหาวิทยาลัยมีอํานาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของ มหาวิทยาลัยและโดยเฉพาะมีอํานาจหน้าที่ดังนี้
- (๑) วางนโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัยการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการทะนุบํารุงวัฒนธรรม ทั้งนี้ โดยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยและนโยบายของรัฐ
- (๒) จัดวางระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
- (๓) อนุมัติให้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
- (๔) พิจารณาการจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิก สํานักงานอธิการบดีสถาบัน สํานักและสาขาวิชา แล้วแต่กรณี
- (๕) อนุมัติการรับสถาบันวิชาการชั้นสูงเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย
- (๖) พิจารณาการแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดีและศาสตราจารย์ประจํา
- (๗) อนุมัติการแต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดี ผู้อํานวยการสถาบัน ผู้อํานวยการสํานัก รองผู้อํานวยการสถาบัน รองผู้อํานวยการสํานัก รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์
- (๘) จัดวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
- (๙) แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกระทําการใด ๆ ตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย
- (๑๐) หน้าที่อื่นเกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยที่มิได้ระบุให้เป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ
มาตรา ๑๖ ให้มีสภาวิชาการ ประกอบด้วยอธิการบดีเป็นประธานสภาวิชาการ ประธานกรรมการประจําสาขาวิชา ผู้อํานวยการสถาบัน ผู้อํานวยการสํานัก และศาสตราจารย์ประจํา เป็นกรรมการโดยตําแหน่งกับผู้แทนคณาจารย์ประจําที่คณาจารย์เลือกจากคณาจารย์ประจําสาขาวิชา สาขาวิชาละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้สภาวิชาการแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่งเป็นเลขานุการสภาวิชาการโดยคําแนะนําของอธิการบดี
มาตรา ๑๗ ผู้แทนคณาจารย์ประจําดํารงตําแหน่งสองปี แต่อาจได้รับเลือกให้ดํารงตําแหน่งใหม่อีกได้
ในกรณีที่ผู้แทนคณาจารย์ประจําพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ และได้มีการเลือกผู้ดํารงตําแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกอยู่ในตําแหน่งได้เพียงครบตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน
มาตรา ๑๘ สภาวิชาการมีอํานาจหน้าที่ดังนี้
- (๑) พิจารณากําหนดหลักสูตร การสอนและการวัดผลการศึกษา
- (๒) เสนอการให้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญาและประกาศนียบัตร
- (๓) เสนอการจัดตั้ง ยุบรวม และเลิก สถาบัน สํานักและสาขาวิชา
- (๔) พิจารณาการรับสถาบันวิชาการชั้นสูงเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย
- (๕) เสนอแนะการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ
- (๖) พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์
- (๗) จัดหาวิธีการอันจะยังการศึกษา การวิจัย และการบริการทางวิชาการของมหาวิทยาลัยให้เจริญยิ่งขึ้น
- (๘) พิจารณาให้ความเห็นแก่สภามหาวิทยาลัยในเรื่องเกี่ยวกับวิชาการของมหาวิทยาลัย
- (๙) แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกระทําการใด ๆ ตามที่สภาวิชาการมอบหมาย
มาตรา ๑๙ การประชุมของสภามหาวิทยาลัย การประชุมของสภาวิชาการ การประชุมของคณะกรรมการประจําสาขาวิชา ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเสนอการแต่งตั้ง หรือการเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการสภาวิชาการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภามหาวิทยาลัยกําหนด
มาตรา ๒๐ ให้มีอธิการบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย และจะมีรองอธิการบดีคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้เพื่อทําหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีจะมอบหมาย
อธิการบดีนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งโดยคําแนะนําของสภามหาวิทยาลัยจากผู้ซึ่งได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัย หรือได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยอื่น หรือสถานศึกษาชั้นสูงอื่นที่สภามหาวิทยาลัยรับรอง
อธิการบดีดํารงตําแหน่งสี่ปี แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งใหม่อีกก็ได้ การถอดถอนอธิการบดีก่อนครบวาระ ต้องนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงถอดถอน
รองอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับอธิการบดี และให้อธิการบดีเป็นผู้เสนอแต่งตั้งและถอดถอนรองอธิการบดีต่อสภามหาวิทยาลัย
รองอธิการบดีพ้นจากตําแหน่งพร้อมกับอธิการบดี
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่อธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองอธิการบดีเป็นผู้รักษาการแทน ถ้ามีรองอธิการบดีหลายคนให้รองอธิการบดีที่อธิการบดีมอบหมายเป็นผู้รักษาการแทน ถ้าอธิการบดีไม่ได้มอบหมายให้รองอธิการบดีที่มีอาวุโสเป็นผู้รักษาการแทน
ในกรณีที่ไม่มีรองอธิการบดีหรือรองอธิการบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือในกรณีที่ตําแหน่งอธิการบดีว่างลง ให้นายกสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี
มาตรา ๒๒ ในสาขาวิชาหนึ่งให้มีคณะกรรมการประจําสาขาวิชาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการจํานวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณาจารย์ประจําในสาขาวิชานั้นเลือก
ให้คณะกรรมการประจําสาขาวิชาแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเลขานุการ
ประธานกรรมการและกรรมการประจําสาขาวิชาดํารงตําแหน่งสี่ปีแต่อาจได้รับเลือกให้ดํารงตําแหน่งใหม่อีกได้
คณะกรรมการประจําสาขาวิชามีหน้าที่พิจารณาดําเนินงานด้านบริหารและวิชาการของสาขาวิชา และปฏิบัติหน้าที่อื่นที่สภามหาวิทยาลัยหรือสภาวิชาการมอบหมาย
มาตรา ๒๓ ในสถาบันหรือสํานักหนึ่ง ให้มีผู้อํานวยการสถาบันหรือผู้อํานวยการสํานักคนหนึ่ง เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในกิจการของสถาบันหรือสํานัก และจะมีรองผู้อํานวยการสถาบันหรือรองผู้อํานวยการสํานักคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้เพื่อทําหน้าที่และรับผิดชอบตามที่ผู้อํานวยการสถาบันหรือผู้อํานวยการสํานักจะมอบหมาย
ผู้อํานวยการสถาบันหรือผู้อํานวยการสํานักนั้น สภามหาวิทยาลัยจะได้แต่งตั้งจากคณาจารย์หรือเจ้าหน้าที่อื่นของมหาวิทยาลัย และให้ดํารงตําแหน่งสี่ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
รองผู้อํานวยการสถาบันหรือรองผู้อํานวยการสํานักต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้อํานวยการสถาบันหรือผู้อํานวยการสํานัก และให้อธิการบดีด้วยความเห็นชอบของผู้อํานวยการสถาบันหรือผู้อํานวยการสํานัก เป็นผู้เสนอแต่งตั้งและถอดถอนรองผู้อํานวยการสถาบันหรือรองผู้อํานวยการสํานักต่อสภามหาวิทยาลัย
ให้รองผู้อํานวยการสถาบันหรือรองผู้อํานวยการสํานักพ้นจากตําแหน่งพร้อมกับผู้อํานวยการสถาบันหรือผู้อํานวยการสํานัก
มาตรา ๒๔ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเลือกประธานกรรมการประจําสาขาวิชาและกรรมการประจําสาขาวิชา ตลอดจนการดําเนินงานของคณะกรรมการประจําสาขาวิชาและการดําเนินงานของสถาบันหรือสํานัก ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภามหาวิทยาลัยกําหนด
มาตรา ๒๕ คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีดังนี้
- (๑) ศาสตราจารย์ ซึ่งอาจเป็นศาสตราจารย์ประจําหรือศาสตราจารย์พิเศษ
- (๒) รองศาสตราจารย์
- (๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์
- (๔) อาจารย์ ซึ่งอาจเป็นอาจารย์ประจําหรืออาจารย์พิเศษ
มาตรา ๒๖ คุณสมบัติและวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์ประจํา รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
มาตรา ๒๗ ศาสตราจารย์พิเศษนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งโดยคําเสนอแนะของสภามหาวิทยาลัย จากผู้ซึ่งมิได้เป็นคณาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัย แต่ต้องมีคุณสมบัติทางวิชาการเช่นเดียวกับศาสตราจารย์ประจํา
มาตรา ๒๘ ให้ศาสตราจารย์ประจําซึ่งพ้นจากตําแหน่งไปโดยไม่มีความผิดเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ
มาตรา ๒๙ อาจารย์ประจําต้องมีคุณวุฒิได้รับปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง หรือเป็นผู้มีความชํานาญในสาขาวิชาที่มีการสอนของมหาวิทยาลัย
อาจารย์พิเศษนั้นอธิการบดีจะแต่งตั้งขึ้นประจําปีการศึกษาโดยคําเสนอแนะของประธานกรรมการประจําสาขาวิชา จากบุคคลที่มีคุณวุฒิเช่นเดียวกับอาจารย์ประจําหรือมีความชํานาญในสาขาวิชาที่มีการสอนของมหาวิทยาลัย
หมวด ๓ ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ
[แก้ไข]มาตรา ๓๐ ปริญญามีสามชั้น คือ
- ปริญญาเอก เรียกว่า ดุษฎีบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ด.
- ปริญญาโท เรียกว่า มหาบัณฑิต ใช้อักษรย่อ ม.
- ปริญญาตรี เรียกว่า บัณฑิต ใช้อักษรย่อ บ.
มาตรา ๓๑ มหาวิทยาลัยมีอํานาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่มีการสอนของมหาวิทยาลัย
การกําหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาชั้นใด และจะใช้อักษรย่อสําหรับสาขาวิชานั้นอย่างไรให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๓๒ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกําหนดให้ผู้สําเร็จการศึกษาชั้นปริญญา ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือปริญญาเกียรตินิยมอับดับสองได้
มาตรา ๓๓ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกําหนดให้มีประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรได้ดังนี้
- (๑) ประกาศนียบัตรชั้นสูง ออกให้แก่ผู้สําเร็จการศึกษาในสาขาวิชาใดภายหลังที่ได้รับปริญญาแล้ว
- (๒) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สําเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขาวิชาที่ยังไม่ถึงขั้นปริญญาตรี
- (๓) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สําเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา
มาตรา ๓๔ มหาวิทยาลัยมีอํานาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งมหาวิทยาลัยเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้น ๆ
มาตรา ๓๕ มหาวิทยาลัยจะจัดให้มีครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้ปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญาและประกาศนียบัตรก็ได้
การกําหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ครุยวิทยฐานะและเข็มวิทยฐานะจะใช้ในโอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภามหาวิทยาลัยกําหนด
มาตรา ๓๖ สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกําหนดให้มีเครื่องหมายนักศึกษาและกําหนดการใช้เครื่องหมายดังกล่าวได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด ๔ บทกําหนดโทษ
[แก้ไข]มาตรา ๓๗ ผู้ใดใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ หรือเครื่องหมายนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรชั้นสูง อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัย โดยที่ตนไม่มี ถ้าได้กระทําเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้ หรือมีวิทยฐานะเช่นนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
[แก้ไข]มาตรา ๓๘ ในระหว่างที่ยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ให้สภามหาวิทยาลัยประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยหรือผู้แทน ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติหรือผู้แทน อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์หรือผู้แทน อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขหรือผู้แทน ผู้อํานวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน และผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้อํานวยการกองแผนงาน สํานักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่ประสงค์จะได้รับโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาซึ่งมีจํานวนเพิ่มมากขึ้น เห็นควรส่งเสริมให้มีการศึกษาระบบเปิดโดยอาศัยสื่อการสอนทางไปรษณีย์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้เรียนศึกษาได้ด้วยตนเองและไม่จําเป็นต้องมาเข้าชั้นเรียนตามปกติ การศึกษาระบบเปิดจะช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างกว้างขวาง เป็นการให้การศึกษาผู้ใหญ่แก่ผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่แล้วให้ได้มีโอกาสเพิ่มพูนวิทยฐานะอันเป็นส่วนของการศึกษาตลอดชีวิต และเป็นการให้การศึกษาแก่ชนทุกชั้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และพัฒนาคุณภาพของประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสในการศึกษาต่อสําหรับผู้สําเร็จมัธยมศึกษาตอนปลาย ในการนี้เห็นสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชขึ้น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"