ข้ามไปเนื้อหา

พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/ปัจจุบัน

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


ราชทัณฑ์


พุทธศักราช ๒๔๗๙




ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล


คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร


ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘)


อาทิตย์ทิพอาภา


เจ้าพระยายมราช


พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน


ตราไว้ ณ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๙


เป็นปีที่ ๓ ในรัชชกาลปัจจุบัน



โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายการราชทัณฑ์เพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัย

จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙”


มาตรา ๒

ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ภายหลัง ๔ เดือนนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา[1]


มาตรา ๓

ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะเรือนจำ ร.ศ. ๑๒๐ กับทั้งบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๔

ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(๑) “เรือนจำ” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้ควบคุมกักขังผู้ต้องขัง กับทั้งสิ่งที่ใช้ต่อเนื่องกัน และให้หมายความรวมตลอดถึง ที่อื่นใดซึ่งรัฐมนตรีได้กำหนดและประกาศในราชกิจจานุเบกษาวางอาณาเขตไว้โดยชัดเจน

(๒) “ผู้ต้องขัง” หมายความรวมตลอดถึง นักโทษเด็ดขาด คนต้องขัง และคนฝาก

(๓) “นักโทษเด็ดขาด” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด และหมายความรวมถึง บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษด้วย[2]

(๔) “คนต้องขัง” หมายความว่า บุคคลที่ถูกขังไว้ตามหมายขัง

(๕) “คนฝาก” หมายความว่า บุคคลที่ถูกฝากให้ควบคุมไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นโดยไม่มีหมายอาญา

(๖) “นักโทษพิเศษ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดซึ่งส่งไปอยู่ทัณฑนิคมตามพระราชบัญญัตินี้

(๗) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งบังคับบัญชาการราชทัณฑ์

(๘) “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์


มาตรา ๕

พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับถึงเรือนจำทหาร



ลักษณะ ๑


เรือนจำ




หมวด ๑


ข้อความทั่วไป





มาตรา ๖

รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดประเภทหรือชั้นของเรือนจำ หรือสั่งให้จัดอาณาเขตภายในเรือนจำออกเป็นส่วน ๆ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประเภท ชั้น เพศของผู้ต้องขัง หรือความประสงค์ในการอบรมผู้ต้องขังด้วย


มาตรา ๗

บุคคลภายนอกซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเรือนจำเพื่อกิจธุระก็ดี เยี่ยมผู้ต้องขังก็ดี เพื่อประโยชน์อย่างอื่นก็ดี จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับซึ่งอธิบดีได้ตั้งและประกาศไว้โดยเปิดเผย



หมวด ๒


การรับตัวผู้ต้องขัง





มาตรา ๘

เจ้าพนักงานเรือนจำจะไม่รับบุคคลใด ๆ ไว้เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ เว้นแต่จะได้รับหมายอาญาหรือเอกสารอันเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ


มาตรา ๙

ถ้าผู้ต้องขังมีเด็กอายุต่ำกว่าสิบหกปีอยู่ในความดูแลของตนติดมายังเรือนจำ และปรากฏว่า ไม่มีผู้ใดจะเลี้ยงดูเด็กนั้น จะอนุญาตให้เด็กนั้นอยู่ในเรือนจำภายใต้บังคับเงื่อนไขดังระบุไว้ในข้อบังคับที่อธิบดีตั้งขึ้น หรือจะส่งไปยังสถานที่อื่นใดอันได้จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อการนี้ก็ได้

บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่เด็กที่เกิดในเรือนจำด้วย


มาตรา ๑๐

ให้แพทย์ตรวจอนามัยของผู้ที่ถูกรับตัวเข้าไว้ใหม่

อนึ่ง ให้เจ้าพนักงานเรือนจำตรวจและบันทึกข้อความเกี่ยวแก่ลักษณะแห่งความผิดที่ผู้นั้นได้กระทำ ตำหนิ รูปพรรณ ความแข็งแรงแห่งร่างกาย และความสามารถทางสติปัญญา กับข้อความอื่น ๆ ตามข้อบังคับที่อธิบดีได้ตั้งขึ้นไว้

เมื่อเจ้าพนักงานเรือนจำร้องขอ ให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองผู้มีอำนาจทำการสอบสวนหรือสืบสวนการกระทำผิดอาญาส่งรายงานแสดงประวัติของผู้ต้องขังให้แก่เจ้าพนักงานเรือนจำ



หมวด ๓


การแยกและย้ายผู้ต้องขัง





มาตรา ๑๑

รัฐมนตรีมีอำนาจแยกประเภทหรือชั้นของผู้ต้องขัง และวางเงื่อนไขในการย้ายจากประเภทหรือชั้นหนึ่งไปยังอีกประเภทหรือชั้นหนึ่งโดยวิธีเลื่อนขึ้นหรือลดลง ตลอดจนการปฏิบัติต่าง ๆ สำหรับผู้ต้องขัง

คนต้องขังและคนฝาก ให้แยกขังไว้ต่างหากจากนักโทษเด็ดขาด เท่าที่จะกระทำได้


มาตรา ๑๒

การย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำหนึ่งไปยังอีกเรือนจำหนึ่งนั้น ให้เป็นไปตามคำสั่งของอธิบดี



หมวด ๔


อำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำ





มาตรา ๑๓

รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำในส่วนที่เกี่ยวแก่การงานและความรับผิดชอบ ตลอดจนเงื่อนไขที่จะปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่นั้น


มาตรา ๑๔

ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่

(๑) เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น

(๒) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตไม่สมประกอบอันอาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น

(๓) เป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม

(๔) เมื่อถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ

(๕) เมื่อรัฐมนตรีสั่งว่า เป็นการจำเป็นจะต้องใช้เครื่องพันธนาการ เนื่องแต่สภาพของเรือนจำหรือสภาพการณ์ของท้องถิ่น

ภายใต้บังคับอนุมาตรา (๔) และ (๕) แห่งมาตรานี้ ให้พัศดีเป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสั่งให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง และที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้น


มาตรา ๑๕

รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดชนิดอาวุธที่เจ้าพนักงานเรือนจำจะพึงใช้ และวางเงื่อนไขในการถือหรือมีอาวุธนั้น ๆ


มาตรา ๑๖

เจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้อาวุธ นอกจากอาวุธปืน แก่ผู้ต้องขังได้ในกรณีต่อไปนี้

(๑) เมื่อปรากฏว่า ผู้ต้องขังกำลังหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี และไม่มีทางจะป้องกันอย่างอื่นนอกจากใช้อาวุธ

(๒) เมื่อผู้ต้องขังหลายคนก่อการวุ่นวาย หรือพยายามใช้กำลังเปิดหรือทำลายประตู รั้ว หรือกำแพงเรือนจำ

(๓) เมื่อปรากฏว่า ผู้ต้องขังจะใช้กำลังกายทำร้ายเจ้าพนักงานหรือผู้อื่น


มาตรา ๑๗

เจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้อาวุธปืนแก่ผู้ต้องขังได้ในกรณีต่อไปนี้

(๑) ผู้ต้องขังไม่ยอมวางอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้วาง

(๒) ผู้ต้องขังที่กำลังหลบหนีไม่ยอมหยุด ในเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดและไม่มีทางอื่นที่จะจับกุมได้

(๓) ผู้ต้องขังตั้งแต่สามคนขึ้นไปก่อการวุ่นวาย หรือพยายามใช้กำลังเปิดหรือทำลายประตู รั้ว หรือกำแพงเรือนจำ หรือใช้กำลังกายทำร้ายเจ้าพนักงานหรือผู้อื่น และไม่ยอมหยุดในเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุด

ถ้ามีเจ้าพนักงานเรือนจำผู้มีอำนาจเหนือตนอยู่ในที่นั้นด้วย จะใช้อาวุธปืนได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานผู้นั้นแล้วเท่านั้น


มาตรา ๑๘

ในกรณีเหตุฉุกเฉินอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องขัง ถ้าเจ้าพนักงานเรือนจำไม่สามารถจะย้ายผู้ต้องขังไปควบคุมไว้ ณ ที่อื่นได้ทันท่วงที จะปล่อยผู้ต้องขังไปชั่วคราวก็ได้ แต่ผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยไปนั้นต้องกลับมาเรือนจำ หรือรายงานตนยังสถานีตำรวจหรือที่ว่าการอำเภอ ภายในกำหนดยี่สิบสี่ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่ปล่อยไป และปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น ๆ ถ้าผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยไปละเลยไม่ปฏิบัติดังกล่าวนี้ ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีการควบคุม เว้นแต่จะมีข้อแก้ตัวอันควร


มาตรา ๑๙

ในการจับกุมผู้หลบหนีภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่หนีไป เจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕ ถึง ๑๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม เมื่อสิ้นกำหนดเวลานี้แล้วจะใช้อำนาจเช่นว่านั้นต่อไปมิได้ แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดอำนาจของเจ้าพนักงานเรือนจำในอันที่จะจัดการจับกุมผู้หลบหนีโดยประการอื่น


มาตรา ๒๐

ถ้าผู้ต้องขังได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงตายในขณะช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำทำการตามหน้าที่ดังกล่าวไว้ในหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๒๑

เจ้าพนักงานเรือนจำผู้ใช้อำนาจที่ได้ให้ไว้ในหมวดนี้โดยสุจริตและตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรืออาญาในผลแห่งการกระทำของตน



พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๒๒ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๒๒ ทวิ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๒๓-๒๖


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๒๗-๒๘


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๒๙-๓๐


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๓๑ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๓๒ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๓๓-๓๔ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๓๕ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๓๖-๓๗


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๓๘-๔๐


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๔๑-๔๒ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๔๓


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๔๔


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๔๕-๔๖


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๔๗-๕๗


พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๕๘





พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/หมายเหตุ



เชิงอรรถ

[แก้ไข]
  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓/หน้า ๗๗๕/๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๙
  2. มาตรา ๔ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๒




ขึ้น ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"