พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2502
พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502
[แก้ไข]ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2502
เป็นปีที่ 14 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสภาวิจัยแห่งชาติ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1
[แก้ไข]พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2502”
มาตรา 2
[แก้ไข][1] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3
[แก้ไข]ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2499
บรรดาบทกฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 4
[แก้ไข]ในพระราชบัญญัตินี้
- การวิจัย หมายความว่า การค้นคว้าสอบสวนและเสนอผลของงานทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในสาขาวิชาการตามพระราชบัญญัตินี้ และที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัตินี้
- ผู้รับมอบ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น องค์การของรัฐหรือบุคคลใด ๆ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการวิจัย
มาตรา 5
[แก้ไข][2] ให้มีสภาวิจัยแห่งชาติประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน และกรรมการอื่น ๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งขึ้น ให้เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ และรองเลขาธิการเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เป็นที่ปรึกษาสภาวิจัยแห่งชาติ
มาตรา 6
[แก้ไข][3] สภาวิจัยแห่งชาติมีหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยตามที่คณะรัฐมนตรีจะได้มอบหมายและพิจารณาข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเกี่ยวกับการที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเสนอตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้แล้วทำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรี กับมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในกิจการเกี่ยวกับการวิจัยตามที่นายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาดำเนินการ
มาตรา 7
[แก้ไข][4] กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งคณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้
เมื่อได้มีการแต่งตั้งกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติแล้ว และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติขึ้นอีก ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้ก่อนแล้ว
มาตรา 8
[แก้ไข]นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 7 กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
- (1) ตาย
- (2) ลาออก
- (3) เป็นบุคคลล้มละลาย
- (4) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- (5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่คดีความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
กรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทน กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการที่ตนแทน
มาตรา 9
[แก้ไข]ในการประชุมของสภาวิจัยแห่งชาติ ถ้าประธานไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานเป็นประธานในที่ประชุม
ในกรณีที่ประธานและรองประธานไม่อาจมาประชุมได้ ให้กรรมการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นประธาน เป็นประธานในที่ประชุม
มาตรา 10
[แก้ไข]ในการประชุมสภาวิจัยแห่งชาติทุกคราว ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมด และในจำนวนนี้ต้องมีประธานหรือรองประธาน หรือกรรมการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นประธาน มาร่วมประชุมด้วย จึงจะเป็นองค์ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 11
[แก้ไข][5] ให้มีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และให้มีเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติคนหนึ่ง และรองเลขาธิการสองคน เลขาธิการมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และบังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- (1) เสนอแนะแนวนโยบายและโครงการส่งเสริมการวิจัยซึ่งเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรีต่อสภาวิจัยแห่งชาติ
- (2) พิจารณาจัดตั้งสาขาวิชาการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว้ในมาตรา 17 แล้วเสนอต่อสภาวิจัยแห่งชาติ
- (3) พิจารณาวิธีการหาทุนบำรุงการวิจัยและเสนอแนะต่อสภาวิจัยแห่งชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งทุนเพื่อการวิจัย
- (4) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานการวิจัยต่อสภาวิจัยแห่งชาติ
- (5) ส่งเสริมและจัดให้มีการวิจัยและสถาบันการวิจัย
- (6) ประสานงานวิจัยของสาขาวิชาการต่าง ๆ
- (7) ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยส่วนราชการและส่วนบุคคล
- (8) จัดให้มีทะเบียนนักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาการต่าง ๆ
- (9) มอบหมายให้ผู้รับมอบปฏิบัติการเฉพาะอย่างเกี่ยวกับการวิจัย
- (10) พิจารณาจัดตั้งงบประมาณเกี่ยวกับการวิจัย
- (11) จัดสรรเงินอุดหนุนและเงินรางวัลเกี่ยวกับการวิจัย
- (12) ติดต่อและส่งเสริมการร่วมมือกับสถาบันการวิจัยและนักวิจัยในต่างประเทศ
- (13) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสภาวิจัยแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
มาตรา 12
[แก้ไข][6] สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติอาจมีรายได้เป็นทุนเพื่อการวิจัย ดังต่อไปนี้
- (1) เงินจากงบประมาณแผ่นดิน
- (2) ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
- (3) เงินผลประโยชน์ของสภาวิจัยแห่งชาติ
- (4) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่สภาวิจัยแห่งชาติ
มาตรา 13
[แก้ไข][7] ให้มีกรรมการบริหารคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการสาขาวิชาการทุกสาขา เลขาธิการและรองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และบุคคลอื่นไม่เกินห้าคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ มีอำนาจและหน้าที่ตามที่สภาวิจัยแห่งชาติจะได้มอบหมาย และกำกับการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติตามมาตรา 11 วรรคสอง
ให้คณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการประธานกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ประธานกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกอีกได้
ให้คณะกรรมการบริหารที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่
มาตรา 14
[แก้ไข][8] กรรมการบริหารซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
เมื่อได้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารแล้ว และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการบริหารขึ้นอีก ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการบริหารซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้ก่อนแล้ว
มาตรา 15
[แก้ไข]นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 14 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 8 มาใช้บังคับแก่กรรมการบริหารโดยอนุโลม
มาตรา 16
[แก้ไข]ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการบริหารโดยอนุโลม ในการประชุมใด ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน
มาตรา 17
[แก้ไข]สภาวิจัยแห่งชาติมีสาขาวิชาการ ดังต่อไปนี้
- (1) วิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
- (2) วิทยาศาสตร์การแพทย์
- (3) วิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
- (4) เกษตรศาสตร์และชีววิทยา
- (5) วิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย
- (6) ปรัชญา
- (7) นิติศาสตร์
- (8) รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
- (9) เศรษฐศาสตร์
- (10) สังคมวิทยา
การจัดตั้งสาขาวิชาการขึ้นใหม่ ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 18
[แก้ไข][9] คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสาขาวิชาการจากกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติตามความเหมาะสม
ให้คณะกรรมการสาขาวิชาการแต่ละสาขาคัดเลือกประธานกรรมการหนึ่งคน
มาตรา 19
[แก้ไข][10] ประธานกรรมการและกรรมการสาขาวิชาการอยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
ประธานกรรมการและกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอีกได้
มาตรา 20
[แก้ไข]นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 19 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 8 มาใช้บังคับแก่ประธานกรรมการและกรรมการสาขาวิชาการโดยอนุโลม
มาตรา 21
[แก้ไข]ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการสาขาวิชาการโดยอนุโลม ในการประชุมใด ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน
มาตรา 22
[แก้ไข]สภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารหรือคณะกรรมการสาขาวิชาการ อาจตั้งอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาและเสนอความคิดเห็นในข้อหนึ่งข้อใดอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของตน และอาจเชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาชี้แจงหรือให้ความคิดเห็นหรือคำแนะนำในกิจการอันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ตามแต่จะเห็นสมควร
มาตรา 23
[แก้ไข][11] ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมอบหมายให้ผู้รับมอบปฏิบัติการใด ๆ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจะโอนเงินไปตั้งจ่ายทางผู้รับมอบเช่นว่านั้นเพื่อใช้จ่ายตามรายการที่อนุมัติในงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติก็ได้
มาตรา 24
[แก้ไข]ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส. ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ
[แก้ไข]เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ความเจริญก้าวหน้าของโลกในปัจจุบันนี้ ย่อมอาศัยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นมูลฐาน งานทุกอย่างจึงจะวิวัฒนาการไปในทางก้าวหน้าด้วยความมั่นคง จึงสมควรปรับปรุงให้สภาวิจัยแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เหมาะสมแก่รูปงานในปัจจุบันและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76/ตอนที่ 102/ฉบับพิเศษ หน้า 1/1 พฤศจิกายน 2502
- ↑ มาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 315 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
- ↑ มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 315 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
- ↑ มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507
- ↑ มาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 315 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
- ↑ มาตรา 12 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 315 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
- ↑ มาตรา 13 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 315 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515
- ↑ มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507
- ↑ มาตรา 18 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507
- ↑ มาตรา 19 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507
- ↑ มาตรา 23 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 315 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515