พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙/๑๓-๒๑
รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานเรือนจำในส่วนที่เกี่ยวแก่การงานและความรับผิดชอบ ตลอดจนเงื่อนไขที่จะปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่นั้น
ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่
(๑) เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น
(๒) เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตไม่สมประกอบอันอาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น
(๓) เป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม
(๔) เมื่อถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ
(๕) เมื่อรัฐมนตรีสั่งว่า เป็นการจำเป็นจะต้องใช้เครื่องพันธนาการ เนื่องแต่สภาพของเรือนจำหรือสภาพการณ์ของท้องถิ่น
ภายใต้บังคับอนุมาตรา (๔) และ (๕) แห่งมาตรานี้ ให้พัศดีเป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสั่งให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง และที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้น
รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดชนิดอาวุธที่เจ้าพนักงานเรือนจำจะพึงใช้ และวางเงื่อนไขในการถือหรือมีอาวุธนั้น ๆ
เจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้อาวุธ นอกจากอาวุธปืน แก่ผู้ต้องขังได้ในกรณีต่อไปนี้
(๑) เมื่อปรากฏว่า ผู้ต้องขังกำลังหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี และไม่มีทางจะป้องกันอย่างอื่นนอกจากใช้อาวุธ
(๒) เมื่อผู้ต้องขังหลายคนก่อการวุ่นวาย หรือพยายามใช้กำลังเปิดหรือทำลายประตู รั้ว หรือกำแพงเรือนจำ
(๓) เมื่อปรากฏว่า ผู้ต้องขังจะใช้กำลังกายทำร้ายเจ้าพนักงานหรือผู้อื่น
เจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้อาวุธปืนแก่ผู้ต้องขังได้ในกรณีต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องขังไม่ยอมวางอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้วาง
(๒) ผู้ต้องขังที่กำลังหลบหนีไม่ยอมหยุด ในเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดและไม่มีทางอื่นที่จะจับกุมได้
(๓) ผู้ต้องขังตั้งแต่สามคนขึ้นไปก่อการวุ่นวาย หรือพยายามใช้กำลังเปิดหรือทำลายประตู รั้ว หรือกำแพงเรือนจำ หรือใช้กำลังกายทำร้ายเจ้าพนักงานหรือผู้อื่น และไม่ยอมหยุดในเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุด
ถ้ามีเจ้าพนักงานเรือนจำผู้มีอำนาจเหนือตนอยู่ในที่นั้นด้วย จะใช้อาวุธปืนได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานผู้นั้นแล้วเท่านั้น
ในกรณีเหตุฉุกเฉินอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องขัง ถ้าเจ้าพนักงานเรือนจำไม่สามารถจะย้ายผู้ต้องขังไปควบคุมไว้ ณ ที่อื่นได้ทันท่วงที จะปล่อยผู้ต้องขังไปชั่วคราวก็ได้ แต่ผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยไปนั้นต้องกลับมาเรือนจำ หรือรายงานตนยังสถานีตำรวจหรือที่ว่าการอำเภอ ภายในกำหนดยี่สิบสี่ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่ปล่อยไป และปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น ๆ ถ้าผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยไปละเลยไม่ปฏิบัติดังกล่าวนี้ ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีการควบคุม เว้นแต่จะมีข้อแก้ตัวอันควร
ในการจับกุมผู้หลบหนีภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่หนีไป เจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้อำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕ ถึง ๑๗ แห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม เมื่อสิ้นกำหนดเวลานี้แล้วจะใช้อำนาจเช่นว่านั้นต่อไปมิได้ แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดอำนาจของเจ้าพนักงานเรือนจำในอันที่จะจัดการจับกุมผู้หลบหนีโดยประการอื่น
ถ้าผู้ต้องขังได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงตายในขณะช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำทำการตามหน้าที่ดังกล่าวไว้ในหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เจ้าพนักงานเรือนจำผู้ใช้อำนาจที่ได้ให้ไว้ในหมวดนี้โดยสุจริตและตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรืออาญาในผลแห่งการกระทำของตน