พระราชบัญญัติว่าด้วยอั้งยี่ รัตนโกสินทร์ศก 116

จาก วิกิซอร์ซ

ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยอั้งยี่
  • รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖

มีพระราชเสาวนีสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า

ทุกวันนี้ มีคนชักชวนกันตั้งซ่องเปนหมู่ เรียกว่า อั้งยี่ มีชื่อต่าง ๆ บ้าง แลเรียกชื่ออย่างอื่น ๆ บ้าง แล้วเกิดวิวาทยกพวกเข้าทุบตีฟันแทงยิงซึ่งกันแลกันบาดเจ็บเปนอันตรายแก่ร่างกายแลชีวิตรเนือง ๆ มา เปนที่หวาดหวั่นแก่อณาประชาราษฎรทั้งหลายทั่วไป ใช่แต่เท่านั้น ครั้นมีผู้ฟ้องร้องว่ากล่าวจะเอาโทษพวกนี้ตามกฎหมายบ้านเมือง พวกหัวน่าก็เข้าช่วยป้องกันขัดขวางมิให้จับกุมพวกเหล่านี้มาชำระตัดสินลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองได้โดยสดวก เหตุฉนี้ จึ่งทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรที่จะป้องกันมิให้มีการทุจริตเช่นกล่าวมานี้เกิดขึ้นอีกต่อไป

จึ่งมีพระราชเสาวนีดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ต่อไป ดังนี้

มาตรา  ตั้งแต่วันออกประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้เปนต้นไป บรรดากฎหมาย พระราชบัญญัติ ประกาศ แลข้อบังคับที่ว่าด้วยเรื่องอั้งยี่ทั้งปวงนั้น ให้ยกเลิกเสีย

มาตรา  ในพระราชบัญญัตินี้ คำว่า หมู่ ฤๅ ซ่อง นั้น ไม่ได้หมายความรวม บริษัทต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

ข้อ  บริษัทซึ่งตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์แต่การค้าขายอย่างเดียว

ข้อ  บริษัทใด ๆ หรือหมู่ใด ๆ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งอยู่โดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย

ข้อ  บริษัท หรือหมู่ใด ๆ ก็ดี ฤๅผู้เข้าหุ้นส่วนกันก็ดี มีคนเข้ากันไม่เกินกว่า ๑๐ คน เพื่อจะทำการต่าง ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย แลคนผู้เข้าบริษัท ฤๅเข้าหมู่ ฤๅเข้าหุ้นส่วนนั้นไม่ต้องสาบาลตัวเพื่อจะปิดบังความลับของบริษัท ฤๅหมู่ ฤๅการเข้าหุ้นส่วน แลในที่สุด บริษัท ฤๅหมู่ ฤๅการเข้าหุ้นส่วนนั้น มิได้ทำการลับอันมิชอบอย่างหนึ่งอย่างใดด้วย

มาตรา  บรรดาพวกที่ตั้งขึ้นเปนหมู่เปนซ่อง ซึ่งตั้งอยู่ในเวลาออกประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ก็ดี ฤๅจะตั้งขึ้นภายหลังวันใช้พระราชบัญญัติก็ดี ต้องมาขอจดทเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้ซึ่งจะได้รับตำแหน่งแล้วมีชื่อประกาศไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาตามครั้งตามคราว แลการขอจดทเบียนนั้นต้องทำเรื่องราวมายื่นให้แจ้งความประสงค์ของหมู่ฤๅซ่องที่ตั้งขึ้น กับทั้งสำเนาข้อบังคับสำหรับหมู่ฤๅซ่องนั้น กับบาญชีรายชื่อสมาชิกผู้เข้าเปนหมู่เปนซ่อง กับรายชื่อแลตำบลที่อยู่ของผู้เปนหัวน่านายใหญ่นายรอง กับตำบลที่จะตั้งโรงประชุมใหญ่น้อยสำหรับประชุมกันนั้น ติดท้ายเรื่องราวมาด้วย

มาตรา  เจ้าพนักงานผู้จดทเบียนมีอำนาจที่จะเรียกผู้เปนหัวน่านายใหญ่นายรอง แลผู้จัดการ แลผู้กระทำการในที่ทำการนั้น แลสมาชิก ของหมู่ฤๅซ่องใด ๆ ที่ได้ลงทเบียนแล้ว ฤๅที่บังคับให้ลงทเบียนไว้แล้วก็ดี ฤๅที่ต้องบังคับให้ลงทเบียนตามมาตรา ๓ ของพระราชบัญญัตินี้ โดยมีมาได้ทุกเวลา แลไต่ถามได้ทุก ๆ คนที่ต้องเรียกมานั้น ให้แจ้งความโดยลเอียดในกิจธุระของพวกที่เปนหมู่เปนซ่องนั้น ๆ บรรดาผู้เปนหัวน่านายใหญ่นายรอง แลผู้ทำการต่าง ๆ แลสมาชิก ที่ต้องเรียกนั้น จำเปนต้องมา แลต้องแจ้งความโดยเลอียด ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับนี้ พิจารณาเปนสัตย ให้ปรับเงินไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท ฤๅจำคุกมีกพหนดไม่เกินกว่าปีหนึ่ง ฤๅทั้งจำคุกแลปรับเปนพิไนยด้วยทั้งสองสถาน

มาตรา  ถ้าเจ้าพนักงานผู้จดทเบียนเห็นสมควร ก็มีอำนาจที่จะเรียกผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งได้จดชื่อไว้ในทเบียนแล้วก็ดี ฤๅที่ขอจดชื่อในทเบียนเปนหัวน่านายใหญ่นายรองฤๅผู้ทำการต่าง ๆ ในหมู่ในซ่องใด ๆ ก็ดี ที่ได้จดทเบียนไว้ก็ดี ฤๅจะจดก็ดี ให้ทำทานบนว่า จะไม่กระทำผิดพระราชบัญญัตินี้ แลให้มีประกันสองคน คิดเปนเงินสำหรับที่จะเสียค่าปรับ มีจำนวนมากน้อยตามแต่เจ้าพนักงานจะเห็นสมควร แต่รวมเงินไม่เกินกว่า ๔๐๐๐ บาท

มาตรา  ถ้าหมู่ซ่องใด ๆ ไม่ได้ประพฤติการตามน่าที่อันสมควรแก่พวกนั้นก็ดี ฤๅตั้งพวกขึ้น ฤๅตั้งเปนพวกอยู่ เพื่อจะกระทำการที่ไม่ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายก็ดี เจ้าพนักงานจะไม่ได้จดทเบียน ฤๅถ้าได้จดทเบียนแล้ว จะถอนเสียไม่ให้มีอยู่ในทเบียนต่อไปก็ได้

มาตรา  หมู่ซ่องใด ๆ ที่ไม่ได้จดทเบียนก็ดี ฤๅได้จดทเบียนไว้แล้ว ภายหลังต้องถอนเสียจากทเบียนก็ดี หมู่ซ่องนั้น ๆ ต้องนับว่า เปนพวกซึ่งตั้งอยู่โดยผิดด้วยกฎหมาย

มาตรา  ถ้าหมู่ใดซ่องใดไม่ได้มาขอจดทเบียนเสียภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ได้ออกประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้สืบไป ต้องถือว่า หมู่นั้นซ่องนั้นได้ตั้งอยู่ผิดด้วยกฎหมาย

มาตรา  การชุมนุมกันตั้งแต่ ๕ คน ฤๅมากกว่า ๕ คนขึ้นไป ต้องถือว่า เปนการชุมนุมกันผิดต่อกฎหมาย ในเวลาที่มีเหตุการดังกล่าวต่อไปในข้อความเหล่านี้ คือ

ข้อ  เมื่อคนที่ชุมนุมกันนั้นเปนพวกในหมู่ในซ่องที่ตั้งขึ้นโดยผิดต่อกฎหมาย

ข้อ  เมื่อควมมุ่งหมายของคนผู้ที่ชุมนุมกันนั้นเปนประการหนึ่งประการใดใน ๓ ประการนี้ คือ

ประการที่  เพื่อที่จะขัดขวางฤๅต่อสู้การทั้งปวงที่ข้าราชการฤๅเจ้าพนักงานกระทำตามกฎหมาย

ประการที่  เพื่อจะกระทำการทุจริตต่าง ๆ ให้เปนที่เดือดร้อนแก่อณาประชาราษฎร ฤๅจะกระทำร้ายอื่น ๆ ซึ่งเปนข้อลเมิดมีโทษหลวงตามกฎหมาย

ประการที่  เพื่อจะทำการทางใช้อำนาจกดขี่ด้วยกำลังให้คนอื่นกลัวเกรงแล้วข่มขืนให้คนนั้น ๆ ทำการสิ่งใด ๆ ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำ ฤๅข่มขืนคนนั้น ๆ ไม่ให้ทำการสิ่งใดซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ทำ

มาตรา ๑๐ ถ้าพบธง หรือเครื่องหมายอื่น ๆ ฤๅสรรพหนังสือต่าง ๆ ของหมู่ของซ่องใด ๆ อยู่กับผู้ใด ก็จะต้องถือว่า ผู้นั้นเปนพวกหมู่ซ่องนั้น ๆ จนกว่าผู้นั้นจะพิสูตรตัวด้วยพยานให้เห็นจริงว่า ตนไม่ใช่พวกในหมู่ซ่องนั้น ๆ

มาตรา ๑๑ ห้ามไม่ให้หมู่ซ่องที่ได้จดทเบียนไว้ตามข้อพระราชบัญญัตินี้มีการชุมนุม เว้นแต่หัวหน้าหมู่ซ่องนั้นได้บอกล่วงน่าให้เจ้าพนักงานผู้จดทเบียนทราบก่อนอย่างน้อย ๒๔ ชั่วโมง ในคำแจ้งความนั้น ต้องบอกเวลาแลวันชุมนุม แลจะชุมนุมที่ตำบลใด แลชุมนุมด้วยเหตุอันใด ฤๅจะทำการสิ่งใดในที่ชุมนุมนั้น ๆ เจ้าพนักงานผู้จดทเบียน ฤๅเจ้าพนักงานกองตระเวรคนหนึ่งคนใดที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้จดทเบียน มีอำนาจที่จะเข้าไปในที่ชุมนุมนั้นโดยสดวก การชุมนุมทุกรายซึ่งได้ชุมนุมผิดต่อมาตรานี้ ต้องถือว่า เปนการผิดต่อกฎหมาย แลถ้าผู้ใดขัดขวางห้ามปรามเจ้าพนักงานที่ได้รับอนุญาตไม่ให้เข้าไปในที่ชุมนุม ได้พิจารณาสม ให้ปรับเงินไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท ฤๅจำคุกมีกำหนดไม่เกินกว่าปี ๑ ฤๅทั้งปรับแลจำด้วยทั้งสองสถาน

มาตรา ๑๒ ถ้าคนใดคนหนึ่งเปนผู้จัดการฤๅเปนผู้ช่วยในการของหมู่ของซ่องซึ่งได้ตั้งขึ้นผิดด้วยกฎหมายนั้น พิจารณาเปนสัตย์ ให้จำคุกไม่เกินกว่า ๕ ปี หรือปรับเปนพิไนยไม่เกินกว่า ๒๐๐๐ บาท ฤๅทั้งจำคุกแลปรับเปนพิไนยด้วยทั้งสองสถาน

มาตรา ๑๓ คนใดคนหนึ่งซึ่งเปนสมาชิกก็ดี ฤๅทำการเหมือนเปนคนอยู่ในพวกของหมู่ของซ่องซึ่งได้ตั้งขึ้นผิดด้วยกฎหมาย ฤๅไปชุมนุมด้วยเหล่าที่ชุมนุมอันผิดกฎหมาย ฤๅเกี่ยวข้องด้วยหมู่แลซ่องที่เข้าชุมนุมกันดังว่ามานี้ ฤๅออกเงินเข้าเรี่ยรายให้หมู่แลซ่องที่เข้าชุมนุมกันดังว่ามานี้ ฤๅช่วยอุดหนุนอย่างอื่น ฤๅชักชวนโดยความขู่เข็ญ ให้คนใดคนหนึ่งมาเข้าในหมู่ในซ่องซึ่งได้ตั้งขึ้นผิดด้วยกฎหมาย พิจารณาเปนสัตย์ ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า ๓ ปี ฤๅให้ปรับเปนพิไนยไม่เกินกว่า ๑๐๐๐ บาท ฤๅทั้งจำคุกแลปรับเปนพิไนยด้วยทั้งสองสถาน

มาตรา ๑๔ ถ้าคนใดคนหนึ่งไปชุมนุมในหมู่ในซ่องฤๅในที่ชุมนุมกันอันผิดกฎหมายนั้น มีอาวุธ ฤๅสิ่งอื่นที่ใช้ต่างอาวุธอันเปนเครื่องที่จะทำอันตรายแก่ชีวิตรได้แล้ว ก็ให้ลงโทษจำคุกผู้นั้นให้มากขึ้นถึง ๔ ปีได้ ฤๅให้ปรับผู้นั้นเปนพิไนยถึง ๑๕๐๐ บาทได้

มาตรา ๑๕ ถ้าพวกที่เข้าชุมนุมอันผิดต่อกฎหมาย ฤๅคนใดคนหนึ่งในพวกที่เข้าชุมนุมกันดังว่ามานี้ กระทำการสิ่งใดที่ผิดล่วงลเมิดพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับแผ่นดิน เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ของหมู่ของซ่องที่เข้าชุมนุมกันดังว่ามานี้ ฤๅคนใดคนหนึ่งในพวกที่เข้าชุมนุมกันดังว่ามานี้รู้ว่า การที่กระทำลงนั้นเพื่อให้สำเร็จประโยชน์เช่นกล่าวมาแล้วนั้น ต้องถือว่า บรรดาคนในพวกที่เข้านุชมนุมกันอันผิดต่อกฎหมายนั้นทุกคนเปนผู้กระทำการผิดล่วงลเมิดต่อพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับแผ่นดินเสมอกัน

มาตรา ๑๖ บรรดาสมุด กระดาษ ฤๅสรรพหนังสือต่าง ๆ ธงฤๅเครื่องหมายอย่างอื่น แลทรัพย์สิ่งของทั้งปวงซึ่งพึงเคลื่อนจากที่ได้ฤๅไม่พึงเคลื่อนจากที่ได้ ซึ่งมีเหตุสมควรจะเชื่อว่า เปนของหมู่ของซ่องที่เข้าชุมนุมกันอันผิดต่อกฎหมาย ฤๅซึ่งเกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งกับหมู่กับซ่องที่เข้าชุมนุมกันอันผิดต่อกฎหมายนั้น เมื่อจับหรือค้นได้ณที่ใด ๆ ให้ริบเปนของแผ่นดินได้ทั้งสิ้น

มาตรา ๑๗ ถ้าเมื่อใดข้าราชการหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจแลน่าที่ตามกฎหมายมีคำสั่งให้ถอนชื่อหมู่ชื่อซ่องใด ๆ ออกเสียจากทเบียนแล้ว หมู่ซ่องนั้น ๆ ต้องเลิก ไม่เปนหมู่เปนซ่องที่ชอบด้วยกฎหมายได้ต่อไป โดยเหตุที่เอาชื่อออกเสียจากทเบียน แลบรรดาทรัพย์สมบัติของหมู่ของซ่องซึ่งต้องให้เลิกนั้น ให้ศาลอาญาตั้งเจ้าพนักงานรักษาไว้ ให้เจ้าพนักงานผู้ได้รับคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาไปเก็บแลยึดทรัพย์สมบัติไว้ แล้วขายทอดตลาดเสีย แล้วให้เอาเงินนั้นใช้หนี้สินของหมู่ของซ่องซึ่งต้องเลิกเสียนั้น หมดแล้วเหลือเงินมากน้อยเท่าใด ให้แจกให้แก่คนทั้งหลายผู้ได้เข้าพวกอยู่ในหมู่ในซ่องซึ่งต้องเลิกนั้นจงเท่ากันทุกคน

มาตรา ๑๘ การฟ้องร้องกล่าวโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรมอัยการแลผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจที่จะฟ้องร้องหรือว่าแทนผู้อื่นได้ตลอด

พระราชบัญญัติตราไว้ณวันที่ ๑ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ เปนวันที่ ๑๐๕๕๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"