พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑

จาก วิกิซอร์ซ

พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑”

มาตรา ๒[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓[แก้ไข]

ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช ๒๔๗๒

มาตรา ๔[แก้ไข]

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่บรรดาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อความตามสนธิสัญญาเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

มาตรา ๕[แก้ไข]

ในพระราชบัญญัตินี้

“ประเทศผู้ร้องขอ” หมายความว่า ประเทศ ดินแดน หรือองค์การระหว่างประเทศที่ร้องขอให้ประเทศไทยส่งผู้ร้ายข้ามแดน

“ประเทศผู้รับคำร้องขอ” หมายความว่า ประเทศ ดินแดน หรือองค์การระหว่างประเทศที่ประเทศไทยร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

“ผู้ประสานงานกลาง” หมายความว่า อัยการสูงสุดหรือผู้ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายซึ่งมีอำนาจหน้าที่ประสานงานการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ประเทศผู้ร้องขอและการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนแก่ประเทศไทย รวมทั้งการอื่นที่เกี่ยวข้อง

“เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ” หมายความว่า พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในส่วนของตนตามที่ได้รับแจ้งจากผู้ประสานงานกลาง

มาตรา ๖[แก้ไข]

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน

กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑ หลักทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน[แก้ไข]

มาตรา ๗[แก้ไข]

ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ต้องเป็นความผิดอาญาซึ่งกฎหมายของประเทศผู้ร้องขอและกฎหมายไทยกำหนดให้เป็นความผิดอาญาซึ่งมีโทษประหารชีวิตหรือมีโทษจำคุก หรือโทษจำกัดเสรีภาพในรูปแบบอื่นตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่ได้กำหนดไว้ในหมวดเดียวกัน หรือเรียกชื่อความผิดเป็นอย่างเดียวกันของทั้งสองประเทศหรือไม่ก็ตาม

การกระทำความผิดอาญาอื่นซึ่งมีโทษจำคุกหรือโทษจำกัดเสรีภาพในรูปแบบอื่นน้อยกว่าหนึ่งปีอาจร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ หากเป็นความผิดเกี่ยวพันกับความผิดที่ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องขอแล้ว ไม่ว่าจะร้องขอพร้อมคำร้องขอในครั้งแรกหรือภายหลัง

มาตรา ๘[แก้ไข]

การส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้เริ่มต้นด้วยการมีคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอ

คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนของประเทศผู้ร้องขอที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย ให้จัดส่งไปยังผู้ประสานงานกลาง ในกรณีที่ประเทศผู้ร้องขอมิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย ให้จัดส่งคำร้องขอดังกล่าวโดยผ่านวิถีทางการทูต

คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและเอกสารหลักฐาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนและเอกสารหลักฐานตามวรรคสามซึ่งจะส่งศาลต้องจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องด้วย

คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือเอกสารหลักฐานตามมาตรานี้ ศาลจะรับฟังโดยไม่จำเป็นต้องมีพยานบุคคลมาเบิกความประกอบก็ได้

มาตรา ๙[แก้ไข]

รัฐบาลไทยอาจพิจารณาส่งบุคคลข้ามแดน เพื่อการฟ้องร้องหรือรับโทษตามคำพิพากษาของศาลในความผิดทางอาญา ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจดำเนินคดีของประเทศผู้ร้องขอให้แก่ประเทศนั้น ๆ ตามคำร้องขอได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) กรณีเป็นความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ และไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไทย หรือมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร

(๒) กรณีที่มิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เมื่อประเทศผู้ร้องขอได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศไทยในทำนองเดียวกันเมื่อประเทศไทยร้องขอ

ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามวรรคหนึ่ง (๑) ไม่หมายความรวมถึงความผิดดังต่อไปนี้

(๑) การปลงพระชนม์ ประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท

(๒) การฆ่า ประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล หรือ สมาชิกโดยตรงในครอบครัวของบุคคลนั้น

(๓) การกระทำความผิดที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

ความผิดทางทหาร หมายความว่า ความผิดอาญาทางทหารโดยเฉพาะและมิใช่ความผิดตามกฎหมายอาญาทั่วไป

มาตรา ๑๐[แก้ไข]

ถ้าบุคคลใดซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนนั้นเคยได้รับการพิจารณาคดีจากศาลไทย หรือศาลของประเทศผู้ร้องขอในการกระทำอย่างเดียวกันกับที่มีการร้องขอ ให้ส่งข้ามแดนและศาลไทย หรือศาลของประเทศผู้ร้องขอได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ปล่อยตัวหรือพิพากษาให้ลงโทษและผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว หรือได้รับการอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมหรือคดีขาดอายุความหรือมีเหตุอื่นใดซึ่งไม่สามารถดำเนินคดีแก่บุคคลนั้นตามกฎหมายของประเทศผู้ร้องขอ ห้ามมิให้ส่งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากการกระทำนั้นอีก

มาตรา ๑๑[แก้ไข]

การควบคุมเพื่อดำเนินคดีหรือลงโทษบุคคลซึ่งถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้รับคำร้องขอมายังประเทศไทยในความผิดอื่นที่ได้กระทำลงก่อนมีการส่งข้ามแดน และการส่งบุคคลซึ่งถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้รับคำร้องขอมายังประเทศไทยไปยังประเทศที่สามจะกระทำมิได้ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) บุคคลนั้นเดินทางออกจากราชอาณาจักรไทยภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและได้กลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทยใหม่โดยสมัครใจ

(๒) บุคคลนั้นมิได้เดินทางออกจากราชอาณาจักรไทยภายในสี่สิบห้าวันภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือ

(๓) ประเทศผู้รับคำร้องขอยินยอม

หมวด ๒ กระบวนการดำเนินการตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน[แก้ไข]

ส่วนที่ ๑ บททั่วไป[แก้ไข]

มาตรา ๑๒[แก้ไข]

การดำเนินการตามคำร้องขอให้ส่งบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนอาจกระทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศผู้ร้องขอกำหนดไว้

(๒) บุคคลนั้นยินยอมให้ส่งข้ามแดน หรือ

(๓) เป็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดนภายใต้เงื่อนไขต่างตอบแทนที่ประเทศไทยทำกับประเทศผู้ร้องขอ

มาตรา ๑๓[แก้ไข]

ในกรณีที่คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนยื่นผ่านวิถีทางการทูตให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) หากเห็นว่าคำร้องขอดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะไม่ดำเนินการให้ ก็ให้ส่งคำร้องนั้นให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการต่อไป

(๒) หากเห็นว่าคำร้องขอดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือมีเหตุผลอื่นที่ไม่อาจดำเนินการให้ได้ ก็ให้กระทรวงการต่างประเทศเสนอความเห็นนั้นพร้อมด้วยคำร้องขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อความเห็นดังกล่าวของกระทรวงการต่างประเทศ ให้พิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องขอ ก็ให้กระทรวงการต่างประเทศส่งเรื่องให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๔[แก้ไข]

เมื่อได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากกระทรวงการต่างประเทศหรือจากประเทศผู้ร้องขอ ให้ผู้ประสานงานกลางพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่เห็นว่าคำร้องขอนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายจับแล้วจัดส่งหมายจับให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

(๒) ในกรณีที่คำร้องขอนั้นมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือมีเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้อง หรืออาจดำเนินการให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำเป็นบางประการ ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งเหตุขัดข้อง หรือเงื่อนไขที่จำเป็นให้ประเทศผู้ร้องขอทราบ แต่ถ้าการดำเนินการตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะกระทบกระเทือนการฟ้องคดีอื่นใด หรือการดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับคดีอาญาซึ่งบุคคลนั้นกำลังถูกดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ผู้ประสานงานกลางจะเลื่อนการดำเนินการตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น หรือจะดำเนินการโดยกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็นก็ได้ ทั้งนี้ ให้แจ้งให้ประเทศผู้ร้องขอทราบโดยไม่ชักช้า

(๓) ในกรณีที่คำร้องขอนั้นมิได้ส่งผ่านวิถีทางการทูตให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งคำร้องขอดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศทราบเพื่อให้ความเห็นก่อนดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๑๓ (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

(๔) ในกรณีที่ผู้ประสานงานกลางเห็นว่าคำร้องขออาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือมีเหตุผลอื่นใดซึ่งไม่ควรดำเนินการ หรือเห็นว่าคำร้องขอดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการให้ได้ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้ประสานงานกลางแจ้งประเทศผู้ร้องขอหรือกระทรวงการต่างประเทศ แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการต่อไป

มาตรา ๑๕[แก้ไข]

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ประเทศผู้ร้องขออาจมีคำร้องขอให้จับกุมและคุมขังบุคคลที่ต้องการตัวไว้ชั่วคราวก่อนก็ได้ คำร้องขอเช่นว่านี้ของประเทศผู้ร้องขอที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทยให้จัดส่งไปยังผู้ประสานงานกลาง ในกรณีที่ประเทศผู้ร้องขอมิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทยให้ส่งผ่านวิถีทางการทูต

คำร้องขอตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด

การพิจารณาเพื่อดำเนินการให้นำความในมาตรา ๑๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๖[แก้ไข]

เมื่อจับกุมตัวบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนตามความในมาตรา ๑๕ ได้ ให้นำส่งพนักงานอัยการโดยมิชักช้า ทั้งนี้ เพื่อยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งขังบุคคลซึ่งถูกร้องขอไว้ในระหว่างรอคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการ และเอกสารหลักฐานจากประเทศผู้ร้องขอ

หากศาลมิได้รับคำฟ้องเพื่อดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่บุคคลซึ่งถูกร้องขอถูกจับ หรือภายในเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่บุคคลนั้นถูกจับ ให้ปล่อยตัวบุคคลนั้นไป

ในกรณีที่มีการปล่อยตัวบุคคลซึ่งถูกร้องขอตามความในวรรคสอง เนื่องจากประเทศผู้ร้องขอมิได้จัดส่งคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการ และเอกสารหลักฐานอันจำเป็นตามมาตรา ๘ หรือด้วยเหตุอื่นใด ให้การร้องขอให้จับตามมาตรา ๑๕ เป็นอันยกเลิก และประเทศผู้ร้องขอจะร้องขอให้จับบุคคลซึ่งถูกร้องขอดังกล่าวด้วยเหตุเดียวกันนั้นอีกมิได้ แต่การปฏิเสธหรือยกเลิกคำร้องขอ ให้จับดังกล่าวไม่มีผลเป็นการห้ามประเทศผู้ร้องขอที่จะร้องขอให้ส่งบุคคลซึ่งถูกร้องขอนั้นข้ามแดนตามปกติ

มาตรา ๑๗[แก้ไข]

ในกรณีที่เห็นสมควร กระทรวงการต่างประเทศอาจเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ผู้ประสานงานกลางก่อนเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาและให้ศาลมีอำนาจเรียกกระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ทั้งนี้ ให้รวมถึงการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ด้วย

ส่วนที่ ๒ กระบวนการพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน[แก้ไข]

มาตรา ๑๘[แก้ไข]

ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ เมื่อจับบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนได้แล้ว ให้พนักงานอัยการนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยมิชักช้า

ให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรให้เลื่อนคดีตามที่พนักงานอัยการหรือบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนร้องขอ ทั้งนี้ ให้ศาลสั่งขังบุคคลซึ่งถูกร้องขอนั้นไว้ระหว่างการพิจารณา

การควบคุมและการดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งพระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ถ้ามีคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ให้ศาลถามพนักงานอัยการว่าจะคัดค้านประการใดหรือไม่ หากมีคำคัดค้านของพนักงานอัยการ ศาลพึงรับฟังประกอบการวินิจฉัย

ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามบุคคลซึ่งถูกร้องขอว่ามีทนายความหรือไม่ หากไม่มีและต้องการทนายความ ให้ศาลตั้งทนายความให้และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ โดยอนุโลม

มาตรา ๑๙[แก้ไข]

เมื่อศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่ามีเหตุดังต่อไปนี้ให้ศาลมีคำสั่งขังบุคคลนั้นไว้เพื่อส่งข้ามแดนต่อไป

(๑) บุคคลซึ่งถูกจับนั้นเป็นบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนและมิใช่ผู้มีสัญชาติไทย หรือเป็นผู้มีสัญชาติไทยแต่อยู่ในหลักเกณฑ์ให้ส่งข้ามแดนได้ตามมาตรา ๑๒

(๒) คดีมีมูลที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา หากความผิดนั้นได้กระทำลงในราชอาณาจักรหรือมีกฎหมายบัญญัติให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร และ

(๓) ความผิดซึ่งเป็นเหตุให้ร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น เป็นความผิดซึ่งอาจส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามพระราชบัญญัตินี้และมิใช่เป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหารโดยเฉพาะ

ถ้าศาลพิเคราะห์เห็นว่าพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งไม่เพียงพอ ก็ให้ศาลมีคำสั่งปล่อยและดำเนินการปล่อยบุคคลนั้นไปเมื่อสิ้นระยะเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่ได้อ่านคำสั่งปล่อยนั้น เว้นแต่ภายในระยะเวลาดังกล่าว พนักงานอัยการจะได้แจ้งความจำนงว่าจะอุทธรณ์ ก็ให้ขังไว้ในระหว่างอุทธรณ์ และจะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลอ่านคำสั่งปล่อย ถ้ามีคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๐[แก้ไข]

ห้ามมิให้ส่งบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งขังตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง ข้ามแดนก่อนครบระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งขังเพื่อส่งข้ามแดน

เมื่อมีเหตุอันสมควรที่จะเลื่อนกำหนดการส่งบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งขังเพื่อส่งข้ามแดน ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งขังบุคคลนั้นต่อไปตามกำหนดเวลาเท่าที่จำเป็น คำร้องเช่นว่านั้นจะต้องยื่นก่อนครบกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ขังเพื่อส่งข้ามแดน

ถ้ามิได้ส่งบุคคลนั้นข้ามแดนภายในเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดหรือภายในกำหนดเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ขยายออกไปตามคำร้องของพนักงานอัยการตามวรรคสอง ให้ปล่อยบุคคลนั้นไป

ส่วนที่ ๓ การอุทธรณ์[แก้ไข]

มาตรา ๒๑[แก้ไข]

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยหรือขังบุคคลเพื่อส่งข้ามแดนแล้วพนักงานอัยการ หรือบุคคลนั้นอาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำสั่งนั้น

ในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคำคัดค้านเฉพาะเหตุที่ให้ศาลมีคำสั่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙ โดยพิจารณาว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไปโดยมีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

หมวด ๓ การดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดน[แก้ไข]

มาตรา ๒๒[แก้ไข]

ภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ขังบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และรัฐบาลไทยพิจารณาให้ส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว การส่งมอบตัวบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนให้แก่ประเทศผู้ร้องขอจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุด หรือภายในกำหนดเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ขยายออกไปตามคำร้องของพนักงานอัยการ ทั้งนี้ รายละเอียดเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่และวิธีการส่งมอบตัวบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๓[แก้ไข]

ในกรณีที่ประเทศผู้ร้องขอมิได้ดำเนินการรับมอบตัวบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๒ โดยไม่มีเหตุอันควร หากต่อมาภายหลังได้ร้องขอให้ส่งบุคคลนั้นข้ามแดนในความผิดเดียวกันอีก ให้ปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

การปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามวรรคหนึ่ง มิให้นำความในมาตรา ๒๕ มาใช้บังคับ

มาตรา ๒๔[แก้ไข]

ในกรณีที่บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ขังเพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกำลังถูกดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างรับโทษตามคำพิพากษาอยู่ในประเทศไทยในความผิดอื่นนอกเหนือจากความผิดซึ่งขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน รัฐบาลไทยอาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งบุคคลดังกล่าวให้แก่ประเทศผู้ร้องขอ

(๒) เลื่อนการส่งบุคคลนั้นจนกว่าการดำเนินคดีเสร็จสิ้นลงหรือจนกว่าบุคคลนั้นจะได้รับโทษตามคำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วนแล้ว

(๓) ส่งบุคคลดังกล่าวให้แก่ประเทศผู้ร้องขอชั่วคราวเพื่อการฟ้องคดีตามเงื่อนไขที่ตกลงกับประเทศผู้ร้องขอ และหลังจากที่บุคคลนั้นถูกส่งกลับมาประเทศไทยแล้ว อาจถูกส่งกลับไปยังประเทศผู้ร้องขออีกครั้งหนึ่งเพื่อรับโทษตามคำพิพากษา

มาตรา ๒๕[แก้ไข]

หากไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศผู้ร้องขอ ให้ผู้ประสานงานกลางพิจารณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทราบเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนนั้นตามกฎหมายไทยต่อไป

มาตรา ๒๖[แก้ไข]

เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไปให้ส่งบุคคลเดียวกันข้ามแดนไม่ว่าจะในความผิดเดียวกันหรือความผิดต่างกัน ในกรณีเช่นว่านั้นให้ผู้ประสานงานกลางพิจารณาว่าควรจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศผู้ร้องขอรายใดและภายใต้เงื่อนไขอย่างไร หรือจะส่งให้แก่ประเทศผู้ร้องขอนั้นก่อนหลังกันอย่างใด ทั้งนี้ ให้นำเหตุดังต่อไปนี้มาพิจารณาเปรียบเทียบประกอบการใช้ดุลพินิจด้วย

(๑) ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย

(๒) สถานที่กระทำความผิด

(๓) ความร้ายแรงของความผิดซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศผู้ร้องขอและอัตราโทษ

(๔) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ

(๕) สัญชาติของผู้กระทำผิด

(๖) ส่วนได้เสียและความพร้อมในการดำเนินคดี

(๗) เหตุผลอื่นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อผู้ประสานงานกลางใช้ดุลพินิจประการใดแล้วให้แจ้งประเทศผู้ร้องขอเหล่านั้นทราบ และดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ต่อไป

มาตรา ๒๗[แก้ไข]

เมื่อจับบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนได้แล้ว ไม่ว่าจะได้มีคำร้องขอตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจซึ่งจับกุมบุคคลดังกล่าวสอบถามบุคคลนั้นว่าจะยินยอมให้ส่งข้ามแดนหรือไม่

หากบุคคลซึ่งถูกร้องขอตามความในวรรคหนึ่งแสดงความยินยอมให้ส่งข้ามแดนให้จัดทำการแสดงความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบที่ผู้ประสานงานกลางกำหนดแล้วให้พนักงานอัยการจัดให้มีการนำบุคคลนั้นไปยังศาลโดยยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลตรวจสอบความยินยอมดังกล่าวโดยพลัน หากศาลเห็นว่าบุคคลนั้นได้ให้ความยินยอมโดยสมัครใจ ให้ศาลมีคำสั่งขังบุคคลนั้นไว้เพื่อส่งข้ามแดนตามมาตรา ๒๒ ต่อไป

ความยินยอมที่ได้กระทำต่อหน้าศาลแล้วไม่อาจเพิกถอนได้

ในการตรวจสอบของศาล หากบุคคลซึ่งถูกร้องขอนั้นกลับคำให้ความยินยอมซึ่งได้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแล้วนั้น ให้ศาลมีคำสั่งขังบุคคลนั้นไว้เพื่อดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๒ ส่วนที่ ๒ ต่อไป

มาตรา ๒๘[แก้ไข]

กรณีที่คดีส่งข้ามแดนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลไม่ว่าในศาลใด หากบุคคลซึ่งถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดนแสดงต่อศาลว่ายินยอมให้ส่งข้ามแดน ให้ศาลงดการพิจารณาและมีคำสั่งให้ขังบุคคลนั้นไว้เพื่อส่งข้ามแดนตามมาตรา ๒๒ ต่อไป

ความยินยอมที่ได้กระทำต่อหน้าศาลแล้วไม่อาจเพิกถอนได้

หมวด ๔ กรณีประเทศไทยร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน[แก้ไข]

มาตรา ๒๙[แก้ไข]

ในกรณีที่ประเทศไทยร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งความผิดอันเป็นมูลเหตุที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นต้องระวางโทษถึงประหารชีวิตตามกฎหมายไทยแต่ไม่ถึงโทษประหารชีวิตตามกฎหมายของประเทศผู้รับคำร้องขอและรัฐบาลจำเป็นต้องให้คำรับรองว่าจะไม่มีการประหารชีวิต ก็ให้มีการเจรจาตกลงเพื่อให้มีการรับรองดังกล่าวได้ ในกรณีนี้หากศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ให้รัฐบาลดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อให้มีการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีจำคุกตลอดชีวิตแทนการประหารชีวิต ทั้งนี้ ห้ามมิให้บุคคลนั้นได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ เว้นแต่เป็นการพระราชทานอภัยโทษ

มาตรา ๓๐[แก้ไข]

การร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้รับคำร้องขอมายังประเทศไทย ให้พนักงานอัยการหรือหน่วยงานที่ประสงค์จะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเสนอเรื่องต่อผู้ประสานงานกลาง

ในกรณีที่ผู้ประสานงานกลางมีคำวินิจฉัยว่าสมควรที่จะจัดทำคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้รับคำร้องขอ ให้ผู้ประสานงานกลางส่งเรื่องให้พนักงานอัยการจัดทำคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและเอกสารประกอบต่อไป

คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามวรรคหนึ่งและเอกสารประกอบคำร้องให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้ประสานงานกลางกำหนด

คำวินิจฉัยของผู้ประสานงานกลางเกี่ยวกับการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ถือเป็นยุติ เว้นแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นอย่างอื่น

การร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้รับคำร้องขอที่มิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย ให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการโดยผ่านวิถีทางการทูต

การร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้รับคำร้องขอที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย ให้ผู้ประสานงานกลางดำเนินการตามสนธิสัญญา

มาตรา ๓๑[แก้ไข]

การปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๓๐ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำพยานบุคคล ออกคำสั่งเรียกบุคคลใดมาให้การต่อพนักงานอัยการ และดำเนินการอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการใดเพื่อประโยชน์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นคำบังคับของพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด ๕ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดน[แก้ไข]

มาตรา ๓๒[แก้ไข]

บรรดาค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ประเทศผู้ร้องขอ หรือการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศไทย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

บทเฉพาะกาล[แก้ไข]

มาตรา ๓๓[แก้ไข]

บรรดาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช ๒๔๗๒ จนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ

มาตรา ๓๔[แก้ไข]

ในกรณีที่กฎกระทรวง ระเบียบ หรือข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ประกาศใช้ หรือยังไม่มีผลใช้บังคับ หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการใดเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ให้ดำเนินการได้ตามวิธีการและบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พุทธศักราช ๒๔๗๒ และสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศผู้ร้องขอ


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายกรัฐมนตรี


งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"