พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก 124
มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเหลือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า การปกครองอาณาจักร์ทั่วทุกประเทศจักต้องมีกำลังพลทหารไว้สำหรับป้องกันข้าศึกศัตรูก็จะพึงมีมาทั้งภายในและภายนอก เพราะฉนั้นทั่วทุกประเทศย่อมต้องจัดการทำนุบำรุงกำลังทหารของประเทศนั้น ๆ โดยวิธีการอันสมควรแก่ภูมิประเทศทั่วกันตั้งแต่โบราณสมัยสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ก็และวิธีการเกณฑ์กำลังทหารในพระราชอาณาจักร์สยามนี้ตามราชประเพณีมีกฎหมายสืบมาแต่โบราณว่า
บรรดาพลเมืองที่เปนชายเมื่ออายุถึงฉกรรจ์แล้วทุก ๆ คน จะต้องมาลงทะเบียนหมายหมู่เข้าสังกัดหมวดกองกรมรับราชการตามหน้าที่ มีข้าราชการเปนเจ้าหมู่นายกองควบคุม เมื่อมีการทัพศึกกรมใดต้องเกณฑ์เจ้าหมู่นายกองก็จะควบคุมไพร่พลในกรมนั้น ๆ ไปราชการทัพศึก ในเวลาปรกติไพร่พลต้องมีเวรผลัดกันเข้ามาอยู่ประจำทำราชการคนหนึ่งปีละ ๓ เดือน นอกจากเวลาเรียกระดมเข้ามารับราชการจรเปนครั้งเปนคราวจนแก่ชราอายุกว่า ๖๐ ปีไพร่พลจึงจะได้ปลดพ้นจากหน้าที่ราชการ ประเพณีมีมาแต่เดิมดังนี้ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้เริ่มฝึกหัดจัดระเบียบการทาหรตามแบบวิธียุทธ์อย่างใหม่ ได้โปรดให้ยกทะเบียนไพร่พลบางกรมมาฝึกหัดจัดเปนทหารอย่างใหม่ แต่ก็คงเกณฑ์คนเหล่านี้ด้วยวิธีเดิม เปนแต่เปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย ส่วนไพร่พลในกรมและกองอื่น ๆ ซึ่งไม่ต้องฝึกหัดเปนทหารอย่างใหม่ ก็คงลงทะเบียนและรับราชการตามแบบเก่าสืบมา
เพราะเหตุที่ไพร่พลอันมีสังกัดในบางกรมต้องฝึกหัดแต่ในบางกรมไม่ต้องฝึกหัด และเพราะเหตุที่รัฐบาลเมื่อไม่ต้องการตัวคนมารับราชการ ได้ยอมให้ไพร่พลเสียเงินแทนแรงรับราชการได้จึงพาให้แลเห็นเหมือนหนึ่งว่าไพร่พลพวกหนึ่งต้องรับราชการทหาร แต่อีกพวกหนึ่งเปนเลขไม่ต้องรับราชการทหาร อันที่จริงไพร่พลทั้งปวงย่อมอยู่ในกฎหมายและวิธีเกณฑ์ทหารซึ่งมีสืบมาแต่โบราณอย่างเดียวกัน มิได้งดเว้นเลิกถอนวิธีอันนี้เลย
ทรงพระราชดำริห์ว่า ในปัตยุบันนี้ถ้ามีราชการที่จะต้องใช้กำลังทหาร ยกเปนตัวอย่างดังเช่นที่ต้องส่งกำลังไปปราบปรามพวกผีบุญที่ก่อการจลาจลในมณฑลอิสาณเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ และปราบปรามพวกผู้ร้ายที่ก่อการจลาจลในมณฑลพายัพเมื่อ ร.ศ. ๑๒๑ เปนต้น ที่จะกะเกณฑ์เลขที่ไม่ได้ฝึกหัดเข้ากองทัพให้เจ้าหมู่นายหมวดควบคุมไปทำการรบพุ่งอย่างแต่ก่อน ย่อมเปนการไม่สมควรแก่เวลาเสียแล้ว ต้องอาไศรยใช้ได้แต่กำลังทหารที่ได้ฝึกหัดจัดแบบแผนตามวิธียุทธ์ในเวลาปัตยุบันนี้ เพราะฉนั้นในบัดนี้นับว่าไพร่พลที่มิได้ฝึกหัดไม่มีประโยชน์และไม่เปนกำลังแก่ราชการทหารตรงตามความมุ่งหมายของประเพณีแต่เดิมเสียแล้ว ใช่แต่เท่านั้นราชการทหารไปตกหนักอยู่แก่พวกไพร่พลบางกรมที่ถูกกะเกณฑ์เข้าฝึกหัดเช่นนี้ชื่อว่าไม่เปนยุติธรรม จึงเปนการสมควรและจำเปนที่จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติจัดวิธีการเกณฑ์ทหารให้เปนแบบแผนอันสมควรแก่ปัตยุบันสมัย และให้เปนยุติธรรมโดยให้ไพร่พลทั้งหลายมีหน้าที่รับราชการเสมอหน้ากันและผ่อนผันให้เบาแรงโดยมีกำหนดเวลาที่จะต้องรับราชการน้อยลงกว่าแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้สืบไปดังนี้ว่า
ว่าด้วยนามและการใช้พระราชบัญญัติ
มาตรา๑พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร "รัตนโกสินทรศก ๑๒๔"
มาตรา๒พระราชบัญญัตินี้จะโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ในหัวเมืองมณฑลใดเมื่อใด จะได้โปรดเกล้าฯ ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเปนสำคัญ
มาตรา๓พระราชกำหนดกฎหมายซึ่งได้มีมาแล้ว บทใดมีข้อความขัดขวางต่อพระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพระราชกำหนดกฎหมายบบทนั้นเสีย เว้นแต่พระราชกำหนดกฎหมายเดิมที่สำหรับใช้ในเวลามีศึกสงครามนั้น ให้พึงเข้าใจว่าพระราชบัญญัตินี้มิได้ลบล้างด้วยประการใด
ว่าด้วยอายุคนรับราชการทหาร
มาตรา๔บรรดาชายฉกรรจ์นอกจากจำพวกต่าง ๆ ที่ได้ยกเว้นตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อมีอายุตั้งแต่ครบ ๑๗ ปีเต็มบริบูรณ์นั้นแล้ว มีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการทหารตามกำหนดเวลาที่⟨ว่า⟩ไว้ในพระราชบัญญัตินี้ทุกคน
มาตรา๕ชายฉกรรจ์ที่มีพายุพ้น ๔๐ ปีไปแล้ว ไม่ต้องมีหน้าที่รับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้
ว่าด้วยกำหนดเวลารับราชการทหาร
มาตรา๖ราชการทหารนั้น จำแนกเปน ๔ ประเภท คือ
๑ กองประจำการ
๒ กองเกินอัตรา
๓ กองหนุนชั้นที่ ๑
๑ กองหนุนชั้นที่ ๒
มาตรา๗ชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่ครบกำหนด ๑๗ ปี ให้มีหน้าที่รับราชการในกองประจำการมีกำหนด ๒ ปี แล้วปลดไปอยู่ในกองหนุนชั้นที่ ๑ กำหนด ๕ ปี แล้วปลดไปอยู่ในกองหนุนชั้นที่ ๒ กำหนด ๑๐ ปี เปนหมดหน้าที่รับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๘ทหารกองประจำการนั้น ต้องมีหน้าที่อยู่ประจำราชการทหารได้รับพระราชทานเงินเดือนเบี้ยเลี้ยง และเครื่องนุ่งห่มใช้สรอยสำหรับตัวตามสมควร ตลอดเวลาที่อยู่ในกองประจำการนั้น
ทหารกองหนุนชั้นที่ ๑ อนุญาตให้ไปอยู่ตามภูมิลำเนาของตน ไม่ต้องอยู่ประจำกองทหาร ต่อมีราชการหรือมีการระดม จึงต้องเข้ามารับราชการเปนครั้งคราว แต่เวลาปรกติมีหน้าที่เข้าฝึกซ้อมวิธียุทธ์ปี ๑ ไม่เกิน ๒ เดือน
ทหารกองหนุนชั้นที่ ๒ อนุญาตให้ไปอยู่ตามภูมิลำเนาของตน ไม่ต้องอยู่ประจำกองทหาร เวลามีราชการหรือมีการระดม ต่อกองหนุนชั้นที่ ๑ ไม่พอราชการ จึงจะเรียกกองหนุนชั้นที่ ๒ เข้ามารับราชการ แต่เวลาปรกติมีหน้าที่ฝึกซ้อมวิธียุทธ์ปี ๑ ไม่เกิน ๑๕ วัน
มาตรา๙บรรดาผู้ซึ่งได้รับราชการทหารในกองประจำการแล้ว และในระหว่างที่รับราชการอยู่ตามลำดับและตามความในมาตรา ๖ มาตรา ๗ นั้น ไม่ให้ต้องเสียเงินค่าราชการอย่างใด และผู้ที่ได้รับราชการทหารเต็มตามพระราชบัญญัตินี้ กล่าวคือได้รับราชการในกองประจำการ ๒ ปี ได้รับราชการในกองหนุนชั้นที่ ๑ ครบ ๕ ปี และได้รับราชการในกองหนุนชั้นที่ ๒ ครบ ๑๐ ปีแล้ว แต่นั้นไปทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นั้นพ้นจากที่ต้องเสียเงินค่าราชการอย่างใด ๆ จนตลอดชีวิตร
มาตรา๑๐คนกองเกินอัตราตามประเภทที่ ๒ นั้น คือคนที่อายุครบสมควรจะเข้ารับราชการในกองประจำการ แต่จำนวนคนในกองประจำการครบเสียแล้ว คนเหลือนั้นให้สังกัดไว้ในกองเกินอัตรามีกำหนด ๗ ปี แล้วปลดไปเปนกองหนุนชั้นที่ ๒
มาตรา๑๑ผู้ซึ่งอยู่ในกองเกินอัตรา หรือคนกองเกินอัตรา ซึ่งปลดไปเปนกองหนุนชั้นที่ ๒ ถ้าปีใดต้องระดมการฝึกซ้อมวิธียุทธ์ หรือระดมในราชการทหารอย่างใด จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้แก่ผู้ที่ต้องระดมนั้นสำหรับเสียแทนค่าราชการในปีนั้น
มาตรา๑๒ทหารกองเกินอัตรานี้ อนุญาตให้ไปอยู่ตามภูมิลำเนาไม่ต้องอยู่ประจำรับราชการ เมื่อมีราชการหรือการระดม จึงต้องเข้ามารับราชการเปนครั้งคราว เวลาปรกติมีหน้าที่เข้าฝึกซ้อมวิธียุทธ์ปี ๑ ไม่เกิน ๒ เดือน และต้องเข้ามารับราชการแทนทหารกองประจำการเมื่อขาดจำนวนลงนั้นด้วย ถ้าต้องเข้ารับราชการกองประจำการเมื่อใดแล้ว ให้เปนอย่างเดียวกันกับทหารกองประจำการทุกประการ
ว่าด้วยการยกเว้นราชการทหาร
มาตรา๑๓บุคคลบางจำพวกซึ่งแจ้งอยู่ในข้อต่อไปนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเว้นชั่วคราวไม่ต้องมีหน้าที่รับราชการทหาร ตามพระราชบัญญัตินี้ในระหว่างที่ยกเว้นนั้น คือ
๑ พระภิกษุ สามเณรรู้ความ และนักบวช ยกเว้นตลอดเวลาบวช
๒ นักเรียนวิชาที่รัฐบาลได้กำหนดว่าเปนวิชาชั้นอุดมศึกษา ยกเว้นตลอดเวลาเรียนภายในอายุ ๓๐ ปี
๓ ข้าราชการพลเรือนที่มีตำแหน่งรับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน ยกเว้นตลอดเวลามีตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน
๔ เจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่ตามพระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ ยกเว้นตลอดเวลาที่มีตำแหน่งรับราชการอยู่นั้น
๕ บุตร์ที่ต้องปฏิบัติบิดาหรือมารดาผู้ทุพพลภาพ ยกเว้นตลอดเวลาที่ปฏิบัติบิดาหรือมารดา แต่ถ้ามีบุตร์หลายคนด้วยกันให้บิดาหรือมารดาผู้ทุพพลภาพนั้นเลือกไว้ปฏิบัติได้ ๑ คน ถ้าทุพพลภาพทั้ง ๒ คนให้เลือกไว้ได้คนละคน
๖ บิดาหรือมารดา ซึ่งมีบุตร์ต้องเข้ารับราชการทหารประจำอยู่ในคราวใด ๆ ซึ่งต้องประจำการอยู่ถึง ๓ คนแล้ว เมื่อมีบุตร์ที่จะต้องเข้ารับราชการอีกในระหว่างนั้น ให้ยกเว้นให้อยู่ปฏิบัติบิดามารดาคน ๑ แล้วแต่บิดามารดาจะเลือกให้ยกเว้นบุตร์คนใด
๗ บิดาที่ต้องเลี้ยงบุตร์อันเปนกำพร้า หรือพี่ชายที่ต้องเลี้ยงน้องอันเปนกำพร้าบิดามารดา ซึ่งเด็กกำพร้านั้นยังไม่สามารถจะเลี้ยงตัวเองได้ ยกเว้นตลอดเวลากว่าจะไม่จำเปนต้องเลี้ยงบุตร์หรือน้อง คือถ้าบุตร์และน้องกำพร้านั้นเปนชายยกเว้นให้จนอายุ ๑๗ ปี ถ้าเปนหญิงยกเว้นจนมีสามี ถ้ายังไม่มีสามียกเว้นให้จนอายุ ๒๑ ปี แต่ถ้าบิดาหรือพี่ซึ่งจะต้องยกเว้นนี้ไม่ได้มีกิจจำเปนที่จะต้องเลี้ยงบุตร์หรือน้องด้วยประการใด โดยที่ได้มีผู้อื่นปกครองอยู่ต่างหากแล้ว ก็ไม่ต้องยกเว้นให้
๘ คนประกอบการทำไร่นาค้าขายมาก ได้เสียภาษีอากรตามจำนวนเงินซึ่งจะได้กำหนดอัตราโดยได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ให้ทราบว่าในเมืองมณฑลใดเปนอัตราเท่าใดนั้น ยกเว้นตลอดเวลาที่ได้เสียภาษีอากรอยู่ไม่ต่ำกว่ากำหนดอัตราที่ได้ประกาศไว้
๙ การค้าขายที่ลงทุนทำด้วยกันหลายคน ให้นับว่าเปนบริษัท ถ้าบริษัทนั้นได้เสียภาษีอากรตามจำนวนเงินซึ่งจะได้กำหนดอัตราโดยได้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ว่าในเมืองมณฑลใดเปนอัตราเท่าใดนั้นแล้ว ให้ยกเว้นผู้อำนวนยการของบริษัทคนหนึ่ง และผู้จัดการของบริษัทนั้นในแห่งซึ่งได้เสียภาษีตามอัตรา ตลอดเวลาที่เปนผู้อำนวยการและผู้จัดการของบริษัทที่ได้เสียภาษีอากรอยู่ไม่ต่ำกว่ากำหนดอัตราที่ได้ประกาศไว้
๑๐ คนป่วยเจ็บยังทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้นั้น ยกเว้นตลอดเวลาที่ยังทุพพลภาพ
๑๑ คนที่ต้องราชทัณฑ์อยู่ในที่คุมขัง ยกเว้นตลอดเวลาที่ต้องคุมขัง
๑๒ ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกเว้นชั่วคราวเปนพิเศษ ยกเว้นตลอดเวลาตามพระราชประสงค์
มาตรา๑๔บุคคลบางจำพวกซึ่งอยู่ในข้อที่กล่าวต่อไปนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเว้นขาดไม่ต้องมีหน้าที่รับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้ คือ
๑ จีน คือจีนใหม่ที่มาจากเมืองจีนและบุตร์ของจีนผู้นั้น
๒ คนป่า คนดอย คือจำพวกคนที่อยู่ป่าและอยู่บนเขาบนดอย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกระลาโหมเห็นว่าควรยกเว้นโดยไม่สามารถจพให้เข้ารับราชการทหารได้
๓ คนพิการอันไม่สามารถจะรับราชการทหารได้
๔ คนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเว้นโดยเฉภาะ
มาตรา๑๕คนบางจำพวกดังที่ได้กล่าวต่อไปนี้ เมื่อจะให้เข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้ได้รับราชการทหารได้ตำแหน่งอันสมควรแก่คุณวุฒิดังต่อไปนี้คือ
๑ พระราชวงษ์ ที่ทรงศักดิ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป เมื่อจะให้เข้ารับราชการทหาร ให้รับราชการในตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตร์ หรือนักเรียนทหาร ตามคุณวุฒิและการที่สมควร
๒ ข้าราชการพลเรือนที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร์ ถ้าจะให้เข้ารับราชการทหาร ให้รับราชการในตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตร์ตามคุณวุฒิ
๓ นักเรียนซึ่งสอบวิชาชั้นอุดมศึกษาได้โดยบริบูรณ์แล้ว เมื่อถึงเวลาต้องรับราชการทหาร ให้สมทบเข้าเปนกองฝึกหัดวิชาทหาร รับราชการอยู่ ๑ ปี แล้วให้เปนพ้นจากหน้าที่ประจำการ ถ้าจะให้รับราชการทหารต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ให้มีหน้าที่เทียบชั้นนายทหารสัญญาบัตร์
๔ ผู้เปนนักเรียนทหาร จะได้รับราชการในชั้นบรรดาศักดิ์และตำแหน่ง ตามที่ตั้งไว้ในแบบแผนกรมทหาร
๕ ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรจะให้รับราชการในชั้นใด แล้วแต่พระบรมราชานุญาต
ว่าด้วยการทำทะเบียนคน
มาตรา๑๖ให้เปนหน้าที่กระทรวงซึ่งปกครองท้องที่จัดการทำทะเบียนสัมโนครัวพลเมือง และตรวจสอบแก้ไขบาญชีสัมโนครัวนั้นต่อ ๆ ไป ให้ถูกต้องตามจำนวนพลเมืองที่มีอยู่
มาตรา๑๗ให้เปนหน้าที่กระทรวงกระลาโหมจัดการเลือกคัดชายฉกรรจ์ส่งกรมทหาร และจัดการหักโอนจดบาญชีคนรับราชการทหาร
มาตรา๑๘ให้เปนหน้าที่กระทรวงกระลาโหมที่จะทำทะเบียนบาญชีชายฉกรรจ์ซึ่งต้องรับราชการทหาร ทั้งบาญชีชายฉกรรจ์ที่อยู่ในสังกัดทหารทุกประเภทตามกำหนดในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๑๙ให้กระทรวงกระลาโหมมีอำนาจตั้งข้าหลวงประจำมณฑลและเมืองในหน้าที่กระทรวงกระลาโหมนั้นได้
ว่าด้วยการเกณฑ์คนเข้ารับราชการทหาร
มาตรา๒๐การที่จะเรียกคนเข้ารับราชการทหารนั้น ให้จัดดังว่าต่อไปนี้ คือ
ข้อ๑เมื่อถึงเวลากำหนดจะต้องเรียกคนเข้ารับราชการทหาร ให้ข้าหลวงกระลาโหมส่งบาญชีรายชื่อชายฉกรรจ์ซึ่งจะต้องการตัวนั้นไปยังฝ่ายเทศาภิบาล ให้ฝ่ายเทศาภิบาลจัดการเรียกคนเข้ามา
ข้อ๒เมื่อเรียกคนเข้ามาแล้ว ให้ข้าหลวงกระลาโหมพร้อมด้วยฝ่ายเทศาภิบาลและนายทหารตรวจเลือกสรรส่งกรมทหาร หรือสังกัดไว้ในกองเกินอัตราหรือกองอื่นหรือหักโอนปลดจากราชการไปตามควรแก่พระราชบัญญัตินี้
ข้อ๓คนที่ต้องเรียกเข้าสังกัดกรมกองใดนั้นจะควรสักหมายข้อมือคนจำพวกใดประการใด หรือไม่ควรสักหมายคนจำพวกใด ให้เสนาบดีกระทรวงกระลาโหมวางกฎเปนข้อบังคับไว้
ข้อ๔ถ้ากรมทหารจะต้องการคนเกินอัตราเข้ารับราชการเปนจำนวนเท่าใดเมื่อใด ให้ฝ่ายทหารแจ้งต่อข้าหลวงกระลาโหม ให้เรียกคนส่งตามวิธีว่าไว้ในข้อ ๑ นั้น
ข้อ๕ในการเรียกระดมทหารด้วยประการใด ๆ ให้ฝ่ายทหารแจ้งต่อฝ่ายกระลาโหม ให้ฝ่ายเทศาภิบาลประกาศเรียกทหารเข้ามารับราชการ
ว่าด้วยปลดคนจากราชการทหาร
มาตรา๒๑ในการที่จะปลดคนจากราชการทหารโดยย้ายประเภท เช่นปลดคนเปนกองหนุนต่าง ๆ ก็ดี หรือยกเว้นไม่ให้ต้องรับราชการทหารก็ดี ให้เปนหน้าที่ฝ่ายกระลาโหมและเทศาภิบาลพร้อมกันออกใบอนุญาต
ว่าด้วยโทษในการขัดขืนไม่เข้าเปนทหารตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา๒๒ผู้ใดหลีกเลี่ยงขัดขืนโดยประการใด ๆ ที่จะไม่เข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับเปนเงินไม่เกิน ๑,๒๐๐ บาท หรือทั้ง ๒ สภาน ถ้าผู้ใดสมรู้เปนใจให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงขัดขืนตามที่กล่าวมาแล้ว ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๘ เดือน หรือปรับเปนเงินไม่เกิน ๖๐๐ บาท หรือทั้ง ๒ สถาน
มาตรา๒๓ผู้ใดทำร้ายร่างกายตนเองโดยให้ผู้อื่นทำให้หรือทำเองก็ดีที่จะให้พ้นจากราชการทหารตามพระราชบัญญํตินี้ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๘ ปี ส่วนผู้สมรู้เปนใจในการที่ผู้ใดกระทำร้ายตนเองตามที่กล่าวมาแล้วนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๔ ปี
ว่าด้วยการปกครอง
มาตรา๒๔การปกครองทหารในท้องที่ซึ่งใช้พระราชบัญญัตินี้ให้เปน ๒ แพนก คือ ทหารที่อยู่ในกองประจำการหรือที่รับราชการอยู่ที่กรมและกองทหารโดยประการใด ๆ เช่นเวลาระดมหรือเวลาเข้ามาฝึกซ้อมวิธียุทธ์เปนต้น ให้อยู่ในบังคับบัญชาผู้บังคับบัญชาการทหารในท้องที่นั้น ส่วนทหารนอกจากที่กล่าวนี้ ให้อยู่ในความปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลเหมือนพลเมืองทั้งปวง
ว่าด้วยการรักษาพระราชบัญญัติ
มาตรา๒๕ให้เสนาบดีกระทรวงกระลาโหมและเสนาบดีกระทรวงซึ่งได้ปกครองท้องที่เปนหน้าที่รักษาพระราชบัญญัตินี้ จำแนกตามข้อความอันอยู่ในหน้าที่ของกระทรวงนั้น ๆ และมีอำนาจออกกฎเสนาบดีวางระเบียบการให้การดำเนินไปตามพระราชบัญญัติ
เมื่อกฎเสนาบดีได้รับพระบรมราชานุญาตประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ถือว่าเปนส่วนหนึ่งในพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัตินี้ตราไว้ตั้งแต่ณวันที่ ๒๙ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ เปนวันที่ ๑๓๔๘๐ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
บรรณานุกรม
[แก้ไข]- "พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทรศก 124". (2448, 3 กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 22. หน้า 513–518.
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"