พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ฯ พ.ศ. ๒๕๔๙

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ฉบับที่ ๓๖
เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์[1]




เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ เป็นไปโดยรัดกุมและเรียบร้อยยิ่งขึ้น จึงให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๙

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข




ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี
พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์
ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖[2][3]




เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ เป็นไปโดยรัดกุมและเรียบร้อยยิ่งขึ้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖”

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๒๑

ข้อ ๔ ในระเบียบนี้

“ความปลอดภัย” หมายความว่า ความปลอดภัยส่วนพระองค์ ความปลอดภัยของพระราชฐาน ที่ประทับ พระราชพาหนะ และความปลอดภัยของเอกสาร รวมทั้งการติดต่อสื่อสารซึ่งถ้าหากเปิดเผยอาจกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยส่วนพระองค์ด้วย

“พื้นที่” หมายความว่า บริเวณที่กำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยหนึ่งหน่วยใดที่มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยตามระเบียบนี้

ข้อ ๕ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทั้งปวง เพื่อรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ

ในกรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐแห่งใดมีเหตุพิเศษซึ่งจะต้องมีระเบียบเฉพาะเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือผู้กำกับหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวางระเบียบสำหรับส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐนั้น เป็นกรณีไป

ข้อ ๖ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้


หมวด ๑
การถวายความปลอดภัยสำหรับสำหรับองค์พระมหากษัตริย์
พระราชินี และพระรัชทายาท

ส่วนที่ ๑
บททั่วไป


ข้อ ๗ การถวายความปลอดภัย ต้องมีการประสานงานโดยใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีเอกภาพในการบังคับบัญชา

ข้อ ๘ การถวายความปลอดภัย ต้องมีความพร้อมทั้งการป้องกันและการตอบโต้และการวางแผนที่รัดกุมและละเอียดรอบคอบ รวมทั้งการถวายพระเกียรติด้วย

ข้อ ๙ การเข้าออกเขตพระราชฐานหรือที่ประทับทุกชั้น ต้องมีการควบคุมดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยโดยสมบูรณ์


ส่วนที่ ๒
การวางแผนถวายความปลอดภัย


ข้อ ๑๐ ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยต้องวางแผนถวายความปลอดภัยโดยละเอียดและชัดเจน ระบุตัวและจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตลอดจนมาตรการถวายความปลอดภัย แล้วเสนอแผนหรือคำสั่งถวายความปลอดภัยเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสมุหราชองครักษ์ เพื่อพิจารณาสั่งการก่อนวันเสด็จพระราชดำเนิน

ข้อ ๑๑ ให้ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด จัดเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็น ขึ้นควบคุมทางยุทธการกับกรมราชองครักษ์เพื่อทำหน้าที่วางแผนและถวายความปลอดภัย โดยให้อยู่ในการควบคุมทางปฏิบัติของสมุหราชองครักษ์

ข้อ ๑๒ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

(๑) สมุหราชองครักษ์ เป็นประธานกรรมการ
(๒) ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
(๓) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นกรรมการ
(๔) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
(๕) หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ เป็นกรรมการ
(๖) เจ้ากรมข่าวทหารกองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นกรรมการ
(๗) ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยกองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นกรรมการ
(๘) ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เป็นกรรมการ
(๙) เจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นกรรมการ
(๑๐) เจ้ากรมข่าวทหารเรือ เป็นกรรมการ
(๑๑) เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ เป็นกรรมการ
(๑๒) เสนาธิการ กรมราชองครักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการประชุมปรึกษาประมาณสถานการณ์เพื่อประโยชน์ในการวางแผนถวายความปลอดภัย ทั้งนี้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม


ส่วนที่ ๓
การถวายความปลอดภัย ณ พระราชฐานและที่ประทับ


ข้อ ๑๓ ขณะประทับ ณ พระราชฐานหรืออาคารที่จัดถวายเป็นที่ประทับชั่วคราว การวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัย ณ พระราชฐานหรือที่ประทับนั้นให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย

(๑) สมุหราชองครักษ์ เป็นประธานกรรมการ
(๒) เลขาธิการพระราชวัง เป็นกรรมการ
(๓) ผู้บัญชาการทหารบก เป็นกรรมการ
(๔) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ

ในกรณีที่ประทับในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บังคับหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่บริเวณที่ประทับเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งนาย

ข้อ ๑๔ ให้สมุหราชองครักษ์มีอำนาจสั่งการแก่กำลังทหารและตำรวจที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในเขตพระราชฐานและที่ประทับ

ข้อ ๑๕ เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้บังคับบัญชาสั่งการถวายความปลอดภัยโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นหน้าที่ของกองวัง

ข้อ ๑๖ เมื่อได้รับคำขอจากสมุหราชองครักษ์ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี จัดกำลังทหารหรือตำรวจถวายความปลอดภัยในเขตพระราชฐานและที่ประทับ

ข้อ ๑๗ หลักเกณฑ์และวิธีการในการถวายความปลอดภัย ณ พระราชฐานและที่ประทับ ให้เป็นไปตามที่สมุหราชองครักษ์และเลขาธิการพระราชวังร่วมกันกำหนด


ส่วนที่ ๔
การถวายความปลอดภัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน
ออกนอกพระราชฐานหรือที่ประทับ


ข้อ ๑๘ การวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกนอกเขตพระราชฐานหรือที่ประทับ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย

(๑) สมุหราชองครักษ์ เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้บัญชาการทหารบก เป็นกรรมการ
(๓) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ

ในกรณีเป็นการเสด็จพระราชดำเนินภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้มีกรรมการเพิ่มขึ้นอีกสองนาย คือผู้บัญชาการตำรวจนครบาลและผู้บังคับหน่วยทหารที่รับผิดชอบพี้นที่ที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึง แต่ถ้าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดอื่น ให้มีกรรมการเพิ่มขึ้นอีกสามนาย คือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึง

ข้อ ๑๙ ให้สมุหราชองครักษ์มีอำนาจสั่งการแก่กำลังทหารและตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยอยู่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน

ข้อ ๒๐ เมื่อได้รับคำขอจากสมุหราชองครักษ์ ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี จัดกำลังทหารหรือตำรวจถวายความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน

ข้อ ๒๑ หลักเกณฑ์และวิธีการถวายความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนินให้เป็นไปตามที่สมุหราชองครักษ์กำหนด


ส่วนที่ ๕
การถวายความปลอดภัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ
ในที่ชุมนุมสาธารณะ


ข้อ ๒๒ การวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับในที่ชุมนุมสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในพระราชพิธี รัฐพิธี หรือส่วนพระองค์ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามข้อ ๑๘

ข้อ ๒๓ ที่ประทับ บริเวณที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ และบริเวณใกล้เคียงจะต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียด ทั้งโดยเจ้าหน้าที่และด้วยเครื่องมือเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายอยู่ ณ ที่นั้น การตรวจต้องทำก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนินถึงพอสมควร และเมื่อตรวจแล้วต้องวางเวรยามไว้เพื่อป้องกันจนกว่าจะเสด็จพระราชดำเนินออกจากที่ประทับ

ข้อ ๒๔ ที่ประทับจะต้องมีทางออกสำหรับเหตุฉุกเฉินเสมอ ทางออกนี้ให้เตรียมล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ก่อนเสด็จพระราชดำเนินถึงและให้วางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมไว้โดยให้สามารถเปิดใช้ได้ทันที กับให้รู้แต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น

ข้อ ๒๕ ในกรณีที่เสด็จพระราชดำเนินโดยกะทันหัน หรือโดยไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า การตรวจที่ประทับ บริเวณที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ และบริเวณใกล้เคียงรวมทั้งการเตรียมทางออกสำหรับเหตุฉุกเฉิน ให้กระทำในทันทีที่เจ้าหน้าที่ไปถึง แม้จะเป็นเวลาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงแล้วก็ตาม แต่จะต้องระวังมิให้กระทบกระเทือนพระเกียรติได้

ข้อ ๒๖ ให้ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนพฤติการณ์และสืบสวนหาข่าวที่อาจจะเป็นภัย หรือพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ก่อนเวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินถึงหากพบว่ามีพฤติการณ์ดังกล่าว ให้ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่


ส่วนที่ ๖
การถวายความปลอดภัยในขบวนเสด็จพระราชดำเนิน
ภายในประเทศโดยพระราชพาหนะ


ข้อ ๒๗ การเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์

(๑) ในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้จัดยานพาหนะ และเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะในการถวายความปลอดภัยตามคำขอจากสมุหราชองครักษ์

(๒) ในจังหวัดอื่น ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนินถึงเป็นผู้จัดยานพาหนะและเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะในการถวายความปลอดภัยตามคำขอจากสมุหราชองครักษ์

ข้อ ๒๘ การถวายความปลอดภัยขณะประทับอยู่ในขบวนรถไฟ หรือรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือของเอกชน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือผู้มีอำนาจสั่งการ หรือหน่วยราชการเจ้าของสัมปทานนั้นๆ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค แล้วแต่กรณี

ข้อ ๒๙ การเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือ ไม่ว่าจะประทับเรือของทางราชการหรือเอกชน การถวายความปลอดภัยในน่านน้ำหรือท้องน้ำ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือหรือผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค แล้วแต่กรณี และกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

ข้อ ๓๐ การเสด็จพระราชดำเนินโดยอากาศยาน

(๑) การถวายความปลอดภัยขณะประทับอยู่ในอากาศยาน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของอากาศยานพระที่นั่ง หากเป็นอากาศยานของเอกชนการถวายความปลอดภัยให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี

(๒) ในกรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของอากาศยานมีกำลังและอุปกรณ์ถวายความปลอดภัยไม่เพียงพอ ให้ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่กรณี จัดกำลังและอุปกรณ์ถวายความปลอดภัยสนับสนุนตามคำขอจากสมุหราชองครักษ์

(๓) ในกรณีที่มีอากาศยานหลายหน่วยร่วมอยู่ในขบวนเสด็จพระราชดำเนินให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของอากาศยานพระที่นั่งเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมและอำนวยการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบินของอากาศยานทุกเครื่อง


ส่วนที่ ๗
การถวายความปลอดภัยในกรณีอื่นๆ


ข้อ ๓๑ การวางแผนและอำนวยการถวายความปลอดภัยเมื่อเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย

(๑) สมุหราชองครักษ์ เป็นประธานกรรมการ
(๒) ราชเลขาธิการ เป็นกรรมการ
(๓) เลขาธิการพระราชวัง เป็นกรรมการ
(๔) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นกรรมการ
(๕) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการ
(๖) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
(๗) หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ เป็นกรรมการ
(๘) เสนาธิการ กรมราชองครักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ

ข้อ ๓๒ ให้สมุหราชองครักษ์จัดประชุมเพื่อสำรวจพื้นที่ของประเทศที่จะเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อวางแผนและประสานการปฏิบัติการถวายความปลอดภัยร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประเทศที่จะเสด็จพระราชดำเนิน ตามความเหมาะสม

ข้อ ๓๓ การถวายความปลอดภัยในกรณีอื่นๆ ที่มิได้ระบุไว้ในระเบียบนี้ให้ส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยโดยเฉพาะเป็นผู้วางแผนแล้วเสนอต่อสมุหราชองครักษ์เพื่อประสานงานและอำนวยการ


หมวด ๒
การรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


ข้อ ๓๔ ให้นำความในหมวด ๑ มาใช้บังคับแก่การรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยอนุโลม


หมวด ๓
การรักษาความปลอดภัยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์
ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ


ข้อ ๓๕ ถ้าสมุหราชองครักษ์ ราชเลขาธิการ หรือเลขาธิการพระราชวัง เห็นสมควรจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยสำหรับบุคคลใดซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป หรือผู้แทนพระองค์ หรือพระราชอาคันตุกะ ให้สมุหราชองครักษ์ ราชเลขาธิการ หรือเลขาธิการพระราชวังพิจารณาดำเนินการตามระเบียบนี้ตามความจำเป็นโดยสมควรแก่ฐานะและเหตุการณ์


ประกาศ ณ วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี


เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนที่ ๑๐๖ ก/หน้า ๓/๔ ตุลาคม ๒๕๔๙
  2. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐/ตอนพิเศษ ๔๕ ง/หน้า ๑๐/๑๑ เมษายน ๒๕๔๖
  3. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้เปลี่ยนฐานะเป็น พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๖ เรื่อง กฎหมายว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"