พระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗

จาก วิกิซอร์ซ
แม่แบบผิดพลาด: มีการลบช่องที่ไม่ได้ใช้ออก โปรดเติมกลับเข้าไป (โปรดดูเอกสารกำกับแม่แบบ)


Seal of the Royal Command of Thailand
Seal of the Royal Command of Thailand


พระราชบัญญัติ


เนติบัณฑิตยสภา


พ.ศ. ๒๕๐๗




ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.


ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗


เป็นปีที่ ๑๙ ในรัชกาลปัจจุบัน



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยเนติบัณฑิตยสภา

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้



มาตรา ๑

พระราชบัญญัตินี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗”


มาตรา ๒

พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป[1]


มาตรา ๓

ให้เนติบัณฑิตยสภาซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น และซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยทนายความด้วยนั้น เป็นนิติบุคคล


มาตรา ๔

เนติบัณฑิตยสภามีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑)   ส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งจัดให้มีทุนเพื่อการนั้น

(๒)   ควบคุมมรรยาททนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความ

(๓)   ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก


มาตรา ๕

เนติบัณฑิตยสภาอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้

(๑)   เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน

(๒)   ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

(๓)   ผลประโยชน์จากการลงทุนและกิจกรรมอื่น

(๔)   ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

(๕)   รายได้ตามกฎหมายอื่น


มาตรา ๖

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีอำนาจหน้าที่กำกับกิจการของเนติบัณฑิตยสภาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๗

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นนายก อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และอธิบดีกรมอัยการ เป็นอุปนายก และกรรมการอื่นอีกมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสิบหกคน ซึ่งจะได้เลือกตั้งจากสามัญสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของเนติบัณฑิตยสภาให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา


มาตรา ๘

ให้คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภามีอำนาจตราข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาเกี่ยวกับ

(๑)   ประเภทสมาชิก คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิก การเข้าเป็นสมาชิก และการขาดจากสมาชิกภาพ

(๒)   ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

(๓)   การกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติและประเภทบุคคลที่จะเป็นกรรมการ วิธีการเลือกตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งกรรมการ

(๔)   การประชุมคณะกรรมการและการประชุมอื่น ๆ

(๕)   เรื่องอื่นที่อยู่ภายในวัตถุประสงค์ของเนติบัณฑิตยสภาหรือที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเนติบัณฑิตยสภาตามกฎหมายอื่น

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑ ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภานั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


มาตรา ๙

ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้นายกหรืออุปนายกซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกเป็นผู้แทนเนติบัณฑิตยสภา


มาตรา ๑๐

สภานายกพิเศษจะเข้าฟังการประชุม และชี้แจงแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภา หรือจะส่งความเห็นเป็นหนังสือไปยังเนติบัณฑิตยสภาในเรื่องใด ๆ ก็ได้


มาตรา ๑๑

มติของคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาต้องได้รับความเห็นชอบของสภานายกพิเศษก่อน จึงจะดำเนินการตามมตินั้นได้ เว้นแต่จะเป็นมติซึ่งมีบทกฎหมายอื่นบัญญัติให้อำนาจไว้

มติของคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบของสภานายกพิเศษนั้น ให้นายกเสนอสภานายกพิเศษโดยไม่ชักช้า สภานายกพิเศษอาจยับยั้งมตินั้นได้ ในกรณีที่มิได้มีการยับยั้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับมติที่นายกเสนอ ให้ถือว่า สภานายกพิเศษให้ความเห็นชอบด้วยมตินั้น

ถ้าสภานายกพิเศษยับยั้งมติใด ให้คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในการประชุมนั้น ถ้ามีเสียงยืนยันมติถึงสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งคณะ ก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้


มาตรา ๑๒

ในระหว่างที่ยังมิได้ตราข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาขึ้นใหม่ตามมาตรา ๘ ให้คงใช้ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

ให้คณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาที่กล่าวในวรรคหนึ่งคงอยู่รักษาการในตำแหน่งต่อไป และให้มีหน้าที่ตราข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาขึ้นใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กับจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการเนติบัณฑิตยสภาตามข้อบังคับใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อบังคับนั้นใช้บังคับ

เมื่อได้เลือกตั้งคณะกรรมการคณะใหม่เสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการที่รักษาการในตำแหน่งตามวรรคสองพ้นหน้าที่ไป


มาตรา ๑๓

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี



หมายเหตุ

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยเนติบัณฑิตยสภาโดยเฉพาะ จึงสมควรตรากฎหมายขึ้นเพื่อความประสงค์นี้



เชิงอรรถ[แก้ไข]

  1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๑/ตอนที่ ๑๕/ฉบับพิเศษ/หน้า ๓/๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗




ขึ้น

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"