พระราชบัญญัติโอนกิจการฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ พ.ศ. ๒๕๑๐
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ไปเป็นของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภาดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ไปเป็นของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๐”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้างและเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ไปเป็นของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
มาตรา ๔ ให้โอนเงินงบประมาณสำหรับค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างในปีงบประมาณ ๒๕๑๐ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวนสองล้านบาทไปเป็นของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
มาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
- จอมพล ถนอม กิตติขจร
- นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ
[แก้ไข]เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ในสถานที่ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และวิชาของคณะสัตวแพทยศาสตร์นี้เป็นวิชาที่มีความสำคัญเคยสังกัดอยู่ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยมาก่อนแล้ว ประกอบกับได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สมควรที่จะโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ไปเป็นของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของนิสิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
เชิงอรรถ
[แก้ไข]- ↑ ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๔/ตอนที่ ๑๒๖/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๐
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตาม แม่แบบผิดพลาด: โปรดระบุประเภทของงานนี้ (ดูวิธีใช้) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"