พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๖

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)



Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


ส่งเสริมกีฬาอาชีพ


พ.ศ. ๒๕๕๖




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖


เป็นปีที่ ๖๘ ในรัชกาลปัจจุบัน



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาอาชีพ

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๖๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. ๒๕๕๖”


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่กีฬาอาชีพที่มีกฎหมายกําหนดการส่งเสริมหรือการคุ้มครองนักกีฬาอาชีพและบุคลากรซึ่งเกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้ว


มาตรา ๔

ในพระราชบัญญัตินี้

“กีฬาอาชีพ” หมายความว่า กีฬาที่จัดการแข่งขันอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากลและมีนักกีฬาอาชีพเข้าร่วมแข่งขันกัน โดยมีรายได้จากการแข่งขัน ตามชนิดหรือ ประเภทที่คณะกรรมการประกาศกําหนด

“นักกีฬาอาชีพ” หมายความว่า ผู้ซึ่งเล่นกีฬาอาชีพเป็นอาชีพ

“บุคลากรกีฬาอาชีพ” หมายความว่า ผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน หรือผู้ทําหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาอาชีพ ทั้งนี้ตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด

“ผู้จัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ” หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ

“สมาคมกีฬาอาชีพ” หมายความว่า สมาคมกีฬาที่ได้จดทะเบียนแล้วตามกฎหมายและมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับกีฬาอาชีพหรือการส่งเสริมกีฬาอาชีพ

“สโมสรกีฬาอาชีพ” หมายความว่า คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับกีฬาอาชีพหรือการส่งเสริมกีฬาอาชีพ ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าสโมสรหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่หมายความรวมถึงสมาคมกีฬาอาชีพ

“การล้มกีฬา” หมายความว่า การเข้าแข่งขันกีฬาอาชีพโดยแสร้งแพ้หรือโดยกระทําการหรือไม่กระทําการแข่งขันกีฬาอาชีพโดยมีเจตนาทุจริต และให้หมายรวมถึงการเข้าแข่งขันกีฬาอาชีพโดยสมยอมกันเพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามที่กําหนดไว้เป็นการล่วงหน้า

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกีฬาอาชีพ

“นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยมอบหมายเป็นหนังสือ

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๕

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอํานาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวง หรือออกระเบียบหรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยที่กีฬาอาชีพเป็นกิจกรรมกีฬาที่นานาประเทศให้ความสําคัญและเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่นักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ อีกทั้งการจัดให้มีการแข่งขันกีฬาอาชีพหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกีฬาอาชีพ ยังเป็นปัจจัยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเผยแพร่ชื่อเสียง เกียรติภูมิของประเทศ แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่ส่งเสริมกีฬาอาชีพให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ และกําหนดมาตรการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพที่ชัดเจน จึงสมควรกําหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาอาชีพเพื่อกําหนดมาตรฐานด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับกีฬาอาชีพให้สอดคล้องกับสากล เพื่อยกระดับมาตรฐานการกีฬาอาชีพในประเทศไทย และเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๑๑๘ ก/หน้า ๑/๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๖




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"