พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณมรฎก รัตนโกสินทรศก 121

จาก วิกิซอร์ซ
ตราพระบรมราชโองการ
ตราพระบรมราชโองการ
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม
ลักษณมรฎก
รัตนโกสินทรศก ๑๒๑

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า กฎหมายลักษณมรฎกที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ บางมาตรามีข้อความขัดกับกาลสมัย เมื่อได้พิพากษาไปตามนั้นแล้ว พาให้เสียความยุติธรรมไป ทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฉเพาะข้อที่ควรแก้ เพื่อให้เปนประโยชน์แก่ความยุติธรรมยิ่งขึ้น

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ ดังข้อความที่ได้กล่าวต่อไปนี้

มรฎกภาคญาติ

มาตรา  วิธีแบ่งมรฎกภาคญาติที่ได้กล่าวไว้ในกฎหมายลักษณมรฎกนั้น แต่นี้ไป ให้แบ่งปันระหว่างญาติดังนี้ คือ

ข้อ  ถ้าผู้มรณภาพมีบุตร์แล้ว อย่าให้เอามรฎกภาคนี้ไปแบ่งปันแก่ญาติผู้อื่นเลย ให้แบ่งมรฎกภาคนี้ให้แก่บุตร์ตามส่วนที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายลักษณมรฎกนั้นรายตัว ตามส่วนแลตามเกณฑ์ที่ได้กล่าวไว้ในกฎหมายนั้น

ถ้าบุตร์บางคนมรณภาพ บางคนอยู่ ฤๅมรณภาพทั้งหมดก็ดี ให้เอาส่วนของบุตร์ที่มรณภาพแบ่งให้แก่หลานผู้มรณภาพซึ่งเปนบุตร์ของบุตร์ผู้มรณภาพนั้นเหมือนอย่างว่าเปนมรฎกของบุตร์ผู้นั้นรองต่อ ๆ ลงไปจนกว่าจะสิ้นผู้สืบสายโลหิตตามหมู่เหล่าของเขานั้น

ถ้าผู้มรณภาพมีบุตร์หลานเหลนผู้สืบสายโลหิตอยู่แล้ว ญาติอื่นที่ไม่ได้สืบสายโลหิตจากผู้มรณภาพจะเรียกหาทรัพย์มรฎกภาคญาติไม่ได้

ข้อ  เมื่อกฎหมายให้แบ่งมรฎกภาคญาติ แลผู้มรณภาพไม่มีบุตร์หลานเหลนผู้สืบสายโลหิตที่จะรับมรฎกภาคญาติดังว่ามาแล้ว จึงให้แบ่งมรฎกภาคนี้ให้แก่พี่น้องของผู้มรณภาพที่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน ถ้าแลในพี่น้องนี้ผู้ใดมรณภาพ ฤๅมรณภาพเสียทั้งหมดก็ดี ก็ให้บุตร์หลานเหลนผู้สืบสายโลหิตในพี่น้องนี้ได้รับส่วนตามหมู่เหล่าของเขา

ถ้าผู้มรณภาพมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันดังว่ามานี้แล้ว ผู้อื่นนอกจากพี่น้องเช่นนี้จะเรียกร้องขอส่วนแบ่งจากภาคญาติไม่ได้

ข้อ  ถ้าผู้มรณภาพไม่มีบุตร์หลานเหลนผู้สืบสายโลหิต แลไม่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน แต่บิดามารดาฤๅคนใดคนหนึ่งยังมีชีวิตร์อยู่ อย่าให้แบ่งภาคญาติออกเลย ให้แบ่งมรฎกแต่ ๒ ภาค คือ ภาคบิดามารดา แลภาคภรรยา เว้นไว้แต่คนที่มีนา ๔๐๐ ไร่ฤๅกว่านั้นขึ้นไป จึงให้แบ่งเปนสามภาค คือ ภาคหลวงอีกภาคหนึ่ง

ถ้าบิดามารดาก็มรณภาพเสียแล้วด้วย ภาคบิดามารดาเปนอันยก แต่ให้มีภาคญาติได้แก่พี่น้องร่วมบิดาอย่างเดียวฤๅร่วมมารดาอย่างเดียวแบ่งกันตามรายตัว ฤๅถ้าผู้ใดมรณภาพไป ก็ให้แบ่งให้ผู้สืบสายโลหิตตามหมู่เหล่าของเขา

ข้อ  ถ้าผู้มรณภาพไม่มีผู้สืบสายโลหิต แลไม่มีบิดามารดาแลพี่น้องแลผู้สืบสายโลหิตของพี่น้องทุกชนิดแล้ว ภาคญาตินี้ให้เปนภาคลุง, ป้า, น้า, อา แบ่งให้เปนรายตัวตามส่วน ถ้าหากว่าผู้ใดไม่มีชีวิตร์อยู่ ก็ให้บุตร์หลานของเขาได้รับส่วนแบ่งตามหมู่เหล่า

ข้อ  ถ้าผู้มรณภาพไม่มีญาติทั้งหมดเลยทีเดียวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ให้เอามรฎกภาคนี้ไปรวมกับภาคภรรยา

มรฎกหญิงที่เปนภรรยาชาย

มาตรา  หญิงมีสามีมรณภาพ แลเมื่อมรณภาพ สามีมีชีวิตร์อยู่ วิธีแบ่งปันทรัพย์มรฎกให้เปนดังนี้

ข้อ  ถ้าหญิงมีบุตร์หลานเหลนผู้สืบสายโลหิตอยู่แล้ว ห้ามไม่ให้แบ่งมรฎกหญิงนั้นให้แก่ผู้ใด นอกจากสามีแลบุตร์หลานผู้สืบสายโลหิตเท่านั้น

ข้อ  ถ้าหญิงนั้นไม่มีบุตร์หลานเหลนผู้สืบสายโลหิตก็ดี ฤๅมีแล้วตายหมดก่อนก็ดี ให้เรียกขอแบ่งมรฎกได้แต่เมื่อหญิงได้มีสินเดิมมากินอยู่กับผัว

ข้อ  ถ้ามีสินเดิมแล้ว ให้พิจารณาดูว่า ทรัพย์ที่ระคนปนกันกับทรัพย์ของสามีเมื่อตายนั้นมีอยู่มากน้อยเท่าใด ถ้ามีมากถึง ๒ เท่าฤๅกว่าสองเท่าทุนสินเดิมของสามีภรรยาด้วยกันแล้ว จึงให้ญาติข้างภรรยาเรียกทุนสินเดิมส่วนของหญิงไปแบ่งเปนมรฎกก็ได้ ส่วนสินสมรศนั้นให้คงไว้แก่สามีทั้งสิ้น

วิธีพิจารณา

มาตรา  ให้ยกเลิกลักษณตัดฟ้องข้อที่ว่าด้วยญาติที่ไม่ได้รักษาไข้ปลงศพไม่ให้ได้มรฎกนั้นเสีย เพราะข้อตัดญาติไม่นับว่าเปนญาติมีอยู่ในกฎหมายแล้ว

มาตรา  ถ้าปรากฎในสำนวนความว่า ผู้มรณภาพมีญาติอื่นอีกที่ควรได้รับมรฎกตามกฎหมาย แต่คนพวกนั้นหามาร้องขอไม่ ให้ศาลมีอำนาจเรียกตัวมาถามว่า จะเอาส่วนฤๅไม่ ถ้าอยู่บ้านอื่นเมืองไกลจะเรียกมาไม่ได้ ให้ผู้จัดการแบ่ง จะญาติฤๅใคร ๆ ก็ดี เก็บส่วนไว้ให้

ประกาศมาณวันที่ ๕ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ เปนวันที่ ๑๒๒๕๙ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

บรรณานุกรม[แก้ไข]

งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า

"มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"