พระราชบัญญัติฯเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ พ.ศ. ๒๕๕๐/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔

จาก วิกิซอร์ซ


พระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๕๐[1]




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑

(๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒

(๓) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

“ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี

“ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี

“ผู้ได้รับการเสนอชื่อ” หมายความว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา

“วันเลือกตั้ง” หมายความว่า วันที่กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี

“วันสรรหา” หมายความว่า วันที่กำหนดให้เริ่มการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง

“คณะกรรมการสรรหา” หมายความว่า คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

“เขตเลือกตั้ง”[2] หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ หรือเขตเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี

“หน่วยเลือกตั้ง” หมายความว่า ท้องถิ่นที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเลือกตั้ง

“ที่เลือกตั้ง” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการลงคะแนนเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงบริเวณที่กำหนดขึ้นโดยรอบที่เลือกตั้ง

“จังหวัด” หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร

“กลุ่มจังหวัด”[3](ยกเลิก)

“อำเภอ” หมายความรวมถึง เขตและกิ่งอำเภอ

“ตำบล” หมายความรวมถึง แขวง

“ศาลากลางจังหวัด” หมายความรวมถึง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

“ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึง สำนักงานเขตและที่ว่าการกิ่งอำเภอ

“เทศบาล” หมายความรวมถึง เมืองพัทยา

“สำนักงานเทศบาล” หมายความรวมถึง ศาลาว่าการเมืองพัทยา

มาตรา ๕ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


หมวด ๑
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


ส่วนที่ ๑
บททั่วไป


มาตรา ๖ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

(๑) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น

(๒)[4] การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นการลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น โดยเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคการเมืองเดียวและใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

มาตรา ๗[5] เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งต้องกำหนดให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกินยี่สิบวันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บังคับและต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

(๒) กำหนดวันที่พรรคการเมืองจะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นวันก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

(๓) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้นำความใน (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๘ ในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่ามีกรณีอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้าเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสงสัยว่ามีกรณีไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในเขตเลือกตั้งใด จะยังไม่ประกาศผลสำหรับเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้ แต่ต้องสอบสวนและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ การประกาศผลการเลือกตั้งไม่มีผลกระทบกระเทือนการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามหมวด ๑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนที่ ๑๐ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และส่วนที่ ๑๑ การคัดค้านการเลือกตั้ง

มาตรา ๙ ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกประกาศให้ย่นหรือขยายระยะเวลาหรืองดเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เฉพาะในการเลือกตั้งนั้น เพื่อให้เหมาะสมและจำเป็นแก่การดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรมได้

มาตรา ๙/๑[6] ภายใต้บังคับมาตรา ๙๕ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ต้องมาลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง

การจัดให้มีการใช้สิทธิการลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งให้กำหนดเพียงหนึ่งวันและต้องเป็นวันเดียวกันทุกเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม และการตรวจสอบเหตุผลและความจำเป็นของผู้ขอใช้สิทธิดังกล่าว


ส่วนที่ ๒
เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง


มาตรา ๑๐ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้า

การแบ่งเขตเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งจะต้องกำหนดตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และจะต้องกำหนดพื้นที่ในแต่ละเขตเลือกตั้งให้ติดต่อกันและมีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน โดยถือเกณฑ์ดังนี้

(๑) ให้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกันความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าการรวมอำเภอในลักษณะนี้จะทำให้มีจำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตำบลของอำเภอออกเพื่อให้ได้จำนวนราษฎรพอเพียงสำหรับการเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตำบลไม่ได้

(๒) ในกรณีที่การกำหนดพื้นที่ตามเกณฑ์ใน (๑) จะทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทำให้จำนวนราษฎรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด

(๓)[7] เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) และ (๒) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

เมื่อได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัด

ในกรณีที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดเขตเลือกตั้งในคราวนั้น โดยถือเขตเลือกตั้งที่มีการประกาศกำหนดไว้ตามมาตรานี้ เว้นแต่มีกรณีจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งตามวรรคสาม

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้ใช้เขตเลือกตั้งในคราวที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปของตำแหน่งที่ว่างนั้น โดยมิให้นำการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคสามมาใช้บังคับ

มาตรา ๑๑[8] (ยกเลิก)

มาตรา ๑๒ เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งตามมาตรา ๑๕ กำหนดหน่วยเลือกตั้งที่จะพึงมีในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งของราษฎร

การกำหนดหน่วยเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตของหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนน้อย จะรวมหมู่บ้านที่อยู่ติดกันตั้งแต่สองหมู่บ้านขึ้นไปเป็นหน่วยเลือกตั้งเดียวกันก็ได้ สำหรับในเขตเทศบาล เขตกรุงเทพมหานคร หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจกำหนดให้ใช้เขตชุมชน แนวถนน ตรอก ซอย คลอง หรือแม่น้ำ เป็นเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ และ

(๒) ให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยละแปดร้อยคนเป็นประมาณ แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นการสะดวกหรือไม่ปลอดภัยในการไปลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้ หรือจะกำหนดหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นโดยให้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้

ให้ดำเนินการประกาศหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบวันก่อนวันเลือกตั้ง โดยให้ปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และเขตชุมชนหนาแน่นที่เห็นสมควรในกรณีจำเป็น อาจให้จัดทำแผนที่สังเขปแสดงเขตของหน่วยเลือกตั้งไว้ด้วยก็ได้

การเปลี่ยนแปลงเขตของหน่วยเลือกตั้ง ให้กระทำได้โดยประกาศก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน เว้นแต่ในกรณีเกิดเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น จะประกาศเปลี่ยนแปลงก่อนวันเลือกตั้งน้อยกว่าสิบวันก็ได้ และให้นำความในวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๓ ในการกำหนดหน่วยเลือกตั้งตามมาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งตามมาตรา ๑๕ กำหนดที่เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้งไว้ด้วย และให้นำความในมาตรา ๑๒ วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลมกับการประกาศกำหนดที่เลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงที่เลือกตั้ง

ที่เลือกตั้งตามวรรคหนึ่งต้องเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้าออกได้สะดวก เพื่อการลงคะแนนเลือกตั้ง มีความเหมาะสม มีขนาดพอสมควร และควรตั้งอยู่ในย่านกลางของหน่วยเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้มีป้ายหรือเครื่องหมายอื่นใดเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของที่เลือกตั้งไว้ด้วย ตามลักษณะของท้องที่และภูมิประเทศในการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ในท้องที่ใดถ้าเห็นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเพื่อความปลอดภัยของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจประกาศกำหนดที่เลือกตั้งนอกเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับหน่วยเลือกตั้งนั้น

มาตรา ๑๔[9] การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ใช้หน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง


ส่วนที่ ๓
เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง


มาตรา ๑๕ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหนึ่งคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และดำเนินกิจการที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

(๒) คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเพิ่มชื่อ และการถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง รวมทั้งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนนเลือกตั้ง และการประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง

การแต่งตั้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคลใด เป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้งได้ตามสมควร

มาตรา ๑๖ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้งหนึ่งคน มีหน้าที่อำนวยความสะดวกช่วยเหลือ และให้คำแนะนำในการตรวจสอบเอกสารและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(๒) คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเก้าคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งในที่เลือกตั้งและนับคะแนนเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้งและคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

มาตรา ๑๗ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตามมาตรา ๑๖ (๒) ให้ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการไม่น้อยกว่าแปดคน ซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น

ในกรณีที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งมีจำนวนไม่ถึงเก้าคน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ได้จำนวนตามมาตรา ๑๖ (๒)

ในวันเลือกตั้ง ถ้าถึงเวลาเปิดการลงคะแนนเลือกตั้งแล้วมีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงเก้าคน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในขณะนั้นแต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจนครบเก้าคน แต่ถ้าไม่มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่เลย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๘ พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดประสงค์จะส่งตัวแทนไปประจำอยู่ ณ ที่เลือกตั้งเพื่อสังเกตการณ์การลงคะแนนเลือกตั้งและการนับคะแนนเลือกตั้ง ให้ยื่นหนังสือแต่งตั้งตัวแทนของตนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งได้ที่เลือกตั้งละหนึ่งคน

ตัวแทนพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในที่ซึ่งจัดไว้ ณ ที่เลือกตั้งซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานได้ และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคสอง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีคำสั่งให้ตัวแทนพรรคการเมืองนั้นออกไปจากที่เลือกตั้งและให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง

มาตรา ๑๙ นอกจากที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้กรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใด เพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรืออาญา

มาตรา ๒๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

(๑) กรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด

(๒) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง

สำหรับบุคคลตาม (๒) ให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญานับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งจนสิ้นสุดแห่งการงานในหน้าที่

มาตรา ๒๒ ค่าตอบแทนของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผู้อำนวยการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด


ส่วนที่ ๔
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


๑. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


มาตรา ๒๓ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

มาตรา ๒๔ ในการเลือกตั้งครั้งใด ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งหรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้ง ให้ดำเนินการแจ้งตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ในการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุดังกล่าว โดยอาจมอบหมายให้บุคคลใดไปยื่นต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งแทน หรือจัดส่งหนังสือชี้แจงเหตุนั้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้

ในกรณีที่บุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ให้รีบแจ้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับแจ้งตามวรรคสาม มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายในสามสิบวันนับจากวันเลือกตั้ง

การแจ้งเหตุ การพิจารณาการแจ้งเหตุ และการอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม หรือวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดรายละเอียดของเหตุที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ด้วย

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายปิดประกาศรายชื่อบุคคลที่จะรับแจ้งเหตุ สถานที่ที่จะรับแจ้งเหตุ และวิธีการแจ้งเหตุไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และเขตชุมชนหนาแน่นที่เห็นสมควร

มาตรา ๒๕ เมื่อครบกำหนดหกสิบวันนับจากวันเลือกตั้ง ให้บุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง ประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุตามมาตรา ๒๔ หรือแจ้งเหตุไว้แล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร

ในกรณีที่ประกาศรายชื่อตามวรรคหนึ่งมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อดำเนินการแก้ไขตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๒๖ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร หรือเป็นผู้ที่มีรายชื่อในประกาศตามมาตรา ๒๕ ให้ถือว่าผู้นั้นเสียสิทธิดังต่อไปนี้

(๑) สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา

(๒) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น

(๓) สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

มาตรา ๒๗ การเสียสิทธิตามมาตรา ๒๖ ให้มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

ในกรณีที่มีการโต้แย้งการเสียสิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพร้อมหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งถัดมาแล้ว ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพิจารณาคำร้องเพื่อมีคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง

หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้อง และการพิจารณาคำร้องตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๒๘ บุคคลซึ่งไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและได้แจ้งเหตุแห่งความจำเป็นซึ่งเป็นเหตุอันสมควร ย่อมได้รับสิทธิการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง


๒. บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


มาตรา ๒๙ เมื่อได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใดแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง และปิดประกาศไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือเขตชุมชนหนาแน่นที่เห็นสมควร และที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง ไม่น้อยกว่ายี่สิบวันก่อนวันเลือกตั้ง กับให้แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวันด้วย

มาตรา ๓๐ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าตนหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแห่งหน่วยเลือกตั้งที่ตนหรือผู้นั้นสมควรมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน

เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายตรวจสอบหลักฐาน และถ้าเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้สั่งเติมชื่อตามที่ยื่นคำร้องลงในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเร็ว ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ให้สั่งยกคำร้อง และแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องโดยแสดงเหตุผลไว้ด้วย

เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคสองแล้ว ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือต่อศาลแพ่งสำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าวัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าจะให้เติมชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่ยื่นคำร้องหรือไม่

เมื่อศาลได้รับคำร้องตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย เพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งโดยเร็วที่สุด และในกรณีที่มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปก่อนได้รับคำสั่งศาล ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย ดำเนินการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกฉบับให้ถูกต้องด้วย

การใดที่ได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งเดิมของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายก่อนได้รับคำสั่งศาลเป็นอย่างอื่นนั้นให้เป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมาย

มาตรา ๓๑ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเห็นว่าในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ประกาศตามมาตรา ๒๙ มีชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน เพื่อให้ถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรสั่งถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือสมควรยกคำร้อง ก็ให้มีคำสั่งถอนชื่อผู้นั้นหรือยกคำร้อง แล้วแต่กรณี และให้แจ้งคำสั่งให้ผู้นั้นและเจ้าบ้านทราบ และให้นำความในมาตรา ๓๐ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ถ้าเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งปรากฏชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยที่บุคคลนั้นมิได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังกล่าวจริง เมื่อเจ้าบ้านนำหลักฐานทะเบียนบ้านมาแสดงว่าไม่มีชื่อบุคคลนั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง หรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย หรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี มีคำสั่งถอนชื่อบุคคลนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา ๓๒ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับแจ้งคำพิพากษาของศาลแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีบันทึกลงไว้ในทะเบียนที่จัดทำไว้ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำพิพากษาของศาล ปิดไว้ ณ สำนักงานเทศบาล หรือที่ว่าการอำเภอโดยเร็ว

ในกรณีที่ได้มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศถอนชื่อผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกฉบับให้ถูกต้องด้วย และให้นำความในมาตรา ๓๐ วรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการหรือยินยอมให้มีการย้ายบุคคลใดเข้ามาในทะเบียนบ้านของตน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ

หากปรากฏว่ามีกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ

(๑) การย้ายบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปซึ่งไม่มีชื่อสกุลเดียวกับเจ้าบ้านเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน

(๒) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริง

(๓) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้าน


ส่วนที่ ๕
ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง


๑. ผู้สมัครรับเลือกตั้ง


มาตรา ๓๔[10] บุคคลซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๓๕ บุคคลใดประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองใดได้เพียงพรรคการเมืองเดียว และจะสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อแบบใดแบบหนึ่งได้เพียงแบบเดียวและสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงเขตเลือกตั้งเดียว[11]

ในกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่ามีการสมัครรับเลือกตั้งอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้บุคคลนั้นเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๔๓ แล้วแต่กรณี และให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศการรับสมัครเลือกตั้ง และให้นำความในมาตรา ๓๙ หรือมาตรา ๔๔ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่มีการตรวจพบการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่งภายหลังการประกาศการรับสมัครเลือกตั้ง ให้นำความในมาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๕ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม


๒. การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง


มาตรา ๓๖[12] ในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งนั้น ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด ภายในระยะเวลาการรับสมัคร

การยื่นใบสมัครตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้สมัครยื่นหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกผู้นั้นเข้าสมัครรับเลือกตั้ง พร้อมกับชำระเงินค่าธรรมเนียมคนละห้าพันบาทและมีหลักฐานการสมัครครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการสมัครและวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง

มาตรา ๓๗ เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้รับใบสมัครของผู้สมัครของพรรคการเมืองใดแล้ว ให้ลงบันทึกการรับสมัครไว้เป็นหลักฐาน และออกใบรับให้แก่ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นเรียงตามลำดับการยื่นใบสมัครตามมาตรา ๓๖ และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐานการสมัคร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร และสอบสวนว่าผู้สมัครมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ให้เสร็จสิ้นภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดการรับสมัคร ถ้าผู้สมัครมีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้งได้ก็ให้ประกาศการรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน และที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ผู้นั้นสมัคร

ประกาศตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยให้มีชื่อและชื่อสกุลผู้สมัคร รูปถ่ายผู้สมัครพรรคการเมืองที่สังกัด และหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการลงคะแนน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๓๘ เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกใบรับให้แก่ผู้สมัครตามมาตรา ๓๗ แล้ว ห้ามมิให้ผู้สมัครถอนการสมัครรับเลือกตั้ง และให้ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

ห้ามมิให้ผู้สมัครตามวรรคหนึ่งยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือเขตเลือกตั้งอื่นอีก

มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ผู้สมัครผู้ใดไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามมาตรา ๓๗ ให้ผู้สมัครผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา เมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ในการนี้ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเร็ว ถ้าศาลมีคำสั่งให้รับสมัคร ให้ประกาศชื่อผู้นั้นตามมาตรา ๓๗ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำสั่งศาล

ในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรมและให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน ในการนี้ อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรืออาจให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้สืบพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาก็ได้

มาตรา ๔๐ ก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัครผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้นั้นขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

ในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ในการนี้ อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรืออาจให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้สืบพยานหลักฐาน หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาก็ได้

เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าไม่มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง หรือมีการยื่นคำร้องแล้วแต่ศาลฎีกายังไม่มีคำวินิจฉัย ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศการรับสมัครที่มีผลอยู่ในวันเลือกตั้ง


๓. การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ[13]


มาตรา ๔๑[14] ในกรณีที่พรรคการเมืองใดจะเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองนั้นจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อ โดยมีหลักเกณฑ์ตามลำดับ ดังต่อไปนี้

(๑) พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลใดต้องได้รับความยินยอมเป็นหลักฐานโดยชัดแจ้งจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว

(๒) ให้จัดทำบัญชีรายชื่อตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยจัดเรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลขจำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน

บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม และต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสมและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย

มาตรา ๔๒ การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคการเมือง ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นตามมาตรา ๔๑ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวันเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งหนังสือยินยอมของผู้สมัคร เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละห้าพันบาท และหลักฐานการสมัครอื่นครบถ้วนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด[15]

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการสมัครและวิธีการยื่นบัญชีรายชื่อ

มาตรา ๔๓[16] เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามมาตรา ๔๒ แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐานประกอบการสมัคร คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ถ้าเห็นว่าถูกต้องให้ประกาศรายชื่อพรรคการเมืองและรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ตามมาตรา ๓๗ และให้นำความในมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๔๔ ในกรณีที่ผู้ใดไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๔๓ ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และให้นำความในมาตรา ๓๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๔๕[17] ก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อผู้ใดขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยเร็ว และให้นำความในมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


๔. หมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง[18]


าตรา ๔๖[19] ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ได้รับหมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเรียงตามลำดับก่อนหลังในการยื่นบัญชีรายชื่อ ในกรณีที่มีพรรคการเมืองมายื่นบัญชีรายชื่อพร้อมกันและไม่อาจตกลงกันได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างพรรคการเมืองที่มาพร้อมกัน ทั้งนี้ ให้พรรคการเมืองหนึ่งได้รับหนึ่งหมายเลข และถ้าพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย ให้ใช้หมายเลขเดียวกับหมายเลขของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ตนสังกัดเป็นหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น ทุกเขตเลือกตั้งที่ส่งสมัครด้วย

ถ้าพรรคการเมืองใดมิได้ส่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อ แต่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เมื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นยื่นใบสมัครในเขตเลือกตั้งใด ให้ได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครต่อจากหมายเลขสุดท้ายของหมายเลขแบบบัญชีรายชื่อตามวรรคหนึ่ง และเมื่อมีการยื่นใบสมัครของผู้สมัครของพรรคการเมืองอื่นที่ส่งสมัครเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก ให้ได้รับหมายเลขเรียงลำดับถัดไปตามลำดับการสมัครก่อนหลัง แต่ถ้ามีผู้สมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงกันได้ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน

มาตรา ๔๗[20] (ยกเลิก)

มาตรา ๔๘[21] ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งแทนตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งว่างลง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับก่อนหลังในการมายื่นใบสมัคร ถ้ามีผู้สมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงกันได้ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน


ส่วนที่ ๖
ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง


มาตรา ๔๙ การใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งใด ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนนี้ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

วิธีการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคหนึ่งให้มีผลใช้บังคับในระยะเวลา ดังต่อไปนี้

(๑) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เก้าสิบวันก่อนวันครบอายุจนถึงวันเลือกตั้ง

(๒) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจาก (๑) ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้ง

มาตรา ๕๐ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

(๑) จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแต่ละคนที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

(๒)[22] จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ในกรณีที่ผู้สมัครในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย

เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใด ๆ จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทนหรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยความยินยอมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้ ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น ๆ

การใช้จ่ายเงินที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองบัญญัติให้ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้นำมารวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองตามมาตรานี้ด้วย เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรรมการการเลือกตั้งจัดประชุมหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและของผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ทั้งนี้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบจำนวนในการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าว

มาตรา ๕๑ ให้ผู้สมัครแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควร และให้พรรคการเมืองแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ทางบัญชี เพื่อเป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัคร หรือของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งนั้น

การจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๕๒ ภายในกำหนดเก้าสิบวันหลังจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนและพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้น โดยผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ได้รับรองความถูกต้องบัญชีรายรับและรายจ่าย อย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง[23]

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ประกาศผลการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ในกรณีที่มีการคัดค้านการเลือกตั้งว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกินจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ให้เก็บรักษารายการค่าใช้จ่ายและหลักฐานดังกล่าวไว้จนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้พิจารณาเสร็จสิ้น

มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่ผู้ใด

(๒) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

(๓) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ

(๔) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

(๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด

ความผิดตาม (๑) หรือ (๒) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้

มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ห้ามมิให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดลงสมัครรับเลือกตั้งหรือส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๘๘

มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้ผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งเพื่อการเลือกตั้ง หรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้งโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้ง หรือกลับจากที่เลือกตั้งเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด

ที่เลือกตั้งตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงที่เลือกตั้งซึ่งจัดไว้สำหรับการลงคะแนนตามมาตรา ๙๕ มาตรา ๙๖ และมาตรา ๙๗ ด้วย

บทบัญญัติในมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้งหรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์แห่งการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติโดยสุจริตของผู้นั้น

มาตรา ๕๗ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด

ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่า อาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ในการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์อันอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดพ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้ประจำกระทรวง ทบวง กรม ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ ในเขตเลือกตั้งหรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือห้ามเข้าเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งได้

มาตรา ๕๘ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด นับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

มาตรา ๕๙ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของรัฐในการสนับสนุนการเลือกตั้ง ในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) การจัดสถานที่ปิดประกาศและที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในบริเวณสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐ ให้พอเพียงและเท่าเทียมกันในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครทุกคนและพรรคการเมืองทุกพรรค

(๒) การพิมพ์และจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งและผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(๓) สถานที่สำหรับให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองใช้ในการโฆษณาหาเสียงได้อย่างเท่าเทียมกัน ในการนี้ รัฐอาจจัดให้มีการแสดงหรือการดำเนินการอื่นใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาฟังการโฆษณาหาเสียงด้วยก็ได้ แต่ต้องมิใช่เป็นการจัดให้มีเพื่อการสนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ

(๔) การกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาให้พรรคการเมืองโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือการไปออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ ซึ่งจะต้องจัดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งมีโอกาสเท่าเทียมกัน

(๕) การสนับสนุนของรัฐในกิจการอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวางระเบียบเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในการเลือกตั้งหรือข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในการเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๖๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๙ ห้ามมิให้ผู้สมัคร พรรคการเมืองหรือผู้ใด ปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐหรือในที่ของเอกชน โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ หรือกระทำกิจการอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้รัฐสนับสนุน

ห้ามปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีขนาดหรือจำนวนไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด


ส่วนที่ ๗
การลงคะแนนเลือกตั้ง


มาตรา ๖๑ หีบบัตรเลือกตั้งต้องมีลักษณะที่สามารถมองเห็นภายในได้ง่าย และมีวิธีการปิดผนึกเพื่อป้องกันการเปิดหีบบัตรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการนำบัตรใส่ในหีบบัตรหลังจากปิดการลงคะแนนเลือกตั้งแล้วได้ รวมทั้งต้องมีลักษณะพิเศษเพื่อป้องกันการเปลี่ยนหีบบัตรด้วย

บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลขไม่น้อยกว่าจำนวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น และมีช่องทำเครื่องหมายว่าไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งด้วย

บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจะต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลขของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมืองพร้อมภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองครบทุกพรรคที่ส่งสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และมีช่องทำเครื่องหมายว่าไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งด้วย[24]

บัตรเลือกตั้งสำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต้องมีลักษณะแตกต่างที่สามารถจำแนกออกจากกันได้อย่างชัดเจน[25]

หีบบัตรเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งให้เป็นไปตามลักษณะและขนาดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๖๒ ในวันเลือกตั้งให้เปิดการลงคะแนนเลือกตั้งตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา

มาตรา ๖๓ ก่อนเริ่มเปิดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้งนั้น และปิดประกาศจำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีอยู่ทั้งหมดในที่เลือกตั้งนั้นไว้ในที่เปิดเผย และเมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรเลือกตั้งในที่เปิดเผย แสดงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ ณ ที่เลือกตั้งนั้นเห็นว่าหีบบัตรเลือกตั้งเป็นหีบเปล่า และให้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด แล้วให้ทำการบันทึกการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองคนซึ่งอยู่ในที่เลือกตั้งในขณะนั้นลงลายมือชื่อในบันทึกนั้นด้วย เว้นแต่ไม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง

มาตรา ๖๔ ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้และมีหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร

เมื่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ให้อ่านชื่อตัวและชื่อสกุลของผู้นั้นดัง ๆ ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือผู้ใดทักท้วง ให้หมายเหตุไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และให้จดหมายเลขของบัตรและชื่อหน่วยงานของรัฐที่ออกบัตร แล้วให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเป็นหลักฐานตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด แล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปลงคะแนนเลือกตั้ง

ในกรณีที่มีผู้ทักท้วง หรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสงสัยว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมาแสดงตนนั้นไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีอำนาจสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยเป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ และในกรณีที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งวินิจฉัยว่า ผู้ถูกทักท้วงหรือผู้ถูกสงสัยไม่ใช่เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทำบันทึกคำวินิจฉัยและลงลายมือชื่อไว้ด้วย

มาตรา ๖๕ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งใดให้ลงคะแนนเลือกตั้งได้ ณ หน่วยเลือกตั้งนั้น และให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้เพียงแห่งเดียว

มาตรา ๖๖ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งอื่นที่อยู่นอกหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเดียวกัน สามารถลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนต้องปฏิบัติหน้าที่ หรือลงคะแนนเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งตามมาตรา ๙๕

มาตรา ๖๗ การลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทำเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครหรือพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง และในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมายไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งในบัตรเลือกตั้ง

มาตรา ๖๘ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการหรือผู้สูงอายุในการลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการลงคะแนนเลือกตั้งของคนพิการหรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการลงคะแนนเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง แต่การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้คนพิการหรือผู้สูงอายุได้ลงคะแนนเลือกตั้งด้วยตนเอง ทั้งนี้ การอำนวยความสะดวกนั้นต้องเป็นไปเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงโดยตรงและลับด้วย

มาตรา ๖๙ เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งแล้ว ให้พับบัตรเลือกตั้งเพื่อมิให้ผู้อื่นทราบว่าลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใด หรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง แล้วให้นำบัตรเลือกตั้งนั้นใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเองต่อหน้ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

มาตรา ๗๐ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น พยายามลงคะแนนเลือกตั้ง หรือลงคะแนนเลือกตั้ง โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่มิได้มีไว้สำหรับตนหรือที่ปลอมแปลงขึ้นต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง

มาตรา ๗๑ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรเลือกตั้งตามมาตรา ๖๑ ลงคะแนนเลือกตั้ง หรือใช้บัตรเลือกตั้งที่มิใช่บัตรเลือกตั้งที่ตนได้รับมาจากการแสดงตนตามมาตรา ๖๔ ลงคะแนนเลือกตั้ง ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง

มาตรา ๗๒ ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง

มาตรา ๗๓ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว

มาตรา ๗๔ ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง

มาตรา ๗๕ ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเลือกตั้งแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าได้ลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้ใด โดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง หรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะลงคะแนนเลือกตั้งได้

มาตรา ๗๗ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกตั้งหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด

มาตรา ๗๘ ในกรณีที่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งแห่งใดไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ได้ ให้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน

ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้นโดยเร็ว เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ในการดำเนินการตามวรรคสาม ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา ๘ ได้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่สำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้นได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องนำระยะเวลาตามวรรคสามมาใช้บังคับก็ได้

มาตรา ๗๙ เมื่อถึงกำหนดเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง และงดจ่ายบัตรเลือกตั้ง แล้วให้ทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่ให้เป็นบัตรเลือกตั้งที่ใช้ลงคะแนนเลือกตั้งไม่ได้ตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งได้มาอยู่ในบริเวณที่ลงคะแนนเลือกตั้งแล้วก่อนเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้งที่เหลืออยู่ แต่ยังไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้มาแสดงตนนั้น และเมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้งของหีบบัตรเลือกตั้ง

ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจัดทำรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมด จำนวนผู้มาแสดงตนและรับบัตรเลือกตั้ง และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือ แล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นทุกคนลงลายมือชื่อไว้ และประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่ในที่นั้นทราบ

มาตรา ๘๐ ตั้งแต่เวลาที่ได้เปิดและปิดหีบบัตรเลือกตั้งที่ตั้งไว้เพื่อการลงคะแนนเลือกตั้งหรือภายหลังที่ได้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งนั้นเพื่อรักษาไว้เมื่อการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นแล้วห้ามมิให้ผู้ใดเปิดทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ หรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือนำไปซึ่งหีบบัตรเลือกตั้ง หรือบัตรเลือกตั้ง หรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้จัดทำโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย


ส่วนที่ ๘
การนับคะแนนและการประกาศผลการเลือกตั้ง


มาตรา ๘๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๕ การนับคะแนนเลือกตั้งให้กระทำ ณ ที่เลือกตั้งโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนนเลือกตั้ง

เพื่อให้การนับคะแนนเป็นไปอย่างเปิดเผยและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการนับคะแนนเลือกตั้ง

มาตรา ๘๒ ให้มีการนับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง และให้ประกาศจำนวนบัตรดังกล่าวด้วย

ในการนับคะแนนหากปรากฏว่ามีบัตรเสีย ให้แยกบัตรเสียออกไว้ต่างหากและห้ามมิให้นับบัตรเสียเป็นคะแนนไม่ว่ากรณีใด

บัตรเลือกตั้งดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย

(๑) บัตรปลอม

(๒) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้ง

(๓)[26] บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครเกินจำนวนหนึ่งคน หรือบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองเกินหนึ่งพรรคการเมือง

(๔)[27] บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนเลือกตั้งให้กับผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งผู้ใดหรือพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

(๕)[28] บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือแบบบัญชีรายชื่อ แล้วทำเครื่องหมายในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งด้วย

(๖) บัตรเสียอื่นที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสลักหลังในบัตรตามมาตรานี้ว่า “เสีย” พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียตามความในอนุมาตราใด และลงลายมือชื่อกำกับไว้ไม่น้อยกว่าสามคน

ความในวรรคสามมิให้ใช้บังคับกับบัตรเสียตามมาตรา ๑๐๒ และมาตรา ๑๑๐ วรรคหนึ่ง

มาตรา ๘๓ ห้ามมิให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนเลือกตั้งให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดโดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสียหรือกระทำการด้วยประการใดแก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้หรืออ่านบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริงหรือทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง

มาตรา ๘๔ เมื่อการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งนั้น จำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีอยู่ทั้งหมด จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือจากการลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งนี้ ให้กระทำโดยเปิดเผย และรายงานผลการนับคะแนนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งโดยเร็ว

เมื่อคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเก็บเอกสารและสิ่งของต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทการเลือกตั้ง

(๑) บัตรเลือกตั้งที่นับเป็นคะแนนแล้ว บัตรที่มีการทำเครื่องหมายลงในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง และบัตรเสีย โดยแยกแต่ละประเภทบรรจุในถุงวัสดุใส

(๒) แบบกรอกคะแนนที่ได้ใช้ในการกรอกคะแนนทั้งหมด

(๓) รายงานผลการนับคะแนน

(๔) ประกาศผลการนับคะแนน

เมื่อได้บรรจุสิ่งของตามวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งปิดหีบบัตรเลือกตั้งพร้อมทั้งใส่กุญแจหรืออุปกรณ์อื่นแทนกุญแจทุกแห่งและให้ประจำครั่งทับรูกุญแจ เสร็จแล้วให้มัดหีบบัตรเลือกตั้งด้วยเชือกแล้วผูกปมเชือกไว้ด้านข้างหีบบัตรเลือกตั้งและประจำครั่งทับปมเชือก หรือกระทำการด้วยวิธีการอื่นใดที่สามารถป้องกันมิให้เปิดหีบบัตรเลือกตั้งได้

การประกาศผลการนับคะแนน การรายงานผลการนับคะแนน วิธีการเก็บบัตรเลือกตั้ง และการเก็บรักษาเอกสารหลักฐาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๘๕ ถ้าการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำได้ หรือไม่สามารถนับคะแนนได้จนเสร็จสิ้น อันเนื่องจากเกิดเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น หรือด้วยความจำเป็นตามสภาพที่อาจมีผลต่อความปลอดภัย ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดการนับคะแนนสำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้นแล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนดวัน เวลา และสถานที่นับคะแนนต่อไปโดยเร็ว เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ การเก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง หีบบัตรเลือกตั้งและเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งวิธีการนับคะแนนใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งหากพบว่ามีบัตรเลือกตั้งที่ได้มีการลงคะแนนเลือกตั้งแล้วชำรุดหรือสูญหาย ให้รายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้นเว้นแต่หน่วยเลือกตั้งนั้นมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในจำนวนที่ไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป มิให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ตัดอำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการต่อผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๘๖ ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนับคะแนนใหม่โดยพลัน ถ้ายังไม่ตรงกันอีกให้รายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งพร้อมเหตุผล และนำส่งหีบบัตรและอุปกรณ์แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมาย

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งให้รายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่หน่วยเลือกตั้งนั้นมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจำนวนที่ไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป มิให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ตัดอำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการต่อผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๘๗ เมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วรายงานผลการนับคะแนนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเร็ว

มาตรา ๘๘[29] ในเขตเลือกตั้งใด ถ้าในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งคนเดียว ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง

ในกรณีที่ผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น โดยให้รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ และให้นำความในมาตรา ๙ มาใช้บังคับ

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสอง ถ้ามีผู้สมัครคนเดียวให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และถ้าผู้สมัครได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นอีก หรือได้ไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ดำเนินการตามวรรคสองอีกครั้งหนึ่ง

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสาม ถ้ามีผู้สมัครคนเดียวให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้ได้รับเลือกตั้งภายในระยะเวลาตามมาตรา ๘

ในกรณีที่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสาม หากปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติม เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้นำความในวรรคสองและวรรคสามและความในส่วนที่ ๕ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง ๒. การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๘๙[30] ภายใต้บังคับมาตรา ๘๘ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลากซึ่งต้องกระทำต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๙๐[31] การรวมผลคะแนนเลือกตั้งของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรวมคะแนนเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของทุกหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ในเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ในการนี้ เพื่อให้การรวมคะแนนเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งอาจมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลช่วยเหลือในการรวมคะแนนเลือกตั้งได้ตามความจำเป็น

(๒) เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับผลคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจากทุกเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) แล้ว ให้ดำเนินการรวมผลคะแนนเลือกตั้งจากทุกเขตเลือกตั้งแล้วส่งผลการรวมคะแนนดังกล่าวให้คณะกรรมการการเลือกตั้งโดยพลัน

มาตรา ๙๑[32] เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลรวมคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแล้ว ให้ดำเนินการคำนวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองได้รับคะแนนจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

(๒) ให้นำคะแนนรวมจาก (๑) หารด้วยหนึ่งร้อยยี่สิบห้า ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน

(๓) ในการคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (๒) ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มคือจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ โดยเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

(๔) ในกรณีที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจำนวนไม่ครบหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นเศษที่มีจำนวนมากที่สุด ได้รับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวนหนึ่งร้อยยี่สิบห้าคน

(๕) ในการดำเนินการตาม (๔) ถ้ามีคะแนนเท่ากัน ให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันจับสลากโดยตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีคะแนนเท่ากันภายในวันและเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับตามผลการคำนวณข้างต้น จะต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้จัดทำขึ้น

มาตรา ๙๒[33] ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งส่วนที่ ๑๐ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลการนับคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา ๘๗ และดำเนินการคำนวณสัดส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๑ แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งว่าผู้สมัครผู้ใดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

มาตรา ๙๓[34] เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งแล้วให้ส่งผลการเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบโดยเร็ว และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา


ส่วนที่ ๙
การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง


มาตรา ๙๔ การจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง นอกจากที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในส่วนนี้แล้ว ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๙๕ ในกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเดินทางไปนอกเขตเลือกตั้งที่ตนต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง หรือในวันเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง ให้ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมาย

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมายได้ตรวจสอบการมีสิทธิเลือกตั้งของผู้แจ้งความประสงค์ตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้อง ให้กำหนดที่เลือกตั้งกลางที่ผู้นั้นจะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง และแจ้งให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบ และหมายเหตุสถานที่ที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเอกสารที่เกี่ยวข้อง

หลักเกณฑ์และวิธีการขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง สถานที่และจำนวนที่เลือกตั้งกลาง และวันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด

มาตรา ๙๖ ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งติดต่อกันเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน และให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบสัดส่วนในกลุ่มจังหวัดที่เขตเลือกตั้งที่ผู้นั้นใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตั้งอยู่ในกลุ่มจังหวัดนั้นด้วย

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอำนวยความสะดวก เพื่อประกันการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง

มาตรา ๙๗ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดอยู่ในจังหวัดอื่นนอกจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตาม

มาตรา ๙๖ ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งติดต่อกันเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน และให้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ผู้นั้นใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย[35]

ให้ผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งมีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งเมื่อได้ลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้งสามสิบวัน โดยให้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดที่ตนลงทะเบียนไว้และให้หมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งใน หน่วยเลือกตั้งเดิมที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลง ในการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งบันทึกการลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวไว้ในทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อใช้ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และให้หมายเหตุสถานที่ที่ไปใช้สิทธิไว้ในประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

ผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งอาจขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงจังหวัดที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้ โดยให้มีผลเมื่อพ้นสามสิบวันนับจากวันที่ยื่นคำขอลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงและให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในการนี้ จะขอเปลี่ยนแปลงทะเบียนในการเลือกตั้งคราวใดเกินหนึ่งครั้งไม่ได้

ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งต้องใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเพื่อเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบเก้าสิบวันครั้งสุดท้ายตามมาตรา ๙๖ แล้วแต่กรณี

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้งทั่วไป หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หากบุคคลผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว แต่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น ให้ถือว่าการลงทะเบียนนั้นเป็นการแจ้งเหตุอันสมควรและไม่เสียสิทธิตามมาตรา ๒๖

มาตรา ๙๘ ในการดำเนินการเลือกตั้งตามมาตรา ๙๗ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีที่เลือกตั้งกลางจังหวัดละหนึ่งแห่ง เว้นแต่มีความจำเป็น จะจัดให้มีที่เลือกตั้งกลางมากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้

วิธีการลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนน การส่งบัตรเลือกตั้ง และการดำเนินการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๙๙ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรจะขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ก็ได้

เมื่อได้แจ้งการขอใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐๐ และมาตรา ๑๐๑

หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งความประสงค์การขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้งทั่วไป หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หากบุคคลผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว แต่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น ให้ถือว่าการลงทะเบียนนั้นเป็นการแจ้งเหตุอันสมควรและไม่เสียสิทธิตามมาตรา ๒๖

มาตรา ๑๐๐ ในประเทศใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งในประเทศนั้น โดยอาจให้มีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้ง หรือให้มีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์ หรือโดยวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการจัดตั้งสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งก็ได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้น และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๐๑ เมื่อขอใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งตามมาตรา ๙๙ แล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นหมดสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่จะได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าตามเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๐๒ การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามส่วนที่ ๙ นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจดำเนินการล่วงหน้าเพื่อนำบัตรเลือกตั้งมานับรวมในวันเลือกตั้งได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเฉพาะท้องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้

ในกรณีที่บัตรเลือกตั้งส่งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งใดหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้ว ให้ถือว่าบัตรเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย

ในกรณีที่บัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งที่ใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยสั่งมิให้นับคะแนนจากที่นั้นก่อน แล้วจึงสั่งให้บัตรเลือกตั้งจากที่นั้นเป็นบัตรเสีย


ส่วนที่ ๑๐
การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม


มาตรา ๑๐๓ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าการกระทำนั้นน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายเป็นเวลาหนึ่งปี โดยให้มีผลนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่ง

ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ไม่ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นระงับหรือดำเนินการใด เพื่อแก้ไขความไม่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้นภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานว่าผู้สมัครผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำนั้น พรรคการเมืองนั้นมีส่วนรู้เห็นในการกระทำนั้น เว้นแต่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว

มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

เมื่อมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครผู้ใดหรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดแล้วให้พิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัคร หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้นั้นด้วย ในการนี้ ให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ในกรณีที่มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรานี้ภายหลังวันลงคะแนนเลือกตั้งแต่ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้สมัครที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ได้คะแนนเลือกตั้งในลำดับซึ่งจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้ผู้รับเลือกตั้งครบจำนวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น

มาตรา ๑๐๔ ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วและเป็นไปโดยเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจแต่งตั้งข้าราชการอัยการ ข้าราชการอื่น หรือผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการดังกล่าวหรือผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการตุลาการตามจำนวนที่เหมาะสม เป็นคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะตามความจำเป็น เพื่อช่วยคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการตรวจสอบสำนวนการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งรับฟังคำชี้แจงหรือพยานหลักฐานแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งได้

ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งข้าราชการอัยการหรือข้าราชการอื่นให้ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งมาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์กรกลางบริหารงานบุคคล หรือผู้บังคับบัญชาของข้าราชการดังกล่าว แล้วแต่กรณี

การแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ และระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๐๕ ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่งประกอบด้วย ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการกฤษฎีกาทุกคณะตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งไม่เป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมือง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ ในกรณีที่ประธานกรรมการกฤษฎีกาคณะใดไม่อาจดำรงตำแหน่งกรรมการได้ ให้กรรมการกฤษฎีกาประจำคณะนั้นเลือกกรรมการกฤษฎีกาคนหนึ่งในคณะเดียวกันที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวเป็นกรรมการแทน ในกรณีที่ไม่อาจหากรรมการแทนได้ ให้คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะวินิจฉัยเพื่อมีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครผู้ใดตามมาตรา ๑๐๓ วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งความเห็นพร้อมด้วยสำนวนการสืบสวนสอบสวนไปยังคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นว่าความเห็นดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งกระทำการโดยเที่ยงธรรมหรือไม่ หากคณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นต่างไปจากความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีคำวินิจฉัยตามความเห็นเดิมก็ได้แต่ต้องแสดงเหตุผลและให้ประกาศคำวินิจฉัยพร้อมทั้งเหตุผลและความเห็นของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งในราชกิจจานุเบกษา

การให้ความเห็นของคณะกรรมการตามวรรคสอง ต้องกระทำโดยที่ประชุมคณะกรรมการที่มีกรรมการร่วมประชุมไม่น้อยกว่าสองในสาม และต้องกระทำภายในเวลาไม่เกินห้าวันนับแต่วันได้รับเรื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หากพ้นห้าวันแล้วยังไม่มีความเห็นของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการต่อไป

ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๐๖ ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด อันอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำหรือมีคำสั่งให้แก้ไขการกระทำตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดได้

ถ้ามีผู้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่งและการกระทำนั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดีโดยเร็ว และแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพื่อรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาดำเนินการต่อไป

มาตรา ๑๐๗ ในระหว่างระยะเวลาตามมาตรา ๔๙ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือจัดเตรียมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อดำเนินการดังกล่าว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งที่การยึดหรืออายัดอยู่ในเขตศาลภายในสามวันนับแต่วันยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวให้แล้วเสร็จภายในห้าวันนับแต่วันได้รับคำร้องถ้าศาลเห็นว่าเงินหรือทรัพย์สินตามคำร้องน่าจะได้ใช้หรือจะใช้เพื่อการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง

มาตรา ๑๐๘ ก่อนวันเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดหรือในเขตเลือกตั้งใดจะมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจประกาศงดการลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งหรือในเขตเลือกตั้งนั้น และให้กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่

มาตรา ๑๐๙ เมื่อได้มีการนับคะแนนเลือกตั้งแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือการนับคะแนนเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะงดการประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้

มาตรา ๑๑๐[36] ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองผู้ใดได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นกระทำการดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจประกาศให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นบัตรเสียและมิให้นับเป็นคะแนน ทั้งนี้ เฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการกระทำนั้น

การกำหนดเขตพื้นที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจกำหนดจากหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งก็ได้ โดยคำนึงถึงผลกระทบแห่งการกระทำนั้น

มาตรา ๑๑๑ เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดหรือผู้สมัครผู้ใดกระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตเพื่อที่จะให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตโดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำ ทั้งนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ปรากฏจากการไต่สวนของศาลฎีกาว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากรณีเป็นไปตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ศาลฎีกาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้สมัครผู้นั้นมีกำหนดเวลาห้าปี แล้วแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีทราบ

ในกรณีที่ศาลฎีกาได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นหยุดการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำร้อง และถ้าศาลฎีกามีคำสั่งให้เลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นสิ้นสุดลง

มาตรา ๑๑๒ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้งและป้องกันมิให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกรรมการการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายมีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะใด ๆ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อตรวจ ค้น ยึด หรืออายัดเอกสาร ทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐานใด และในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้า เอกสาร ทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐานดังกล่าวจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลายหรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม จะเข้าทำการค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้นก็ได้ และต้องบันทึกพฤติการณ์แห่งกรณีไว้

อำนาจตามวรรคหนึ่งให้ใช้ได้นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง และจะขอให้เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐช่วยเหลือในการดำเนินการตามความจำเป็นด้วยก็ได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมอบอำนาจให้กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเจ้าหน้าที่อื่นเป็นผู้ค้นก็ได้ แต่ผู้รับมอบอำนาจต้องได้รับหมายค้นจากศาลด้วย

(๒) ขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแจ้งรายงานการทำธุรกรรมของบุคคลที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งให้ทราบหรือให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นแจ้งให้ทราบถึงการโอนเงินตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ

มาตรา ๑๑๓ ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดและเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่นั้นด้วย


ส่วนที่ ๑๑
การคัดค้านการเลือกตั้ง


มาตรา ๑๑๔ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่ง มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้มีสิทธิยื่นคัดค้านการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง อาจยื่นคัดค้านก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง เว้นแต่การร้องคัดค้านเพราะเหตุตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๒ ให้ยื่นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้ง ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน

วิธีการยื่นคำคัดค้านการเลือกตั้งและการพิจารณาให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๑๕ ในกรณีที่มีการยื่นคัดค้านก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง ให้นำมาตรา ๑๐๓ มาตรา ๑๐๔ มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๖ มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๐๘ มาตรา ๑๐๙ มาตรา ๑๑๐ มาตรา ๑๑๒ และมาตรา ๑๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๑๖ ในกรณีที่มีการยื่นคัดค้านก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้งแต่ผลการสืบสวนสอบสวนแล้วเสร็จหลังวันประกาศผลการเลือกตั้ง หรือยื่นคัดค้านหลังวันประกาศผลการเลือกตั้ง และผลการสืบสวนสอบสวนปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นควรให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใด หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใด ให้นำความในมาตรา ๑๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ผลการสืบสวนสอบสวนปรากฏว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดหรือเขตเลือกตั้งใดเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่ายังไม่มีเหตุที่จะต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมีคำสั่งให้ยุติเรื่องก็ได้

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด


หมวด ๒
การเลือกตั้งและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา


ส่วนที่ ๑
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา


มาตรา ๑๑๗ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกินห้าวันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน

มาตรา ๑๑๘ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๑๙ ผู้ซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๑๒๐ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้มีสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดละหนึ่งคน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งเสียง และให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

มาตรา ๑๒๑ การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้นำความในมาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ เว้นแต่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ชำระค่าธรรมเนียมการสมัครคนละห้าพันบาท และให้ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งตกเป็นรายได้ของรัฐ

มาตรา ๑๒๒ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนที่ ๑ บททั่วไป เฉพาะมาตรา ๘ และมาตรา ๙ ส่วนที่ ๒ เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง ส่วนที่ ๓ เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ส่วนที่ ๔ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนที่ ๖ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ยกเว้นมาตรา ๖๐ ส่วนที่ ๗ การลงคะแนนเลือกตั้ง ส่วนที่ ๘ การนับคะแนนและการประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนที่ ๙ การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ส่วนที่ ๑๐ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนที่ ๑๑ การคัดค้านการเลือกตั้ง เว้นแต่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง มาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยอนุโลม ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในหมวดนี้

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรานี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรานี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บรรดาบทบัญญัติใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่นำมาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ถ้าบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การกระทำใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นความผิดและมีบทกำหนดโทษสำหรับความผิดนั้น ให้นำมาใช้บังคับกับการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาด้วย โดยให้ถืออัตราโทษอย่างเดียวกัน

มาตรา ๑๒๓ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา

ในกรณีที่ผู้สมัครหรือผู้ใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งตามมาตรานี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาวินิจฉัยโดยเร็ว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นที่สุด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๒๔ เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงของผู้สมัคร ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวิธีการที่รัฐสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

(๑) การจัดสถานที่ปิดประกาศและติดป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในบริเวณสาธารณสถานซึ่งเป็นของรัฐ ให้พอเพียงและเท่าเทียมกันในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครทุกคน

(๒) การพิมพ์และจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งและผู้สมัครไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(๓) สถานที่สำหรับให้ผู้สมัครใช้ในการหาเสียง ในการนี้ รัฐอาจจัดให้มีการแสดง หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาฟังการหาเสียงก็ได้ แต่ต้องมิใช่เป็นการจัดให้มีเพื่อสนับสนุนผู้สมัครใดโดยเฉพาะ

(๔) การสนับสนุนของรัฐในกิจการอื่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ให้นำความในมาตรา ๕๙ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๒๕ การจัดสถานที่ปิดประกาศและติดป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๒๔ วรรคหนึ่ง (๑) แล้ว ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และให้นำความในมาตรา ๖๐ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ส่วนที่ ๒
การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา


มาตรา ๑๒๖ เมื่อมีเหตุที่จะต้องสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดวันสรรหาภายในสามวันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องมีการสรรหา

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้องค์กรภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่น ตามมาตรา ๑๒๗ มาลงทะเบียนพร้อมทั้งเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อคณะกรรมการสรรหาให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับจากวันสรรหา

มาตรา ๑๒๗ องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องเป็นองค์กรในภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย หรือเป็นนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้จัดตั้งขึ้นในราชอาณาจักรมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี และต้องมิใช่เป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

องค์กรตามวรรคหนึ่งต้องลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยต้องแสดงหลักฐานการเป็นองค์กรภาคใดภาคหนึ่งเพียงภาคเดียว

มาตรา ๑๒๘ ให้องค์กรตามมาตรา ๑๒๗ มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกขององค์กร หรือปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กร ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และสมควรได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาองค์กรละหนึ่งคน และให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อชำระค่าธรรมเนียมคนละห้าพันบาท โดยให้ค่าธรรมเนียมนั้นตกเป็นรายได้ของรัฐ ทั้งนี้ บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรแล้วจะขอถอนชื่อออกจากการได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภามิได้

การเสนอชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือ โดยอย่างน้อยต้องมีประวัติระบุถึงเพศ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และสาขาอาชีพของผู้ได้รับการเสนอชื่อพร้อมทั้งหนังสือยินยอมจากผู้ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๒๙ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรวบรวมรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อตามมาตรา ๑๒๘ เสนอต่อคณะกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอชื่อตามมาตรา ๑๒๖

มาตรา ๑๓๐ ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาสรรหาบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และผลการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาให้ถือเป็นที่สุด

มติในการสรรหาต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการสรรหาและแจ้งผลการสรรหาไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา

มาตรา ๑๓๑ ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาในภาคใดสิ้นสุดลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหา โดยให้ภาคนั้นเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหา และให้นำความในมาตรา ๑๒๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๓๒ เบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของคณะกรรมการสรรหาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสรรหา ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

มาตรา ๑๓๓ ภายหลังมีการประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ถ้าผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกขององค์กรที่เสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา เห็นว่าการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าก่อนได้รับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดกระทำการตามมาตรา ๒๓๘ ของรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกขององค์กรที่เสนอชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ผู้ใดได้กระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับการสรรหา หรือได้รับการสรรหาโดยผลของการที่บุคคลใดได้กระทำการลงไปโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนโดยพลัน

มาตรา ๑๓๔ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ วรรคสอง แล้วเห็นว่าการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ศาลฎีกาไต่สวนและวินิจฉัย ดังต่อไปนี้โดยพลัน

(๑) ถ้าเห็นว่าการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในส่วนใดหรือขั้นตอนใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาในส่วนหรือขั้นตอนนั้นใหม่ และให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาในส่วนนั้นหรือขั้นตอนนั้นพ้นจากสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำสั่ง

(๒) ถ้าเห็นว่าผู้ได้รับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น และการกระทำดังกล่าวมีผลให้การสรรหามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นเป็นเวลาห้าปีโดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำสั่ง

มาตรา ๑๓๕ ในกรณีที่ศาลฎีกาไต่สวนเพื่อวินิจฉัยตามมาตรา ๑๓๔ ถ้าเห็นว่าผู้ใดกระทำการโดยไม่สุจริตทำให้การสรรหาไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อให้ผู้อื่นได้รับการสรรหาโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น และสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการสรรหาจากการกระทำดังกล่าวด้วย เว้นแต่สมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น


หมวด ๓
บทกำหนดโทษ


มาตรา ๑๓๖ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวหรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๗ วรรคหนึ่ง มาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

ในกรณีมีการฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืน ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ

มาตรา ๑๓๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๙ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกตั้งโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ หรือมาตรา ๓๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

มาตรา ๑๔๐ ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดยี่สิบปี

ถ้าการกระทำตามวรรคสองหรือวรรคสามเป็นการกระทำหรือก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

มาตรา ๑๔๑ ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๐ วรรคสามต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทหรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินจำนวนเงินที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

มาตรา ๑๔๒ สมุห์บัญชีเลือกตั้งผู้ใดจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครคนใดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตามมาตรา ๕๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี และห้ามเป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี

มาตรา ๑๔๓ ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ยื่นรายการค่าใช้จ่ายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือยื่นหลักฐานไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

ถ้ารายการค่าใช้จ่ายที่ยื่นตามมาตรา ๕๒ เป็นเท็จ ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมืองต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง และให้ถือเป็นเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองนั้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

มาตรา ๑๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๕ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

มาตรา ๑๔๖ ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา ๑๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๘ มาตรา ๖๐ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

มาตรา ๑๔๙ ในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง ถ้ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดเผยให้แก่ผู้ใดทราบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดมาลงคะแนนหรือยังไม่มาลงคะแนนเพื่อเป็นคุณหรือโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๕๐ ผู้ใดเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี

มาตรา ๑๕๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๑ วรรคสอง มาตรา ๗๒ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ หรือมาตรา ๗๗ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง หรือภายหลังวันเลือกตั้งไม่เกินเจ็ดวัน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

มาตรา ๑๕๓ ผู้สมัครใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๓ หรือมาตรา ๗๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๕๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๖ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกระทำการใดให้บุคคลอื่นล่วงรู้ข้อมูลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับตามมาตรา ๑๑๒ (๒) โดยมิใช่เป็นการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๕๕ ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับกับวันลงคะแนนตามมาตรา ๙๕ มาตรา ๙๖ และมาตรา ๙๗ ด้วย

มาตรา ๑๕๖ ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

มาตรา ๑๕๗ ผู้สมัครใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

มาตรา ๑๕๘ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดฐานกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และผู้นั้นเป็นผู้กระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นผู้กระทำการใดอันเป็นเท็จเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๔๐ วรรคสอง อันเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งใด ให้ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่นั้นด้วย ทั้งนี้ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ในกรณีที่มีผู้รับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่หลายคน ให้ทุกคนรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม

มาตรา ๑๕๙ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใด ให้ถือว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองซึ่งส่งสมาชิกของตนลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๑๖๐ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และการกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าตัวการผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา ๑๖๑ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ยินยอมให้องค์กรใดเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาดังกล่าว หรือผู้ใดกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ อันมีผลทำให้การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี


บทเฉพาะกาล


มาตรา ๑๖๒ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้การใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งใดตามมาตรา ๔๙ และมาตรา ๑๒๒ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง

มาตรา ๑๖๓ บุคคลใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๗ เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๕ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้ถือว่าผู้นั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๑๖๔ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเสียสิทธิเนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้การเสียสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

มาตรา ๑๖๕ ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกข้อกำหนดของศาลฎีกาตามมาตรา ๔๐ วรรคสอง ขึ้นใช้บังคับ ให้ข้อกำหนดที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ยังมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะได้มีการออกข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นใช้บังคับ


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔[37]

มาตรา ๓๕ เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดประชุมหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

มาตรา ๓๖ มิให้นำความในมาตรา ๑๐ (๓) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ มาใช้บังคับกับการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

มาตรา ๓๗ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน ๓๗๕ คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน ๑๒๕ คน และมาตรา ๗ ได้บัญญัติให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๖๔ ก/หน้า ๖๙/๗ ตุลาคม ๒๕๕๐
  2. มาตรา ๔ นิยามคำว่า “เขตเลือกตั้ง” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  3. มาตรา ๔ นิยามคำว่า “กลุ่มจังหวัด” ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  4. มาตรา ๖ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  5. มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  6. มาตรา ๙/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  7. มาตรา ๑๐ วรรคสอง (๓) เพิ่มโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  8. มาตรา ๑๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  9. มาตรา ๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  10. มาตรา ๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  11. มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  12. มาตรา ๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  13. ชื่อ ๓. การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ในส่วนที่ ๕ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง ของหมวด ๑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  14. มาตรา ๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  15. มาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  16. มาตรา ๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  17. มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  18. ชื่อ ๔. หมายเลขที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในส่วนที่ ๕ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง ของหมวด ๑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  19. มาตรา ๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  20. มาตรา ๔๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  21. มาตรา ๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  22. มาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  23. มาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  24. มาตรา ๖๑ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  25. มาตรา ๖๑ วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  26. มาตรา ๘๒ วรรคสาม (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  27. มาตรา ๘๒ วรรคสาม (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  28. มาตรา ๘๒ วรรคสาม (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  29. มาตรา ๘๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  30. มาตรา ๘๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  31. มาตรา ๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  32. มาตรา ๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  33. มาตรา ๙๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  34. มาตรา ๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  35. มาตรา ๙๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  36. มาตรา ๑๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
  37. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๑/๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔



ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"